ข้อเท็จจริงและประเด็นคำถาม:
ข้อเท็จจริง ตำรวจเข้าไปจับคนร้ายในโรงแรมรีสอร์ท ไม่แจ้งเจ้าของและไม่มีหมายค้น และในวันทำแผนก็ทำเช่นเดียวกัน
ประเด็นคำถาม
ตำรวจทำถูกหรือผิดอย่างไร สามารถเอาผิดกับตำรวจได้หรือไม่
ความเห็นและข้อเสนอแนะ:
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, มาตรา 364 และมาตรา 365
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92 และมาตรา 93
การดำเนินการให้คำปรึกษา
ตามที่ผู้ร้องได้ขอคำปรึกษา ขอเรียนให้คำปรึกษาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ โดยจากกรณีปัญหาของผู้ร้องนั้นต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไปดังนี้
กรณีที่หนึ่ง กรณีสถานที่ที่ถูกจับเป็นบริเวณภายในโรงแรมรีสอร์ท หากมิใช่เป็นที่ส่วนบุคคลของโรงแรมรีสอร์ท หรือห้องพักของโรงแรมรีสอร์ท สถานที่ดังกล่าวย่อมไม่ถือว่าเป็นที่รโหฐาน แต่เป็นที่สาธารณสถานที่ประชาชนทั่วไปมีสิทธิเข้าไปใช้บริการได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมมีสิทธิเข้าไปในบริเวณโรงแรมหรือรีสอร์ทได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นหรือหมายจับ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ค้นต้องมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิดเท่านั้น หากไม่มีเหตุในการค้นดังกล่าวการค้นนั้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 93 ดังนั้น กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปจับคนร้ายบริเวณโรงแรมหรือรีสอร์ท หากเป็นการล่อซื้อสิ่งผิดกฎหมายหรือเข้าไปจับคนร้ายที่มีหมายจับ ย่อมทำได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น อันถือว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นชอบด้วยกฎหมาย
กรณีที่สอง กรณีสถานที่ที่ถูกจับเป็นที่ส่วนบุคคลหรือในห้องพักของผู้เข้ามาพัก ย่อมถือว่าเป็นที่รโหฐานที่ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิเข้าไปได้ การจับหรือค้นจึงต้องมีหมายค้นที่ออกโดยศาลเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92 เว้นแต่กรณีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นในกรณีดังต่อไปนี้
(1) เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างในที่รโหฐาน หรือมีเสียงหรือพฤติการณ์อื่นใดอันแสดงได้ว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในที่รโหฐานนั้น
(2) เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำลงในที่รโหฐาน
(3) เมื่อบุคคลที่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้า ขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันแน่นแฟ้นควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น
(4) เมื่อมีพยานหลักฐานตามสมควรว่าสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำความผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน
(5) เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และการจับนั้นมีหมายจับหรือจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78
ดังนั้นในกรณีที่สองหากไม่มีเหตุตาม (1) – (5) ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ หรือเจ้าของโรงแรมหรือรีสอร์ทไม่ให้ความยินยอม เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่มีอำนาจจับคนร้ายในที่รโหฐานได้ การเข้าไปจับย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจมีความผิดฐานบุกรุกได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 หรือ มาตรา 364 หรือมาตรา 365 แล้วแต่ละกรณี
ส่วนวันทำแผนประทุษกรรมประกอบสำนวนการสอบสวนของตำรวจนั้น โดยปกติเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำหนังสือขออนุญาตหรือขอความร่วมมือจากเจ้าของสถานที่หรือผู้ครอบครองเสียก่อน เพราะตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติให้ศาลออกหมายแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อจัดทำแผนการจับกุม ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าไปทำแผนการจับกุมจึงต้องอาศัยความยินยอมจากผู้ครอบครองหรือเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสถานที่นั้นเป็นหลัก แต่หากผู้ครอบครองหรือเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ให้ความยินยอมเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจมีความรับผิดทางอาญาฐานบุกรุกได้เช่นกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 หรือ มาตรา 364 หรือมาตรา 365 แล้วแต่ละกรณี