ให้มือถือแฟน ต่อมาเลิกกันเรียกคืนได้ไหม แจ้งความได้ไหม??
ข้อเท็จจริงและประเด็นคำถาม:
ข้อเท็จจริง:
ผู้ร้องได้คบหาดูใจกับคนรัก แล้วคนรักของผู้ร้องได้ซื้อโทรศัพท์มือถือให้แก่ผู้ร้อง ต่อมาทั้งคู่ได้เลิกรากัน คนรักของผู้ร้องจึงขอโทรศัพท์มือถือที่ซื้อให้ผู้ร้องไปแล้ว คืนจากผู้ร้อง หากไม่คืนจะแจ้งตำรวจจับผู้ร้อง
ประเด็นคำถาม:
ผู้ร้องมีความผิดทางอาญาหรือไม่
ความเห็นและข้อเสนอแนะ:
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 521, 523, 531, 535
การดำเนินการให้คำปรึกษา
การที่คนรักของผู้ร้องได้ซื้อโทรศัพท์มือถือให้แก่ผู้ร้องนั้น คนรักของผู้ร้อง (ผู้ให้) แสดงเจตนาการให้ และผู้ร้อง (ผู้รับ) แสดงเจตนาการยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น โดยไม่มีหน้าที่ต่างตอบแทนกัน จึงเป็นการให้โดยเสน่หาตามมาตรา 521 ซึ่งโทรศัพท์มือถือเป็นสังหาริมทรัพย์ การให้ย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ ตามมาตรา 523 จากกรณีดังกล่าว การให้จึงมีผลสมบูรณ์ ผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ในโทรศัพท์มือถือเครื่องดังกล่าวแล้ว ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่มีความรับผิดทางอาญาแต่อย่างใด
ส่วนสิทธิของคนรักของผู้ร้องที่จะเรียกถอนคืนการให้นั้น มีหลักอยู่ในมาตรา 531 ซึ่งบัญญัติว่า
มาตรา 531 อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายอาญา หรือ
(2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ
(3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้
จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า หากผู้ร้องได้กระทำการใดๆ ที่เข้าอนุมาตราใดมาตราหนึ่ง แห่งมาตรา 531 นี้ คนรักของผู้ร้องก็มีสิทธิที่จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะถอนคืนได้เสมอไป เนื่องจากมีหลักของมาตรา 535 ซึ่งบัญญัติว่า
มาตรา 535 การให้อันจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านว่าจะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ คือ
(1) ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้
(2) ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน
(3) ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา
(4) ให้ในการสมรส
จากบทบัญญัติดังกล่าวจึงสรุปได้ว่า หากเป็นการให้ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 535 แล้ว จะเรียกให้ถอนคืนการให้ไม่ได้เลย
จากกรณีนี้ เป็นเรื่องของสิทธิในการฟ้องร้องบังคับคดีในทางแพ่งเท่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีอาญาแต่อย่างใด ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่มีความผิดทางอาญา