คำถาม หลังจากมีการเผยแพร่บทความ “จากสาวโรงงานสู่ผู้พิพากษา” ทางอินเตอร์เนทและส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว ทำให้เยาวชนหลายคนที่มีความสนใจก้าวสู่อาชีพผู้พิพากษา ยกย่องเป็นแบบอย่าง ไม่ทราบว่ารู้สึกอย่างไร
ตอบ ก่อนต้องขอขอบคุณทางรายการ ที่เห็นความสำคัญของบทความนี้และให้โอกาสดิฉัน ได้มาพูดคุยในรายการในวันนี้ นะคะ บทความนี้โพสครั้งแรกในเพจ ธรรมะกับกฎหมาย ซึงจัดทำขึ้นเพื่อ แนะนำการเรียนกฎหมายแก่ผู้ที่สนใจในเฟสบุค สมาชิกในเพจ ในตอนนั้นมีไม่มาก ตอนที่โพส บทความนี้ครั้งแรก ก็เพื่อสร้างกำลังใจให้แก่สมาชิกในเฟส แต่แล้วก็รู้สึกแปลกใจเป็นอย่างมากที่มีการส่งต่อบทความนี้กันอย่างแพร่หลาย มีคนพูดถึงจำนวนมาก รู้สึกปลื้มใจและดีใจที่ตัวเองเป็นแรงบันดาลในให้ใครหลายที่คนที่กำลังท้อ ลุกขึ้นเดิน ตามหาความฝันของตัวเองต่อไปค่ะ
ถามตั้งใจไว้หรือไม่ว่าโตขึ้นอยากเป็นผู้พิพากษา
ดิฉัน เกิดในหมู่บ้านเล็กบนภูเขาในจังหวัดเลย คนที่นั่นไม่เห็นความสำคัญของการเรียนหนังสือ คิดว่าการเรียนหนังสือเสียเวลาทำหากิน แต่ไม่รู้ทำไมตัวเองถึงมีความคิดที่แปลกกว่าคนอื่น ตั้งแต่จะเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก สมัยเรียนประถมเด็กคนอื่นไปวิ่งเล่นกัน ตัวเองก็นั่งอ่านหนังสืออยู่ในห้องสมุดของโรงเรียน ตอนเด็กๆไม่รู้ด้วยซื้ำว่าผู้พิพากษาคืออะไรไม่เคยได้ยินคำนี้ ตอนนั้นแค่ว่าอยากเรียนต่อให้จบปริญญาตรี ก็พอ ส่วนทำงานอะไรยังไม่ได้คิด มีอยู่วันหนึงที่เผลอบอกเพื่อนไปว่า อยากเรียนราม แค่นั้น เพื่อนก็มองเราแล้วอมยิ้ม คงคิดในใจว่าเราใฝ่สูงเกินตัว เพราะตอนนั้น กำลังเรียนการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอยู่ ความคิดอยากเป็นผู้พิพากษาเริ่มตอนที่เรียนปริญญาตรี และได้ยินอาจารย์ที่สอนในชั้นพูดว่า อาชีพผู้พิพากษา เป็นอาชีพที่สงบ สันโดษ ไม่มีเส้นสาย ทุกคนก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนี้ด้วยความสามารถ ผู้พิพากษาทุกคนใช้ชีวิตแบบพอเพียง ฟังแล้วก็รู้สกว่านี่แหละคือเส้นทางชีวิตที่เราชอบ เป้าหมายก็ชัดเจนนับแต่นั้น จากนั้น ก็ศึกษาหาข้อมูล และเตรียมตัวเข้าสู่สนามการเป็นผู้พิพากษา จนกระทั่งสอบผู้พิพากษาได้
ถามอยากให้ท่านเล่าชีวประวัติตั้งแต่วัยเด็กก้าวมาเป็นผู้พิพากษา
ก็อย่างที่เล่าไปบ้างแล้วในตอนตัน ดิฉัน เกิดที่หมู่บ้านเล็กๆในจังหวัดเลย คนในหมู่บ้านมีอาชีพทำไร่ ทำนา ที่หมู่บ้านไม่ค่อยมีอแหล่งน้ำทำการเกษตร ต้องอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ทำนาได้ปีละครั้ง ต้องไปยืมเงิน ธกส มาลงทุน ทำไร่ข้าวโพด ไร่ข้าว ตั้งแต่เล็กจนโตก็เห็นพ่อแม่ทำงานหนักแต่รายได้ต่ำ เป็นหนี้ธกส รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ก็เลยอยากจะแบ่งเบาภาระของพ่อแม่บ้าง แต่โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนทำงานหนักไม่ไหว ทำไร่ทำนา ไม่เป็น เพราะยายเลี้ยงมาแบบทะถุทะนอม ไม่เคยทำงานบ้านเอง ไม่เคยซักผ้าเอง ยายทำให้ตลอด หลังจบประถมศึกษา พ่อแม่ก็ให้ออกมาช่วยทำไร่ ทำนา แต่ผลงานไม่ค่อยดี พ่อแม่ให้ไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ก็ทำได้ไม่ดีอีกเพราะมัวแต่ฟังละครวิทยุ จน วัว ควาย แอบไปกินพืชไรของชาวบ้าน ชาวบ้านชอบพูดกันว่า ดิฉันเป็นคนทำอะไรไม่ได้เร่ือง ถ้าม่มีพ่อแม่คอยดูแลแล้วจะเอาตัวรอดได้ไง พอได้ฟังแบบนั้นก็เสียใจนะ และคิดว่าตัวเองคงไม่เหมาะกับการทำไร่ทำนา เราอยากเรียนหนังสือมากกว่า อยากไปหางานอื่นทำและส่งเงินมาให้พ่อแม่ แต่ก็เข้าใจนะว่าพ่ออยากส่งเรียนแต่ไม่มีเงิน พอดีฟังวิทยุเค้าบอกว่ามีการเรียนทางไกล ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเพชรบูรณ์
เรียนวันอาทิตย์วันเดียวก็ได้วุฒิเทียบเท่า ม. ต้น เลยขอพ่อไปเรียน แม่กับยายไม่อนุญาต เพราะเป็นห่วง แต่ได้ไปเรียนเพราะพ่ออนุญาต
ถึงยายจะไม่เห็นด้วยที่ดิฉันจะไปเรียนแต่ในเมื่อห้ามไม่ได้ ยายก็ไม่ได้ว่าอะไร การไปเรียนต้องเดิงลงเขาระยะทาง ๓ กิโลเมตรเพื่อมาขึ้นรถเมล์ที่ถนนใหญ่ ยายก็แค่ขอตามไปส่ง เพราะ ถนนทางเข้าหมู่บ้าน มันเปลี่ยว ยายเป็นห่วง โดยส่วนตัวไม่อยากให้ยายไปรับส่งเลยเพราะอายเพื่อน คนอื่นเค้าไปไหน มาไหน เค้าก็ไปคนเดียวได้ ไม่เห็นต้องมีใครคอยตาม ถนนเส้นนี้ ไม่ได้เปลี่ยวอะไรเลยมีคนผ่านไปมาตลอด แต่ว่าไม่จะพูดยังไงยายก็ไม่ยอม สุดท้าย ระยะเวลา หนึ่งปี ที่ไปเรียน ยายก็จะเดินตามไปส่งที่ปากทางเข้าหมู่บ้าน และไปนั่งรออยู่ที่บ้านภารโรง ของโรงเรียนที่อยู่ปากทางเข้าหมู่บ้าน จนกระทั่งดิฉันกลับมาในตอนเย็น
พออายุครบสิบห้าปี ก็มีความคิดอยากไปทำงานและหาที่เรียนในเมืองใหญ่ ก็ไปขออนุญาตพ่อแม่ แม่และยายไม่อนุญาตเหมือนเดิม ที่ได้ไปเพราะพ่ออนุญาต จากนั้น ก็ไปหางานที่สำนักจัดหางานอำเภอด่านซ้าย เค้าก็ส่งดิฉันและเพื่อนในหมู่บ้าน ไปทำงานที่โรงงานปลากระป๋อง ที่จังหวัดนครปฐม เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้ออกจากบ้านนอก เดินทางโดยรถทัวร์ไปลงที่หมอชิต มีเจ้าหน้าที่จากสำนักจัดหางานคอยดูแล และมีเจ้าหน้าที่จากโรงงานมาคอยรับ ที่ยังจำได้ติดตาคือ เจ้าหน้าที่คอยตะโกนบอกเราด้วยเสียงดังให้จับกลุ่มกันไว้ กลัวจะหลงทาง จนคนแถวนั้นหันมามองด้วยสายตา เวทนาสงสาร บางคนถามว่าเพื่งมากรุงเทพครั้งแรกเหรอ
จากนั้นเจ้าหน้าที่ของโรงงานก็รับไปส่งที่โรงงานให้พัก ร่วมกับพนักงานคนอื่นที่อยู่ก่อนแล้ว ห้องละแปด คน ไปทำงานวันแรกก็เป็นลมเพราะเหม็นปลาทููน่ามาก สภาพที่นี่ลำบาก อึดอัด มาวันแรกก็คิดถึงบ้านใจแทบขาด ยายไม่เคยปล่อยให้ลำบากเลย แต่ก็คิดได้ว่าเราไม่ได้มาเพื่อหาความสบายแต่มาเพื่อหาอนาคตที่ดีกว่า ชอบที่นี่เพราะได้ทำงานกะกลางคืน จะได้มีเวลาไปหาที่เรียนในตอนกลางวัน แต่ทำงานได้แค่เดือนเดียวโรงงานก็กิจการไม่ดี ต้องเลิกจ้างคนใหม่ เลยต้องไปหางานที่ใหม่ พอไปทำงานที่อื่น เป็นงานเข้ากะสามกะ เช้า บ่าย ดึก เวียนกันตลอด วันหยุดก็ไม่แน่นอน ทำให้เรียนไม่ได้ ก็ต้องไปหางานใหม่อีก และมีเงื่อนไขอีกอันคือ ความเป็นเด็กบ้านนอก ไปไหนต้องมีเพื่อนหมู่บ้านเดียวกันไปด้วย พอทำงานจะลงตัว จะได้ที่เรียน เพื่อนบอกว่าทนความลำบากไม่ไหวละ กลับบ้านดีกว่า เราก็ต้องตามเพื่อนกลับบ้านเพราะไม่กล้าอยู่คนเดียว เป็นอยู่แบบนี้หลายครั้ง จนครั้งสุดท้าย ก็กลับไปทำงานโรงงานปลากระป๋อง ที่ที่เคยทำที่แรก และได้ที่เรียน ม. ปลาย ครั้งนี้เพื่อนจะกลับบ้านอีก เลยตัดสินใจ ขอพ่อแม่ อยู่คนเดียว และเรียนต่อจนได้วุฒิ ม.ปลาย มาด้วยความเหนื่อยล้า ท้อใจ ไม่รู้จะเอาวุฒิไปใช้ทำอะไร ประกอบกับตอนนั้น คนที่ชอบพอกันอยู่ที่บ้านนอก เค้ารอเราไม่ไหวหนีไปแต่งงานเลยยิ่งท้อหนักเข้าไปอีก ตอนนั้นคิดว่าถ้าย้อนเวลาได้ จะไม่รงไม่เรียนมันแล้วกลับไปทำไร่ทำนาดีกว่า แต่คิดได้ก็สายเกินไป มาจนถึงขนาดนี้แล้ว ต้องเดินหน้าต่อไป แต่กลับบ้านนอกพักเอาแรงก่อน
พอหายเหนื่อย ก็พาแม่มาทำงานก่อสร้าง เหตุที่มาทำงานก่อสร้างเพราะมีที่พัก เราจะได้ไปหางานโรงงานทำ และหาที่เรียนต่อได้ ต่อมาก็ได้งานโรงงานแถวสมุทรปราการ เลยส่งแม่กลับบ้านนอก ตอนนั้นตั้งใจว่าจะเรียนรัฐศาสตร์ เพราะมีคนแนะนำว่าเป็นสาขาเดียวที่เด็กศนเรียนจบ แต่ก็ไม่ได้เรียนเพราะ โรงงานมีนโยบายไม่จ้างพนักงานประจำ ทำงานสี่เดือน เค้าก็ไม่จ้างต่อ แต่จ้างคนใหม่แทน โครงการเรียนเลยต้องพักไว้ก่อน ต่อมาได้งานใหม่ที่โรงงานเครื่องแฟกซ์แถวบางปะกง ตอนนี้คิดจะสมัครเรียนรามอีกครั้ง หลังจากศึกษาข้อมูล ก็เชื่อตัวเองว่าเราจะเรียนนิติศาสตร์ได้ดีกว่ารัฐศาสตร์ เลย สมัครเรียนนิติ สองปีแรกก็ยังทำงานด้วยเรียนด้วย แต่พอปีที่สาม ได้กู้เงินของ กยศ เลย เรียนอย่างเดียว ใช้เวลาเรียนราม สามปี จากนั้นก็ไปเรียน เนติฯ อีก หนึ่งปี จบ ช่วงที่เรียนเนติฯ ยังได้เงินกู้ของกยศอยู่เพราะเป็นช่วงคาบเกียวกัน พอจบเนติฯแล้วก็สอบบรรจุเข้ารับราชการได้ที่ ปปช. ทำงานอยุู่ปปช. เกือบ สี่ปี สอบผู้พิพากษาได้ในการสอบครั้ง ที่ ๒
ช่วงที่ ๒ มีแรงบันดาลใจอย่างไรในการต่อสู้ชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้
แรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุด คงเป็นครอบครัวค่ะ เพราะตั้งแต่เด็กเห็นพ่อแม่ทำงานหนักแต่รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เราจะคิดเสมอว่า อยากเรียนสูง ทำงานดีๆ เพื่อให้พ่อแม่สบาย และแรงบันดาลใจอีกอย่างคือ เป็นคนไม่ชอบใช้กำลังในการทำงาน คิดว่าตัวเองทำไร่ทำนาไม่ไหว และไม่ชอบ เลยต้องหาสิ่งที่เราชอบทำ เพื่อพิสูจน์ว่า เราก็มีดีเหมือนกันนะ
ถาม มีเคล็ดลับในการศึกษาวิชานิติศาสตร์ อย่างไร
ตอบ เคล็ดลับคือ ต้องฝึก มากๆ ฝึกเขียน ฝึกทำข้อสอบเก่า ปัญหาหลักของนักกฎหมายในตอนนี้ คือ เราเน้นอ่าน เน้นท่องจำกันมากเกินไปจน ทำให้ ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ที่มีออกไปได้
ถ้าเราได้ฝึกทำโน๊ตย่อ สรุปสาระสำคัญวิชากฎหมายให้เป็นภาษาของเราเอง ฝึกเขียนคำตอบข้อสอบเก่าบ่อยๆ จะทำให้ความคิดเราเป็นระบบ สามารถถ่ายทอดส่ิงที่รู้ให้คนอื่นเข้าใจได้ ดิฉันเขียน หลักการเรียนเหล่านี้ไว้ในเพจธรรมะกับกฎหมาย ถ้าใครสนใจก็เข้าไปติดตามอ่านได้นะคะ
อันนี้คือตัวอย่างหลักการเรียนที่เขียนในเพจ จะเล่าให้ฟังคร่าวๆนะคะ
หลักการเรียนกฎหมายที่แอดมินเขียนใว้ในบันทึกหรือnote ของเพจนี้ (ถ้าเปิดจากโทรศัพท์อาจมองไม่เห็นต้องเปิดจากคอมพิเตอร์หรือแทบเล็ต) เป็นหลักการเรียนเบื้องต้นที่สามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนได้ทุกระดับทุกสาขา
กระบวนการเรียนรู้ มีสองส่วน คือ ส่วนรับข้อมูล เช่น การอ่านและการฟัง ส่วนถ่ายทอดข้อมูล เช่น การพูดและการเขียน
ปัญหาหลักๆที่ทำให้ไม่เราไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนคือ
เราเน้น ส่วนใดหนึ่งมากเกินไปเพียงส่วนเดียว
เช่นบางคนเน้นส่วนรับข้อมูลคืออ่านและฟังมามาก พยายามที่จะจำให้ได้ทุกอย่าง แต่ข้อมูลในหัวเยอะมาก จึงไม่สามารถจำอะไรได้ เมื่อเรามุ่งแต่จะจำทำให้เราไม่สามารถคิดได้เอง เวลาเจอปัญหาใหม่ก็ทำอะไรไม่ถถูกเพราะไม่เคยเรียนรู้ที่จะคิด.
ในทางตรงข้ามบางคนก็เน้นที่จะถ่ายทอดข้อมูลอย่างเดียว คือพยายามคิด พยายามพูด พยายามเขียนแต่ไม่เคยสนใจจะฟังหรืออ่าน เช่น มาเรียนหนังสือก็ท่องตัวบทอย่างเดียว เพราะคิดว่าตัวบทสำคัญที่สุด พอจำตัวบทได้แล้วเราก็เอาไปปรับใช้ได้เลย แต่ไม่เคยสนใจว่าคนอื่นเค้าปรับใช้กฎหมายกันยังไง กฎหมายมีที่มามีแนวคิดยังไง มีตัวอย่างที่คนอื่นเคยเอากฎหมายแบบนี้ไปปรับใช้หรือเปล่า ที่เราคิดตรงกับที่คนอื่นคิดหรือเปล่า มีคนแบบเราหรือเปล่า แล้วผลของการคิดแบบนี้ มีข้อดีข้อเสียยังไง
คนที่คิดเป็นไม่ใช่คิดอะไรใหม่ขึ้นมาทั้งหมดในคราวเดียวกัน แต่คนที่คิดเป็นจะศึกษาหาข้อมูลอย่างรอบด้าน มองข้อดีและข้อเสียของส่ิงนั้น นำความคิดดีๆของคนอื่นมาคิดต่อ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องหรือปรับปรุงให้ดีย่ิงๆขึ้นไป.
ดังนั้นหลักการเรียนที่ถูกต้อง คือการที่เราทำให้กระบวนการเรียนรู้ในส่วน รับข้อมูลและถ่ายทอดข้อมูลมีความสมดุล
กล่าวคือจะเรียนอะไรก็ศึกษาหาข้อมูลก่อน ศึกษาสาระสำคัญของสิ่งนั้นจนเข้าใจละเอียดถี่ถ้วน และสามารถจดจำได้ จากนั่นก็ฝึกถ่ายทอดข้อมูลนั้น ด้วยการเน้นไปที่ประเด็นหลักเพียงประเด็นเดียว อธิบายเประเด็นที่เราต้องการนำเสนอ ด้วยการหาเหตุผลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุนความคิดเรา ตามด้วยการยกตัวอย่างที่มองเห็นภาพ หรือเป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง
ถ้าทำแบบนี้เป็นประจำ จะทำให้เราคิดเป็นระบบ สามารถถ่ายทอดความคิดของเราออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถโน้มน้าวให้คนอื่นคล้ายตามความเห็นของเรา
ยกตัวอย่างเช่น แอดมินเขียนบทความเร่ือง”กว่าจะเป็นผู้พิพากษา”. ถ้าแอดมินมาเล่าว่า แอดมินจบกศน ทำงานโรงงาน สอบผู้พิพากษาได้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ หลังเป็นผู้พิพากษาก็ประสบความสำเร็จเยอะแยะมากมาย ถ้าเขียนแค่นี้ ใครจะสนใจละ บางคนอาจจะคิดว่าเธอประสบความสำเร็จเธอก็เก่งไง แล้วมันเกี่ยวอะไรกับชีวิตฉันละ มีผู้พิพากษาคนอื่นที่เคยลำบากมาก่อนและประสบความสำเร็จอีกตั้งมากมาย. แล้วจะมาพูดไปทำไม ที่บทความเร่ืิิองนี้มีคนสนใจอ่านมากมาย เพราะแอดมินเขียนโดยการนำเสนอประเด็นที่ว่า ถ้าเรามีเป้าหมายชัดเจน หาวิธีการต่างเพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย ถ้าเราไม่ท้อซะก่อนวันหนึ่งมันต้องสำเร็จ และเอาเร่ืองราวในชีวิตจริงของตัวเองมาพิสูจน์ประเด็นนี้ เร่ืองราวที่เล่าตั้งแต่ต้นจนจบ แทรกข้อคิดให้คนอ่านกลับไปมองตัวเองตลอดเพราะเป็นเหตุการณ์ธรรมดา ที่เคยเกิดกับตัวเอง แต่ได้อีกมุมมองหนึ่งที่ต่างไป แอดมินศึกษาข้อมูลว่าคนอื่นคิดยังไง และแอดมินก็นำเสนอความคิดของตัวเอง เพื่อให้คนอ่านเปรียบเทียบว่าความคิดมีผลต่อชีวิตจริงๆ เช่น แอดมินเล่าว่าแอดมินทำงานโรงงาน มุมมองของคนส่วนใหญ่คือ มันเป็นงานหนัก ต่ำต้อย รายได้ต่ำ แอดมินก็คิดแบบนั้น แต่แอดมินไม่มีทางเลือกก็ต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัด ที่มี แอดมินก็นำเสนอมุมมองของตัวเอง ให้คนอ่านคิดตามว่า แม้จะเป็นงานที่ต่ำต้อย แต่งานทุกอย่างก็มีคุณค่าในตัวเอง มันสอนอะไรบางอย่างแก่เรา เช่นสอนให้เราอดทน มีจิตใจเข้มแข็ง สามารถฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆได้
หลักสำคัญของการถ่ายทอดข้อมูลคือ ส่ิงที่เราพูดส่ิงที่เราเขียนมีนมีประโยชน์ต่อคนอ่านคนฟังยังไง เค้าจะได้อะไรจากการที่ต้องมาเสียเวลาอ่านงานเขียนของเรา หรือฟังเราพูด
ถาม คติในการดำรงชีวิต และการทำงานคืออะไร
ตอบ ในช่วงต้นของชีวิต คิดว่าตัวเองเรียนอะไรก็ได้ทำงานอะไรก็ได้ขอให้มีเงินส่งเสียครอบครัวละกัน พอมาเรียนกฏหมายคิดว่าที่สุดของสายกฎหมายก็คือการเป็นผู้พิพากษา เป้าหมายก็ชัดเจนนับแต่นั้น จากนั้นศึกษาหาข้อมูล วางแผนหาวิธีการที่จะเดินไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ต่อมาก็สอบได้ตอนอายุยี่สิบเจ็ดปี พอสอบได้แล้วรู้สึกไม่รู้จะทำอะไรต่อเพราะส่ิงที่เราตั้งใจไว้มันสำเร็จแล้ว เคว้งคว้างไปสักพัก สิงที่ได้เรียนรู้จากการดำเนินชีวิตที่ผ่านมาอย้างหนึ่งก็คือ เราอยากได้อะไร เราจะได้สีิงนั้นถ้าเราต้องการมันจริงๆ เราก็จะมีใจหาวิธีการให้ได้มาจนได้ แต่ปัญหาคือ ที่เราอยากได้นั้น เป็นส่ิงที่เราต้องการจริงๆหรือไม่ และถ้าเราได้มันมาแล้วมันจะทำให้เรามีความสุขจริงๆอย่างที่คิดหรืิอเปล่า ตอนนี้ ค้นพบเป้าหมายใหม่ คือ ทำยังไงจะมีแนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องและมีความสุขจนสามารถส่งผ่านความสุขและแนวทางนั้นให้แก่ผู้อื่นได้ ตอนนี้กำลังศึกษาเส้นทางนี้อยู่ นับแต่ได้ศึกษาเส้นทางนี้รู้สึกว่าการได้ทำหน้าที่คนกลางยุติข้อพิพาทให้คนอื่น การได้ช่วยคนอื่นที่กำลังมีทุกข์ ได้แบ่งปันความรู้ความสุขที่มีให้แก่ผู้อื่น ทำให้ชีวิตมีค่ามีความหมายและมีความสุข คติในการดำรงชีวิตในตอนนี้คือ การใช้ชีวตให้สงบเย็นและเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นค่ะ
ถาม สิ่งที่อยากฝากถึงผู้รับฟังรายการ
ตอบ ที่เปิดเพจธรรมะกับกฎหมาย เพราะความสุขกับส่ิงที่ทำ ทำให้ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
การได้แก้ปัญหาให้คนอื่นทำให้เรามองเห็นทางออกสำหรับปัญหาของตัวเองด้วย
ทางข้างหน้าถึงมันจะลำบากแต่ถ้าเราไม่ท้อซะก่อน มองหาข้อดีของส่ิงที่เราเจอให้ได้
เราก็จะมีความสุขในทุกย่างก้าวและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสงบเย็นเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่นอยู่เสมอ เป็นกำลังใจให้ทุกคนเสมอค่ะ
ปล. เป็นสคริป คร่าวๆ ก่อนไปอัดรายการ เนื้อหาบางส่วนอาจไม่ตรงกับในเทป
เรื่อง จากสาวโรงงานสู่อาชีพผู้พิพากษา
ความยาว42.26 นาที
ลิงก์ที่ 2 http://www.boyr.com/getfile.php?id=1355260&key=5139d7f4098ab
ลิงค์เพิ่มเติมค่ะ http://www.one2up.com/view_content.php?content_ID=253140
เครดิต https://www.facebook.com/notes/ธรรมมะกับกฎหมาย