Home ทริบเทคนิค/บทความ ความลับจากปากที่ 1 สามสนาม เนติ อัยการผู้ช่วย ผู้ช่วยผู้พิพากษา

ความลับจากปากที่ 1 สามสนาม เนติ อัยการผู้ช่วย ผู้ช่วยผู้พิพากษา

12472

เคล็ดลับเรียนเนฯ ที่จะเขียนต่อไปนี้ เป็นการรวบรวมเคล็ดลับการอ่านหนังสือสำหรับเรียนเนติบัณฑิต

image และการสอบผู้ช่วยอัยการ รวมทั้งผู้ช่วยผู้พิพากษา เคล็ดลับการเรียนนิติศาสตร์ การเรียนปริญญาโททางกฎหมาย หวังว่าจะเป็นแรงบัลดาลใจให้น้อง ๆ หลายคน ที่ต้องการประสบความสำเร็จในวิชาชีพกฎหมาย

สำหรับเวปไซต์ที่สามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับการสมัครเรียนเนติมีดังนี้นะคับ www.thaibar.thaigov.net หรือ www.thethaibar.thaigov.net

และเวปไซต์ที่พูดคุยเรื่องเรียนเนติฯ เรียนนิติฯ รวมถึงการสอบสนามต่าง ๆ

www.thaijustice.com และเวปไซต์ที่รวบรวมเอกสารเกี่ยวกับการสอบไว้ค่อนข้างดี คือเวปนี้นะคับ www.sittigorn.net

สิ่งที่เคล็ดลับมากมายเท่าอ่านเจอ นั่นคือ “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ยังคงใช้ได้ทุกสมัย การวางแผนดี และที่สำคัญต้องลงมือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับคนที่จะแนะนำวันนี้ เป็นคนที่สอบได้ที่ 1 เนฯ และสอบผู้พิพากษาได้ที่ 1 และสอบอัยการได้ที่ 1 ไม่น่าเชื่อใช่ไหมล่ะคับ เก่งมาก ๆ เป็นเคล็ดลับการเรียนเนฯ ของผู้ที่สอบได้ที่ 1 เนฯ สมัยต่าง ๆ 5 สมัย

บทความชิ้นนี้นำมาจากหนังสือมติชนครับ

เนติบัณฑิต บอกเล่าความสำเร็จ “นักกฎหมาย

เนติบัณฑิต บอกเล่าความสำเร็จ “นักกฎหมาย”

โดย พรพรรณ จิตติวัธน์ มติชน หน้า 33

การเป็น “เนติบัณฑิต” อาจง่ายสำหรับบางคนและอาจยากสำหรับบางคน จะง่ายหรือยาก เป็นเรื่องของ เทคนิคในการเรียนรู้ ซึ่งการเป็นเนติบัณฑิตเองก็มีเทคนิคไปสู่ความสำเร็จเช่นกันกับอาชีพอื่นๆ จากประสบการณ์ความสำเร็จของเนติบัณฑิต 5 คน

เขาเหล่านั้นมีโอกาสมาเล่าถึงความสำเร็จให้ฟัง เริ่มจากเนติบัณฑิตสมัยที่ 52 วิวัฒน์ ว่องวิวัฒน์ไวทยะ ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาชั้นต้น ประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

สอบเนติบัณฑิตสมัยของตัวเองได้ที่ 1 และยังสอบเป็นอัยการได้ที่ 1 อีกด้วย เท่านั้นยังไม่พอ-พอสอบผู้พิพากษายังได้ที่ 1 อีก วิวัฒน์เล่าให้ฟังว่า

เริ่มแรกสมัยที่ยังเป็นนักศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นคนไม่ใช่เด็กเรียน และไม่ใช่คนเก่ง “ตอนที่เรียนรามคำแหง ผมแทบไม่เคยเข้าชั้นเรียน อาศัยการที่เรามีใจรักที่จะเรียนกฎหมาย เพราะการเรียนกฎหมายให้ได้ดีต้องเริ่มที่มีใจรักก่อน จากนั้นก็เป็นเรื่องของการอ่านหนังสือ การเรียนในห้องเรียน ซึ่งการอ่านหนังสือนั้นต้องมีเทคนิค อย่าคิดว่ามาเรียนกฎหมายแล้วเรียนแบบให้ผ่านๆ ไป แบบนั้นไม่ถูกต้องและไม่ดีแน่ๆ…”

วิวัฒน์บอกว่า เมื่อมีใจรักจะเรียนกฎหมาย ซึ่งต้องรักจริงๆ รักในตัวบทกฎหมาย ไม่ใช่หลอกตัวเพื่อไปตามแฟชั่น ต้องคิดว่าตัวเองรักแล้วจริงๆ หรือยัง ถ้ายังไม่มากก็ต้องปลูกฝังให้เกิดความรัก พยายามมีความฝัน

“…วิธีเรียนของผมจะใช้การดูจากข้อสอบเก่าย้อนหลังไป 20 สมัย อ่านจากข้อสอบพวกนั้น ทั้งนี้ การดูข้อสอบเก่าเป็นเหมือนลายแทงในการดูหนังสือ และเป็นแนวทางในการเตรียมตัวสอบ ที่สำคัญเมื่ออ่านหนังสือ หรือเรียนกลับมาบ้านแล้ว ต้องทบทวนทันที ตามทฤษฎีหากปล่อยเวลาผ่านไปเพียงหนึ่งวัน ความรู้หายไปทันที 50% และเมื่อผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ความรู้ก็จะหายไป 90%…”

วิวัฒน์บอก ดังนั้น เขาจึงใช้การทบทวนสิ่งที่เรียนมาทันทีที่กลับถึงบ้าน ซึ่งการทบทวนเช่นนั้นทำให้ความรู้และสามารถจดจำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไปอีก 2 สัปดาห์ และยิ่งทบทวนต่อไปอีกก็จะอยู่นานถึง 1 เดือน

“บางคนอ่านหนังสือแล้วง่วง ผมแนะนำว่าถ้าง่วงก็ให้นอนเลย เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะแก้ง่วงได้ นอนสัก 3 ชั่วโมงแล้วค่อยกลับมาอ่านต่อ ซึ่งจะดีกว่า และอย่าลืมออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงด้วย ไม่ใช่นั่งจ่อมอยู่กับหนังสือตลอดเวลา…”

บางคนอ่านแล้วไม่จำ-ทำอย่างไร?

วิวัฒน์บอกว่า การไม่จำเพราะไม่ใส่ใจ

“…การอ่านหนังสือเราต้องเอาใจใส่เข้าไปในตัวหนังสือด้วย มีสมาธิกับมัน ต้องเข้าถึงมัน อย่าไปคิดว่าอ่านไปเรื่อยๆ ให้จบแต่อ่านแล้วไม่รู้เรื่องก็ไม่ได้ผล”

การเรียนกฎหมายเรื่องของ “การอ่าน” เป็นเรื่องสำคัญ เป็นหัวใจของวิชานี้ก็ว่าได้ เพราะตัวบทกฎหมายนั้นต้องใช้วิธีการท่องจำอย่างมาก การท่องจำจึงต้องมีสมาธิและความเข้าใจ วิธีเรียนของคนแรกผ่านไป มาถึง

พัฒนาพร โกวพัฒนกิจ เนติบัณฑิตสมัยที่ 55 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ระดับ 4 ภาควิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พัฒนาพร เป็นอีกคนที่บอกว่าเป็นคนเรียนไม่เก่ง และไม่ค่อยมีสมาธิ แต่ที่ประสบความสำเร็จเพราะตนเองมีความเชื่อมั่นและความตั้งใจ

“เกิดมาไม่เคยสอบได้ที่ 1 มาก่อนเลย เพิ่งจะมาสอบได้ที่ 1 เนติบัณฑิตนี่แหละ เพราะที่ผ่านมาเคยคิดแต่ว่าเรียนพอให้ผ่านๆ ก็พอ”

หญิงสาวกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ เธอบอกว่า เคยคิดว่าคนที่เข้ามาสอบเนติฯมีตั้ง 2-3 หมื่นคน แต่มีคนที่ตั้งใจมาสอบจริงๆ ไม่กี่คน และคิดว่าถ้าเราตั้งใจดี สิ่งที่ดีๆ ก็จะส่งผลถึงเรา

“เหมือนกับที่เรียนช่วงแรกๆ ไม่ค่อยอะไรมาก พอต่อมาเราตั้งใจ เป็นความตั้งใจว่ายังไงเราต้องเรียนให้จบ พอเรามีความตั้งใจแล้ว เราก็ลงมือทำ และเมื่อทำไปแล้วเคยท้อถอยนะ…แต่ก็ต้องอดทน และเคยคิดว่าเราเป็นหุ่นยนต์จนไม่อยากเรียนไม่อยากทำอะไร แต่สักพักก็คิดได้ว่าถ้าทำอะไรก็ต้องทำให้สำเร็จ คือคิดว่าต้องมีวินัยในตนเอง คืออดทน ขยัน และต้องมีความสม่ำเสมอ…แล้วมันก็ไม่ยาก”

เธอบอกว่า ถ้าคิดอย่างนี้แล้วเชื่อว่าทุกคนสามารถทำได้ และหากใครมีความขยัน เธอว่าความตั้งใจจะทำให้ความขยันตามมา สำหรับเทคนิคในการอ่านตำราของเธอนั้น เธอบอกว่าไม่ต่างจากคนอื่นมากนัก

“เทคนิค…ก็…ในเรื่องของการอ่าน เริ่มอ่านคำบรรยายเก่าๆ ก่อน เอาคำบรรยายเก่ามาศึกษา เพราะมีข้อดีตรงที่ทำให้เราได้เปรียบกว่าคนอื่น เราสามารถอ่านได้จบก่อนคนอื่น อีกทั้งคอยพยายามติดตามคำบรรยายใหม่ที่ออกมาด้วย เพื่อนำมาศึกษาเปรียบเทียบ ในส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลง จากนั้นจดบันทึกเอาไว้…

“…อ่านรอบแรกยังไม่ค่อยจำหรอกค่ะ เพราะจะเป็นแบบขอให้ได้อ่าน พอขึ้นรอบสองเริ่มจดบันทึก และจับใจความสำคัญในเรื่องที่อ่าน จากนั้นเขียนเป็นภาษาของตนเองที่เข้าใจ และที่สำคัญคือ ต้องไม่เครียด อีกอย่างเวลาที่ง่วงควรหาเพื่อนคุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน และเทคนิคที่สำคัญสำหรับคนจะไปสอบเนติฯ คือ

โค้งสุดท้ายก่อนสอบสองสัปดาห์ให้เอาข้อสอบเก่ามาอ่าน ไม่ต้องลนลานเวลาทำข้อสอบ

” พัฒนาพรมีเทคนิคส่วนตัวที่ใครจะเอาแบบอย่างก็ได้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ คือ ตื่นนอน 6 โมงเช้าเพื่อไปทำบุญตักบาตรก่อนจะไปสอบ เพราะทำแบบนั้นแล้วใจสงบและสบายใจ

มาถึงเรื่องราวของเนติบัณฑิตสมัยที่ 57

กมลวรรณ ปริสัญโญดม ทนายความบริษัทสำนักงานกฎหมายเบญจมาอภัยวงศ์ จำกัด

เล่าว่า เป็นคนที่เรียนหนังสืออยู่ในระดับปานกลาง อีกทั้งเป็นคนสมาธิสั้น จึงเข้าเรียนทุกครั้ง เนื่องจากเวลาที่อาจารย์สอนนั้น จะทำให้ทราบว่าตรงไหนคือส่วนสำคัญ เพราะอาจารย์จะเน้นย้ำ และทำให้สามารถจดจำได้ ซึ่งแตกต่างกับที่มานั่งอ่านเอาเอง

“แต่ก่อนมีความเชื่อว่าการจะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในการสอบเนติฯ จำเป็นต้องเรียนเก่งและต้องมีสมองเป็นเลิศ ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่เลย อยู่ที่ความตั้งใจมากกว่า ตอนที่ยังเรียนอยู่จะพยายามเข้าเรียนทุกวันเรียนกับเพื่อน เป็นคนที่เข้าเรียนตลอดและสม่ำเสมอ ที่สำคัญในการเรียนคือ ฟังอาจารย์เสร็จ อ่านหนังสือแล้วต้องทำเป็นแบบสรุปของตัวเองออกมา เขียนเป็นภาษาของตัวเอง เพราะทำให้เราเข้าใจได้มากขึ้นและจำได้ และเวลาอ่านหนังสือจะจดบันทึกประโยคที่มีความสำคัญจริงๆ และลักษณะของการอ่านจะอ่านแบบสะสม”

กมลวรรณบอกว่า การเร่งอ่านหนังสือช่วงใกล้สอบไม่ใช่วิธีการของเธอ

“เพราะจะทำให้เหนื่อย และเกิดความล้าเกินไป แต่จะจัดแบ่งเวลาในการอ่านอย่างน้อยวิชาละ 1 วัน โดยเริ่มจากทบทวนคำบรรยายก่อน จากนั้นเอาข้อสอบเก่ามาอ่าน และดูว่า 20 ปีข้อสอบออกอะไรมาบ้าง สามารถที่จะตอบประเด็นไหนบ้าง และการทบทวนตัวบทกฎหมาย ต้องตีความไปทีละคำ เพื่อให้เกิดเข้าใจว่ามาตรานี้หมายความว่าอย่างไร ควรจำเฉพาะมาตราหลักๆ ที่สำคัญ และควรอ่านให้เกิดความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่การท่องจำ”

กมลวรรณกล่าว กมลวรรณแนะนำว่า เทคนิคการตอบข้อสอบในเรื่องของมาตราต่างๆ นั้น คือ ควรจำหลักสำคัญๆ ของมาตรานั้นๆ และตอบเฉพาะหลักสำคัญของมาตรานั้นที่ข้อสอบถาม

“คือ เราต้องจำหลักสำคัญของมาตรานั้นๆ ที่เราเห็นว่าสำคัญ และเอาเฉพาะช่วงที่เป็นหลักสำคัญของมาตรานั้นๆ ที่ข้อสอบถามและตอบลงไป เพราะเวลากรรมการตรวจข้อสอบ เขาจะดูว่าเราเข้าใจมาตรานี้จริงๆ และเข้าใจว่าอย่างไร ต้องการสื่ออะไร

อ้อ…แล้วอย่าลืมก่อนวันสอบให้ไปสวดมนต์ไหว้พระ เพื่อทำสมาธิ และตื่นเช้าๆ”

เนติบัณฑิตสมัยที่ 58 ญาดา วรรณไพโรจน์ เจ้าหน้าที่ประจำองคมนตรี ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร

เล่าให้ฟังถึงการเป็นนักเรียนกฎหมาย ว่าความจริงเป็นคนไม่ขยันมากนัก แต่ชอบเข้าห้องเรียนตลอด เพราะการเข้าห้องเรียนช่วยทำให้มีแนวทางในการสอบ “การอ่านข้อสอบเก่า และการท่องตัวบทกฎหมาย ล้วนมีความสำคัญ แต่เราต้องวิเคราะห์อย่างคนมีสามัญสำนึกด้วยเช่นกัน อีกทั้งควรออกกำลังกาย กินอาหาร พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะมีส่วนสำคัญทำให้เรามีสมาธิที่ดี”

เทคนิคของญาดา

คือเข้าเรียนช่วง 3 สัปดาห์สุดท้าย เพราะอาจารย์จะเก็งข้อสอบก่อนสอบให้ จากนั้นตั้งใจท่องตัวบท และอ่านข้อสอบเก่า

เทคนิคการตอบข้อสอบคือ ตอบไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ ควรตอบให้รู้เรื่องว่าข้อสอบถามอะไร โดยตอบด้วยความเข้าใจ และมีเหตุมีผล

“อย่าลืมว่าเรื่องของสมาธิสำคัญที่สุด อย่าเครียดมาก อย่ากังวล และถ้าเป็นไปได้ให้สวดมนต์ก่อนเข้าสอบเพราะช่วยทำให้เรามีสมาธิดี หรือจะนั่งสมาธิ 30 นาทีก่อนสอบก็ได้ไม่ว่ากัน…”

มาถึงเรื่องราวของ ภวิศร์ เชาวลิตถวิล เนติบัณฑิตสมัยที่ 59

ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายบริษัท สมชาย คอนสตัคชั่น แอนด์ ดิวิลอปเม้นท์ จำกัด

เล่าว่าเวลาเรียนจะไม่เข้าเรียนทุกคาบ แต่ต้องมีวินัยในตนเอง คือจัดเวลาเรียน และจัดเวลาในการอ่านหนังสือด้วย ภวิศร์บอกว่า อาจารย์ในความคิดของตนมี 3 คน คือ

อาจารย์ผู้สอน

อาจารย์ตนเอง คือต้องมีวินัยในตนเอง

และอาจารย์เพื่อน เพราะเวลาที่ไม่เข้าใจสามารถปรึกษาหารือสอบถามเพื่อนได้ และเพื่อนยังสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน และยังช่วยให้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

“ที่ขาดไม่ได้คือ เมื่ออ่านคำบรรยายเสร็จแล้ว จำเป็นต้องทบทวนเสมอ โดยเวลาอ่าน ควรอ่านหลายๆ รอบเพื่อทำให้สามารถจดจำได้ และควรจำเป็นเรื่องๆ พยายามจดบันทึกไว้ว่ามีมาตราอะไรที่สำคัญ พยายามจับใจความสำคัญของแต่ละเรื่องที่อ่าน และในบางเรื่องที่เราคิดว่าไม่สำคัญก็อ่านไปด้วย แต่เป็นการอ่านแบบผ่านๆ เพื่อนำไปใช้ในการตอบข้อสอบซึ่งสามารตอบลงไปได้ด้วย”

เทคนิคของภวิศร์มีว่า

เวลาอ่านประมวลกฎหมาย อย่าคิดว่าต้องท่องประมวลฯ เพราะจะทำให้ง่วง

“ที่เป็นเทคนิคส่วนตัว…คือเวลาดูหนังดูละคร หรือมีสถานการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น มักจะคิดตามไปด้วยว่าตามหลักของกฎหมายแล้ว ความน่าจะเป็นนั้นเป็นอย่างไร

แล้วผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นควรออกมาในลักษณะไหน อย่างไร ถึงเรียกว่าถูกต้อง และตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม”

แต่ละคนต่างมีมุมมองในการผ่านด่าน ที่กว่าจะออกมาเป็นนักกฎหมายเต็มตัวแตกต่างกันไป–แต่ที่ไม่แตกต่างกันเลย

คือ เรื่องของความรักและความตั้งใจจะมาเป็นนักกฎหมาย ทั้ง 5 คนต่างเชื่อว่าเนติบัณฑิตต้องมีคุณสมบัติความพร้อมทั้งกายและใจรัก มีความหนักแน่น มั่นใจในตัวเอง ที่สำคัญมีสามัญสำนึกในตนเอง

เพราะ สามัญสำนึก คือหัวใจของนักกฎหมาย เป็นสามัญสำนึกที่ ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นธรรม ต้องยึดมั่นในสิ่งนี้ให้ได้ “นักกฎหมาย” เปรียบเหมือนวิศวกรสังคม เพราะนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ต้องมีนักกฎหมายเข้าไปขับเคลื่อน ฉะนั้นถ้าวิศวกรวางโครงสร้างอาคารบ้านเรือนไม่ดี อาคารบ้านเรือนก็พังลงมา เหมือนกับนักกฎหมายวางโครงสร้างสังคมไม่ดี ประเทศชาติก็พังได้ ทั้ง 5 คนฝากไว้ทิ้งท้าย ว่า เรียนกฎหมายนั้นง่ายที่สุดในโลก แต่การนำกฎหมายไปใช้นั้นก็ยากที่สุดในโลกเช่นกัน

Facebook Comments