ข้อเท็จจริงและประเด็นคำถาม:
ข้อเท็จจริง
สามีดิฉันเป็นผู้ค้ำประกันกู้เงินซื้อบ้านน้องชายแต่ต้อนนี้น้องชายเขาไม่ผ่อนจึงฟ้องผู้ค้ำคือสามีของดิฉันตอนนี้ทุพพลภาพตามกฎหมายดิฉันต้องรับผิด ชอบแทนหรือไม่หรือไม่เพราะจดทะเบียนสมรสกันและทรัพย์สินที่เป็นชื่อของดิฉัน จะต้องถูกยึดหรือไม่
ประเด็นคำถาม
1. หนี้ร่วมระหว่างสามีภรรยามีลักษณะอย่างไร
2. กรณีข้างต้น การเป็นผู้ค้ำประกันของสามีจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร
ความเห็นและข้อเสนอแนะ:
การที่สามีภริยาที่จดทะเบียนสมรสกัน เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปก่อหนี้โดยหลักแล้วย่อมไม่ผูกพันคู่สมรสอีกฝ่าย เว้นแต่หนี้ที่ก่อนั้นเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ มาตรา 1490 คือ หนี้ที่เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ, หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส, หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน และหนี้ที่สามีภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน
ในกรณีของท่านนั้นยังขาดข้อเท็จจริงว่าการทำสัญญาค้ำประกันของสามีท่านซึ่งมีผลให้อาจตกเป็นลูกหนี้ตามสัญญาค้ำประกันนั้นได้ทำกันก่อนหรือหลังจดทะเบียนสมรส หากทำก่อนจดทะเบียนสมรสแล้วสามีท่านก็จะผูกพันเป็นลูกหนี้ตามสัญญาค้ำประกันแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ใช่กรณีหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา แต่หากเป็นการทำสัญญากันหลังจดทะเบียนสมรสแล้วแม้เป็นหนี้ที่ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ของสามีฝ่ายเดียว กรณีเช่นนี้ก็ต้องมาพิจารณาข้อเท็จจริงว่าท่านได้ให้สัตยาบันหรือไม่ หากให้สัตยาบันแล้วย่อมทำให้ท่านเป็นลูกหนี้ร่วมกันในหนี้อันเกิดจากสัญญาค้ำประกัน ผลคือในกรณีที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่ายตามมาตรา 1489
จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นหากข้อเท็จจริงชี้ว่าการทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา เมื่อศาลมีคำพิพากษาและมีการบังคับคดีจากสินสมรสจนสิ้นสินสมรสแล้ว หนี้ส่วนที่เหลือก็ต้องบังคับเอาจากสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่ายเท่าๆกัน ด้วยเหตุนี้จึงอาจมีกรณีที่ทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัวเป็นชื่อของท่านอาจถูกบังคับคดีออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ก็ได้ สำหรับการที่สามีทุพพลภาพไม่มีผลกระทบต่อการวินิจฉัยในเรื่องสินส่วนตัว สินสมรส หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา และการชำระหนี้ร่วมที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นครับ
เครดิต ศูนย์นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์