Home บทความและงานวิจัย บทวิเคราะห์เด็ด ร่างแก้ไข พรบ. ลิขสิทธิ ที่เข้า สนช.

บทวิเคราะห์เด็ด ร่างแก้ไข พรบ. ลิขสิทธิ ที่เข้า สนช.[เมธยา ศิริจิตร]

4404

ร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่ ที่เข้า สนช ตอนนี้ เรามาฟังบทวิเคราะห์เด็ดปรมาจารย์ ร่างแก้ไข พรบ. ลิขสิทธิ ที่เข้า สนช

man

                    จุดใหญ่ที่คนให้ความสนใจมากที่สุด คงเป็นเรื่องการคุ้มครอง Copyright Management Info (CMI) กับมาตรการป้องกันการละเมิด DRM … ร่างตัวนี้มีเรื่องการยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ตด้วย (ใช้ระบบ Notice takedown โดยให้ศาลเป็นผู้พิจารณาคำร้อง) นับว่ามีรายละเอียดหลายเรื่อง มีความซับซ้อนมากพอควร ความซับซ้อนของร่างตัวนี้ เป็นเพราะประเทศไทยไม่เคยแก้ไข พรบ. ลิขสิทธิ์เลยตั้งแต่ปี ๓๗ ทำให้กฎหมายลิขสิทธิ์ของเรายังเป็นยุคก่อนอินเตอร์เน็ตอยู่ พอเอาประเด็นทางดิจิตัล หลายๆเรื่องมารวมกันเลยทำให้ ต้องมีความระมัดระวังในการร่างมากขึ้น การเพิ่มสิทธิชนิดใหม่ขึ้นมาทำให้ต้องกำหนด ข้อยกเว้นการละเมิด เป็นกรณีพิเศษ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังไม่ให้ผู้กระทำผิดสามารถอ้าง หลักข้อยกเว้นการละเมิดทั่วไป (ตาม ม. ๓๒ ว.๒) มาอ้างได้ เช่นในกรณี การไปแอบบถ่ายบันทึกภาพยนตร์ในโรงหนัง (ซึ่งปกติภาพไม่ชัด และถ้าเอามาใช้ดูเอง หรือไม่มีหลักฐานเอาผิดเรื่องการใช้ทางการค้า ก็อาจเข้าข่าย fair use ได้)

                    นอกจากนี้ เรื่องการออกมาตรการป้องกันการละเมิด และเยียวยาก็ต้องมีการยกเครื่องใหม่ เพื่อให้เป็นไปตาม ม. ๔๖ ของ ข้อตกลงทริปส์ เรื่องมาตรการที่เพียงพอ (adequate measure) ตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้ผู้ร่างต้องเอากฎหมายมาเทียบกันหลายประเทศ (อเมริกา, EU Information Society Directive, ไต้หวัน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์) ซึ่งออกจะมากเกินความจำเป็น และแปลกที่ไม่มีตัวอย่างของกฎหมายลิขสิทธิจากประเทศในแถบยุโรปเลย (นอกจากตัว Directive)

                    ต่อไปจากนี้อีก ก็มีการเพิ่มเรื่อง ธรรมสิทธิของนักแสดงในข้อที่มีสิทธิ์ได้รับการการบ่งชี้ว่าเป็นนักแสดง (attribution right) และการห้ามบิดเบือน/ตัดต่อ/ดัดแปลงให้เป็นที่เสียหายต่อชื่อเสียงด้วย (integrity right) นี่จะเป็นครั้งแรกที่ไทยคุ้มครองธรรมสิทธิของนักแสดง (ความจริงประเทศไทยไม่มีพันธะต่อ WPPT ของ WIPO) แต่ว่ายังไม่มีการเปลี่ยนคำนิยามนักแสดง แสดงว่า คุ้มครองแค่นักแสดงการแสดงสดเท่านั้น ยังเป็นรวมไปถึงสิทธิของนักแสดงในสื่อโสตทัศนวัสดุ (audiovisual) ซึ่งเพิ่งเพิ่มเข้ามาตามสนธิสัญญาใหม่ล่าสุด คือ Beijing Audiovisual Performance Treaty เมื่อปี 2012

                    ถ้าใครติดตามร่างตัวก่อนๆ จะพบว่าร่างในปัจจุบันนี้ ทิ้งเรื่องหลายเรื่องที่ปรากฎในร่างในอดีตไว้ก่อน เอาแต่เรื่องที่จำเป็นมาว่าเป็นหลัก (ซึ่งผมเห็นด้วย) สิ่งที่หายไปก็เช่น การกำหนด “สิทธิในการขายครั้งแรก” ให้เป็นสิทธิแต่ผู้เดียว เพื่อทำให้ “หลักการระงับซึ่งสิทธิ” (exhaustion of right) ชัดเจนขึ้น และยังเป็นการคุ้มครอง ธรรมสิทธิประเภท divulgation right ไปในตัวด้วย นอกจากนี้ในร่างตัวก่อนก็มีการปรับแก้ “ธรรมสิทธิ” จากเดิมที่ให้ตกลงเป็นอื่นได้ กลายเป็น สิทธิประเภทที่เจ้าของไม่อาจสละหรือโอนได้นอกจากโดยทางมรดก ซึ่งในทางกฎหมายธรรมสิทธิเรียกว่า inalienability ซึ่งจะมีปัญหามากเพราะให้โอกาสเอกชนใช้สิทธิไม่จำกัดในการเซนเซ่อร์ งานดัดแปลง หรือล้อเลียนได้ หากไม่กำหนดข้อยกเว้นไว้ให้เหมาะสม

                   ที่น่าผิดหวังอีกอย่างนึงก็คือเรื่อง โทษของการละเมิด ไม่มีเปลี่ยนแปลงให้เบาลงเลย การละเมิดลิขสิทธิ์ในทางการค้ายังคงมีโทษติดคุกขั้นต่ำเหมือนเดิม ๖ เดือน รวมถึงในฐานความผิดใหม่ (อัดวิดีโอในโรงภาพยนตร์) ด้วย … อาจเป็นเพราะฐานความผิดนี้ เป็นความผิดที่สหรัฐกดดันให้ไทยผ่านกฎหมายลงโทษทุกปี เวลาออกรายงานประจำปี Special 301

ผู้เขียน

อาจารย์เมธยา ศิริจิตร
Methaya Sirichit

Facebook Comments