Home ทริบเทคนิค/บทความ เรียนนิติฯ ให้ได้ดั่งใจ

เรียนนิติฯ ให้ได้ดั่งใจ

8084

เรียนนิติฯ ให้ได้ดั่งใจ

โดย

ญาดา วรรณไพโรจน์(๒๕๔๙)
นบ.(เกียรตินิยมอันดับ ๒), นบ.ท.สมัยที่๕๘(อันดับที่ ๑)

560790_362420807149337_939342335_n

หลายคนที่มาเรียนนิติศาสตร์คงจะต้องปวดหัวกับการอ่านหนังสือ การทำความเข้าใจฎีกาและการท่องตัวบทเป็นแน่ แต่การที่จะประสบความสำเร็จก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องยากหากเรารู้จักกับการจัดการชีวิต มาดูเคล็ดลับสู่ความสำเร็จกันเถอะ

วิธีการเรียนและการสอบสำหรับคนเรียนนิติศาสตร์

การเข้าเรียน : การเข้าเรียนนับว่าสำคัญมาก เพราะจำให้ท่านสามารถเข้าใจหลักกฎหมายตลอดจนคำพิพากษาฎีกาต่างๆ ได้โดยง่าย เนื่องจากท่านอาจารย์จะเป็นคนชี้ประเด็นให้จากการตั้งคำถาม และยังเป็นโอกาสอันดีที่ได้ใกล้ชิดกับอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายที่มาให้ความรู้ ท่านสามารถสอบถามอาจารย์ได้ในทุกประเด็นที่สงสัย ทำให้ความรู้และความคิดของท่านแตกฉานขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือการอธิบายของอาจารย์ทำให้เราเห็นภาพและจะจดจำสิ่งเหล่านั้นได้ไปอีกนาน ในสมัยที่ดิฉันเรียนมหาวิทยาลัยนั้น ดิฉันไม่ขาดเรียนเลย ถ้าไม่จำเป็น

การอ่านหนังสือ : ทุกคนมีนาฬิกาประจำตัว ดังนั้นการจะอ่านหนังสือให้เข้าใจและรู้เรื่องจึงจำต้องเข้าใจสุขภาพและนาฬิกาของตน หมายความว่าเราต้องจัดสรรเวลาในการอ่านหนังสือในช่วงที่มีพลังที่สุดของวัน บางคนจะตื่นเช้าและอ่านหนังสือตอนกลางวัน แต่บางคนก็รู้สึกมีสมาธิมากตอนกลางคืน อันนี้ก็ต้องเลือกเอาตามใจชอบ แต่ไม่ว่าจะอ่านเวลาไหนก็ตาม ช่วง 23.00 – 02.00 น. จะเป็นเวลาต้องห้ามในการอ่านหนังสือ เพราะช่วงนี้ร่างกายต้องการพักผ่อนอย่างมากเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

เคล็ดลับของการเรียน คือการแบ่งเวลาให้ถูกต้อง และต้องมีวินัยในตนเอง : ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงต่อวันเท่ากันท่านต้องรู้จักแบ่งเวลาให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของท่าน นอกจากนี้ท่านยังต้องรู้ตนเองว่ามีจุดอ่อน จุดแข็งอะไร เพื่อที่ท่านจะได้วางแผนว่าจะเสริมตรงไหน หรืออ่านหนังสือตรงจุดไหนเป็นพิเศษ

การดำเนินชีวิตประจำวัน : ชีวิตต้องมีสมดุล เรื่องการรับประทานอาหาร การพักผ่อน การขับถ่าย และการออกกำลังกาย จำเป็นมากสำหรับผู้ที่อ่านหนังสือหรือเรียนหนัก จะต้องรักษาสุขภาพให้ดีเพราะจะไม่มีประโยชน์อันใดเลยหากท่านเรียนเก่งแต่สุขภาพย่ำแย่และไม่มีความสุข ท่านจึงต้องเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวัน และออกกำลังกายอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง แนะนำให้วิ่ง หรือว่ายน้ำเพราะได้ออกกำลังทุกส่วน การพักผ่อนและการออกกำลังกายอย่างเพียงพอจะทำให้ท่านมีความจำที่ดีและมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น

การเตรียมตัวสอบ :

สอบระดับมหาวิทยาลัย : ดิฉันจะอ่านหนังสือที่ท่านอาจารย์ผู้สอนแนะนำ เอกสารประกอบการสอน และสมุดจดจากการเข้าเรียน ให้จบอย่างน้อยอย่างละ 1 รอบ และทำข้อสอบเก่าจากปีปัจจุบันลงไปประมาณ 5 ปี พอถึงวันสอบช่วงเช้าก็จะท่องตัวบทวิชาที่จะสอบ (ปกติสอบวันละ 1 วิชาในช่วงบ่าย)

สอบเนติฯ : หนังสือที่ต้องอ่านก็คือหนังสือรวมคำบรรยายของเนติฯ นั่นเอง จะต้องอ่านให้จบก่อนสอบ และอาจจะอ่าน Power point ประกอบการสอนของอาจารย์ไปด้วย เพราะจะช่วยให้เข้าใจภาพรวมตลอดจนจำหลักได้อย่างแม่นยำโดยไม่ต้องเสียเวลาทำโน๊ตย่อเอง หลังจากอ่านคำบรรยาย และ Power point จบ ก่อนสอบประมาณ 1 อาทิตย์ทั้งอาทิตย์ก็จะท่องตัวบทและทำข้อสอบเก่า โดยไล่จากปีปัจจุบันลงไปประมาณ 5 ปีเช่นเดิม ฝึกจับประเด็น ฝึกตอบ ฝึกเขียน โดยเฉพาะข้อสอบวิชาวิธีพิจารณาความแพ่งและวิธีพิจารณาความอาญานั้นต้องฝึกมากเป็นพิเศษ เพราะบางครั้งอ่านโจทย์จนจบยังไม่รู้เลยว่าโจทย์ถามประเด็นใด ก็ต้องหัดดูว่าข้อสอบประมาณนี้ต้องการถามประเด็นใด

ก่อนเข้าห้องสอบ : ก่อนเข้าห้องสอบประมาณ 10 นาที ก็ต้องทำสมาธิ เพื่อรวบรวมสติปัญญามาใช้ให้เต็มที่ และก่อนเข้าห้องสอบควรกินอาหารที่สะอาดปลอดภัย เพราะหากท้องเสียขณะทำข้อสอบจะลำบากมาก ถ้าจะให้ดีควรรับประทานขนมหรืออาหารที่มีแคลอรี่สูงแต่คาร์โบไฮเดรตต่ำ (ถ้าคาร์โบไฮเดรตสูงจะทำให้ง่วง) ส่วนใหญ่ดิฉันมักจะพก dark chocolate ติดตัวไปทานก่อนเข้าห้องสอบเสมอเพราะจะช่วยเพิ่มกลูโคสในสมอง ทำให้มีพลังงานและสมองแจ่มใส ไม่เพลียในขณะทำข้อสอบ (แต่ก็ต้องระวังเรื่องน้ำหนักตัวด้วยนะคะ)

การทำข้อสอบ : การเขียนตอบข้อสอบในมหาวิทยาลัยกับการเขียนตอบข้อสอบระดับเนติบัณฑิตไม่เหมือนกันด้วยข้อจำกัดของเวลา ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นข้อสอบทุกวิชาจะมี 5 ข้อ และให้เวลา 3 ชั่วโมงการเขียนตอบจึงสามารถเขียนอธิบายได้มาการตอบข้อสอบจึงต้องเริ่มด้วยการตั้งประเด็นของเรื่องแล้ววางหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งอธิบายหลักกฎหมายในส่วนนั้น ตามด้วยการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับหลักกฎหมายที่ได้อธิบายไปแล้ว และจบด้วยการสรุปคำตอบของประเด็นคำถามที่ตั้งไว้ ซึ่งจะใช้เวลาค่อนข้างมาก

ส่วนเนติฯ 10 ข้อนั้นให้เวลาเพียง 4 ชั่วโมงและมีประเด็นซับซ้อนมากกว่า ต้องตอบให้ตรงประเด็นและครบถ้วนจึงจะได้คะแนนดี ภาษาที่ใช้ต้องกระชัดรัดกุมและเป็นภาษากฎหมาย การจัดสรรเวลาก็นับว่าสำคัญมาก ไม่ควรใช้เวลากับข้อใดมากจนเกินไป

การเขียนยังต้องคงส่วนของประเด็นไว้เพื่อให้รู้ว่าเราจะตอบข้อสอบไปในทิศทางใด ส่วนการวางหลักกฎหมายสามารถตัดทิ้งได้ แต่การตอบก็ต้องมีเหตุผลประกอบเสมอ จึงต้องนำหลักกฎหมายและคำอธิบายไปใส่ในส่วนของการปรับบทให้มากเพื่อให้ผู้ตรวจข้อสอบทราบว่าเรามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่ถามมากน้อยเพียงใด ไม่เช่นนั้นจะได้คะแนนไม่ดีเพราะอาจารย์ที่ตรวจข้อสอบท่านเน้นเหตุผลในการปรับข้อเท็จจริงด้วย ดังนั้น ในประเด็นหลักจำเป็นต้องอธิบายเหตุผลอย่างละเอียด ส่วนประเด็นหลักจำเป็นต้องอธิบายเหตุผลอย่างละเอียด ส่วนประเด็นเล็กน้อยอาจไม่ต้องอธิบายมากนักเพียงแค่ปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องก็พอ แล้วจบด้วยสรุปคำตอบเช่นเดิม ดิฉันขอเรียกว่า การตอบประยุกต์ระหว่างการวางหลักและการฟันธง

คำถามยอดนิยม

เรียนเนติฯ อย่างไรให้จบภายใน 1 ปี : การเข้าเรียนและอ่านคำบรรยายอย่างสม่ำเสมอคือคำตอบที่ดีที่สุดแน่นอนว่าไม่มีอะไรในชีวิตได้มาอย่างง่ายดายโดยไม่ต้องลงแรงลงทุน ทุกอย่างมีราคาและต้นทุน การมีแรงบันดาลใจที่แรงกล้า การตั้งเป้าหมายการรู้จักจัดสรรเวลา และความขยันหมั่นเพียร จะทำให้เราประสบความสำเร็จ และขอให้ระลึกเสมอว่าคนที่เกิดมาเก่งโดยธรรมชาตินั้นมีน้อยแต่คนที่ประสบความสำเร็จด้วยการทำให้ตนเป็นคนเก่งนั้นมีมากและสามารถทำได้

คำพิพากษาฎีกาสำคัญอย่างไร ต้องจำให้ได้หมดเลยหรือ : คำพิพากษาฎีกาในระบบกฎหมายไทยเป็นตัวอย่างการปรับบทกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงมีความสำคัญมากในแง่ของการวางบรรทัดฐาน ให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนแก่ประชาชนและผู้บังคับใช้กฎหมาย ผู้ศึกษากฎหมายทุกคนทุกระดับจึงจำเป็นต้องทราบ ส่วนในแง่ของการทำข้อสอบนั้นการจำคำพิพากษาฎีกาได้จะช่วยทำให้ตอบข้อสอบได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ ด้วยภาษากฎหมายที่ตรงประเด็นและกระชับรัดกุม

ขอยกตัวอย่างในการทำข้อสอบวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สมัย 58 นี้ ข้อ 5 ซึ่งมีประเด็นแรกคือ การที่ผู้กู้มิได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้เขียนในหนังสือสัญญาค้ำประกันต่อท้ายหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ตนได้เขียนขึ้นเองนั้นเป็นหลักฐานเป็นหนังสือตามความในมาตรา 653 หรือไม่ ซึ่งถ้าเรารู้คำพิพากษาฎีกาในเรื่องนี้เราก็แน่ใจ ตอบได้ทันทีไม่ต้องเสียเวลาคิดมากกว่าอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นสัญญาค้ำประกันซึ่งมีข้อความตามโจทย์นั้นเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามมาตรา 653 แล้วเช่นนี้ก็ประหยัดเวลาในการทำข้อสอบไปได้มาก แต่ขอเสริมว่าควรจะมีพื้นฐานความรู้กฎหมายที่แน่นพอสมควร เพราะหากไม่โชคดี ข้อสอบไม่ออกฎีกาที่อ่านมาก็อาจจะสับสนและงงได้ การคิดจากหลักกฎหมายออกไปพร้อมกับใส่ความเป็นนักกฎหมายที่มีใจเป็นธรรมจึงปลอดภัยที่สุด

ต้องอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยวันละกี่ชั่วโมง : อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าท่านมีสมาธิมากแต่ไหนบางคนอ่านหนังสือเร็วมากเพราะสมาธิดีทำให้เข้าใจได้รวดเร็วอ่านแค่ 2 ชั่วโมงต่อวันก็จบไปหลายหน้า บางคนอ่าน 2 ชั่วโมงแต่สัปหงกไปด้วยเลยไม่ไปไหนก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น การอ่านหนังสือหลายชั่วโมงก็ไม่อาจเป็นหลักประกันว่าท่านจะประสบความสำเร็จแต่มันอยู่ที่การเข้าใจและความจำต่างหาก ท่านต้องประเมินตนเองอยู่เสมอ ว่าเข้าใจและจำได้แค่ไหนถ้าอ่าน 1 รอบ แล้วยังไม่เข้าใจก็ต้องอ่าน 2 รอบถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ต้องอ่าน 3 รอบ ฯลฯ นอกจากนี้หากท่านได้เข้าเรียนแล้วการอ่านหนังสือก็จะเร็วขึ้นอีกด้วย แต่โดยเฉลี่ยแล้วถึงแม้จะเข้าเรียนก็ควรหาเวลาอ่านหนังสืออย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมง แต่ถ้าไม่ได้เข้าเรียนก็จะเจองานหนักต้องอ่านหนังสือให้ได้ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เลยทีเดียว

ทำอย่างไรจึงจะมีสมาธิดี : อย่างแรกก็คือต้องรู้จักเลือกเวลาและสถานที่ในการอ่าน ปกติดิฉันจะชอบอ่านหนังสือในตอนกลางวันที่ห้องสมุด ต่อมาก็ต้องเข้าใจสภาพจิตใจของตนเอง เพราะคนเราย่อมจะต้องมีความเครียด ความท้อแท้ หรือมีปัญหาต่างๆ ในชีวิต จึงต้องรู้ต้นเหตุของความกังวลใจความไม่สบายใจ แล้วก็ทำใจ ปล่อยวางมันให้หมดในช่วงที่อ่านหนังสือ ต้องไม่มีอะไรรบกวนจิตใจจริงๆ มีหลายครั้งที่ดิฉันรู้สึกเครียดมากก็ต้องพยายามทำให้จิตใจดีขึ้น ตอนนั้นเลยไปซื้อหนังสือมาอ่าน ที่ช่วยได้มากคือ เรื่อง Follow Your Heart : ก้าวไปตามใจฝัน ของ Andrew Matthews กับเรื่อง Life’s Greatest Lessons : มีชีวิตที่ดี มีบทเรียนดีๆ ..ให้ชีวิต ของ Hal Urban

ฝากไว้ให้กำลังใจ : ขอให้ท่านคิด พูด ทำแต่สิ่งที่ดีแล้วความดีจะส่งผลให้ท่านประสบแต่สิ่งที่ดีในชีวิต และขอให้ทุกท่านทำชีวิตให้มีความสุข ร่าเริง และยิ้มอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือมากแค่ไหน ก็ขอให้พักผ่อนนอนหลับให้เต็มที่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และให้เวลากับเพื่อนๆ และครอบครัวอย่างพอเหมาะ สรุปง่ายๆ ก็คือ ต้องหาความสมดุลให้ร่างกายและจิตใจนั่นเอง สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้ทุกเรื่องค่ะ ./

หมายเหตุ

คัดลอกจากหนังสือ ระพี ๔๙(๒๕๔๙) จัดพิมพ์โดยสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
=============================
Tag hit
ตั๋วทนาย.com การสอบใบอนุญาตทนายความ ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย สอบทนาย ตั๋วรุ่น ตั๋วปี
สอบภาคทฤษฎี สอบภาคปฏิบัติ ตั๋วทนาย สอบตั๋ว

Facebook Comments