เทคนิคการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา จากการทำข้อสอบเก่า
หลายคนๆ บอกว่า ก็อยากฝึกเขียนข้อสอบเก่า นะ แต่รู้สึกว่ายังอ่านหนังสือมาไม่พอ และไม่พร้อมที่จะฝึก ไม่รู้จะเริ่มยังไง ได้แต่บอกตัวเองว่า อ่านหนังสือเพิ่มอีกสักนิดก็แล้วกัน แล้วค่อยฝึก สุดท้ายก็ถึงวันสอบพอดี เลยไม่ได้ฝึกทำข้อสอบ หรือฝึกได้แค่นิดเดียว หรือแค่อ่านคำถาม และธงคำตอบ
เวลาเราอ่านคำถามเสร็จและไปดูธงคำตอบเลย เราจะรู้สึกว่า คำถามถามไม่ยากและเป็นเรื่องที่เรารู้อยู่แล้ว ถ้าใครเคยผ่านสนามสอบมาแล้ว เมื่ออ่านคำถามในห้องสอบ จะรู้สึกว่า ข้อสอบ ยาก และไม่รู้จะตอบไปในทิศทางใด แต่พอได้อ่านธงคำตอบที่เฉลยในภายหลังจะรู้สึกว่า อ้าว ถามแค่นี้เองเหรอ เรื่องนี้จริงๆก็เคยอ่านมาแล้ว ทำไมอยู่ในห้องสอบคิดไม่ออก
บางคนอาจคิดว่า การอ่านข้อสอบเก่าคงไม่ได้อะไรมากเท่าไหร่ เพราะข้อสอบคงไม่ออกซ้ำ ถ้าเราจะอ่านข้อสอบเก่าเพื่อจำว่า ข้อสอบเก่าเคยออกอะไรไปแล้วบ้าง ก็คงมีประโยชน์อยู่บ้าง เพราะฎีกาดังๆก็เคยเอามาออกข้อสอบทุกสนาม หรือแม้จะไม่ออกซ้ำฎีกาเดิม ก็มีการออกซ้ำในหลักกฎหมาย ตามแนวฎีกาที่เคยออกไปแล้ว หรือบางทีก็ไม่ออกซ้ำทั้งข้อ แต่มีการนำบางประเด็นในข้อสอบเก่า มาเป็นส่วนหนึ่ง ของข้อสอบใหม่
แต่ถ้าเราฝึกทำข้อสอบเพื่อเป็นการฝึกฝนการวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้เข้ากับหลักกฎหมาย จะได้ประโยชน์สูงสุด เพราะข้อสอบเก่า เป็นการแยก เอา ข้อเท็จจริง จาก ฎีกาหลายๆ เรื่อง มาผูกกันเป็นเรื่องราวและตั้งเป็นคำถาม ส่วนธงคำตอบ ก็เป็นการแยกเอาการวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้เข้ากับหลักกฎหมาย ตามแนวฎีกาหลายๆ เรื่องตามคำถาม จะทำให้เรามองเห็นภาพเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดก่อน มีการนำ ข้อเท็จมาปรับกับหลักกฎหมาย ลำพังเราอ่าน ฎีกา หรือหนังสือ นั้น ส่วนใหญ่ มักเป็นการ นำข้อกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงแล้ว (คล้ายๆ กับเรารู้ว่านี่แหละคือคำตอบ แต่ไม่รู้ว่าคำถามคืออะไร) อีกทั้ง ฎีกาแต่ละเรื่องนั้น มีการวินิจฉัยตามประเด็นที่คู่ความโต้แย้งเท่านั้น การอ่านฎีกาแยกแต่ละเรื่อง ก็อาจทำให้มองไม่เห็นภาพหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ถ้าเราฝึก ทำข้อสอบเก่าบ่อย ๆ จะเป็นการฝึกสมองเรา ให้คิดเป็นระบบ ว่าเวลามีข้อเท็จจริงแบบนี้เกิดขึ้น จะนำหลักกฎหมายอะไรมาปรับใช้ ทำให้สามารถมองภาพรวมของกฎหมายได้ทั้งระบบ เป็นการฝึกการคิด การวิเคราะห์ ไม่ใช่จำอย่างเดียว เวลาเราไปอ่านหนังสือ หรือฎีกา จะทำให้ภาพในสมองเราชัดเจนขึ้น รู้ว่าข้อกฎหมายแบบนี้ สามารถนำไปออกข้อสอบได้ในลักษณะไหน ถ้าเรามีเหตุผล มีหลักกฎหมาย ไม่ว่าจะวินิจฉัยไปในทางใดแม้ไม่ตรงธง ก็มีคะแนน
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ กรณีที่เราตอบคำถามตามข้อสอบเก่าไม่ได้ มันจะกระตุ้นให้เราอยากหาคำตอบในหนังสือ เมื่อไปอ่านหนังสือเจอประเด็นที่เคยเป็นข้อสอบเก่า จะทำให้เรามีความเข้าใจในเรื่องนั้นมากขึ้น มาถึงตรงนี้ หลายคน อาจบอกว่า ก็ดีนะ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง อยู่ดีนั้น แหละ
มีข้อแนะนำในการเริ่มดังนี้
1. แรกๆ ก็ อ่านข้อสอบเก่า ไปก่อน หัดสังเกตุโครงสร้างการตอบข้อสอบ ตามข้อแนะนำที่เขียนโน๊ตไปก่อนหน้านี้ (วิเคราะห์การตอบข้อสอบแพ่งข้อ 1 ,หลักการตอบข้อสอบอาญา)
2. ถ้าอ่าน เบื่อๆ แล้ว ก็ นั่งลอกธงคำตอบ ใส่สมุดเล่นๆ แก้เซ็ง หรือ อ่านออกเสียงดังๆ หรือ เล่าให้เพื่อนหรือ หมา แมวฟัง
3. หรือ อ่านคำถามก่อน ปิดธงคำตอบไว้ จากนั้น ก็ เขียนโน๊ตสั้นๆ (นึกในใจก็ได้) ว่าผิด มาตราอะไร เพราะอะไร มีกี่ประเด็น แล้วก็เปิดดูคำตอบ
4. อ่านคำถาม อ่าน ธงคำตอบ เปิดหนังสือ ดูหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จากนั้น ก็ จำๆ ปิดหนังสือ แล้วก็เขียนลงสมุด ดูสิว่า กรณีที่รู้ธงคำตอบทุกอย่างแล้ว อ่านหนังสือมาแม่นๆแล้ว จะเขียนได้ดีแค่ไหน จากนั้นก็ส่ง เมล์ มาที่ เพจนี้นะ lawofmindfulness@gmail.com เราจะตรวจให้ คนเราจะชอบทำผิดซ้ำๆ ถ้าเรารู้ตัวว่ามีข้อบกพร่องตรงไหน แก้ไขนิดเดียวก็ใช้ได้แล้ว ปล. ส่งคำถามพร้อมธงคำตอบตามข้อสอบเก่ามาด้วยนะ เราไม่ตรวจวิชาความรู้ ตรวจเฉพาะเรื่องการเขียนให้ได้คะแนนดีอย่างเดียว
5. กรณีที่ทำตามข้อหนึ่งถึงข้อ 4 มาจนคล่องแล้ว ทีนี้ก็ดูคำถาม ปิดธงคำตอบไว้ เขียนลงสมุด ตรวจดู เทียบกับธงคำตอบ
6. จดข้อกฎหมายสำคัญ ที่เคยออกข้อสอบ แยกเป็นหมวดหมู่ เรียงตาม เรื่อง ตามข้อ ที่เคยออกข้อสอบ เอ่าไว้ทบทวนช่วงใกล้สอบ
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ก็ทำสลับกันไปเรื่อย ๆ แล้วแต่อารมณ์ ว่าอยากทำแบบไหน ไม่มีใครบอกได้นอกจากตัวเราเอง แต่ควรฝึกบ่อยๆ เท่าที่จะทำได้ วันละ ห้านาที สิบนาที แต่ต้องต่อเนื่องๆ ไปเรื่อย ๆ บอกตัวเองว่า เหมือนเราต้องกินข้าวอาบน้ำทุกวัน เราควรมีเวลา สวดพระคาถาชินบัญชรวันละเก้าจบใช้เวลา สามสิบนาที ฝึกทำข้อสอบเก่าวันข้อ ใช้เวลา ยี่สิบนาที
ความเพียร คือการทำทีละนิดๆ แต่ทำอย่างต่อเนื่อง คนที่มีความเพียรต้องค่อยๆ เพิ่มปริมาณไปเรื่อยๆ ลอง สังเกตแมงมุมถักใย มันไต่ขึ้นไปแล้วก็ตกลงมา นับครั้งไม่ถ้วน มันไม่เคยเลิกละเลย มันพากเพียรทำอยู่อย่างนั้น กี่วันกี่คืน มันค่อยๆทำ จนเป็นใยที่สวยงาม นั่นคือความเพียรที่ถูกต้อง. ”
เครดิตhttps://www.facebook.com/pages/ธรรมมะกับกฎหมาย