Home ทริบเทคนิค/บทความ ประสบการณ์บนเส้นทางสู่การเป็นเนติบัณฑิต

ประสบการณ์บนเส้นทางสู่การเป็นเนติบัณฑิต

8488

ประสบการณ์บนเส้นทางสู่การเป็นเนติบัณฑิต

imagekraipol

ครั้นเมื่อข้าพเจ้าสอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติ บัณฑิตยสภา สมัยที่ ๖๔ ปีการศึกษา ๒๕๕๔ ก็ได้รับแจ้งว่าให้ช่วยเขียนบทความบอกเล่าประสบการณ์และวิธีการเตรียมตัวสอบ เพื่อแบ่งปันให้กับเพื่อนๆทุกท่าน ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจะสอบเป็นเนติบัณฑิตให้ได้ ซึ่งข้าพเจ้าก็รู้สึกเต็มใจและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรตินี้ แต่คงต้องทำความเข้าใจกันในเบื้องต้นว่า ประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าจะนำมาแบ่งปันเพื่อนๆทุกท่านนั้น เป็นเพียงทัศนะส่วนตัวของข้าพเจ้า ซึ่งเพื่อนๆไม่จำเป็นต้องเชื่อหรือยึดถือตามทั้งหมด เพียงแต่ขอให้เพื่อนๆรับฟังไว้เป็นแนวทางหนึ่ง แล้วนำไปพิจารณาไตร่ตรองเพื่อปรับใช้กับแนวทางที่เพื่อนๆเห็นว่าเหมาะสมด้วย ตนเอง

การเรียนเนติฯนั้น เป็นสิ่งที่หลายๆคนโดยเฉพาะผู้ที่กำลังตัดสินใจว่าจะเรียนเนติฯดีหรือไม่ มักตั้งคำถามเสมอว่ามีความสำคัญและจำเป็นมากน้อยเพียงไร เพราะถ้าหากเราตัดสินใจก้าวเข้าสู่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ด้วยความตั้งใจที่จะเป็นเนติบัณฑิตให้ได้แล้ว คงจะต้องทุ่มเทเวลาให้กับการอ่านหนังสือค่อนข้างมาก ซึ่งอาจเสียโอกาสในการทำงาน หรืออาจทำให้เวลางานต้องถูกเบียดบังไปให้กับการอ่านหนังสือสอบแทน
อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของข้าพเจ้า การเรียนเนติฯเปรียบเสมือนการนำความรู้จากการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีที่ กระจัดกระจายอยู่ในหัวอย่างหลวมๆ หรืออาจจะเลือนลางเต็มทน มาจัดระเบียบเสียใหม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน และสามารถมาใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย หรืออาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่เคยสงสัยหรือไม่เข้าใจในตอนเรียนระดับปริญญาตรี ก็มีโอกาสที่จะได้ทราบโดยกระจ่างชัดในตอนเรียนเนติฯนี้ก็เป็นได้ ดังนั้น การเรียนเนติฯจึงมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ที่ยังมีความตั้งใจจะทำ งานอยู่ในวงการกฎหมายทุกสาขาอาชีพและคุ้มค่าที่จะเสี่ยงเพื่อลองสอบดูสัก ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเพื่อนๆที่มีความใฝ่ฝันในการเข้ารับราชการตุลาการ หรือพนักงานอัยการนั้น คงไม่จำเป็นต้องอธิบายว่าการสำเร็จการศึกษาเพื่อเป็นเนติบัณฑิตนั้น มีความสำคัญมากน้อยเพียงไร

การดำเนินชีวิตช่วงที่เป็นนักศึกษาเนติฯ
ภายหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจสมัครเข้ารับการศึกษาที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติ บัณฑิตยสภาโดยทันที ด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะสำเร็จการศึกษาให้ได้ภายในระยะเวลา 1 ปี บ้างก็มีเพื่อนๆแนะนำว่าควรทำงานหาประสบการณ์ไปด้วย เผื่อว่าพลาดพลั้งสอบไม่ผ่าน ก็ยังมีประสบการณ์การทำงานติดไม้ติดมืออยู่บ้าง แต่ส่วนตัวข้าพเจ้านั้น แม้จะทราบมาว่า การเรียนเนติฯพร้อมกับการทำงานนั้น ยังอยู่ในวิสัยที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ก็ตาม แต่ก็ตัดสินใจที่จะเรียนเนติฯเพียงอย่างเดียว เพราะได้ยินเสียงร่ำลือจากบรรดาเพื่อนๆรุ่นพี่ว่าการเรียนเนติฯนั้น ต้องทุ่มเทเวลาในการอ่านหนังสืออย่างมาก ซึ่งเมื่อต้องมาประสบด้วยตัวเองก็พบว่าสมคำร่ำลือจริงๆ ถ้าจะพูดให้เห็นภาพชัดๆก็เหมือนกับเป็นการรวบรัดนำเอาการเรียนในระดับปริญญา ตรี ๔ ปี มาเรียนกันภายในเวลาเพียง ๑ ปีในลักษณะที่เข้มข้นกว่าเดิม ดังนั้น เราจึงได้ยินคำพูดหนึ่งที่พูดต่อๆกันเสมอมาว่า  “ความยากของการเรียนเนติฯ คือความเยอะของจำนวนหนังสือที่ต้องอ่าน”
ช่วงระยะเวลา ๑ ปีที่เรียนเนติฯ ข้าพเจ้าเข้าฟังการบรรยายเฉพาะภาคค่ำที่ศาลแพ่งเป็นประจำทุกสัปดาห์ ทั้งนี้เนื่องด้วยระยะทางที่จะเดินทางจากที่พักอาศัยของข้าพเจ้าไปเรียนที่ สำนักอบรมฯนั้นค่อนข้างไกลมาก ในขณะที่การเดินทางไปยังศาลแพ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑๐ นาที ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจใช้เวลาในช่วงกลางวันอ่านหนังสืออย่างเต็มที่ และเข้าฟังการบรรยายภาคค่ำสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ แต่โดยทัศนะส่วนตัวของข้าพเจ้า การติดตามการเรียนการสอนในภาคปกตินั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก จึงพยายามอ่านหนังสือรวมคำบรรยายภาคปกติให้ครบทุกเล่ม และติดตามสอบถามข่าวคราวจากเพื่อนๆที่เข้าฟังการบรรยายภาคปกติอยู่ตลอด ทำให้ได้รับข้อมูลครบถ้วนทั้งภาคปกติและภาคค่ำ

สำหรับการอ่านหนังสือ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเตรียมตัวสอบ โดยในช่วงเวลากลางวัน ข้าพเจ้ามักจะออกไปอ่านหนังสือตามห้องสมุดกฎหมายต่างๆ เช่น ห้องสมุดศาลภาษีอากร ห้องสมุดศาลแพ่ง ห้องสมุดศาลอาญา ห้องสมุดคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุที่ข้าพเจ้าเลือกอ่านหนังสือในห้องสมุดกฎหมายก็เพราะว่า ในห้องสมุดกฎหมายจะมีแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการอ่านหนังสือเตรียมสอบ เนติฯที่ห้องสมุดทั่วไปไม่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำพิพากษาฎีกาที่จัดทำโดยเนติบัณฑิตยสภา และสำนักงานศาลยุติธรรม โดยข้าพเจ้ามักจะหยิบเอาคำพิพากษาฎีกาเล่มใหม่ๆมาวางเอาไว้ข้างๆตัวเสมอขณะ ที่อ่านหนังสือ เผื่อว่าบางครั้งอ่านหนังสือมากแล้วก็สลับมาอ่านคำพิพากษาฎีกาเหล่านี้ดู บ้าง ซึ่งก็สามารถผ่อนคลายได้ในระดับหนึ่ง และยังเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมตัวสอบอีกด้วย หรือบางครั้งก็ผ่อนคลายด้วยการนำเอาหนังสือทำเนียบรุ่นของเนติบัณฑิตรุ่นพี่ มานั่งดู ซึ่งก็สามารถจุดไฟสร้างกำลังใจในการอ่านหนังสือให้แก่ข้าพเจ้าได้อย่างเหลือ เชื่อ
ภายหลังจากอ่านหนังสือในช่วงกลางวันจนถึงเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. ข้าพเจ้าก็จะเข้าฟังการบรรยายภาคค่ำจนถึงเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. ซึ่งข้าพเจ้าก็ปฏิบัติเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอเป็นกิจวัตรตลอดระยะเวลา ๑ ปี จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิต

การเตรียมตัวช่วงก่อนเรียนเนติฯ
บรรดาความสำเร็จทั้งปวง ข้าพเจ้าเชื่อว่าล้วนแต่เป็นผลมาจากการวางแผนเตรียมตัวที่ดีทั้งสิ้น การสอบเนติฯก็เช่นเดียวกัน ควรจะต้องมีการเตรียมตัวเสียแต่เนิ่นๆ หากเราปล่อยเวลาให้ผ่านไปเรื่อยๆจนถึงช่วงสอบ จะทำให้เราไม่มีเวลาวางแผน การอ่านหนังสือจะเป็นไปในลักษณะกระจัดกระจาย ไม่เป็นระบบ อีกทั้งยังทำให้เกิดอาการลนลานตามมาอีกด้วย
สำหรับตัวข้าพเจ้านั้น เนื่องจากมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะเรียนเนติฯ อีกทั้งได้ยินมาว่าการเรียนเนติฯในแต่ละรุ่นจะมีผู้สอบผ่านประมาณร้อยละ ๕-๑๐ เท่านั้น ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอว่าเราต้องเตรียมพร้อมทุกอย่างเท่าที่จะ ทำได้ให้เร็วที่สุด ประกอบกับช่วงเวลาที่เรียนปริญญาตรีอยู่ในชั้นปีที่ ๔ ค่อนข้างจะมีเวลาว่าง จึงเริ่มทำความรู้จักกับการเรียนเนติฯว่าการสอบเนติฯมีทั้งหมดกี่ภาค ภาคละกี่ข้อ และแต่ละข้อนั้นทดสอบความรู้ในวิชาใด ฯลฯ จากนั้นก็หาซื้อหนังสือรวมข้อสอบเก่ามาลองศึกษาแนวทางว่าข้อสอบมีลักษณะยาก ง่ายมากน้อยเพียงไร ทั้งนี้ เพื่อสร้างความคุ้นเคยไว้ล่วงหน้า

นอกจากนี้สิ่งที่ข้าพเจ้าเตรียม ไว้ล่วงหน้าก่อนจบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีอีกอย่างหนึ่งก็คือการสั่ง จองหนังสือรวมคำบรรยายเนติฯของรุ่นก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าจะเข้าไปเรียนไว้ เพราะหนังสือรวมคำบรรยายเนติฯจะออกมาสัปดาห์ละ ๑ เล่ม จนถึงสัปดาห์ก่อนสอบจึงจะครบถ้วน มิได้ออกมาครั้งเดียวครบถ้วนในวันเริ่มภาคการศึกษาที่ ๑ ข้าพเจ้าคิดว่าหากรออ่านหนังสือรวมคำบรรยายของรุ่นที่ตนเข้าไปเรียน คงจะอ่านไม่ทันเป็นแน่ จึงรีบสั่งจองหนังสือรวมคำบรรยายเนติฯของรุ่นก่อนหน้าไว้ทันที
เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ในช่วงก่อนการเปิดภาคการศึกษาที่ ๑ ของสำนักอบรมฯ ข้าพเจ้าเริ่มวางแผนการเรียนและการอ่านหนังสือทันที โดยไปหาซื้ออุปกรณ์การเรียน  สมุดจดคำบรรยาย  ประมวลกฎหมายที่มีที่ว่างให้บันทึกข้อกฎหมายลงไปได้ และหนังสืออ่านประกอบอื่นๆที่ตั้งใจจะอ่านนอกเหนือจากหนังสือรวมคำบรรยาย เพื่อให้มีความพร้อมมากที่สุด ซึ่งการวางแผนและเตรียมตัวในช่วงนี้สำคัญมาก หากไม่เตรียมให้พร้อมก็จะต้องไปวุ่นวายในวันข้างหน้าว่าวิชานี้จะอ่านอะไร วิชานั้นจะอ่านอะไร อ่านแล้วจะจดบันทึกลงในสมุดหรือประมวลกฎหมายดีกว่ากัน ซึ่งบางคนก็มัวแต่สาละวนอยู่กับเรื่องเหล่านี้ ทำให้เสียเวลาอ่านหนังสือไปมากทีเดียวก็มี แต่สำหรับข้าพเจ้าที่ได้มีการวางแผน ปรึกษารุ่นพี่และเตรียมตัวจัดหามาก่อนแล้ว ก็ไม่ต้องเสียเวลาสำหรับเรื่องเหล่านี้อีก ทำให้สามารถมุ่งสมาธิไปที่การฟังการบรรยายและการอ่านหนังสือได้อย่างเต็มที่ เมื่อวันเปิดภาคการศึกษามาถึง

การวางแผนอ่านหนังสือ
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการอ่านหนังสือถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการ เตรียมตัวสอบ ดังนั้น จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะวางแผนการอ่านหนังสือล่วงหน้า  สำหรับหนังสือที่ข้าพเจ้าใช้เป็นแหล่งข้อมูลหลักในการอ่านนั้นคือ หนังสือรวมคำบรรยายเนติฯ ที่ทางสำนักอบรมฯได้จัดพิมพ์ขึ้น โดยจะอ่านหนังสือรวมคำบรรยายของรุ่นก่อนหน้าให้จบ ๑ รอบ และจดบันทึกหลักกฎหมาย , คำอธิบายมาตรา และคำพิพากษาฎีกาทั้งที่ปรากฏในบทบรรณาธิการและในเนื้อหาคำบรรยาย แทบจะทั้งหมดที่ข้าพเจ้าเห็นว่าสำคัญลงในประมวลกฎหมายที่มีที่ว่างสำหรับจด มากพอ และในการจดบันทึกนั้น โดยส่วนตัวข้าพเจ้าขอเน้นย้ำว่าควรจะจดให้เป็นระบบระเบียบเรียบร้อย มิฉะนั้นหากเปิดมาอ่านอีกครั้งจะจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจะเริ่มอ่านตรงไหนดี เพราะโยงกันมั่วไปหมด ทำให้ไม่ชักจูงใจให้มาอ่าน สิ่งที่จดไว้ก็กลายเป็นเปล่าประโยชน์เพราะอ่านไม่รู้เรื่อง
หลังจากอ่านคำบรรยายจบ ๑ รอบแล้ว ข้าพเจ้าก็จะอ่านหนังสือชุดพิสดารอีก ๑ รอบเพื่อจะได้มีฐานข้อมูลที่กว้างมากขึ้นกว่าหนังสือรวมคำบรรยาย และเช่นเดียวกับการอ่านรวมคำบรรยาย ข้าพเจ้าจะพยายามจดคำพิพากษาฎีกาที่ไม่ปรากฏในคำบรรยายลงไปในประมวลกฎหมาย ของข้าพเจ้าให้หมดด้วย
หลังจากอ่านหนังสือรวมคำบรรยายและหนังสือชุดพิสดารจบแล้ว ข้าพเจ้าก็จะอ่านคำพิพากษาฎีกาเล่มใหม่ๆที่จัดพิมพ์โดยเนติบัณฑิตยสภาและ สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งบางครั้งคำพิพากษาฎีกาใหม่ๆเหล่านี้อาจจะยังไม่ปรากฏในแหล่งข้อมูลที่ เราศึกษามาแล้วก็เป็นไปได้  หากคำพิพากษาฎีกาใดวางหลักกฎหมายที่น่าสนใจไว้ ก็จดลงในประมวลกฎหมายเล่มเดิมนั่นเอง

นอกจากนี้ ในแต่ละสัปดาห์ที่หนังสือรวมคำบรรยายของรุ่นปัจจุบันออกมา ข้าพเจ้าจะพยายามติดตามคำบรรยายของอาจารย์บางท่านที่มีการเปลี่ยนแปลงคำ บรรยายไปจากคำบรรยายเก่า และติดตามดูคำพิพากษาฎีกาที่ปรากฏในบทบรรณาธิการในแต่ละเล่มอย่างสม่ำเสมอ ด้วย หากพบว่ามีข้อกฎหมายหรือตัวอย่างใดที่น่าสนใจก็จะบันทึกลงในประมวลกฎหมาย เช่นเดียวกัน
เมื่อข้าพเจ้าอ่านหนังสือและจดบันทึกครบขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ก็จะทำให้ประมวลกฎหมายของข้าพเจ้ามีฐานข้อมูลที่ค่อนข้างจะครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งคำบรรยาย และคำพิพากษาฎีกาอยู่ในประมวลกฎหมายเล่มเดียว ทำให้ข้าพเจ้าไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งเปิดอ่านซ้ำอีก และสามารถอ่านสิ่งที่บันทึกเอาไว้นั้นได้อีกหลายรอบเลยทีเดียว
สำหรับระยะเวลาการอ่านหนังสือ เป็นสิ่งที่เพื่อนๆนักศึกษาหลายๆท่านมักถามอยู่เสมอว่าวันๆหนึ่ง ข้าพเจ้าอ่านหนังสือกี่ชั่วโมง ซึ่งความจริงแล้วระยะเวลาการอ่านหนังสือนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่ามีภารกิจอื่นๆที่ต้องทำพร้อมๆกับการเรียนเนติฯไปด้วย หรือไม่ บางคนต้องทำงาน บางคนต้องเรียนปริญญาโท ก็แน่นอนว่าคงมีเวลาอ่านหนังสือน้อยกว่าคนที่เรียนเนติฯเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็ต้องวางแผนกันให้ดี แต่ในส่วนของข้าพเจ้าที่เรียนเนติฯเพียงอย่างเดียวนั้น ช่วงเวลากลางวันก็จะเริ่มอ่านหนังสือสายๆประมาณ ๐๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. จากนั้นก็พักผ่อนทานอาหารกลางวัน และเริ่มอ่านใหม่อีกครั้งเวลาประมาณ ๑๔.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. จากนั้นก็เข้าฟังการบรรยายภาคค่ำ ทานอาหารเย็น พักผ่อนให้เต็มที่ และกลับมาอ่านหนังสืออีกครั้งประมาณ ๒๑.๐๐ – ๒๔.๐๐ น. หรือบางวันอาจอ่านไปถึงช่วง ๐๑.๐๐ – ๐๒.๐๐ เลยก็มีบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าในวันนั้นมีสมาธิมากน้อยเพียงไร อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งข้าพเจ้าก็ติดภารกิจอื่นๆไม่อาจอ่านได้ตามเวลาที่กล่าวมานี้ได้ แต่ระยะเวลาโดยเฉลี่ยของการอ่านหนังสือในแต่ละวันก็จะประมาณ ๗ – ๑๐ ชั่วโมงนั่นเอง

การเข้าฟังการบรรยาย
นอกเหนือจากการอ่านหนังสือแล้ว การเข้าฟังการบรรยายไม่ว่าจะเป็นการบรรยายภาคปกติ ภาคค่ำ หรือ ภาคทบทวน ล้วนแต่มีส่วนช่วยในการเตรียมตัวสอบได้เป็นอย่างดี  เพราะเนื้อหาที่จะถูกนำมาใช้ทดสอบความรู้นั้นก็คงมาจากสิ่งที่อาจารย์ผู้ บรรยายได้บรรยายในชั้นเรียนนั่นเอง อย่างไรก็ตาม การเข้าฟังการบรรยายไม่จำเป็นต้องเข้าฟังการบรรยายครบทุกวิชา ให้เลือกเข้าฟังการบรรยายเฉพาะวิชาที่เราเข้าฟังแล้วรู้สึกเข้าใจก็พอแล้ว โดยอาจใช้วิธีถามจากเนติบัณฑิตรุ่นพี่ว่าควรเข้าฟังการบรรยายวิชาใดบ้าง หรืออาจใช้วิธีการเข้าไปลองนั่งฟังหลายๆวิชาในสัปดาห์แรกๆแล้วเลือกเข้า เรียนในวิชาที่เราฟังแล้วรู้สึกเข้าใจเท่านั้นก็ได้ ทั้งนี้เพราะถ้าหากเราเข้าฟังการบรรยายมากเกินไปอาจจะทำให้เวลาในการอ่าน หนังสือลดน้อยลง
โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าจะเข้าฟังการบรรยายภาคค่ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งการเข้าฟังการบรรยายนั้น นอกจากจะทำให้เราพัฒนาการคิดที่เป็นระบบขั้นตอนและทราบหลักกฎหมายหรือคำ พิพากษาฎีกาที่ท่านอาจารย์ผู้สอนให้ความสำคัญแล้ว หากเราจดคำบรรยายในระหว่างการฟังการบรรยายไปด้วยก็จะเป็นโอกาสที่ดีในการ พัฒนาการเขียนตอบข้อสอบของเราไปในตัว  อีกทั้งการเข้าฟังการบรรยายของอาจารย์ ยังช่วยทำให้เราเข้าใจข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่มีความซับซ้อนได้ง่ายขึ้น เมื่อเราเข้าใจจากการฟังการบรรยายแล้วก็จะทำให้เมื่อเรากลับมาอ่านหนังสือ จะอ่านในส่วนดังกล่าวได้เร็วขึ้น แม้จะเป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่มีความซับซ้อนเพียงใดก็ตาม

การท่องตัวบทกฎหมาย
อีกคำถามหนึ่งที่มักมีเพื่อนๆมาถามข้าพเจ้าคือ จำเป็นที่จะต้องท่องตัวบทกฎหมายหรือไม่ ?  สำหรับตัวข้าพเจ้านั้นเห็นว่า การท่องตัวบทกฎหมายถือเป็น“สิ่งสำคัญอย่างยิ่ง”เพราะนอกจากจะทำให้เราสามารถจำหลักกฎหมายได้อย่างแม่นยำแล้ว เรายังสามารถนำ “ถ้อยคำในตัวบทกฎหมาย” ไปใช้ในการเขียนตอบข้อสอบได้ด้วย ซึ่งจุดนี้ถือเป็นประโยชน์มาก เนื่องจากเราไม่ต้องเสียเวลาในการคิดว่าจะเขียนอะไรลงไปในข้อสอบ เพราะถ้อยคำที่ใช้ในการเขียนก็คือถ้อยคำจากตัวบทกฎหมายนั่นเอง หากเราสามารถท่องตัวบทได้จะทำให้เรารู้สึกว่าการเขียนตอบข้อสอบของเรานั้นมี ความลื่นไหล และชัดเจน
ตอนที่ข้าพเจ้าเตรียมตัวสอบเนติฯนั้น ข้าพเจ้าเริ่มท่องตัวบทตั้งแต่วันแรกๆของการเปิดภาคการศึกษา ยังจำได้อยู่ว่าตอนแรกใช้วิธีการท่องเรียงมาตรา แต่ท่องอย่างไรก็จำไม่ได้ เพราะเมื่อเห็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทีไร ใจก็นึกท้อทุกครั้งเนื่องจากมีนับพันมาตรา จึงต้องมาเริ่มต้นวางแผนการท่องตัวบทกันใหม่ โดยนำเอาสถิติข้อสอบเก่าที่ข้าพเจ้าจดไว้จากการอ่านหนังสือรวมข้อสอบเก่า ประมาณ ๒๐ ปีย้อนหลังมาแยกเป็นรายวิชา และทำการท่องตัวบทเฉพาะมาตราที่ออกข้อสอบในช่วง ๒๐ ปีย้อนหลังเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าครอบคลุมกลุ่มมาตราสำคัญๆไว้หมดแล้ว เช่น สัปดาห์แรกท่องเฉพาะตัวบทเรื่องทรัพย์  สัปดาห์ต่อไปท่องเรื่องหนี้ นิติกรรม ละเมิด เรียงอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนครบทุกวิชา  โดยการท่องนั้นจะพยายามจำให้ได้ทุกถ้อยคำมิให้ตกหล่น ด้วยหวังที่จะนำถ้อยคำเหล่านั้นไปใช้ในการตอบข้อสอบนั่นเอง

วิธีการท่องตัวบทของข้าพเจ้าที่ ใช้เป็นประจำก็คือ ข้าพเจ้าจะบันทึกเสียงตัวเองท่องตัวบทใส่ไว้ในเครื่องบันทึกเสียง แล้วฟังทุกครั้งที่มีเวลาว่างหรือเวลาที่ไม่ได้อ่านหนังสือ เช่น ขณะวิ่งออกกำลังกาย ขณะนั่งรถเมล์ หรือขณะนั่งทานอาหารคนเดียว รวมถึงเวลาอ่านหนังสือดึกๆ ถ้าสายตาล้าแล้วก็จะเปลี่ยนมาฟังตัวบทแทน บางครั้งก็ฟังจนหลับไปเลยก็มี โดยการฟังแต่ละครั้งจะพยายามนึกพูดไปพร้อมๆกับเสียงที่บันทึกไว้เสมอ บางครั้งเมื่อรู้สึกเบื่ออาจเปลี่ยนไปฟังเพลงบ้างเพื่อให้เกิดความรู้สึก ผ่อนคลาย ข้าพเจ้าเชื่อว่าถ้าเราฟังเสียงของตัวเองบ่อยๆ ถ้อยคำในตัวบทจะซึมเข้าไปทำให้จำได้อย่างขึ้นใจ และเวลาเขียนตอบข้อสอบนั้นเสียงของเราก็จะดังก้องอยู่ในหูเรานั่นเอง

การอ่านหนังสือรวมข้อสอบเก่า
หนังสือรวมข้อสอบเก่าถือเป็นอีกหนึ่งฐานข้อมูลสำคัญในการเตรียมตัวสอบเนติฯ สำหรับข้าพเจ้านั้นได้หาซื้อหนังสือรวมข้อสอบเก่าไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ก่อน เปิดภาคการศึกษาแล้ว โดยข้าพเจ้ามิได้ใช้หนังสือรวมข้อสอบเก่าในการนำโจทย์ปัญหามาฝึกเขียน หรือ ใช้ในการดูสถิติมาตราที่ออกข้อสอบเพียงเท่านั้น แต่ข้าพเจ้าจัดให้หนังสือรวมข้อสอบเก่าอยู่ในฐานะ “หนังสือที่ต้องอ่าน” อีกเล่มหนึ่งนอกเหนือจากหนังสือรวมคำบรรยายเนติฯเลยทีเดียว เนื่องจากบรรดาข้อกฎหมายหรือ            คำพิพากษาฎีกาที่อยู่ในหนังสือรวมข้อสอบเก่านั้น ย่อมรับประกันได้ในระดับหนึ่งว่าเป็นข้อกฎหมายหรือคำพิพากษาฎีกาที่มีความ สำคัญและมีแง่มุมกฎหมายที่น่าสนใจ มิฉะนั้นบรรดาคณะกรรมการออกข้อสอบซึ่งล้วนแต่เป็นท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ คงไม่นำมาใช้ในการทดสอบความรู้เป็นแน่ ดังนั้น เราจึงควรจดบันทึกข้อกฎหมายหรือคำพิพากษาฎีกาสำคัญที่ปรากฏในธงคำตอบเอาไว้ ด้วย
อย่างไรก็ตาม  ในการจดบันทึกข้อกฎหมายหรือคำพิพากษาฎีกาจากหนังสือรวมข้อสอบเก่านั้น ต้องใช้ความระมัดระวังมากพอสมควร เพราะบางครั้งเราอ่านข้อสอบเก่าย้อนกลับไปหลายๆสมัย ธงคำตอบสมัยนั้นอาจเป็นธงคำตอบที่ออกมาตามข้อกฎหมายเก่า หรือคำพิพากษาฎีกาที่ถูกกลับแล้วก็เป็นได้

การฝึกเขียนตอบข้อสอบ
มีคำกล่าวที่เรามักได้ยินกันเสมอมาว่า “ต่อให้มีความรู้มากมายเพียงใด ถ้าหากไม่สามารถสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ความรู้นั้นย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ได้ยาก” เช่นเดียวกันกับการทดสอบความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ข้าพเจ้าเชื่อว่าเพื่อนๆส่วนมากล้วนมีความพร้อมในแง่ของความรู้กันอย่างเต็ม เปี่ยมในวันก่อนสอบ ใครถามข้อกฎหมายอะไรตอบได้หมดทุกข้อ แต่ว่าบางท่านผลการสอบออกมาปรากฏว่าสอบไม่ผ่าน เช่นนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าปัญหาอาจเกิดขึ้นจากการเขียนตอบข้อสอบที่ยังไม่ดีพอ
หากจะให้ข้าพเจ้าแนะนำเพียงแค่ไปซื้อหนังสือรวมข้อสอบเก่ามาฝึกเขียนตอบตาม โจทย์ปัญหาก็คงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ตรงประเด็นเท่าใดนัก ดังนั้นโดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าขอให้คำแนะนำเรื่องการเขียนตอบข้อสอบเอาไว้สัก ๓ ประการดังต่อไปนี้คือ

  • เรื่องลายมือ ข้าพเจ้าได้ยินคำแนะนำจากทั้งท่านอาจารย์ผู้สอน และรุ่นพี่มาตลอดว่าลายมือส่งผลสำคัญ

ต่อคะแนนสอบ ดังนั้น เพื่อนๆทุกท่านที่คิดว่าลายมือของตนเองอาจเป็นปัญหาในการทำข้อสอบ ก็อาจพัฒนาลายมือของตัวเองง่ายๆด้วยการเขียนให้ “ตัวใหญ่ และ มีหัว” เพราะการเขียนลักษณะนี้ แม้ลายมือจะแย่แต่ก็ยังพอจะคาดเดาและอ่านออกว่าเป็นพยัญชนะหรือสระใด แต่ถ้าหากลายมือแย่ ซ้ำยังเขียน “ตัวเล็ก และ ไม่มีหัว” อีกนั้น อาจทำให้กรรมการผู้ตรวจข้อสอบเสียอารมณ์ และอาจให้คะแนนต่ำมากๆก็เป็นได้ และเพื่อนๆทุกท่านควรจะนึกไว้เสมอด้วยว่า “ภัยพิบัติจากการที่กรรมการผู้ตรวจข้อสอบอารมณ์เสียนั้น หาได้ตกเป็นพับแก่ท่านคนเดียวไม่ แต่อาจทำให้เพื่อนๆท่านอื่นต้องพลอยรับผลจากภัยพิบัติดังกล่าวไปด้วยก็เป็น ได้” ดังนั้น การพัฒนาลายมือจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญก็ตาม

  • เรื่องการแบ่งย่อหน้าและการแบ่งประเด็น  ข้าพเจ้าคิดว่าปัญหาเรื่องการแบ่งย่อหน้าและแบ่งประเด็น

อาจเป็นปัญหาสำหรับเพื่อนๆหลาย ท่าน วิธีการแก้ไขนั้นอาจทำได้โดยการลองหัดนำโจทย์ปัญหาตามหนังสือข้อสอบเก่ามาทำ แล้วสังเกตประเด็นจากคำถามว่าในข้อเท็จจริงตามปัญหามีประเด็นที่เราจะต้อง วินิจฉัยกี่ประเด็น เราต้องกำหนดประเด็นให้ครบถ้วนจึงจะได้คะแนนดี การสังเกตประเด็นนี้สามารถฝึกกันได้ด้วยการฝึกสังเกตจากข้อสอบเก่าบ่อยๆนั่น เอง  เมื่อเราสามารถกำหนดประเด็นได้แล้วก็ให้แยกวินิจฉัยเป็นประเด็นไป ประเด็นละ ๑ ย่อหน้าเพื่อความชัดเจน โดยในแต่ละย่อหน้าจะประกอบไปด้วย ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง ข้อกฎหมายที่จะใช้วินิจฉัยในประเด็นนั้นๆ และข้อวินิจฉัย เพียงเท่านี้ก็ครบถ้วนแล้ว หากเราใช้วิธีการเขียนทั้งหมดโดยไม่มีการแบ่งย่อหน้าอาจทำให้ตัวเราเองหลง ประเด็น เขียนไม่ครบ เขียนได้น้อย อีกทั้งยังทำให้กรรมการผู้ตรวจข้อสอบหาจุดที่จะให้คะแนนได้ยากอีกด้วย เพราะการให้คะแนนนั้นจะให้เป็นประเด็นๆไปอยู่แล้ว

  • เรื่องการใช้ถ้อยคำสำนวนในการเขียนตอบ  ถือเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งนี้เพราะการตอบข้อสอบ

ที่จะได้คะแนนดี ควรจะต้องใช้ “ภาษาเขียน” ที่เป็น “ภาษากฎหมาย” ด้วย ซึ่งการใช้ภาษากฎหมายนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ สำหรับข้าพเจ้านั้นส่วนตัวเชื่อว่าการท่องตัวบทเป็นทางเลือกในการพัฒนาภาษา เขียนของเราให้เป็นภาษากฎหมายได้อย่างดีเยี่ยม  เพราะถ้าหากเราสามารถท่องตัวบทได้อย่างแม่นยำ จำถ้อยคำสำนวนในตัวบทได้ เราก็จะไม่ต้องเสียเวลามานั่งคิดคำที่จะใช้ในการเขียนตอบข้อสอบอีก เพราะเราสามารถนำถ้อยคำสำนวนจากตัวบทมาใช้ในการเขียนได้เลย ทำให้เราสามารถทำข้อสอบได้ทันเวลาอีกด้วย
นอกจากนี้วิธีที่ข้าพเจ้าใช้อีกวิธีหนึ่งก็คือ ขณะที่อ่านคำพิพากษาฎีกา ข้าพเจ้าจะไม่อ่านเพียงเพื่อให้ทราบข้อกฎหมายเท่านั้น แต่จะพยายามจดจำถ้อยคำสำนวนที่ปรากฏในคำพิพากษาฎีกาเพื่อนำมาใช้ในการตอบข้อ สอบด้วย ซึ่งโดยทัศนะส่วนตัวของข้าพเจ้าค่อนข้างมั่นใจว่า การใช้ถ้อยคำสำนวนในตัวบทและคำพิพากษาฎีกามาตอบข้อสอบ มีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำข้อสอบให้ได้คะแนนดี ยกตัวอย่างถ้อยคำสำนวนที่จดจำมากจากตัวบทและคำพิพากษาฎีกาก็เช่น

  • “ จำเลยได้ลงมือกระทำความผิด อันถือเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อผลแล้ว ” ( ป.อ. ม. ๘๐)
  • “ ที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ ” ( ป.พ.พ. ม. ๑๓๔๙ )
  • “ มูลคดี หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันทำให้เกิดอำนาจฟ้อง ” ( ป.วิ.พ. ม. ๔ )
  • “ คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หมายถึง คดีแพ่งที่มีมูลกรณีเดียวกันกับความผิดอาญา ” ( ป.วิ.อ. ม.๔๐)

ข้าพเจ้าเชื่อว่าถ้าหากเพื่อนๆพยายามจดจำถ้อยคำสำนวนเหล่านี้ และนำไปใช้ในการเขียนตอบข้อสอบ ย่อม
สามารถเรียกคะแนนในแต่ละข้อได้เป็นอย่างดี

ช่วงเวลา ๑ สัปดาห์ก่อนการสอบ
จากประสบการณ์ของข้าพเจ้า ช่วงระยะเวลา ๑ สัปดาห์ก่อนการสอบ ถือเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกจิตตก กดดัน และกังวลใจเป็นอย่างมาก แม้จะอ่านหนังสือเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี แต่ก็พบบ่อยๆว่ายังคงลืมเรื่องเล็กๆน้อยๆอยู่หลายประการ อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าก็พยายามตั้งสติและนึกเสมอว่า เราทุ่มเทตั้งใจอ่านหนังสืออย่างเต็มที่มานานหลายเดือน จะมากระวนกระวายเสียสมาธิกับเรื่องเล็กๆน้อยๆให้เสียการใหญ่ไม่ได้ อย่างไรเสียก็ต้องทำให้สุดความสามารถเพื่อมิให้ความทุ่มเทและความตั้งใจที่ ผ่านมาตลอดระยะเวลาหลายๆเดือนต้องเสียเปล่า
ช่วงระยะเวลา ๑ สัปดาห์ก่อนสอบนี้ ข้าพเจ้าจะพยายามพูดคุยถึงข้อกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาสำคัญกับเพื่อนๆให้มาก ขึ้น และจะพยายามเปิดหู เปิดตา เพื่อรับฟังข้อมูลที่น่าสนใจต่างๆนานา ซึ่งก็มีบ้างเหมือนกันที่ข้อมูลที่ได้รับในช่วง ๑ สัปดาห์ก่อนการสอบ ถูกนำไปออกเป็นข้อสอบจริงๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับเพื่อนๆที่สภาพจิตใจค่อนข้างอ่อนไหว การพูดคุยกับเพื่อนๆท่านอื่นหรือการรับฟังข้อมูลที่น่าสนใจอาจเป็นเหมือนดาบ สองคม เพราะบางครั้งการพูดคุยกับเพื่อน หากพูดในสิ่งที่เราไม่ทราบ หรือมิได้เตรียมตัวมา อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนไม่พร้อม และตั้งคำถามกับตนเองว่า เรายังอ่านมาไม่ดีพอหรือ ? เรายังไม่พร้อมกับการสอบที่จะมาถึงใช่หรือไม่ ? จนบางท่านถึงกับตัดสินใจไม่ไปสอบ หรือไปสอบโดยหมดความมั่นใจไปแล้วก็มีเช่นกัน ทั้งๆที่ได้เตรียมตัวมาในระดับหนึ่งแล้ว ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ทางที่ดีเพื่อนๆควรจะนึกไว้ในใจเสมอว่า “ไม่ทราบก่อนเข้าห้องสอบ ยังดีเสียกว่าการไม่ทราบในห้องสอบ” การพูดคุยในสิ่งที่เรายังไม่ทราบนั้นดีเสียอีก เพราะถือเป็นการอุดช่องว่างในองค์ความรู้ของเรา ทำให้มีความพร้อมมากกว่าเดิม

เมื่อวันสอบมาถึง
คืนวันก่อนสอบควรนอนหลับพักผ่อนให้ได้อย่างน้อย ๘ ชั่วโมงเพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้มีความสดใส สดชื่น พร้อมเต็มที่สำหรับการสอบ แต่เพื่อนๆบางท่านที่ติดนิสัยการนอนดึกในช่วงอ่านหนังสือเตรียมสอบ ก็ไม่จำเป็นต้องฝืนนอนเร็ว เพราะร่างกายเคยชินกับการนอนดึกเสียแล้ว หากเพื่อนๆรีบนอนอาจจะนอนไม่หลับ คิดมาก และเกิดอาการจิตฟุ้งซ่านอีกด้วย สำหรับข้าพเจ้าก็ไม่ได้เข้านอนหัวค่ำ  แต่เข้านอนประมาณเที่ยงคืน เพราะเป็นช่วงเวลาเข้านอนโดยปกติอยู่แล้ว ทำให้นอนหลับได้สนิท ไม่ต้องนอนกระวนกระวายใจ ฟุ้งซ่านอยู่บนเตียงอีก
ตื่นนอนมาตอนเช้าประมาณ ๐๘.๐๐ น. ก็อาบน้ำ ทานอาหารปกติ เสร็จแล้วก็นั่งทำสมาธิให้นิ่ง แล้วเริ่มท่องตัวบท และ ถ้อยคำสำนวนในคำพิพากษาฎีกาที่จะใช้เขียนตอบข้อสอบจนครบถ้วน  ก่อนเดินทางไปสอบก็ตรวจดูว่าเรานำบัตรสอบ บัตรประจำตัวนักศึกษา และเครื่องเขียนไปพร้อมหรือยัง บางท่านตื่นเต้นจนลืมสิ่งสำคัญเหล่านี้ไปก็มี
การเดินทางไปสอบควรเผื่อเวลาสำหรับกรณีที่การจราจรติดขัดไว้ด้วย และควรไปถึงบริเวณสถานที่สอบล่วงหน้าก่อนเวลาสอบอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพื่อที่จะมีเวลาหาห้องสอบ หรือ เข้าห้องน้ำ ฯลฯ สำหรับข้าพเจ้า จำได้ว่าไปถึงสถานที่สอบก่อนเวลาสอบประมาณ ๑ ชั่วโมงครึ่ง ระหว่างรอก็ท่องตัวบท และดูหลักกฎหมายสำคัญนิดหน่อย แต่จะมุ่งไปที่การทำสมาธิ ทำจิตใจให้สงบนิ่งมากกว่าการอ่านหนังสือ บางท่านพอเห็นผู้อื่นนั่งอ่านหนังสือหรือติวกันแล้วรู้สึกเครียด กดดัน กังวล ก็ขอให้มีสมาธิเข้าไว้ แล้วนึกเสมอว่าเราเตรียมตัวมาพร้อมเต็มที่แล้ว ต้องทำได้แน่นอน เพื่อเรียกความมั่นใจก่อนเข้าสอบ

ช่วงเวลาในห้องสอบ
ประตูห้องสอบจะเปิดประมาณ ๑๐ – ๑๕ นาทีก่อนการสอบ ตรงจุดนี้ขอให้ทุกคนตรวจดูความพร้อมอีกครั้งหนึ่งว่าเรานำบัตรสอบ บัตรประจำตัวนักศึกษา และเครื่องเขียนมาครบถ้วนหรือยัง และให้ตรวจดูให้แน่ใจด้วยว่าในกระเป๋าเสื้อ กระเป๋ากางเกง และกระเป๋าดินสอ ไม่มีเศษกระดาษที่เพื่อนๆบันทึกความรู้ใดๆไว้ มิฉะนั้นหากท่านกรรมการคุมสอบตรวจพบ อาจทำให้เพื่อนๆหมดสิทธิสอบได้ ทั้งๆที่มิได้มีเจตนาทุจริตใดๆเลย
เมื่อเข้าไปในห้องสอบ สิ่งที่ควรทำก็คือนั่งทำสมาธิ ละทิ้งความกังวลเสียให้หมด ทำใจให้ปลอดโปร่ง และสร้างความมั่นใจกับตัวเองให้มากที่สุด เมื่อท่านกรรมการคุมสอบอนุญาตให้ทำข้อสอบ ข้าพเจ้าจะเริ่มทำโดยไล่อ่านไปทีละข้อจนครบ ๑๐ ข้อ โดยเมื่ออ่านจบแต่ละข้อก็จะจดประเด็นที่ต้องเขียนและเลขมาตราที่เกี่ยวข้อง ไว้เพื่อจะได้ไม่ลืมเมื่อกลับมาเขียน ข้อใดที่ยังหาคำตอบไม่ได้ก็จะข้ามไปอ่านข้ออื่นก่อน แล้วค่อยกลับมาอ่านข้อที่ทำไม่ได้อีกครั้ง เมื่อไล่อ่านจนครบ ๑๐ ข้อแล้วก็จะลงมือเขียนทันทีโดยเริ่มจากข้อที่มั่นใจมากที่สุดก่อน ส่วนข้อที่ไม่มั่นใจจะรอไว้เขียนตอนท้าย
การบริหารเวลาในการเขียนให้ทันภายใน ๒๔๐ นาที ( ๔ ชั่วโมง ) ควรจะต้องวางแผนมาล่วงหน้าก่อนเข้าห้องสอบ สำหรับตัวข้าพเจ้าก่อนสอบวางแผนเอาไว้ว่าจะใช้เวลาในการอ่านข้อเท็จจริง ๑๐ ข้อพร้อมจดประเด็น และจดมาตราสำคัญประมาณ ๓๐ – ๔๐ นาที และจะใช้เวลาเขียนตอบอีกประมาณข้อละ ๑๕ – ๒๐ นาที ซึ่งเมื่อนำมาปฏิบัติจริงในห้องสอบก็สามารถทำข้อสอบได้ทันเวลา โดยในแต่ละข้อจะเขียนประมาณ ๑ หน้าครึ่ง – ๒ หน้า ซึ่งถือว่าไม่มากไม่น้อยเกินไป
สำหรับรูปแบบการเขียนตอบนั้น ข้าพเจ้าจะใช้รูปแบบการเขียนตอบแบบผสมผสานกันไป กล่าวคือ มีการตอบทั้งแบบวินิจฉัย (ฟันธง) และการตอบแบบที่วางหลักกฎหมายและกำหนดประเด็นก่อน (IRAC) โดยข้อที่ทำได้และมั่นใจ ข้าพเจ้าจะใช้การตอบแบบวินิจฉัย ส่วนข้อที่ไม่มั่นใจจะใช้วิธีการตอบแบบวางหลักกฎหมาย และอธิบายหลักกฎหมายอย่างละเอียดก่อนวินิจฉัย เพื่อให้สามารถเรียกคะแนนได้บ้างในกรณีที่วินิจฉัยแตกต่างไปจากธงคำตอบ ซึ่งก็ได้ผลที่น่าพอใจ
อนึ่ง  การตอบข้อสอบแบบวินิจฉัย หลายๆท่านเข้าใจว่าเป็นการตอบเฉพาะธงคำตอบโดยไม่ต้องอ้างอิงข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะการตอบข้อสอบแบบวินิจฉัยให้ได้คะแนนดี จะต้องมีการนำหลักกฎหมายไปปรับรวมกับข้อเท็จจริงผสมผสานกันไปในแต่ละประเด็น ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้วิธีการตอบข้อสอบรูปแบบใด หากประสงค์จะได้คะแนนให้เป็นที่น่าพอใจ ก็จะต้องมีความแม่นยำในตัวบทกฎหมายทั้งสิ้น
เมื่อเวลาทำข้อสอบใกล้จะสิ้นสุดลง จะมีเพื่อนๆหลายท่านที่ลุกออกจากห้องสอบ ซึ่งในเวลานั้น หากเพื่อนๆท่านใดยังทำข้อสอบไม่เสร็จก็ขออย่าได้กระวนกระวาย ให้เขียนตอบข้อสอบไปอย่างใจเย็น บางท่านเห็นเพื่อนๆลุกออกไปจำนวนมากจะเกิดอาการรีบร้อน ลนลาน ทำให้บางครั้งลืมเขียนประเด็นที่สำคัญไปก็มี คะแนนที่ควรจะได้ก็ไม่ได้ ดังนั้นจะต้องตั้งสติไว้ให้มั่น เพราะเวลาของเพื่อนๆยังมีอยู่จนกว่าท่านกรรมการคุมสอบจะบอกให้วางปากกา
เมื่อเวลาการทำข้อสอบสิ้นสุดลง ผู้เข้าสอบจะทยอยกันออกจากห้องสอบ ช่วงเวลาหลังจากนี้จะต้องออกไปพบเจอกับเพื่อนๆมากมาย หากเพื่อนๆท่านใดที่รู้ตัวว่าสภาพจิตใจอ่อนไหวก็อย่าไปเข้าร่วมวงสนทนาที่ กำลังพูดคุยเฉลยข้อสอบกันอยู่ เพราะหากเราตอบไม่เหมือนเพื่อนๆท่านอื่น อาจทำให้จิตตกไปได้ ทั้งๆที่ยังไม่ทราบเลยว่าธงคำตอบที่แท้จริงเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ภายหลังจากการสอบไม่กี่วันก็จะมีธงคำตอบออกมา  การดูธงคำตอบในขณะที่ยังเหลือการสอบอีก ๑ วันนั้นเป็นเหมือนดาบสองคม หากดูแล้วเราทำถูกก็ดีไป แต่ถ้าทำไม่ถูกต้องตามธงคำตอบก็มีแต่จะทำให้เสียกำลังใจ เป็นที่แน่นอนว่าเพื่อนๆทุกท่านคงไม่มีใครสามารถตอบได้ถูกต้องตามธงคำตอบทุก ข้อ ทุกประเด็น ดังนั้น ถ้าสภาพจิตใจไม่เข้มแข็งพอ ก็รอดูธงคำตอบทีเดียวภายหลังการสอบวันสุดท้ายเสร็จสิ้นก็ไม่มีอะไรเสียหาย

ฝากถึงเพื่อนๆ
ตลอดระยะเวลา ๑ ปีที่ข้าพเจ้าใช้เวลาศึกษาที่สำนักอบรมฯ มิใช่เพียงความรู้ทางวิชาการเท่านั้นที่ข้าพเจ้าได้รับ แต่การเรียนเนติฯยังให้บทเรียนสำคัญแก่ข้าพเจ้าว่า การจะประสบความสำเร็จในการเรียนนั้น ไม่จำเป็นที่เราจะต้องปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอกเพื่ออ่านหนังสือทั้งวัน หรือเคร่งเครียดกับการดำเนินชีวิตมากจนเกินไป เรายังคงสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้เหมือนเดิม  ข้าพเจ้าเองจำได้ว่าตอนเรียนเนติฯ เวลาอ่านหนังสือแล้วรู้สึกเบื่อก็จะหยุดพักไปคุยเล่นกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ  หาหนังสือพิมพ์อ่าน หรือเดินไปหาของหวานทานได้ตามใจปรารถนา พออ่านหนังสือเสร็จหรือกลับจากการเข้าฟังการบรรยายก็จะไปออกกำลังกายเป็น ประจำทุกวัน ยังคงนัดกับเพื่อนๆไปเตะฟุตบอลได้เหมือนปกติ ตกกลางคืนก็ยังเข้าไปอ่านเรื่องที่เราสนใจตามเว็บบอร์ดต่างๆ หรือเล่นเฟซบุ๊คคลายเครียดอยู่เรื่อยๆ ทั้งหมดนี้ข้าพเจ้าทำเป็นกิจวัตรตลอดระยะเวลา ๑ ปี ซึ่งสามารถช่วยให้ข้าพเจ้ารู้สึกผ่อนคลาย และพร้อมสำหรับการอ่านหนังสือตามแผนที่วางไว้ในครั้งต่อไป
นอกจากนี้ บทเรียนที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้อีกอย่างหนึ่งคือ “การมีเพื่อนที่ดี ย่อมนำพาแต่สิ่งดีๆมาสู่เรา” โดยเฉพาะถ้าเพื่อนเหล่านั้นเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมที่จะต้องสอบเนติฯพร้อมๆ กับเรา จะเข้าใจกันเป็นอย่างดี ถ้าหากในช่วงที่เรียนเนติฯนั้น ข้าพเจ้าขาดเพื่อนไปนั่งฟังการบรรยาย ขาดเพื่อนช่วยแบ่งปันความรู้และสิ่งที่น่าสนใจ ขาดเพื่อนคอยให้คำปรึกษา และเป็นที่ระบายความเครียด ความกังวลให้ฟัง ก็คงจะทำให้การเรียนเนติฯนั้นยากขึ้นไปอีก
มีเรื่องหนึ่งที่น่าประทับใจ และอยากจะเล่าให้เพื่อนๆทุกท่านฟังคือ ในช่วงที่เตรียมตัวสอบเนติฯนั้น บรรดา
กลุ่มเพื่อนร่วมรุ่นสมัยเรียนชั้นปริญญาตรีจะตั้งกลุ่มรวมตัวกันในเฟซบุ๊ค ซึ่งเพื่อนๆแต่ละท่านก็มีทั้งที่เข้าฟังการบรรยาย               ภาคปกติ ภาคค่ำ และภาคทบทวน จากนั้นก็จะนำข้อกฎหมายสำคัญ หรือคำพิพากษาฎีกาที่อาจารย์ผู้บรรยายเน้นย้ำในห้องบรรยายภาคต่างๆมาแบ่งปัน กัน ทำให้ทุกคนได้รับข้อมูลกันอย่างครบถ้วน หรือบางครั้งที่รู้สึกเหนื่อย รู้สึกท้อถอย ก็จะให้กำลังใจกัน ทำให้มีแรงใจที่จะสู้ต่อไป ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงอยากแนะนำให้เพื่อนๆนักศึกษาทุกท่านพยายามจับกลุ่มกับเพื่อน ช่วยๆกันเรียน แลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญคือเราต้องรู้จักที่จะเป็น “ผู้ให้” ด้วย มิฉะนั้น หากเราเลือกที่จะเป็น “ผู้รับ” อยู่ฝ่ายเดียว ก็คงจะไม่มีใครอยากแบ่งปันข้อมูลต่างๆให้กับเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่าหากเพื่อนๆช่วยกันเตรียมตัวแล้ว คงจะสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตไปพร้อมๆกันได้โดยไม่ยากเย็น

บทส่งท้าย
การเรียนเนติฯให้ประสบความสำเร็จนั้น เหนือสิ่งอื่นใดเลยคือจะต้องมีการวางแผนการเรียนและการอ่านหนังสือล่วงหน้า ให้เหมาะสม และจะต้องมีระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิต มีความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ซื่อสัตย์ต่อแผนการเรียนและการอ่านหนังสือที่ “ตัวเองเป็นผู้กำหนดขึ้นมา” “อย่าทรยศต่อความตั้งใจและความฝันของตน” มิฉะนั้นแล้ว หนทางสู่การเป็นเนติบัณฑิตที่เดิมนั้นยากอยู่แล้ว คงยากยิ่งขึ้นอีกเป็นเท่าทวี ในทางกลับกัน หากเพื่อนๆทุกท่านซื่อสัตย์ต่อแผนการเรียนที่วางไว้ ไม่ทรยศต่อความฝันของตน หนทางสู่การเป็นเนติบัณฑิตคงสดใสอย่างแน่นอน “ลำพังเพียงทำตามแผนที่ตัวเองเป็นผู้กำหนดขึ้นมา จะไปยากอะไร ใช่หรือไม่ ?”
สุดท้ายนี้ก็ขอให้เพื่อนๆที่มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะเป็นเนติบัณฑิต ไม่ว่าจะรุ่นนี้หรือรุ่นต่อๆไป ประสบความสำเร็จในการสอบทุกๆท่าน

เครดิต

ไกรพล อรัญรัตน์

Facebook Comments