ผู้รับผลประโยชน์ตายก่อนผู้ทำประกันชีวิต มรดกเป็นของใคร
เป็นปัญหาที่ประชาชนทั่วไป พบเจอกันเยอะประเด็นว่าเงินประกันชีวิตจะตกเป็นของใครซึ่งสามารถพิจารณาได้จากคำพิพากษาศาลฎีกาดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2554
ป.พ.พ. มาตรา 4, 889, 1713
ผู้ตายทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัทประกันชีวิต โดยระบุภริยาเป็นผู้รับประโยชน์ ปรากฎว่าภริยาผู้ตายถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย บริษัทประกันชีวิตสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินระบุชื่อภริยาผู้ตายเป็นผู้รับเงิน ดังนี้ เงินตามสัญญาประกันชีวิตมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายจึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย ส่วนภริยาผู้ตายซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยก็ถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิต สิทธิของภริยาผู้ตายที่จะได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยยังไม่เกิดขึ้น เงินตามตั๋วแลกเงินจึงไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของภริยาผู้ตาย
แม้เงินตามตั๋วแลกเงินจะมิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตายแต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดกเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับแก่เงินตามสัญญาประกันชีวิต เงินตามตั๋วแลกเงินจึงควรตกแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก
________________________________
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอ ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 บัญญัติว่า “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง” ดังนี้ เงินตามสัญญาประกันชีวิตจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายและไม่ใช่มรดกของผู้ตาย ส่วนนางหนิงซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยก็ปรากฏว่าได้ถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ย่อมไม่มีตัวผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิต เมื่อสิทธิของนางหนิงที่จะได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยยังไม่เกิดขึ้น เงินตามตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย ร.8 จึงไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของนางหนิง มีปัญหาว่าเงินตามตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย ร.8 จะพึงจ่ายให้แก่ผู้ใด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 บัญญัติว่า “กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นๆ เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป” ฉะนั้น แม้เงินตามตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย ร.8 จะมิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตายดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดก เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับแก่เงินตามสัญญาประกันชีวิตรายนี้ เงินตามตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย ร.8 จึงควรตกแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกและต้องถือว่ามีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย กรณีจึงมีเหตุที่ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 เมื่อผู้ร้องมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามกฎหมายในการเป็นผู้จัดการมรดก จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ตั้งนายสายันต์ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนายลำพันผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
( สมยศ เข็มทอง – สิริรัตน์ จันทรา – ธนฤกษ์ นิติเศรณี )
ศาลจังหวัดอุดรธานี – นายวัฒนา พานนนท์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 – นางศรีวิไล ธรรมดุษฎี