หลักการตอบข้อสอบ วิอาญาของผู้สอบผ่านผู้ช่วยฯ
หลายท่านคงสงสัยว่าเหตุใดจึงสอบไม่ผ่านหรือสอบผ่านแต่ได้คะแนนน้อยเรามาดูกันครับ
๑. ก่อนตอบข้อสอบวิอาญาให้นึกถึงหลักการกว้างๆของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่า เป็นการดำเนินคดีโดยรัฐ เพื่อนำตัวผู้กระทำมาลงโทษ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง การดำเนินคดีอาญาส่วนใหญ่เป็นการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน และฟ้องคดีโดยพนักงานอัยการ ราษฎรทั่วไป จะเป็นโจทก์ฟ้องในคดีอาญาได้ต่อเมื่อ เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น กรณีราษฎรเป็นโจทก์ฟ้อง ศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนเสมอ แตกต่างจากการฟ้องของพนักงานอัยการซึ่งกฎหมายให้ศาลมีดุลพินิจรับฟ้องของพนักงานอัยการได้โดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง ทั้งนี้เนื่องจากการฟ้องคดีของอัยการเป็นการดำเนินคดีโดยรัฐ ซึ่งพนักงานอัยการจะมีอำนาจฟ้องต่อเมื่อคดีนั้นมีการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมาย จะเห็นได้ว่าคู่ความตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นไม่เท่าเทียมกัน โดยคดีอาญาส่วนใหญ่โจทก์จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีอำนาจหน้าที่รักษากฎหมาย ส่วนจำเลยเป็น ราษฎรธรรมดาที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ดังนั้น กฎหมายจึงกำหนดให้ศาลเป็นองค์กรกลางที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลย พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน หลายประการ เช่น กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำผิด ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานเข้าสืบก่อน เสมอ .ในการพิพากาษาคดีศาลต้องใช้ดุลพินิจ วินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” ห้ามมิให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยเกินคำขอของโจทก์หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ในชั้นอุทธรณ์ก็ห้ามพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยเว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ทำนองนั้น
๒. กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีการแก้ไขค่อนข้างบ่อย เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ใช้ในการการดำเนินกระบวนพิจารณาต่างๆในศาล จึงต้องแก้ไขเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน ข้อสอบวิอาญา ในหลายสนาม จึงมีการนำฎีกาใหม่ๆ หรือหลักกฎหมายที่แก้ไขใหม่มาออกข้อสอบ
๓. หลักการตอบข้อสอบวิอาญา ก็คือเขียนในลักษณะเดียวกับธงคำตอบข้อสอบเก่า อย่าไปคิดว่าธงคำตอบเขียนสั้นเกินไปจะทำให้คะแนนไม่ดี ธงคำตอบเป็นการเขียนที่สละสลวย สั้น กระชับ ได้ใจความ ถ้าเขียนได้อย่างธงคำตอบก็คะแนนเต็ม การเขียนตอบข้อสอบที่ดี ไม่จำเป็นต้องเขียนเยอะ แต่ต้องตอบคำถามให้ตรงประเด็น ใช้ภาษากฎหมาย มีเหตุผลสนับสนุนจึงจะได้คะแนนดี
๔. หลักการเขียนตอบข้อสอบวิอาญา ก็เหมือนหลักการเขียนทั่วไป คือ มีการขึ้นต้นด้วยประเด็นหลัก มีเหตุผล รายละเอียดมาสนับสนุนประเด็นหลักที่เราขึ้นต้นไว้ และสรุปจบด้วยการตอบคำถามตามประเด็น เทคนิค คือ “ต้นตื่นเต้น กลางกลมกลืน จบจับใจ” แปลความได้ว่า หนึ่งย่อหน้า ต้องมีหนึ่งประเด็นหลักที่ชัดเจนให้คนอ่านเห็นภาพชัดๆ ตามด้วยเหตุผลต่างๆที่สนับสนุนประเด็นหลักข้างต้น เพื่อให้คำพูดเรามีน้ำหนัก และสรุปจบเพื่อย้ำให้คนอ่านรู้ว่า สรุปแล้ว เรามีความเห็นไปทางไหน
ตัวอย่าง
นางเช้า สงสัยว่าสามีของตนติดพันหญิงอื่น จึงนำเรื่องไปปรึกษานายสาย ซึ่งเป็นคนรู้จักกัน นายสาย ยืนยันว่า สามีของนางเช้ามีความสัมพันธ์กับนางบ่ายซึ่งมีสามีเป็นคนญี่ปุ่น สามีของนางบ่ายเป็นผู้ค้ายาเสพติดให้โทษรายใหญ่ เจ้าพนักงานตำรวจกำลังสืบหาที่อยู่ของนางบ่ายเพื่อยึดทรัพย์สิน และจะตรวจยึดทรัพย์สินของนางเช้าด้วย นางเช้าต้องนำเงินไปให้พันตำรวจตรีเย็นเพื่อนของนายสาย เพื่อฆ่าสามี นางบ่าย โดยต้องจ่ายเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ผ่านนายสายให้แก่พันตำรวจตรีเย็น เพื่อช่วยเหลือสามีนางเช้าให้ออกจากกระบวนการค้ายาเสพติด นางเช้าหลงเชื่อ จึงมอบเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่นายสาย ความจริงไม่มีข้อเท็จจริงตามที่นายสายอ้างเกิดขึ้นเลย แต่นายสายต้องการหลอกลวงนางเช้าตั้งแต่ต้น นางเช้าจึงไปต่อว่านายสายและทวงเงินคืน นอกจากนายสายจะไม่ยอมคืนเงินแล้ว ยังใช้ศอกตีถูกหน้านางเช้า จนได้รับบาดเจ็บ วันรุ่งขึ้นนางเช้าไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและจับนายสายได้ ในเดือนถัดมา และส่งให้พนักงานอัยการฟ้องนายสายเป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ ขอให้ลงโทษในความผิดฐานฉ้อโกงและทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา๓๔๑ ,๒๙๕,๙๑ และให้คืนเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท แก่นางเช้า จำเลยให้การปฏิเสธ และต่อสู้ด้วยว่านางเช้าไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง ก่อนเริ่มสืบพยานนางเช้ายื่นคำร้องต่อศาลในคดีเดียวกัน ขอให้จำเลยคืนเงินที่ฉ้อโกงจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท และ ชดใช้ค่าเสียหายต่อร่างกายจำนวน ๒,๐๐๐ บาท ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอ ของนางเช้าไว้พิจารณา เมื่อสืบพยานเสร็จข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องและนางเช้าร้องขอ
ให้วินิจฉัยว่า (ก) คำสั่งของศาลจังหวัดเชียงรายที่รับคำร้องขอของนางเช้าไว้พิจารณา ชอบด้วยกฎหมาหรือไม่ (ข) ศาลจังหวัดเชียงรายจะพิพากษาลงโทษ จำเลยตามฟ้องและสั่งให้จำเลยคืนเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมชดใช้ค่าเสียหาย ๒,๐๐๐ บาท แก่นางเช้าได้หรือไม่
วิเคราะห์ คำถามนี้ (ก) ถามหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ โดยไม่มีฎีกา
มาตรา 44/1 ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทด แทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยให้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการสืบพยานให้ยื่น คำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้อง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่งและผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวต้องแสดงรายละเอียดตามสมควรเกี่ยวกับความเสียหาย และจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง หากศาลเห็นว่าคำร้องนั้นยังขาด สาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ร้อง แก้ไขคำร้องให้ชัดเจนก็ได้
คำร้องตามวรรคหนึ่ง จะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอัน เนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดขืนหรือแย้ง กับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ และในกรณีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการตามความใน มาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์อีกไม่ได้
ส่วน (ข) ถามเรื่องผู้เสียหายโดยนิตินัย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2(4) ให้คำนิยามว่า “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดั่งที่ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 4,5และ6
และคำพิพากษาฎีกาที่ 4212 /2550 ส.และสามี มิได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ และทางราชการมิได้ยึดทรัพย์สินของ ส.การที่ ส.มอบเงิน 305,000 บาท แก่จำเลยสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงของจำเลยด้วยข้อความอันเป็นเท็จ มิใช่ส.หรือสามี กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษแล้ว ส. มอบเงินแก่จำเลยเพื่อให้สินบนแก่เจ้าพนักงานเพื่อให้ ส. หรือสามีพ้นจากความผิด จึงถือไม่ได้ว่า ส. ได้ร่วมกับจำเลยนำสินบนไปให้แก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ส.ย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงได้
ข้อสังเกต
ข้อสอบข้อนี้ อ่านแล้วชวนให้อยากวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ต้องจำไว้ว่าคำถามข้อนี้ถาม วิอาญา ก็ต้องพยายามตอบให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมายวิธีสบัญญัติ (วิอาญา) ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องวินิจฉัยกฎหมายสารบัญญัติ (อาญา) จากนั้นก็ไล่ดูคำถาม ตอนท้ายทีละข้อ
ข้อ ก. ถามว่า (ก) คำสั่งของศาลจังหวัดเชียงรายที่รับคำร้องขอของนางเช้าไว้พิจารณา ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เราก็ต้องมานึก ว่าถ้าเราเป็นศาล จะสั่งยังไง มีหลักกฎหมาย อะไรเกี่ยวข้องบ้าง ข้อนี้ เค้าถาม ความเข้าใจ เกี่ยวกับ การยื่นคำร้อง ต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้ชดใช้ค่าสินไหม ทดแทน ตาม ปวิอ. มาตรา ๔๔/๑ ก็ต้อง ไปพูดถึงหลักเกณฑ์เรื่องนั้น ก่อน จากนั้น ก็วินิจฉัยคำร้องในส่วนคดีทำร้ายร่างกายและฉ้อโกง ตามลำดับ โดยยังไม่ต้องวินิจฉัยเรื่อง ผู้เสียหายโดยนิตินัย เก็บไว้วินิจฉัยในข้อ ข ในกรณีที่เราตอบผิดจะได้ไม่เสียคะแนนส่วนแรก ประกอบกับ ให้นึกถึง เวลา มีคดีในศาล ขั้นตอน ยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อยู่ก่อนการสืบพยาน ศาลยังไม่ได้สืบพยาน ข้อเท็จจริงก็ยังไม่ยุติ และศาลยังไม่ได้ ตัดสินว่าเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ การรับคำร้อง ก็ดูเพียงว่า เข้าหลักเกณฑ์ตาม ปวอ. มาตรา ๔๔/๑ หรือไม่เท่านั้น ถ้าสังเกตจะเห็นว่า ในคำถามตอนเกือบท้าย จะมีว่าเมื่อสืบพยานเสร็จข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องและนางเช้าร้องขอ แสดงว่าก่อนหน้านั้นข้อเท็จจริง ยังไม่ยุติ ตามฟ้อง
ข้อ ก ข้อเท็จจริงตามคำถามที่ต้องนำมาสรุปคือ “นางเช้า สงสัยว่าสามีของตนติดพันหญิงอื่น จึงนำเรื่องไปปรึกษานายสาย ซึ่งเป็นคนรู้จักกัน นายสาย ยืนยันว่า สามีของนางเช้ามีความสัมพันธ์กับนางบ่ายซึ่งมีสามีเป็นคนญี่ปุ่น สามีของนางบ่ายเป็นผู้ค้ายาเสพติดให้โทษรายใหญ่ เจ้าพนักงานตำรวจกำลังสืบหาที่อยู่ของนางบ่ายเพื่อยึดทรัพย์สิน และจะตรวจยึดทรัพย์สินของนางเช้าด้วย นางเช้าต้องนำเงินไปให้พันตำรวจตรีเย็นเพื่อนของนายสาย เพื่อฆ่าสามี นางบ่าย โดยต้องจ่ายเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ผ่านนายสายให้แก่พันตำรวจตรีเย็น เพื่อช่วยเหลือสามีนางเช้าให้ออกจากกระบวนการค้ายาเสพติด นางเช้าหลงเชื่อ จึงมอบเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่นายสาย ความจริงไม่มีข้อเท็จจริงตามที่นายสายอ้างเกิดขึ้นเลย แต่นายสายต้องการหลอกลวงนางเช้าตั้งแต่ต้น นางเช้าจึงไปต่อว่านายสายและทวงเงินคืน นอกจากนายสายจะไม่ยอมคืนเงินแล้ว ยังใช้ศอกตีถูกหน้านางเช้า จนได้รับบาดเจ็บ วันรุ่งขึ้นนางเช้าไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและจับนายสายได้ ในเดือนถัดมา และส่งให้พนักงานอัยการฟ้องนายสายเป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ ขอให้ลงโทษในความผิดฐานฉ้อโกงและทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา๓๔๑ ,๒๙๕,๙๑ และให้คืนเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท แก่นางเช้า จำเลยให้การปฏิเสธ และต่อสู้ด้วยว่านางเช้าไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง ก่อนเริ่มสืบพยานนางเช้ายื่นคำร้องต่อศาลในคดีเดียวกัน ขอให้จำเลยคืนเงินที่ฉ้อโกงจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท และ ชดใช้ค่าเสียหายต่อร่างกายจำนวน ๒,๐๐๐ บาท ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอ ของนางเช้าไว้พิจารณา” ในประเด็นนี้เราจะวินิจฉัยว่าการยื่นคำร้องของนางเช้าเป็นไปตาม ปวิอ. มาตรา ๔๔/๑ หรือไม่ เราก็สรุปข้อเท็จจริงว่า การที่นางเช้าซึ่งเป็นผู้เสียหายในข้อหาทำร้ายร่างกาย ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเชียงราย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ๒,๐๐๐ บาท ที่ตนถูกจำเลยทำร้ายร่างกาย ในคดีที่พนักงานงานอัยการเป็นโจทก์ ก่อนสืบพยานนั้น จากนั้น ปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายว่า เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ปวิอ. มาตรา ๔๔/๑ ซึ่งวางหลักว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน เพราะเหตุที่จะได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ แต่ต้องยื่นคำร้องก่อนสืบพยาน หรือก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีกรณีไม่มีการสืบพยาน จากนั้นสรุปตอบคำถามในประเด็นแรกว่า การที่ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่ง รับคำร้อง ของผู้เสียหายที่ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ๒,๐๐๐ บาท ไว้พิจารณา จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ในข้อ ก นี้ ยังมีประเด็นย่อยอีกหนึ่งประเด็นคือ กรณี ขอให้คืนเงินที่ฉ้อโกง ๓๐๐,๐๐๐ บาท ประเด็นนี้ก็สรุปข้อเท็จจริงว่า ส่วนคำร้องขอ ที่ให้จำเลยคืนเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย จากนั้นก็วินิจฉัยว่า ตามปวิอ. มาตรา ๔๔/๑ วรรคสาม ตอนท้ายวางหลักไว้ว่าหากพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้คืนหรือใช้ราคา ทรัพย์ แก่ผู้เสียหายตามมาตรา ๔๓ แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สิน นั้นอีกไม่ได้ ดังนั้น เมื่อพนักงานอัยการ ได้ขอให้ตำเลยคืนเงินที่ฉ้อโกงจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท แล้ว นางเช้าผู้เสียหาย ย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยคืนเงินส่วนนี้อีก คงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อร่างกาย จำนวน ๒,๐๐๐ บาท ตามปวิอ. มาตรา ๔๔/๑ วรรคหนึ่ง แล้วสรุปตอบคำถามว่า การที่ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่ง รับคำร้อง ของผู้เสียหายที่ขอให้จำเลยคืนเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ไว้พิจารณาด้วย จึงไม่ชอบ
ข้อ ข สรุปข้อเท็จจริงว่า “ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางเช้า.และสามี มิได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ และทางราชการมิได้ยึดทรัพย์สินของนางเช้า วินิจฉัยข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายว่า การที่ นางเช้า.มอบเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลยสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงของจำเลยด้วยข้อความอันเป็นเท็จ มิใช่ นางเช้าหรือสามี กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษแล้ว นางเช้ามอบเงินแก่จำเลยเพื่อให้สินบนแก่เจ้าพนักงานเพื่อให้ นางเช้า หรือสามีพ้นจากความผิด จึงถือไม่ได้ว่า นางเช้าได้ร่วมกับจำเลยนำสินบนไปให้แก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ นางเช้า .ย่อมเป็นผู้เสียหายตาม ปวิอ. มาตรา ๒ (๔) มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๒๑๒/๒๕๕๐) สรุปตอบคำถามว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องและผู้เสียหายร้องขอ ศาลจังหวัดเชียงรายชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง และสั่งให้จำเลยคืนเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมชดใช้ค่าเสียหาย ๒,๐๐๐ บาท แก่นางเช้าผู้เสียหาย
ธงคำตอบ
ธงคำตอบ (ก) ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน เพราะเหตุที่จะได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ ตามปวิอ. มาตรา ๔๔/๑ วรรคหนึ่ง แต่ต้องยื่นคำร้องก่อนสืบพยาน หรือก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีกรณีไม่มีการสืบพยาน ตามมาตรา ๔๔/๑ วรรคสอง นางเช้าซึ่งเป็นผู้เสียหายในข้อหาทำร้ายร่างกาย จึงมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเชียงราย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ๒,๐๐๐ บาท ที่ตนถูกจำเลยทำร้ายร่างกายได้ การที่ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่ง รับคำร้อง ของผู้เสียหายที่ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ๒,๐๐๐ บาท ไว้พิจารณา จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนคำร้องขอ ที่ให้จำเลยคืนเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย นั้น ตามปวิอ. มาตรา ๔๔/๑ วรรคสาม ตอนท้ายวางหลักไว้ว่าหากพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้คืนหรือใช้ราคา ทรัพย์ แก่ผู้เสียหายตามมาตรา ๔๓ แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สิน นั้นอีกไม่ได้ ดังนั้น เมื่อพนักงานอัยการ ได้ขอให้ตำเลยคืนเงินที่ฉ้อโกงจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท แล้ว นางเช้าผู้เสียหาย ย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยคืนเงินส่วนนี้อีก คงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อร่างกาย จำนวน ๒,๐๐๐ บาท ตามปวิอ. มาตรา ๔๔/๑ วรรคหนึ่ง การที่ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่ง รับคำร้อง ของผู้เสียหายที่ขอให้จำเลยคืนเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ไว้พิจารณาด้วย จึงไม่ชอบ
(ข) เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางเช้า.และสามี มิได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ และทางราชการมิได้ยึดทรัพย์สินของ นางเช้า การที่ นางเช้า.มอบเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลยสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงของจำเลยด้วยข้อความอันเป็นเท็จ มิใช่ นางเช้าหรือสามี กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษแล้ว นางเช้ามอบเงินแก่จำเลยเพื่อให้สินบนแก่เจ้าพนักงานเพื่อให้ นางเช้า หรือสามีพ้นจากความผิด จึงถือไม่ได้ว่า นางเช้าได้ร่วมกับจำเลยนำสินบนไปให้แก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ นางเช้า .ย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๒๑๒/๒๕๕๐) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องและผู้เสียหายร้องขอ ศาลจังหวัดเชียงรายชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง และสั่งให้จำเลยคืนเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมชดใช้ค่าเสียหาย ๒,๐๐๐ บาท แก่นางเช้าผู้เสียหาย
ที่มา ข้อสอบผู้ช่วย วิชา วิแพ่ง วิอาญา ปี ๕๓