Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ สู้คดีบัตรเครดิต ให้ยกฟ้อง สู้ยังไง?

สู้คดีบัตรเครดิต ให้ยกฟ้อง สู้ยังไง?

23420

การต่อสู้คดีบัตรเครดิตมีข้อต่อสู้อย่างไรบ้างมาดูกัน

image
หลักกฎหมาย
ป.พ.พ. มาตรา 193/34

สิทธิเรียกร้อง ดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนด อายุความ สองปี
(7) …ผู้ประกอบธุรกิจ…รับทำการงานต่างๆ เรียกเอาสินจ้าง อันจะพึงได้รับ ในการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป

ป.พ.พ. มาตรา 193/14

อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ ต่อเจ้าหนี้ ตามสิทธิเรียกร้อง โดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ชำระหนี้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือ กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัย แสดงให้เห็นเป็นปริยายว่า ยอมรับสภาพหนี้ ตามสิทธิเรียกร้อง

ป.พ.พ. มาตรา 193/28

การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง ซึ่งขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใด จะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่า ผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม
บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้ รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือ โดยการให้ประกันด้วย แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันไม่ได้
ป.พ.พ. มาตรา 193/29

เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความ มาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้
ป.พ.พ. มาตรา 291

ถ้าบุคคลหลายคน จะต้องทำการชำระหนี้ โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่า เจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิง ได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง หรือ แต่โดยส่วนก็ได้ ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่า หนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง

ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต (วันที่ 13 พฤศจิกายน 2549) ข้อ 4.2 “การประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ของธนาคารพาณิชย์ อาจเรียกเก็บดอกเบี้ยในหนี้ค้างชำระ หรือดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดชำระหนี้ หรือค่าปรับในการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด หรือค่าบริการ หรือค่าธรรมเนียมอื่นใดจากผู้ถือบัตร หรือผู้บริโภค ทั้งนี้ เมื่อรวมคำนวณรวมกันแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี และธนาคารพาณิชย์อาจคำนวณจำนวนวัน ตั้งแต่วันที่ได้ทดรองจ่าย เพื่อประโยชน์ของผู้ถือบัตร หรือผู้บริโภค หรือวันที่สรุปยอดรายการ หรือวันที่ผู้ถือบัตร หรือผู้บริโภคค้างชำระเงิน หรือถูกหักบัญชีตามใบแจ้งหนี้ก็ได้
ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการ ตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึง ค่าธรรมเนียม ในการดำเนินงาน หรือค่าบริการ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด”

กรณีผู้ถือบัตรเสริม
ภายใต้สัญญาที่ทำกับผู้ถือบัตรหลัก โดยวงเงินการใช้จ่ายของผู้ถือบัตรเสริมต้องอยู่ภายในวงเงินของผู้ถือบัตรหลักเท่านั้น และผู้ถือบัตรหลักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด

ข้อเท็จจริง

หนึ่งเป็นสมาชิกบัตรเครดิตธนาคาร หนึ่งใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าครั้งสุดท้าย เมื่อ 14 สิงหาคม 2553 และชำระหนี้ให้ธนาคารครั้งสุดท้าย เมื่อ 22 สิงหาคม 2553 ซึ่งตามใบแจ้งยอดการใช้บัตรเครดิตได้กำหนดให้หนึ่งชำระหนี้แก่ธนาคารภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2553 แต่หนึ่งไม่ชำระ ธนาคารจึงฟ้องหนึ่งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 เป็นคดีผู้บริโภค ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ให้ชำระหนี้ คิดถึงวันฟ้อง จำนวน 240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 170,000 บาท
1. อายุความฟ้องคดีบัตรเครดิต ต้องฟ้องภายใน 2 ปี นับจากวันที่เจ้าหนี้เรียกเอาเงินที่ออกทดรองให้ลูกหนี้ไป เมื่อตามใบแจ้งยอดการใช้บัตรเครดิต ได้กำหนดให้หนึ่งชำระหนี้แก่ธนาคารภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2553 แต่เมื่อหนึ่งไม่ชำระ ธนาคารเจ้าหนี้ย่อมบังคับให้หนึ่งชำระหนี้ทันทีโดยไม่ต้องมีการทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาก่อน อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2553 ครบกำหนดอายุความ 2 ปี เมื่อ 7 ตุลาคม 2555 เมื่อธนาคารฟ้องหนึ่งวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 คดีขาดอายุความแล้ว / ศาลต้องยกฟ้อง (ฎีกาที่ 5092/2547)

2. แต่ถ้าหนึ่ง ซึ่งมีอายุแค่ 30 ปี ไม่ชำระหนี้ ก็จะมีปัญหาเครดิตบูโร เป็นบุคคลไม่มีเครดิตทางการเงินแม้หนี้ขาดอายุความฟ้องคดี แต่หนึ่งยังคงเป็นหนี้ธนาคารอยู่นะ เพราะการระงับหนี้มี 5 วิธี คือ
1. การชำระหนี้ (ป.พ.พ. มาตรา 314)
2. การปลดหนี้ (ป.พ.พ. มาตรา 340)
3. หักกลบลบหนี้ (ป.พ.พ. มาตรา 341)
4. แปลงหนี้ใหม่ (ป.พ.พ. มาตรา 349)
5. หนี้เกลื่อนกลืนกัน (ป.พ.พ. มาตรา 353)

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 28,753.89 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 17,343 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 28,753.89 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 17,343บาท นับแต่วันถัดจากฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตประเภท บัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพของโจทก์ยอมผูกพันตามเงื่อนไขของผู้ถือบัตรตกลงให้โจทก์ทดรองจ่ายเงินอันเนื่องมาจากจำเลยใช้บัตรเครดิตไปชำระค่าสินค้า ค่าบริการ หรือเบิกเงินสดล่วงหน้าโดยจำเลยยอมชำระคืนให้โจทก์ในภายหลัง โจทก์ได้ทดรองจ่ายเงินไปแล้วแต่จำเลยไม่ยอมชำระให้แก่โจทก์ เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ การที่โจทก์ให้บริการประเภทบัตรเครดิตแก่สมาชิกทำให้สมาชิกสามารถใช้บัตรเครดิตที่โจทก์ออกให้ไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการได้โดยไม่ต้องนำเงินไปชำระในทันทีโจทก์เป็นผู้ชำระเงินแทนสมาชิกไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลัง และสมาชิกสามารถนำบัตรไปถอนเงินสดล่วงหน้าจากบัญชีเงินฝากของธนาคารโจทก์โดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ ซึ่งเป็นกิจการงานบริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิก ทั้งนี้โดยโจทก์เรียกค่าธรรมเนียมจากสมาชิก จึงเป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) การฟ้องเรียกเงินทดรองของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ปรากฏว่าโจทก์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 แต่จำเลยไม่ชำระตามกำหนดถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2540 ซึ่งจะครบกำหนดอายุความในวันที่ 7 พฤษภาคม 2542 การที่จำเลยชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 22ธันวาคม 2542 นั้น เป็นการชำระหนี้ภายหลังจากขาดอายุความแล้วจึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกคืนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(1) เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 9 สิงหาคม 2543 ซึ่งหลังครบกำหนดอายุความแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้นหาชอบไม่ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

( สมชัย เกษชุมพล – เดิมพัน จรรยามั่น – สุมิตร สุภาดุลย์ )

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2545

ป.พ.พ. มาตรา 193/34, 193/14

โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ให้บริการประเภทบัตรเครดิตแก่สมาชิกซึ่งทำให้สมาชิกสามารถใช้บัตรเครดิตที่โจทก์ออกให้ไปใช้จ่ายค่าสินค้าที่ซื้อจากร้านค้าหรือค่าบริการที่ใช้จากสถานบริการแทนการชำระด้วยเงินสด การที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนหรือให้สมาชิกเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลังก็เป็นการเรียกเอาเงินที่โจทก์ได้ทดรองไป จึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(7)
จำเลยใช้บัตรซิตี้แบงก์วีซ่าครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2540 ครบกำหนดต้องชำระหนี้ภายในวันที่ 12 กันยายน 2540 และจำเลยใช้บัตรซิตี้แบงก์มาสเตอร์การ์ดครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2540 ครบกำหนดต้องชำระหนี้ภายในวันที่ 22สิงหาคม 2540 ซึ่งวันที่จำเลยต้องชำระหนี้บัตรเครดิตทั้งสองใบดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระได้ ต่อมาจำเลยชำระหนี้บางส่วนตามบัตรซิตี้แบงก์วีซ่าให้โจทก์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2540 และชำระหนี้บางส่วนตามบัตรซิตี้แบงก์มาสเตอร์การ์ดให้โจทก์เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2540 อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) และมาตรา 193/15 โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2543 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2540 และวันที่ 27 ธันวาคม 2540 อันเป็นวันเริ่มนับอายุความใหม่ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
นับแต่จำเลยชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ครั้งสุดท้ายแล้ว จำเลยไม่เคยใช้บัตรเครดิตของโจทก์อีก ทั้งโจทก์มิได้ออกเงินทดรองให้แก่จำเลย ใบแจ้งยอดบัญชีที่โจทก์ส่งให้จำเลยแต่ละเดือนต่อมาล้วนแต่เป็นการคิดบวกรวมดอกเบี้ยที่จำเลยผิดนัด เบี้ยปรับที่จำเลยชำระหนี้ล่าช้าเข้ากับต้นเงินที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น การที่โจทก์ยังให้โอกาสจำเลยนำเงินมาชำระให้โจทก์ต่อไปอีกก็มิได้หมายความว่าโจทก์ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ที่ติดค้างดังกล่าวแล้วให้แก่โจทก์โดยทันที เพียงแต่โจทก์ผ่อนผันไม่บังคับสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยเท่านั้น ทั้งโจทก์ก็คิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ชำระหนี้ล่าช้าเป็นการตอบแทนที่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนตามวันที่ถึงกำหนดชำระอายุความจึงเริ่มนับอีกครั้งเมื่อจำเลยชำระหนี้บางส่วนให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายตามหนี้บัตรเครดิตแต่ละใบมิใช่เริ่มนับตั้งแต่วันที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมดโดยไม่ผ่อนผันให้จำเลยค้างชำระหนี้อีกต่อไป

________________________________

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์ จำนวน 2 ใบจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินคืนตามที่โจทก์ได้ทดรองจ่ายไปโจทก์ได้บอกเลิกการเป็นสมาชิกบัตรแล้ว ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 178,956.94 บาทและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 35 ต่อปี ของต้นเงิน 47,714.76 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ30 ต่อปีของต้นเงิน 48,913.33 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะว่ายอดบัญชีบัตรวีซ่านั้นจำเลยใช้จ่ายบัตรเครดิตครั้งสุดท้ายวันที่ 20 กรกฎาคม 2540 ต่อมาจำเลยได้ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 17 ธันวาคม 2540 ส่วนยอดบัญชีบัตรมาสเตอร์การ์ด จำเลยใช้จ่ายบัตรเครดิตครั้งสุดท้ายวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 ต่อมาจำเลยได้ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 26 ธันวาคม 2540 ดังนั้นสิทธิเรียกร้องในยอดหนี้บัตรเครดิตทั้งสองใบ โจทก์จะต้องฟ้องคดีภายในกำหนด 2 ปีแต่คดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 20มกราคม 2543 ซึ่งเกินกว่า 2 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และประกอบธุรกิจให้บริการประเภทบัตรเครดิตจำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์จำนวน 2 ใบ คือ บัตรซิตี้แบงก์วีซ่า และบัตรซิตี้แบงก์มาสเตอร์การ์ด จำเลยยอมผูกพันตามเงื่อนไขของผู้ถือบัตรและสามารถนำบัตรเครดิตดังกล่าวของโจทก์ไปใช้แทนเงินสดในการซื้อสินค้า ชำระค่าบริการและเบิกถอนเงินสดล่วงหน้า โดยตกลงให้โจทก์ทดรองจ่ายเงินแก่สถานประกอบการค้าหรือบริการไปก่อนแล้วโจทก์จึงแจ้งยอดหนี้เรียกเก็บเงินจากจำเลยภายหลังซึ่งโจทก์คิดค่าบริการและค่าธรรมเนียมจากจำเลย เมื่อโจทก์ออกบัตรเครดิตดังกล่าวให้จำเลยแล้ว จำเลยได้นำบัตรซิตี้แบงก์วีซ่าและบัตรซิตี้แบงก์มาสเตอร์การ์ด ไปใช้จ่ายค่าสินค้าและค่าบริการซึ่งโจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยไปก่อนทุกครั้ง พร้อมทั้งส่งใบแจ้งยอดบัญชีให้จำเลยนำเงินไปชำระให้โจทก์ทุกเดือนตลอดมา จำเลยชำระหนี้บางส่วนตามหนี้บัตรซิตี้แบงก์วีซ่าให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม2540 และชำระหนี้บางส่วนตามหนี้บัตรซิตี้แบงก์มาสเตอร์การ์ดให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2540 เห็นว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ให้บริการประเภทบัตรเครดิตแก่สมาชิกซึ่งทำให้สมาชิกสามารถใช้บัตรเครดิตที่โจทก์ออกให้ไปใช้จ่ายค่าสินค้าที่ซื้อจากร้านค้าหรือค่าบริการที่ใช้จากสถานบริการแทนการชำระด้วยเงินสด โดยโจทก์จะออกเงินทดรองชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการดังกล่าวแก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นร้านค้าหรือสถานบริการไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลัง อันเป็นลักษณะทำกิจการงานให้บริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกในการซื้อสินค้าและใช้สถานบริการ ส่วนการให้สมาชิกเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าด้วยบัตรเครดิตดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นบริการส่วนหนึ่งประกอบการให้บริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกของโจทก์และโจทก์ได้เรียกเก็บค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมดังกล่าวด้วย โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่สมาชิก และการที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนหรือให้สมาชิกเบิกถอนเงินสดล่วงหน้า แล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลังก็เป็นการเรียกเอาเงินที่โจทก์ได้ทดรองไป สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) เมื่อปรากฏว่าจำเลยใช้บัตรซิตี้แบงก์วีซ่าครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2540 ครบกำหนดต้องชำระหนี้ตามใบแจ้งยอดบัญชีพร้อมคำแปล เอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 ภายในวันที่ 12 กันยายน 2540 และจำเลยใช้บัตรซิตี้แบงก์มาสเตอร์การ์ดครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2540 ครบกำหนดต้องชำระหนี้ตามใบแจ้งยอดบัญชีบริการพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 ภายในวันที่ 22 สิงหาคม 2540 ซึ่งวันที่จำเลยต้องชำระหนี้บัตรเครดิตทั้งสองใบดังกล่าว เป็นวันที่โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระได้ ต่อมาจำเลยชำระหนี้บางส่วนตามบัตรซิตี้แบงก์วีซ่าให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2540 และชำระหนี้บางส่วนตามบัตรซิตี้แบงก์มาสเตอร์การ์ดให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2540 อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) และมาตรา 193/15แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2543 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 18ธันวาคม 2540 และวันที่ 27 ธันวาคม 2540 อันเป็นวันเริ่มนับอายุความใหม่เป็นต้นมาฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยชำระหนี้บางส่วนครั้งสุดท้ายให้โจทก์ตามบัตรซิตี้แบงก์วีซ่าเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2540 และตามบัตรซิตี้แบงก์มาสเตอร์การ์ด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2540 เป็นการชำระหนี้บางส่วนของจำเลย ยังมียอดหนี้และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ค้างชำระอยู่ที่จำเลยต้องชำระเป็นดอกเบี้ยและเบี้ยปรับแก่โจทก์เพราะชำระหนี้ล่าช้า โจทก์กำหนดให้จำเลยชำระหนี้ตามบัตรซิตี้แบงก์วีซ่าและบัตรซิตี้แบงก์มาสเตอร์การ์ดภายในวันที่14 พฤษภาคม 2541 และวันที่ 23 เมษายน 2541 ตามลำดับโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2541 และวันที่ 24 เมษายน 2541โดยโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2543 ยังไม่เกิน 2 ปี จึงไม่ขาดอายุความนั้นเห็นว่านับแต่จำเลยชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม2540 และวันที่ 26 ธันวาคม 2540 แล้วนั้น จำเลยไม่เคยใช้บัตรเครดิตดังกล่าวของโจทก์อีก ทั้งโจทก์ก็มิได้ออกเงินทดรองให้แก่จำเลย ใบแจ้งยอดบัญชีที่โจทก์ส่งให้จำเลยแต่ละเดือนต่อมาล้วนแต่เป็นการคิดบวกรวมดอกเบี้ยที่จำเลยผิดนัดเบี้ยปรับที่จำเลยชำระหนี้ล่าช้าเข้ากับต้นเงินที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสิ้นการที่โจทก์ยังให้โอกาสจำเลยนำเงินมาชำระให้โจทก์ต่อไปอีกก็มิได้หมายความว่าโจทก์ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ที่ติดค้างดังกล่าวแล้วให้แก่โจทก์โดยทันที เพียงแต่โจทก์ผ่อนผันไม่บังคับสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยเท่านั้น ทั้งนี้โจทก์ก็คิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ชำระหนี้ล่าช้าเป็นการตอบแทนที่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนตามวันที่ถึงกำหนดชำระ ดังข้อกำหนดและเงื่อนไขเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 7 ที่ระบุไว้ว่า “…จนกว่าจะมีการชำระหนี้ครบถ้วน แต่ทั้งนี้ธนาคารมีสิทธิที่จะเรียกไม่ว่าด้วยวาจาหรือหนังสือหรือใบแจ้งยอดบัญชีให้ผู้ถือบัตรชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมดในทันทีโดยไม่ต้องรอจนถึงเวลาส่งใบแจ้งยอดบัญชีครั้งถัดไป หรือเรียกให้ชำระหนี้บางส่วนก่อนถึงกำหนดชำระดังกล่าวข้างต้นได้ตามที่ธนาคารจะเห็นสมควรโดยไม่ต้องแสดงเหตุผล…” และในข้อ 2 ของข้อกำหนดและเงื่อนไขดังกล่าวยังระบุด้วยว่า “ธนาคารมีอำนาจในการเพิกถอนสิทธิต่าง ๆ ที่ให้แก่ผู้ถือบัตรได้ทุกเวลา…” อันเป็นข้อตกลงที่จำเลยทำไว้แก่โจทก์ที่ยืนยันว่า โจทก์สามารถบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมดได้ทันทีตามใบแจ้งยอดบัญชี อายุความคดีนี้จึงเริ่มนับอีกครั้งเมื่อจำเลยชำระหนี้บางส่วนให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายตามหนี้บัตรเครดิตแต่ละใบ มิใช่เริ่มนับตั้งแต่วันที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมดโดยไม่ผ่อนผันให้จำเลยค้างชำระหนี้อีกต่อไป ดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

( วีระศักดิ์ รุ่งรัตน์ – ไพศาล เจริญวุฒิ – สมชาย จุลนิติ์ )

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7010/2543

ป.พ.พ. มาตรา 149, 194

ในคู่มือการใช้บัตรเครดิต ผู้ถือบัตรหลักสามารถมอบเครดิตของตนให้ได้เฉพาะสมาชิกในครอบครัว ด้วยการสมัครให้เป็นสมาชิกบัตรเสริม นอกจากนี้การแจ้งยอดค่าใช้จ่ายของบัตรหลักและบัตรเสริมกำหนดให้แจ้งแก่ผู้ถือบัตรหลักเท่านั้น ดังนี้ แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาว่าผู้ถือบัตรหลักต้องร่วมรับผิดชอบในการใช้บัตรของผู้ถือบัตรเสริมซึ่งเป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกันด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ออกบัตรเสริมแก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นสามีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรหลักจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ของบัตรเสริมเสมือนกับเป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรของตนเอง

________________________________

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๘๓,๘๗๔.๓๖ บาท และจำเลยที่ ๒ ชำระเงิน ๘๒,๗๓๔.๕๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ในต้นเงิน ๔๔,๗๙๔.๑๗ บาท และต้นเงิน ๔๔,๑๙๐.๖๕ บาท ตามลำดับ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๖๑๒.๗๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๔ และจำเลยที่ ๒ ชำระเงิน ๔๕,๒๖๙.๓๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ในต้นเงิน ๔๔,๑๙๐.๖๕ บาท นับแต่วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๕ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๓๒ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำขอใช้บัตรเครดิตของโจทก์ และขอให้โจทก์ออกบัตรเครดิตประเภทบัตรเสริมให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยใช้วงเงินเดียวกัน โจทก์อนุมัติวงเงินการใช้บัตรเครดิตให้แก่จำเลยทั้งสองจำนวนเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ภายหลังทำสัญญาจำเลยทั้งสองได้รับบัตรเครดิตไปจากโจทก์และนำบัตรเครดิตไปใช้ซื้อสินค้า ชำระค่าบริการและเบิกถอนเงินสดหลายครั้ง โจทก์แจ้งยอดหนี้ให้จำเลยทั้งสองทราบ จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวยกเลิกบัตรเครดิตและทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองได้รับหรือถือว่าได้รับหนังสือบอกกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๐ สัญญานี้จึงเลิกกันวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๐ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีเพียงว่า จำเลยที่ ๑ จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ในหนี้บัตรเสริมต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามคำขอใช้บัตรเครดิตรายละเอียดที่ระบุในคำขอ เช่น ประวัติ ที่อยู่ อาชีพ รายได้ สถานที่ส่งใบเรียกเก็บเงินตลอดจนการชำระเงิน ล้วนเป็นรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับผู้ขอบัตรหลักคือจำเลยที่ ๑ ส่วนรายละเอียดของผู้ขอบัตรเสริมคือจำเลยที่ ๒ นั้น เป็นเพียงข้อมูลเท่าที่จำเป็นเพื่อทราบว่าเป็นใคร เกี่ยวข้องกับผู้ขอบัตรหลักอย่างไร ในการอนุมัติโจทก์ได้พิจารณาอนุมัติโดยคำนึงถึงข้อมูล ความสามารถในการชำระเงินของจำเลยที่ ๑ ผู้ขอบัตรหลักซึ่งเป็นคู่สัญญาโดยตรงเท่านั้น วงเงินของบัตรเสริมก็ใช้ร่วมกับวงเงินของบัตรหลักที่โจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ ๑ หากปราศจากบัตรหลักแล้วย่อมไม่อาจทำสัญญาขอใช้บัตรเสริมได้โดยลำพัง ทั้งจำเลยที่ ๑ ลงชื่อรับรองไว้ในคำขอว่า จำเลยที่ ๑ ยินยอมผูกพันตามระเบียบและเงื่อนไขของโจทก์ที่กำหนดไว้ทุกประการซึ่งในคู่มือการใช้บัตร ผู้ถือบัตรหลักสามารถมอบเครดิตของตนให้ได้เฉพาะสมาชิกในครอบครัว ด้วยการสมัครให้เป็นสมาชิกบัตรเสริม ดังนี้ แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาว่าผู้ถือบัตรหลักต้องร่วมรับผิดชอบในการใช้บัตรของผู้ถือบัตรเสริมซึ่งเป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกันด้วย เมื่อจำเลยที่ ๑ ขอให้โจทก์ออกบัตรเสริมแก่จำเลยที่ ๒ ผู้เป็นสามี จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรหลักจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ของบัตรเสริมเสมือนกับเป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรของตนเอง ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดในหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตแยกต่างหากจากกันไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ในหนี้ของจำเลยที่ ๒ ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๑,๐๐๐ บาท.

( ชวลิต ศรีสง่า – ระพินทร บรรจงศิลป – วิเทพ ศิริพากย์ )

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ – นายสุวิทย์ เศวตสุนทร
ศาลอุทธรณ์ – นายบุญสิทธิ์ คงสุวรรณ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8730/2543

ป.พ.พ. มาตรา 381

การที่จำเลยตกลงยินยอมตามเงื่อนไขในการใช้บัตรเครดิตที่โจทก์คิดค่าธรรมเนียมชำระหนี้ล่าช้าในอัตรา ต่อเดือนตามที่โจทก์ประกาศและโจทก์จะพิจารณาเปลี่ยนแปลงอัตราค่าธรรมเนียมชำระหนี้ล่าช้าได้โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบเช่นนี้เห็นได้ว่าค่าธรรมเนียมชำระหนี้ล่าช้ามิใช่ดอกเบี้ย แต่เป็นเบี้ยปรับ

________________________________

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อประเภทบัตรเครดิต จำเลยสมัครเป็นสมาชิกบัตรสินเชื่อของโจทก์ โดยจำเลยตกลงจะชำระเงินให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยพร้อมทั้งค่าธรรมเนียม ในการเบิกถอนเงินสดภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ระบุไว้ในใบแจ้งยอดบัญชีรายเดือนหรือวันที่โจทก์กำหนดไว้ใน ใบแจ้งยอดบัญชีรายเดือน หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด จำเลยยอมชำระค่าธรรมเนียมชำระหนี้ล่าช้าในอัตราต่อเดือนตามที่ประกาศ จำเลยนำบัตรเครดิตไปใช้ตามข้อตกลงหลายครั้งและค้างชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยต้อง รับผิดชำระเงินพร้อมค่าธรรมเนียมชำระหนี้ล่าช้าเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๑๘๒,๘๔๖.๗๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๑๔๕,๙๓๔.๙๒ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์คิดค่าธรรมเนียมชำระหนี้ล่าช้าโดยไม่ชอบเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดโดยจำเลย ไม่ตกลงด้วย ยอดหนี้ตามฟ้องสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๑๕๕,๘๒๕.๗๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีของต้นเงิน ๑๔๕,๙๓๔.๙๒ บาท นับแต่วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์โดยตกลงยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขและ ข้อกำหนดซึ่งจำเลยจะได้รับพร้อมกับบัตรเครดิตแต่ละฉบับ การที่จำเลยนำบัตรเครดิตไปใช้เป็นการแสดงเจตนา โดยปริยายว่าจำเลยตกลงยินยอมตามเงื่อนไขและข้อกำหนดการใช้บัตรเครดิตนั้นแล้ว เงื่อนไขในการใช้บัตรเครดิต ที่โจทก์คิดค่าธรรมเนียมชำระหนี้ล่าช้าในอัตราต่อเดือนตามที่โจทก์ประกาศและโจทก์จะพิจารณาเปลี่ยนแปลงอัตรา ค่าธรรมเนียมชำระหนี้ล่าช้าได้โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบจึงใช้บังคับแก่จำเลยได้ ตามวิธีการใช้บัตรเครดิต เมื่อจำเลยนำบัตรเครดิตไปใช้โจทก์จะชำระหนี้แทนจำเลย จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระเงินคืนโจทก์ภายในกำหนด หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินคืนภายในกำหนดโจทก์จึงจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมชำระหนี้ล่าช้า จึงเห็นได้ว่า ค่าธรรมเนียมชำระหนี้ล่าช้ามิใช่ดอกเบี้ย แต่เป็นเบี้ยปรับ ซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดอัตราไว้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมชำระหนี้ล่าช้าจากจำเลยในอัตราร้อยละ ๕ ต่อเดือนตามที่โจทก์ประกาศกำหนดเป็นอัตราสำหรับลูกค้าของโจทก์ทุกคนได้?
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน ๗๙๗.๕๐ บาท ให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียม ชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( สมศักดิ์ เนตรมัย – ระพินทร บรรจงศิลป – ผล อนุวัตรนิติการ )

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ – นายสุพจน์ จันทราอุกฤษณ์
ศาลอุทธรณ์ – นายสุรชัย พิริยชนานันท์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2543

ป.อ. มาตรา 90, 91, 265, 268, 342(1)
ป.วิ.อ. มาตรา 185, 192, 185, 192

แม้ข้อเท็จจริงจะฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 2 ลงในบัตรเครดิตของผู้เสียหายที่ 2 ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2ปลอมลายมือชื่อผู้เสียหายที่ 2 ลงในใบสั่งซื้อสินค้า (ใบเซ็นชื่อ) แล้วใช้แสดงใบสินค้าต่อพนักงานขายสินค้าของผู้เสียหายที่ 3 โดยแสดงตนเป็นคนอื่นนั้น ย่อมเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 และฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นตามมาตรา 342 (1)

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 264, 265, 268, 335, 357, 341, 342, 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคหนึ่ง, 265, 268, 342 (1), 83, 80 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ จึงคงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลากระทำความผิดว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดในวันที่ 16ตุลาคม 2536 เวลากลางวัน โดยไม่ได้ระบุว่า ความผิดฐานใดกระทำในเวลาใดให้ชัดแจ้ง การบรรยายฟ้องดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดในคราวเดียวกันเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นการกระทำคนละคราวอันจะเป็นความผิดหลายกรรม และการบรรยายฟ้องในลักษณะดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 เรียงกระทงความผิดจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. และ ป.อ. มาตรา 90 นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องข้อ 1.3 ของโจทก์ โจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวนำไว้ในเบื้องต้นแล้วว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2536 เวลากลางวัน หลังจากจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามฟ้องข้อ1.1 และ 1.2 แล้วก่อนที่จำเลยทั้งสองจะถูกจับกุมตัว จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท หลายกรรมต่างกันดังการกระทำทั้งหลายที่โจทก์ได้บรรยายต่อมาในฟ้องข้อ 1.3 (ก) (ข) (ค) ตามลำดับ ตามคำบรรยายฟ้องในแต่ละข้อดังกล่าวมานั้นเห็นได้ชัดว่า โจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำตลอดจนถึงเจตนาของจำเลยทั้งสองในแต่ละขั้นตอนที่โจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดในลักษณะใดฐานใดมาโดยชัดแจ้ง ตลอดจนคำขอให้ลงโทษท้ายฟ้อง โจทก์ก็ระบุมาตราที่ประสงค์จะให้ลงโทษมาด้วยถือได้ว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาถูกต้องตามความประสงค์ของกฎหมายแล้ว ส่วนเมื่อศาลพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดฐานใดบ้าง ต้องลงโทษฐานใดเพียงใดนั้น เป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาปรับบทและลงโทษจำเลยให้ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 90, 91 และ ป.วิ.อ. มาตรา 185, 192การพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ที่พิพากษามานั้นจึงหาเป็นการขัดต่อกฎหมายแต่ประการใด ฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น…
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอม ฉ้อโกง และพยายามฉ้อโกงหรือไม่นั้น เห็นว่า สำหรับข้อหาปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 2 ลงในบัตรเครดิตของกลางนั้น คดีคงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์แต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองมิใช่เจ้าของบัตรเครดิตของกลางและลายมือชื่อในบัตรเครดิตของกลางมิใช่ลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 2เท่านั้น โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานแวดล้อมใด ๆ มาเบิกความยืนยันให้มีน้ำหนักฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ปลอมหรือร่วมปลอม ลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 2 ลงในบัตรเครดิตของกลาง ฉะนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ปลอมหรือร่วมกันปลอมบัตรเครดิตของกลางโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อผู้เสียหายที่ 2 ลงในบัตรเครดิตของกลางโดยผู้เสียหายที่ 2 มิได้ยินยอม ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในใบสั่งซื้อสินค้า (ใบเซ็นชื่อ) โดยผู้เสียหายที่ 2 มิได้ยินยอม แล้วจำเลยที่ 2 นำไปใช้ซื้อสินค้าจากพนักงานขายสินค้าของผู้เสียหายที่ 3 นั้น โจทก์มีพยานยืนยันฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในใบสั่งซื้อสินค้า (ใบเซ็นชื่อ) ในการซื้อเสื้อยืดจากพนักงานขายจริง โดยสรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 2 ปลอมลายมือชื่อผู้เสียหายที่ 2 ลงในใบสั่งซื้อสินค้า (ใบเซ็นชื่อ) แล้วใช้แสดงใบสินค้าต่อพนักงานขายสินค้าของผู้เสียหายที่ 3โดยแสดงตนเป็นคนอื่นอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 และฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นตามมาตรา 342 (1) ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ปลอมและใช้เอง จึงต้องลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 แต่กระทงเดียวตาม ป.อ. มาตรา 268วรรคสอง และมีความผิดตามมาตรา 342 (1) แต่ความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 342 (1) จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดแต่กระทงเดียว จำคุก 6 เดือน และให้ยกฟ้องข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.

( ปรีดี รุ่งวิสัย – ณรงค์ศักดิ์ วิจิตรสาระวงศ์ – สมศักดิ์ เนตรมัย )

ศาลจังหวัดสมุทรปราการ – นายเจษฎาวิทย์ ไทยสยาม
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 – นายณรงค์ ธนะปกรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7001/2544

ป.อ. มาตรา 22
ป.วิ.อ. มาตรา 2(4)

จำเลยได้ใช้บัตรเครดิตปลอมไปซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆจากร้านค้าสมาชิกผู้รับบัตรเครดิตรวม 82 ครั้ง ผลการใช้บัตรเครดิตปลอมของจำเลยเป็นเหตุให้ธนาคาร น. ต้องจ่ายเงินตามใบบันทึกการขายซึ่งเป็นหลักฐานอันเกิดจากบัตรเครดิตปลอมให้แก่ร้านค้าสมาชิกผู้รับบัตรเครดิต ธนาคาร น. จึงเป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการใช้บัตรเครดิตปลอมของจำเลย มีอำนาจร้องทุกข์คดีนี้ได้
การหักวันต้องขังของศาลชั้นต้นเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดีการที่จำเลยฎีกาในเรื่องดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่าพิพากษาคดีไม่ถูกต้องแต่ประการใดเป็นเรื่องที่จำเลยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาล ซึ่งหากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกหักวันต้องขังคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านโดยขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นประการใดแล้ว จำเลยจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้เป็นลำดับ

________________________________

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 264, 265, 268, 341, 342, 33, 91คืนบัตรเครดิตของกลางให้แก่ผู้เสียหาย ริบใบบันทึกการขาย (เซลสลิป)131 รายการ และใบขอสมัครเป็นสมาชิก บัตรเครดิตขวัญนคร จำนวน2 ฉบับ ของกลาง ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 130,885.24 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188, 264 วรรคแรก, 265 ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 265 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดกระทงหนึ่งกับมีความผิดตามมาตรา 268 วรรคแรก, 341 ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 268 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดอีกกระทงหนึ่ง แต่คงลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมได้เพียงกระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง จำเลยกระทำผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม 82 ครั้งจึงต้องรับโทษรวม 82 กรรม ให้เรียงกระทงลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปีรวมเป็นจำคุก 82 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้บางส่วนเป็นเงิน10,000 บาท มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 41 ปี แต่ความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมต้องระวางโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ซึ่งเป็นความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำคุกรวมทุกกระทงได้ไม่เกินกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(2) จึงให้ลงโทษจำคุกจำเลยรวมทั้งสิ้น 20 ปี คืนบัตรเครดิตของกลางให้แก่เจ้าของ ส่วนของกลางอื่นให้ริบ ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินส่วนที่เหลือจำนวน 83,706.75 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยเฉพาะข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยได้นำเอาเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ของนายสมคิด พุ่มแก้ว ไปเพื่อขอสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตขวัญนคร ของธนาคารนครหลวงไทย จำกัดผู้เสียหาย โดยจำเลยลงลายมือชื่อปลอมว่าเป็นนายสมคิดในใบขอสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตในนามนายสมคิด พุ่มแก้ว ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ผู้เสียหายได้ออกบัตรเครดิตขวัญนครให้แก่จำเลย แล้วจำเลยลงลายมือชื่อปลอมนายสมคิดลงในบัตรเครดิตที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ผู้เสียหายออกให้ในนามนายสมคิด พุ่มแก้ว และจำเลยนำบัตรเครดิตในนามนายสมคิดที่จำเลยลงลายมือชื่อปลอมไว้ ซึ่งเป็นบัตรเครดิตปลอมไปซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้ารวม 82 ครั้ง รวมเป็นเงิน 93,706.75 บาท ธนาคารนครหลวงไทยจำกัด ผู้เสียหายได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ร้านค้าผู้รับบัตรเครดิตไปแล้ว แต่จำเลยได้ชดใช้ให้ผู้เสียหายไปแล้ว 10,000 บาท คงเสียหาย83,706.75 บาท ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวจำเลยฎีกาว่าโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ได้ออกบัตรเครดิตขวัญนครหมายเลข 0015 0151 1121 5001 ให้แก่นายสมคิด พุ่มแก้วโดยหลงเชื่อตามใบขอสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของนายสมคิด พุ่มแก้วที่จำเลยกระทำปลอมขึ้น ฉะนั้น บัตรเครดิตดังกล่าวจึงเป็นบัตรเครดิตที่แท้จริงและออกโดยธนาคารนครหลวงไทย จำกัด แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องต่อไปว่า จำเลยได้บังอาจปลอมบัตรเครดิตขวัญนครหมายเลขดังกล่าวฟ้องโจทก์ส่วนนี้จึงเคลือบคลุม อาจทำให้เข้าใจได้ว่าจำเลยได้ทำบัตรเครดิตขวัญนครปลอมเพิ่มขึ้นอีกฉบับหนึ่งนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าภายหลังที่จำเลยได้กระทำความผิดในฟ้องข้อ 1.2 แล้ว จำเลยได้บังอาจปลอมบัตรเครดิตขวัญนครหมายเลข 0015 0151 1121 5001 ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ซึ่งออกในนามของนายสมคิดพุ่มแก้ว โดยหลงเชื่อใบขอสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตที่จำเลยทำปลอมขึ้นดังกล่าวในฟ้องข้อ 1.2 โดยเอกสารดังกล่าวก่อให้ผู้มีชื่อในบัตรเครดิตดังกล่าวเกิดสิทธิในการนำบัตรเครดิตดังกล่าวไปใช้แสดงเพื่อซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าสมาชิกผู้รับบัตรโดยยังไม่ต้องชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินสด ทั้งนี้โดยจำเลยได้นำบัตรเครดิตดังกล่าวมาลงลายมือชื่อปลอมของนายสมคิด พุ่มแก้ว ผู้มีชื่อในบัตรเครดิตดังกล่าวในช่องลายมือผู้ถือบัตรที่ด้านหลังของบัตรเครดิตดังกล่าวโดยทุจริตเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่พบเห็นหลงเชื่อว่าบัตรเครดิตดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริงที่ลงลายมือชื่อโดยนายสมคิด พุ่มแก้ว ผู้มีชื่อในบัตรดังกล่าว ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายสมคิด พุ่มแก้ว ธนาคารนครหลวงไทยจำกัด ผู้อื่นและประชาชน เป็นการบรรยายฟ้องว่าภายหลังจากจำเลยได้กระทำความผิดปลอมใบขอสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของนายสมคิดพุ่มแก้ว จนได้รับบัตรเครดิตจากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด แล้วจำเลยได้กระทำความผิดต่อไปอีกโดยการลงลายมือชื่อปลอมของนายสมคิด พุ่มแก้ว ด้านหลังบัตรเครดิตที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ออกให้แก่นายสมคิด พุ่มแก้วเป็นเหตุให้บัตรเครดิตดังกล่าวมีลายมือชื่อปลอมของผู้ถือบัตรกลายเป็นบัตรเครดิตปลอม คำฟ้องโจทก์จึงไม่ทำให้เข้าใจได้ว่าจำเลยได้ทำบัตรเครดิตปลอมเพิ่มขึ้นอีกใบดังที่จำเลยฎีกา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมาในฎีกาของจำเลยนั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด เป็นผู้เสียหายคดีนี้หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวจำเลยฎีกาเป็นทำนองว่า จำเลยใช้บัตรเครดิตปลอมไปซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าจึงเป็นการกระทำความผิดต่อร้านค้า ส่วนธนาคารนครหลวงไทย จำกัดแม้จะเป็นผู้จ่ายเงินก็เป็นการละเมิดทางแพ่งเท่านั้น ไม่ได้กระทำความผิดอาญาต่อธนาคารนครหลวงไทย จำกัด นั้น เห็นว่าจำเลยได้ใช้บัตรเครดิตปลอมไปซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ จากร้านค้าสมาชิกผู้รับบัตรเครดิตรวม 82 ครั้ง ผลการใช้บัตรเครดิตปลอมของจำเลยเป็นเหตุให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ต้องจ่ายเงินตามใบบันทึกการขายซึ่งเป็นหลักฐานอันเกิดจากบัตรเครดิตปลอมให้แก่ร้านค้าสมาชิกผู้รับบัตรเครดิตธนาคารนครหลวงไทย จำกัด จึงเป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการใช้บัตรเครดิตปลอมของจำเลย ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด จึงเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจร้องทุกข์คดีนี้ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมาในฎีกาของจำเลยนั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่าจำเลยจะอุทธรณ์ปัญหาการหักวันต้องขังตามหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกาของศาลชั้นต้นพร้อมกับอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้หรือไม่เห็นว่า การหักวันต้องขังของศาลชั้นต้นเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี ฎีกาของจำเลยจึงมิใช่เป็นการฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่าพิพากษาคดีไม่ถูกต้องแต่ประการใด จึงเป็นเรื่องที่จำเลยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาล ซึ่งหากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกหักวันต้องขังคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านโดยขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นประการใดแล้ว จำเลยจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้เป็นลำดับต่อมา การที่จำเลยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยข้อนี้มานั้นเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน

( วิชัย ชื่นชมพูนุท – สุรศักดิ์ กาญจนวิทย์ – พีรพล จันทร์สว่าง )

Tag hit
ตั๋วทนาย.com การสอบใบอนุญาตทนายความ ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย สอบทนาย ตั๋วรุ่น ตั๋วปี
สอบภาคทฤษฎี สอบภาคปฏิบัติ ตั๋วทนาย สอบตั๋ว ตั๋วทนายความ ทนายความรุ่น 35,
ทนายความรุ่น 36,ทนายความรุ่น37 ทนายความรุ่น 38 ใบอนุญาตว่าความ สภาทนายความ ทนายอาสา ข่าวสอบทนาย บทความกฎหมาย ข่าวสอบตั๋วทนาย สภาทนาย ทนายว่าความ หนี้บัตรเครดิต
xn--m3ceg0bw3dk0r.com

Facebook Comments