Home ทริบเทคนิค/บทความ การเตรียมตัวสอบผู้พิพากษา/กฎหมาย สำหรับคนทำงานแล้ว

การเตรียมตัวสอบผู้พิพากษา/กฎหมาย สำหรับคนทำงานแล้ว

4428

การเตรียมตัวสอบผู้พิพากษา/กฎหมาย สำหรับคนทำงานแล้ว

 

หลายคนบอกว่า การสอบผู้ช่วยแต่ละครั้ง ไม่พร้อมเลยทำข้อสอบไม่ค่อยได้ ตอบข้อสอบไม่ดี ทำข้อสอบไม่ทัน ทำงานแล้วไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือ ต้องอ่านหนังสืออะไร อ่านเยอะแค่ไหน ถึงจะสอบผ่าน อ่านจูริสอย่างเดียวจะมีโอกาสสอบผ่านมั้ย ถ้าเอาหัวจูริส มาท่อง จะทำให้สอบผ่านมั้ย จำเป็นต้องท่องตัวบทมั้ย

 

การที่เราทำงานแล้วน่าจะถือว่าเป็นข้อได้เปรียบนะ เพราะการทำงานทำให้เรามีประสบการณ์ มีโอกาสได้ใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ ทำให้มองภาพกฎหมายได้ง่ายขึ้น อีกอย่างเราก็ไม่ต้องมานั่งเครียดกับตัวเองว่าอายุป่านนี้แล้วยังต้องขอเงินพ่อแม่ถ้าสอบผู้ช่วยไม่ได้จะทำไง นอกจากนี้การทำงานยังช่วยให้เรารู้จักการบริหารจัดการเวลาอีกด้วย

 

ถ้าคราวนี้สอบไม่ผ่านเพราะไม่พร้อม เลยทำข้อสอบไม่ค่อยได้ ตอบข้อสอบไม่ดี ทำข้อสอบไม่ทัน ก็ไม่เห็นมีอะไรต้องเสียใจเลย เราก็เรียนรู้จากข้อผิดพลาด เก็บประสบการณ์การสอบครั้งนี้ไว้เป็นบทเรียนในการสอบครั้งต่อไป หาที่เงียบๆคุยกับตัวเองว่าเรามีจุดแข็ง จุดอ่อน เรื่องอะไร เช่น ข้อที่เราได้คะแนน น้อยเกิดจากเราไม่รู้เรื่องนั้นจริงๆ หรือเป็นเพราะตอบถูกธงแต่ให้เหตุผลไม่ดี วางแผนการอ่านหนังสือแต่เนิ่นๆ เอาสถิติการออกข้อสอบมาดูเลยว่า แต่ข้อสอบละข้อ ออกเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง จากนั้นก็อ่านให้เข้าใจหลักการสำคัญของเรื่อง นั้นๆ แล้วสรุปออกมาให้เป็นภาษาของเราเอง เวลาทบทวนก็อ่านจากเราย่อไว้ คุยกับตัวเอง ถามตัวเอง how and why เช่นทำไงจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ทะลุโปร่ง ทำไมข้อสอบออกมาแนวนี้ ทำไง เราจะตอบได้คะแนนดี เบื่อๆ ก็สลับไปทำข้อเก่า เป็นการฝึกสมองให้ปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายและการเอาฎีกาหลายๆ ฎีกา มาผูกเป็นคำถาม เวลาจะข้อสอบจริงจะทำให้คิดได้เร็วขึ้น ถ้าอ่านฎีกาในประเด็นเดียวกันหลายๆเรื่อง จะเห็นเลย ว่ามันจะมีแบบฟอร์มอยุ่ในนั้น เช่น เริ่มต้นด้วย การที่…นาย ก หยิบสร้อย นาย ข ไปขาย…..(ข้อเท็จจริง)………เป็นการ เอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต (วินิจฉัยข้อเท็จริงเข้ากับข้อกฎหมาย)การกระทำของนาย ก จึงเป็น (ฟันธง) การกระทำผิดฐานลักทรัพย์

วิธีการที่จะทำให้เราอ่านหนังสือได้เร็วคือ คิดเป็นภาพ และถามตัวเองว่า เรารู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านอยู่แล้วบ้าง แล้วในหนังสือเล่มนั้นมีอะไรใหม่ ถ้าไม่มีก็ผ่าน ถ้ามีก็ดูว่า น่าสนใจมั้ย ถ้าน่าสนใจ ก็ทำโน๊ตย่อไว้

ก่อนสอบก็สร้างแบบฟอร์มของตัวเองขึ้นมา คิดไว้เลยว่า จะตอบข้อสอบยังไง เช่น ถามเรื่องฟ้องซ้ำ ก็ เตรียมไว้เลยว่าหลักฟ้องซ้ำมีอะไรบ้าง จากนั้นก็ตอบคำถาม (ดูตัวอย่างจากธงคำตอบก็ได้) ก็เตรียมไว้ทุกเรื่องที่สำคัญๆ

เอาหลักให้แม่นๆก่อน ข้อยกเว้นค่อยว่ากันทีหลัง จากนั้นก็ท่องที่เราสรุปไว้เป็นภาษาของตัวเอง คุยกับตัวเองไปเรื่อยๆทำไมยังไง

 

การที่เราคุยกับตัวเอง ด้วยสติ ความรู้เนื้อ รู้ตัว จะทำให้เรามองตัวเองชัดเจนขึ้น รู้ว่าขณะนี้ปัญหาของเราคืออะไร และจะแก้ไขยังไง เพราะธรรมชาติของคนเรา สายตาเรามองทอดมองออกไปข้างนอก ทำให้ไม่เห็นตัวเองและสิ่งใกล้ตัว ถ้าจะมองตัวเองต้องส่องกระจก ดังนั้น เราต้องหมั่นถามตัวเองว่า เรารู้อะไรบ้างไม่รู้อะไรบ้าง เป้าหมายชีวิตเราคือ อะไร แล้วเราจะมีวิธีไปถึงจุดนั้นได้ยังไง คำถามที่ดีหนึ่งคำถาม ดีกว่าคำตอบร้อยคำตอบ ถ้าเราตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆ จิต เราก็จะหาคำตอบให้เราได้ ไม่งั้นเราก็มีชีวิตอยู่แบบไม่มีจุดหมายปลายทาง มีแต่ความทุกข์ใจหาทางออกให้กับชีวิตไม่ได้ หรือ ถ้ามีคนอื่นอยู่ด้วยเราก็คุยในใจสิ (inner voice ) แต่เราว่าวิธีที่ได้ผลคือ ปิดประตูห้องอยู่คนเดียวเงียบแล้วคุยกับตัวเองดังๆ หรือจะคุยกับหมากับแมวก็ได้

ทำงานแล้วไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือ ต้องอ่านหนังสืออะไร อ่านเยอะแค่ไหน ถึงจะสอบผ่าน อ่านจูริสอย่างเดียวจะมีโอกาสสอบผ่านมั้ย ถ้าเอาหัวจูริส มาท่อง จะทำให้สอบผ่านมั้ย จำเป็นต้องท่องตัวบทมั้ย

 

 

ถ้ามีเวลาอ่านหนังสือไม่มาก ก็ต้องเลือกหนังสือสักเล่ม มาเป็นหลักในการอ่าน คือ ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะอ่านหนังสือเล่มนั้นให้เข้าใจและจำหลักสำคัญของหนังสือเล่มนั้นให้ได้ทั้งหมด เช่น ถ้าเลือกจูริส เราก็ต้องเข้าใจ และจำสาระสำคัญในจูริสให้ได้ทั้งหมด การเอาหัวจูริสมาท่องก็เป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะหัวจูริส เค้าเอาหลักกฎหมายตามตัวบทหลายมาตรามาเรียบเรียงใหม่ให้ง่ายต่อการท่องจำ ห้วข้อต่อๆมาก็เป็นหลักกฎหมายจากฎีกา แต่ถ้าเราเอาหัวจูริสมาท่องอย่างเดียวเราก็จะอาจจะเอาไปใช้ไม่เป็น เพราะข้อสอบไม่ได้ถามว่าตรงๆว่า ฟ้องซ้อนมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง แต่ แต่งข้อเท็จจริงขึ้นมาถามเพื่อให้เราวินิจฉัยข้อกฎหมาย ให้เข้ากับข้อเท็จจริงตามคำถาม ดังนั้น ถ้าท่องหัวจูริสอย่างเดียว มันก็อาจจะรับประกันไม่ได้ ว่าเราทำข้อสอบถูกหรือเปล่า สิ่งที่จะช่วยให้เราวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามคำถามในข้อสอบได้ ก็คือฝึกทำข้อสอบเก่าบ่อยๆ

 

 

สรุป กรณีมีเวลาไม่มาก และเลือกจูริส มาเป็นหลักในการเตรียมตัวสอบ ควรทำดังนี้

 

ท่องพระคาถาชินบัญชรวันละเก้าจบ ไม่มีข้อต่อรอง ทำให้ได้ สำคัญมาก เหมือนต้องกินข้าวอาบน้ำ สวดเวลาไหนก็ได้ที่สะดวก กลางวันหรือกลางคืนก็ได้ นั่งรอรถเมล์อยู่ก็สวดได้ และไม่จำเป็นต้องสวดเวลาเดียวกันทุกวัน แต่ต้องสวดทุกวัน ปัจจุบันเราก็สวดทุกวันนะ ตื่นตีห้า มาสวดวันละ สามสิบนาที เริ่มต้นวันใหม่ด้วยความสดชื่น วันไหนไม่ได้สวดรู้สึกเหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง เวลาสวด ต้องบอกตัวเองว่าไม่ต้องรีบสวดให้จบ สวดไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็จบ เก้าเที่ยวก็สามสิบนาที ไม่เกินนั้น ไม่ต้องรีบไปไหน ถ้าเราสวดแบบอยากให้จบเร็วๆ จะไม่ได้อะไร มันจะเหมือนสวดตามแบบฟอร์ม ว่ามีคนบอกให้สวดก็สวด การสวดมนต์ที่ถูกต้อง ต้องสวดช้าๆ ให้สมองสั่งปากพูดทีละคำ ได้ยินเสียงที่ตัวเองพูดทุกคำ จะทำให้ได้สมาธิ

 

อาจมีคนสงสัยว่าทำไมต้องสวดพระคาถาชินบัญชรเก้าจบ มีผู้รู้บอกว่า การที่จิตจดจ่อ อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้เกิดสมาธิ ในระดับที่นำไปใช้ประโยชน์ได้  หากจิตเรามีสมาธิต่อเนื่อง เวลาอ่านหนังสือ ก็จะจำได้ คิดเป็น ไม่เหนื่อย ระยะเวลาการสวดพระคาถาชินบัญชร เก้าจบ จะเป็นเวลาที่จิตมีสมาธิในระดับที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

มีคนถามต่อว่า สวดพระคาถาอย่างอื่นได้มั้ย เช่น นะโม สามจบ อิติปิโสเท่าอายุ  การสวดมนต์ก็ดีทั้งนั้น แหละ สำหรับพระคาถาชินบัญชรเก้าจบนั้น ผู้เขียนสวดด้วยตนเองแล้วห็นว่าชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ประกอบกับเคยพบคนที่บอกว่า ความสำเร็จในการเรียนและการงานของเค้า มาจากการสวดพระคาถาชินบัญชรวันละเก้าจบ  มาแล้วหลายคน    ส่วนพระคาถาอื่น ก็ไม่รู้เหมือนกัน

 

1. เวลาอ่านหนังสือ ก็ ทำโน๊ตย่อไปด้วย (ย่อจากหัวจูริสก็ได้) (วิธีการอ่านหนังสือ ตามที่เขียนโน๊ตไว้ในหัวข้อ เทคนิคการอ่านหนังสือเร็ว)

2. ฝึกทำข้อสอบเก่า (วิธีทำตามที่เขียนโน๊ตไว้ในหัวข้อ เทคนิคการฝึกสมองจากข้อสอบเก่า) ทำโน๊ตย่อประเด็นข้อกฎหมายที่เคยออกข้อสอบ ไว้ด้วย

3. เขียนข้อสอบส่งมาให้เราช่วยดู เวลาเราคอมเม้นท์ ก็เอาไปสรุปเป็นโน๊ตย่อ รวบรวมไว้ในที่เดียวกัน

4. ช่วงใกล้สอบก็เอาโน๊ตย่อพวกนี้ มาดู มาท่อง มาคุยกับตัวเอง ติวให้เพื่อน ความรู้ยิ่งให้ยิ่งได้ เหมือน เทียนที่จุดต่อกันไปเรื่อยๆ ทำให้ความมืดหายไป เวลาคุยกับเพื่อนก็เหมือนเราได้ทบทวนความรู้ที่มี ถ้าเพื่อนไม่เข้าใจ และถามกลับ เราจะได้ไปหาความรู้เรื่องนั้นเพิ่มเติม ทำให้เราแตกฉานมากขึ้น

5. การท่องหัวจูริส หรือ ท่องโน๊ตที่เราย่อหลักฎหมายตามตัวบท ตามฎีกาไว้ ก็เหมือนการท่องการตัวบทที่สามารถนำไปเขียนตอบข้อสอบได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปท่องตัวบทแยกที่ละมาตราอีก ถ้าเขียนหลักกฎหมายได้เหมือนหัวจูริส ปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อหมายเป็น ก็คะแนนเต็มแล้วละ

 

ข้อควรจำ คือ 1. ท่องหลักกฎหมาย ตามตัวบท ตามฎีกา ให้แม่นๆ เพื่อเป็นพื้นฐานในการวินิจฉัยข้อสอบ (ความสามารถในการจำ)

2. จะวินิจฉัยข้อสอบเป็นก็ต่อเมื่อฝึกบ่อยๆ (ความเข้าใจ ความสามารถในการวิเคราะห์)

 

สองอย่างนี้ต้องประกอบกันจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

 

สรุปของสรุปอีกที  คือ ไม่ว่าจะศึกษาเรื่องอะไรต้องจำหลักสำคัญให้ได้และเอาไปใช้ให้เป็น   

 

อาจารย์ ที่ fast english ชอบพูดว่า พวกเธอนี่แปลกนะ เวลาถามกฎแกรมม่า อะไร ก็ตอบได้หมด แต่เวลาส่งwriting ไม่มีกฎพวกนี้อยู่เลย  ท่องมาแล้ว จำได้แล้ว อย่าลืม เอาไปใช้ด้วยสิ     แล้วพวกเธอคงตอบว่า ที่ท่องได้เป็นทฤษฎี แต่เวลาไปเขียนเป็นปฏิบัติ คนละส่วนกัน

 

ถ้าเทียบกับการเรียนกฎหมาย คงเหมือนเราท่องหลักกฎหมายได้ แต่ ตอนเขียนตอบข้อสอบ ไม่ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริง  แต่บางที มันก็ยากนะ การนำเอาทฤษฎี มาปรับใช้กับทางปฏิบัติได้แบบ ลงตัว ต้องอาศัยการฝึกฝน คนที่มีแนวโน้มทำได้คือ คนที่สอบผ่านมั้ง

 

 

 

 

 

ชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จก็จริง แต่ก็เปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่มีความเพียรเสมอ – พระไพศาล วิสาโล

เครดิตhttps://www.facebook.com/notes/ธรรมมะกับกฎหมาย

Facebook Comments