Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ญาติเมาทำลายข้าวของในบ้าน ดำเนินคดีได้หรือไม่

ญาติเมาทำลายข้าวของในบ้าน ดำเนินคดีได้หรือไม่

19073

ข้อเท็จจริงและประเด็นคำถาม:
ข้อเท็จจริง

ผู้ร้องอายุ 26 ปี เป็นบุตรสาวของเจ้าของบ้านหลังนี้ มีญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ชอบดื่มสุรา เมาอาละวาด ทำลายข้าวของในบ้าน บ่อยครั้งที่ลักขโมยของในบ้าน และมีพฤติกรรมที่ชอบทำร้ายผู้อื่นรวมทั้งข่มขู่อาฆาตคนในบ้าน บิดามารดาของผู้ร้องให้อภัยมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำนึกในสิ่งที่ได้กระทำไปต่อผู้อื่นในครอบครัว ทำให้ผู้ร้องรู้สึกอดทนไม่ได้อีกต่อไป

ประเด็นคำถาม
1.ผู้ร้องสามารถแจ้งความว่า ถูกญาติพี่น้องขโมยของหรือทรัพย์สินที่มีอยู่ในบ้านและที่ถูกขู่ฆ่าและทำร้ายด้วยการตบตีได้หรือไม่
2.ถ้าต้องไปแจ้งความที่สถานนีตำรวจใกล้บ้านต้องเตรียมตัว หรือข้อมูลอย่างไร เพื่อไปแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ
3.ถ้าไม่สามารถแจ้งความได้ เราสามารถป้องกันหรือปฏิบัติตัวอย่างไร ตามสิทธิทางกฎหมายเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่กล่าวไปบ้าง

ความเห็นและข้อเสนอแนะ:
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)

การให้คำปรึกษา
1.กรณีมีญาติพี่น้องอาศัยอยู่ในบ้าน โดยมีพฤติการณ์ดื่มสุรา เมาอาละวาด ทำลายข้าวของ ลักขโมยสิ่งของ และทำร้ายผู้อื่นนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ผู้ที่จะแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำนั้นๆ เช่น ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการทำให้เสียทรัพย์ หรือลักทรัพย์ก็ได้แก่เจ้าของทรัพย์ ผู้ที่จะดำเนินคดีในข้อหาทำร้ายร่างกายคือ ผู้ที่เสียหายจากการกระทำดังกล่าว คือผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกายนั่นเอง
ส่วนในทางแพ่งผู้ที่กระทำผิดตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นผู้กระทำละเมิด ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่เกิดต่อทรัพย์ หรือที่เกิดแก่ชีวิตหรือร่างกาย กล่าวคือผู้เสียหายในกรณีดังกล่าวมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายอาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นแจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งแทนได้ ดังนั้น กรณีดังกล่าว หากคุณศิริวรรณจะไปแจ้งความร้องทุกข์ก็ทำได้เมื่อตนเป็นผู้เสียหาย ส่วนกรณีที่บิดามารดาเป็นผู้เสียหายก็อาจมอบอำนาจให้คุณศิริวรรณแจ้งความร้องทุกข์แทนได้
2.การแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทำได้โดยบอกเล่าความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อใด เป็นเหตุให้ผู้แจ้งได้รับความเสียหายอย่างไร โดยต้องนำหลักฐานที่สำคัญไปด้วยคือ บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน ใบมอบอำนาจ (ถ้ามี) รวมทั้งหลักฐานอื่นๆที่เห็นว่าเกี่ยวข้อง
3.หากไม่สามารถแจ้งความได้ ก็คงต้องใช้ความระมัดระวัง หรือใช้วิธีการพูดคุยโน้มน้าวจูงใจให้ผู้กระทำดังกล่าวมีความสำนึกที่ดีในการอยู่ร่วมกันโดยสงบสันติ ไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญหรือละเมิดสิทธิในร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้อื่น นอกจากนี้ คงต้องอาศัยคนในบ้านช่วยกันสอดส่องดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หากจำเป็นต้องดำเนินคดีก็จะมีพยานหลักฐานที่จะดำเนินการกับบุคคลดังกล่าวได้

Facebook Comments