Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ลาป่วยเท็จ นายจ้างมีสิทธิอะไรบ้าง

ลาป่วยเท็จ นายจ้างมีสิทธิอะไรบ้าง

10292

ลูกจ้างลาป่วยเท็จนายจ้างมีสิทธิอะไรบ้าง ลูกจ้างโดนลงโทษอะไรได้บ้าง

image

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5968/2530
ป.พ.พ. มาตรา 577, 583
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 ข้อ 2, ข้อ 47 (3)

ลูกจ้างเป็นลูกจ้างประจำรายเดือน ลักษณะการจ้างมิได้ถือเอาการทำงานแต่ละวันเป็นเกณฑ์ในการจ่ายค่าจ้าง การที่ลูกจ้างยื่นใบลาป่วย 1 วันเป็นเท็จ และนายจ้างไม่อนุมัติให้ลานั้นถือว่าลูกจ้างขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ซึ่งนายจ้างมีสิทธิตัดค่าจ้างได้ตามระเบียบข้อบังคับการทำงาน แต่เมื่อนายจ้างมิได้ตัดค่าจ้าง จึงเป็นกรณีนายจ้างไม่ใช้สิทธิของตนเองจะอ้างว่าลูกจ้างแสวงหาประโยชน์จากค่าจ้างซึ่งเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือฉ้อโกงและไม่จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างหาได้ไม่ แต่การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าลูกจ้าง ละทิ้งการงานไปเสีย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583นายจ้างจึงมีสิทธิ เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2747/2525)

________________________________

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ2,285 บาท และค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท โจทก์ปวดศีรษะไม่สามารถไปทำงานได้ จึงเขียนใบลาหยุดฝากเพื่อนไปยื่นต่อจำเลย เมื่อโจทก์ไปทำงานตามปกติปรากฏว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าปวดศีรษะไม่สามารถไปทำงานได้ไม่เป็นความจริง จำเลยได้ส่งคนไปตรวจสอบที่บ้านโจทก์ก็ไม่พบ ไปพบโจทก์นั่งดื่มสุราที่บ้านเพื่อน จำเลยไม่เชื่อว่าโจทก์ป่วยจนถึงขนาดไม่สามารถมาทำงานได้ตามที่ขอลาจึงได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำรายเดือนลักษณะการจ้างมิได้ถือเอาการทำงานแต่ละวันเป็นเกณฑ์ในการจ่ายค่าจ้างการที่โจทก์ยื่นใบลาขอลาป่วย 1 วัน เป็นเท็จ และจำเลยไม่อนุมัติใบลาของโจทก์ถือได้ว่าโจทก์ขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยกำหนดให้จำเลยมีสิทธิตัดค่าจ้างได้ แต่ปรากฏว่าจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เต็มจำนวนโดยมิได้ตัดค่าจ้างของโจทก์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่ใช้สิทธิของจำเลยเอง จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ยื่นใบลาขอลาป่วยเป็นเท็จเป็นการแสวงหาประโยชน์จากค่าจ้างซึ่งเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือฉ้อโกงจำเลยหาได้ไม่ระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยก็มิได้กำหนดให้การกระทำของโจทก์เป็นความผิดกรณีที่ร้ายแรง ทั้งกรณีไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) ซึ่งจำเลยจะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยดังนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 2747/2524 ระหว่างบริษัท เอ.เอ็น.บี.ลาบอราตอรี่ (อำนวยเภสัช) จำกัด โจทก์ นายอร่าม สุทธะพินธุกับพวก จำเลย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 บัญญัติว่า “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเว้นไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดีหรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก็ได้”ตามบทบัญญัติดังกล่าว ถ้าลูกจ้างกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กล่าวนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ฉะนั้น การที่โจทก์ยื่นใบลาป่วยเป็นเท็จและจำเลยไม่อนุมัติใบลาของโจทก์ ซึ่งถือว่าโจทก์ขาดงานหรือละทิ้งการงาน การกระทำของโจทก์จึงเป็นความผิดฐานละทิ้งการงานไปเสีย จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกกล่าวล่วงหน้า
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาล

Facebook Comments