Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ เบี้ยวงานและปิดบริษัทหนี ทำอย่างไรได้บ้าง

เบี้ยวงานและปิดบริษัทหนี ทำอย่างไรได้บ้าง

10396

เบี้ยวงานและปิดบริษัทหนี ทำอย่างไรได้บ้าง เนื่องจากผู้รับจ้างปิดบริษัทหนี
image
ข้อเท็จจริงและประเด็นคำถาม:
ข้อเท็จจริง

กรณีที่บริษัทได้รับงานแก้ไข software มา 1 งาน โดยได้รับเงินแล้ว 50% ส่วนที่เหลือยังไม่ได้รับเงิน เนื่องจากงานยังไม่เสร็จ แต่บริษัทมีความจำเป็นต้องปิดตัวลงเนื่องจากขาดทุนในการดำเนินงาน ทางบริษัทที่ว่าจ้างสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

ประเด็นคำถาม

1. สัญญาจ้างทำของมีลักษณะอย่างไร

2. บริษัทผู้รับจ้างมีหน้าที่ชำระหนี้ตามสัญญาจ้างทำของอย่างไร

3. ผู้ว่าจ้างจะบังคับคดีกับบริษัทผู้รับจ้างที่ปิดกิจการไปแล้วอย่างไร

ความเห็นและข้อเสนอแนะ:
การที่บริษัทรับงานมานั้น ถือได้ว่าเป็นการทำ สัญญาจ้างทำของ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ได้บัญญัติว่า “อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น” บริษัทจึงเป็นผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของ ที่ได้ตกลงรับงานแก้ไข software จำนวนหนึ่งงาน โดยบริษัทผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายสินจ้างมาเป็นจำนวนร้อยละ 50 มาในเบื้องต้น และบริษัทผู้รับจ้างมีหนี้ที่ต้องชำระคือแก้ไข software ให้เสร็จสิ้น แต่เนื่องจากงานยังไม่สำเร็จเพราะบริษัทขาดทุน บริษัทได้ปิดตัวลง จึงทำให้ไม่อาจทำการชำระหนี้ได้โดยสภาพ ด้วยเหตุนี้จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้บริษัทผู้รับจ้าง ดำเนินการแก้ไขซอฟท์แวร์ให้เสร็จสมบูรณ์ได้

ต่อปัญหาดังกล่าวมีเรื่องที่ต้องพิจารณาอยู่ 2 ประเด็น คือ บริษัทผู้รับจ้างต้องชำระหนี้อย่างไรบ้าง และบริษัทผู้ว่าจ้างจะสามารถบังคับอย่างไรในเมื่อผู้รับจ้างได้ปิดตัวลงไปแล้ว สำหรับประเด็นแรกต้องพิจารณาตามสัญญาว่าจ้างก่อนว่ากำหนดผลของการไม่ปฏิบัติตามสัญญาไว้อย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีเรื่องเบี้ยปรับและเรียกค่าเสียหายซึ่งในสัญญาว่าไว้อย่างไรก็สามารถฟ้องบังคับตามสัญญาอย่างนั้น แต่หากสัญญาไม่ได้ระบุไว้ก็ยังอาจฟ้องบังคับโดยอาศัยหลักเรื่องหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 213 บัญญัติเกี่ยวกับการบังคับชำระหนี้ว่า “หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้มีการชำระหนี้… เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้” เมื่อเทียบกับข้อเท็จจริงที่ท่านถามมา แม้บริษัทผู้รับจ้างจะทำงานไม่เสร็จแต่หากมีการฟ้องคดีกันบริษัทผู้ว่าจ้างอาจขอให้บังคับคดีโดยให้ผู้รับจ้างอื่นทำงานแก้ไขซอฟท์แวร์ให้เสร็จสิ้นโดยให้บริษัทผู้รับจ้างเดิมออกค่าใช้จ่ายก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้นการที่บริษัทผู้รับจ้างไม่อาจชำระหนี้คือแก้ไขซอฟท์แวร์ให้เสร็จสมบูรณ์ เป็นกรณีที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทผู้ว่าจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215 บัญญัติว่า “เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ไซร้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้” หากบริษัทผู้ว่าจ้างสามารถพิสูจน์ให้ได้ว่าการทำงานตามที่จ้างไม่เสร็จสิ้นตามสัญญานี้ก่อให้เกิดความเสียหายอื่นๆ แก่บริษัท บริษัทผู้รับจ้างซึ่งไม่อาจชำระหนี้แก้ไขซอฟท์แวร์ให้เสร็จสิ้นอันเป็นเป้าหมายสำคัญของการว่าจ้างและเป็นความประสงค์ที่แท้จริงแห่งมูลหนี้จึงต้องชำระค่าเสียหายที่เกิด

สำหรับประเด็นการบังคับคดีต่อบริษัทผู้รับจ้างที่ปิดตัวไปนี้จะบังคับกันอย่างไรก็ขึ้นกับว่าการปิดตัวนี้อยู่ในขั้นตอนใด หากอยู่ในระหว่างการชำระบัญชีหลังจากการที่บริษัทได้ปิดตัวลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1249 บัญญัติว่า “ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็น เพื่อการชำระบัญชี” และ มาตรา 1250 บัญญัติว่า “หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือ ชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น” จากบทบัญญัติมาตราทั้งสองสามารถสรุปได้ว่า บริษัทผู้ว่าจ้างอันเป็นผู้เสียหายสามารถไปฟ้องให้บริษัทผู้รับจ้างเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างบริษัทอื่นทำงานที่รับจ้างให้เสร็จสิ้นหรือเรียกค่าเสียหายจากผู้ชำระบัญชีของบริษัทผู้รับจ้าง หากอยู่ในช่วงเวลาที่บริษัทผู้รับจ้างชำระบัญชีเสร็จสิ้นแล้ว บริษัทผู้ว่าจ้างสามารถฟ้องบริษัทผู้รับจ้าง ให้ชำระหนี้หรือใช้ค่าเสียหาย ได้ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 ที่บัญญัติว่า “ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งห้ามหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้น หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี” อาจมีข้อสงสัยว่าเมื่อบริษัทปิดตัวแล้วจะฟ้องบริษัทได้อีกหรือไม่ ในเรื่องนี้ได้มีแนวคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ว่า แม้ว่าบริษัทจะได้ปิดตัวลงไปแล้ว แต่ผู้เสียหายจากการกระทำของบริษัทก็ยังสามารถฟ้องเอากับตัวบริษัทผู้ไม่ชำระหนี้นั้นได้โดยตรง ยิ่งไปกว่านั้นตามบทบัญญัติในมาตรา 1273/3 ยังบัญญัติให้บรรดากรรมการ ผู้จัดการ ผู้ถือหุ้นของบริษัทยังคงมีความรับผิดตามที่มีอยู่ก่อนบริษัทสิ้นสภาพนิติบุคคลเสมือนกับว่าบริษัทยังไม่สิ้นสภาพบุคคล ด้วยเหตุนี้หากฟ้องคดีแล้วบุคคลที่กล่าวมานี้อาจจะต้องรับผิดตามส่วนที่ตนต้องรับผิดด้วย

อย่างไรก็ดีมีข้อที่พึงตระหนักไว้คือ แม้กฎหมายจะรองรับให้มีการบังคับชำระหนี้กรณีบริษัทปิดกิจการไป แต่บริษัทผู้ว่าจ้างก็สามารถบังคับชำระหนี้ได้แค่ทรัพย์สินของบริษัทผู้รับจ้างเท่าที่ยังเหลืออยู่เท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงควรพิจารณาชั่งน้ำหนักถึงค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีเทียบกับทรัพย์สินที่ได้มาจากการบังคับคดีว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพียงใดครับ

Facebook Comments