Home ข่าวการสอบเนติบัณฑิต ข้อสังเกตในการตอบข้อสอบวิแพ่ง

ข้อสังเกตในการตอบข้อสอบวิแพ่ง

7897

ข้อสังเกตในการตอบข้อสอบวิแพ่ง

 

 

ข้อ ๑ . โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3ทำสัญญาค้ำประกันร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1ผิดสัญญาไม่ชำระค่าซื้อ 2 งวดติดต่อกัน โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้วขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายก่อนที่โจทก์ยื่นฟ้องศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ จำเลยที่ 2ให้การว่า ในระหว่างที่จำเลยที่ 1มีชีวิตอยู่ได้ชำระค่าเช่าซื้อตรงตามนัดครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและโจทก์มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ทายาทของจำเลยที่ 1ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งบังคับโจทก์จดทะเบียนใส่ชื่อเด็กชายมานพทายาทของจำเลยที่ 1เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์ลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 3สัญญาดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งให้โจทก์ส่งมอบสัญญาค้ำประกันปลอมดังกล่าวแก่จำเลยที่ 3เพื่อนำไปทำลายต่อไป ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 และที่ 3

ให้วินิจฉัยว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ชอบหรือไม่

 

 

ธงคำตอบ

เริ่มต้นด้วยการ สรุปข้อเท็จจริงตามคำถามให้ได้ใจความเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องที่ถามไม่ต้องลอกคำถามมาทั้งหมด เช่นสรุปว่า “ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1ตามสัญญาเช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2ฟ้องแย้งอ้างว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายโจทก์ต้องจดทะเบียนใส่ชื่อทายาทของจำเลยที่ 1เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อ” จากนั้นก็ปรับตัวบทกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริงตามคำถามด้วยคำว่า “เป็นการ”เช่น  เป็นการกล่าวอ้างว่า โจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1หาใช่โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ไม่อาจพิจารณารวมไปกับฟ้องเดิมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม และ 179 วรรคสาม (คำพิพากษาฎีกาที่3932/2549)” จากนั้น สรุปตอบคำถามว่า “ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยที่2 ไว้พิจารณาจึงไม่ชอบ”

 

ย่อหน้าแล้วเริ่มวินิจฉัยประเด็นใหม่ด้วยการสรุปข้อเท็จจริงตามคำถามว่า“ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 นั้น ข้อที่จำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้คดีว่าไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้อง เนื่องจากจำเลยที่ 3 ไม่เคยทำทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ลายมือชื่อผู้ค้ำประกันในสัญญาไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 3สัญญาค้ำประกันจึงเป็นเอกสารปลอมนั้น” ปรับตัวบทเข้ากับข้อเท็จจริงว่า “หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่จำเลยที่3 อ้าง ก็ย่อมมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องตามฟ้องของโจทก์ไม่ได้รับการบังคับให้ตามกฎหมายและศาลย่อมนำมาเป็นเหตุยกฟ้องได้อยู่แล้ว จำเลยที่ 3หาจำต้องฟ้องแย้งให้โจทก์ส่งมอบสัญญาค้ำประกันปลอมแก่จำเลยที่ 3เพื่อนำไปทำลายแต่ประการใดไม่ ทั้งคำขอตามฟ้องแย้งดังกล่าวศาลก็ไม่อาจบังคับให้ได้เพราะหากสัญญาค้ำประกันตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม ก็เท่ากับการค้ำประกันรายนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือโจทก์ไม่อาจนำมาฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยที่ 3 ได้ จึงถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่3ไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมของโจทก์พอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม และ 179 วรรคสาม(คำพิพากษาฎีกาที่625/2548)”  สรุปตอบคำถามว่า “ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 ไว้พิจารณาจึงไม่ชอบเช่นกัน”

 

 

ข้อสังเกตในการตอบข้อสอบ

 

๑.ไม่ต้องลอกคำถามทั้งหมด ดูย่อหน้าสุดท้ายของคำถาม คำถามนี้ถามว่า คำสั่งรับฟ้องแย้งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็สรุปข้อเท็จจริงเฉพาะที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลย ขึ้นต้นด้วยคำว่า การที่  จำเลยที่ ๒ ฟ้องแย้งว่า……………เป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ ๑ไม่ใช่โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ ๒  (ให้เหตุผล)…………….จึงเป็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม……(ลอกตัวบท)  ตาม มาตรา…… จากนั้น สรุปตอบคำถาม ว่า “ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยที่2 ไว้พิจารณาจึงไม่ชอบ”

 

 

๒.มีบางคนตอบว่า โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่าจำเลยที่ ๑ ผิดนัดไม่ชำระค่างวด จำเลยที่ ๒ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง ขอให้กลับไปศึกษากระบวนพิจารณาคดีของศาลให้เข้าใจ  การฟ้องคดีเริ่มจาก โจทก์อ้างว่าโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยให้ตามสิทธิเช่นฟ้องว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่างวด ขอให้จำเลยชำระหนี้ในส่วนนี้เป็นคำกล่าวอ้างของโจทก์ ซึ่ง ต้องมีพิสูจน์ว่าเป็นจริงตามคำกล่าวอ้างหรือไม่  จากนั้นศาลจะให้โอกาสจำเลยให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งในประเด็นที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม  เช่นจำเลยมีสิทธิให้การต่อสู้ว่าชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ประเด็นแห่งคดี มีว่า จำเลยต้องรับผิดหรือไม่เพียงใด  ซึ่ง โจทก์ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนและจำเลยก็ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบสนับสนุนข้อเถียงของตน จากนั้นศาลก็จะชั่งพยานหลักฐาน และวินิจฉัยตามประเด็นว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ฝ่ายที่แพ้คดีก็มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกา ได้ ตามประเด็น ภายในหนึ่งเดือน  แต่จะอุทธรณ์ประเด็นอื่นนอกเหนือจากที่ต่อสู้ไว้ในคำให้การไม่ได้ เช่นให้การในศาลชั้นต้นว่าชำระแล้วอย่างเดียว ต่อมาจะอุทธรณ์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความไม่ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น

๓.ตอบว่า ไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง ยังไม่ใช่คำตามกฎหมาย ต้องตอบว่า “ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง”

๔.คำว่า”ฟังไม่ขึ้น” ใช้กับคำให้การ หรือข้อต่อสู้ของจำเลยแต่ถ้าเป็นเรื่องอำนาจฟ้องแย้ง ต้องใช้คำว่า “มีอำนาจฟ้องแย้ง” หรือ “ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง”

๕.ตอบว่า จำเลยที่ ๒โต้แย้งเพื่อให้ได้ซึ่งกรรมสิทธิ์ของทายาทหาใช่โต้แย้งเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของตนไม่”ตอบแบบนี้ก็ได้คะแนน แต่ถ้าจะได้คะแนนดีกว่านี้ ต้องนำตัวบทมาตรา ๕๕ มาตอบ เช่น“ฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๒ เป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ ๑หาใช่โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ ๒ ไม่”

 

 

 

ข้อ ๔โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ จำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าโจทกมอบอำนาจให้นายขจรฟ้องคดีแทนแต่หนังสือมอบอำนาจไม่ได้ปิดอากรแสตมป์รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นายขจรไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ พิพากษายกฟ้อง โดยอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๖มกราคม ๒๕๔๐ ปรากฎว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์แต่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ต่อศาลเดิมเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐  ขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับเดิมอีกจำเลยให้การต่อสู้คดีว่า ฟ้องโจทก์คดีหลังเป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อน และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน ดังนี้ข้อต่อสู้ของจำเลยรับฟังได้หรือไม่

ธงคำตอบ โจทก์ยื่นฟ้องคดีหลังในขณะที่คดีก่อนยังไม่ถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๔๗ วรรคสอง (ให้เหตุผลว่าทำไมคดีไม่ถึงที่สุด) เพราะยังอยู่ในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๒๙จึงถือว่าคดีก่อนยังไม่ได้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วทั้งการที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในคดีก่อน เนื่องจากนายขจรไม่มีอำนาจฟ้องถือว่าคดีก่อนศาลยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่เป็นเนื้อหาแห่งคดีฟ้องโจทก์ในคดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามมาตรา ๑๔๙ (ฎีกาที่ ๖๖๖/๒๕๓๐)

การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีหลังเข้ามาในขณะที่คดีก่อนยังอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แต่มิได้มีคู่ความฝ่ายใดยื่นอุทธรณ์ จึงถือไม่ได้ว่าคดีก่อนอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลใด ฟ้องโจทก์คดีหลังไม่เป็นฟ้องซ้อน อันจักต้องห้ามตามมาตรา ๑๗๓วรรสอง (๑) (ฎีกา ๕๓๖๔/๒๕๓๘)

การที่ศาลชั้นต้นในคดีก่อนพิพากษายกฟ้องเนื่องจากนายขจรไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์นั้น ถือว่าในคดีก่อนศาลยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องหนี้ตามสัญญากู้อันเป็นเนื้อหาแห่งคดีโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้อีกได้ ฟ้องโจทก์ในคดีหลังไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อนตามมาตรา๑๔๔ (ฎีกา ๕๓๖๔/๒๕๓๘)

ดังนี้ฟ้องโจทก์คดีหลังไม่เป็นฟ้องซ้ำฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำที่ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังที่จำเลยให้การต่อสู้

 

ข้อสังเกตในการตอบข้อสอบ

๑. คดีแรกฟ้องว่าผิดสัญญากู้คดีที่สองก็ฟ้องว่า ผิดสัญญากู้ จึงเป็นฟ้องเรื่องเดียวกันแต่ตามคำถามคดีแรกตัดสินแล้ว จึงไม่มีคดีก่อนที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลจึงไม่เป็นฟ้องซ้อน

๒. ตอบคำถามให้ครบทั้งสามเรื่องว่าเป็นฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ คดีแรกตัดสินแล้วจึงไม่มีคดีก่อนที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนคดีแรกศาลยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องถือว่ายังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นแห่งคดีว่าจำเลยต้องรับผิดตามสัญญากู้เหรือไม่และโจทก์ยื่นฟ้องใหม่ ในขณะที่อยู่ในระหว่างระยะเวลาอุทธรณ์ แม้โจทก์ไม่ประสงค์อุทธรณ์ก็ถือว่าคดียังไม่ถึงที่สุด จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ คดีแรกศาลยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องถือว่ายังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นแห่งคดีว่าจำเลยต้องรับผิดตามสัญญากู้เหรือไม่จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

 

๓. ข้อยกเว้นตาม มาตรา๑๔๘(๓) ซึ่งบัญญัติว่าเมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมายื่นใหม่ในศาลเดียวกันหรือในศาลอื่นภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ”ใช้ในกรณีที่ ศาลยกฟ้องและเขียนไว้ในคำพิพากษาอย่างชัดแจ้งว่ายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิฟ้องใหม่ภายในอายุความ ตามคำถามศาลเพียงแต่ยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเท่านั้นไม่ได้กล่าวว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องใหม่ จึงไม่นำมาตรา ๑๔๘(๓) มาใช้บังคับ  แต่การที่ศาลยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องถือว่ายังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี และยื่นฟ้องในขณะคดียังไม่ถึงที่สุด จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

 

๔.อ่านคำถามให้ดี ตอบตามประเด็นที่ถาม ที่ไม่เกี่ยวข้อง ตอบมาไม่มีคะแนนลอกคำถามก็ไม่มีคะแนน ต้องสรุปคำถามให้ได้ใจความและเอาถ้อยคำในตัวบทมาตอบจึงจะคะแนนดี การวางตัวบทไว้ก่อน ได้ประมาณ ๑ คะแนนและช่วยให้เรา เอาตัวบทตรงนั้น มาตอบในท่อนวินิจฉัยได้ดี  ส่วนที่เป็นคะแนนดีคือถ้อยคำในตัวบทที่อยู่ในท่อนวินิจฉัย

๕.คะแนนอยู่ที่เหตุผล เช่น เรื่องฟ้องซ้อน ส่วนที่เป็นคะแนน คือตอบว่า  หลักกฎหมายเรื่องฟ้องซ้อนคือห้ามโจทก์ฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลในขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา ตามคำถามคดีก่อนศาลตัดสินแล้ว แม้อยู่ในระยะเวลอุทธรณ์แต่ก็ไม่มีคดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล  ดังนั้น โจทก์จึงฟ้องเรื่องเดียวกันได้เพราะไม่มีคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล

เครดิต https://www.facebook.com/pages/ธรรมมะกับกฎหมาย

Facebook Comments