Home ทริบเทคนิค/บทความ เทคนิคอ่านหนังสือ สอบผู้ช่วยผู้พิพากษา

เทคนิคอ่านหนังสือ สอบผู้ช่วยผู้พิพากษา

4116

 

การเตรียมตัวสอบผู้ช่วยอ่านหนังสืออะไร จึงจะสอบผ่าน อ่านจูริส หรือคำบรรยายเนติฯ อย่างเดียว พอมั้ย ต้องอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาย้อนหลังกี่ปี ปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายมีมากมาย กฎหมายใหม่ ฎีกา ใหม่ ก็เพิ่มขึ้น ทุกปี จนไม่รู้จะอ่านอะไร พออ่านเล่มนี้ก็มักจะหยิบเล่มนั้นมาดูเวียนไปวนมา ผลก็คืออ่านไม่รู้เรื่องเพราะอ่านนี้นิดอ่านนั้นหน่อยจำต้นชนปลายไม่ถูก อันนี้คือปัญหาแรกของบางคนที่บ้าซื้อหนังสือกฎหมาย(อย่างเราเป็นต้น) เล่มไหนเห็นว่าดีก็ซื้อมาตุนสะสมไว้แต่เอาเข้าจริงอ่านไม่จบสักเล่ม

                  วิธีแก้คือ ก็อ่านทุกเล่มนั่นแหละ อ่านให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ ต้องตัดใจเลือกเล่มที่คิดว่าอยากอ่านมากที่สุดเพียงเล่มเดียว มาอ่านก่อน (ย้ำว่าเล่มเดียวเท่านั้น) แล้วเริ่มอ่านอย่างจริงจัง .ในการอ่าน ให้อ่านทีละหัวข้อ แล้วก็ถามตัวเองว่าเรารู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังอ่านมาก่อนหรือไม่ ประเด็นสำคัญคืออะไร เหมือนหรือแตกต่างจากที่เราเคยรู้หรือไม่อย่างไร มีประเด็นอะไรน่าสนใจที่สามารถนำไปเป็นข้อสอบหรือไม่ เรามีความคิดเห็นกับหัวข้อนี้อย่างไร เพราะอะไร จากนั้นก็สรุปใจความสำคัญของเรื่องนั้นลงในสมุด ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จบอ่านจบเล่ม

                 จากนั้นก็ไปหยิบหนังสือเล่มอื่นที่เขียนเรื่องเดียวกันมาอ่าน จะพบว่า เนื้อหาใกล้เคียงกันกับเล่มเดิม เกือบ 80 เปอร์เซ็น ส่วนไหนที่รู้แล้วก็อ่านผ่านๆ แล้ว เราก็สรุปใจความสำคัญเฉพาะส่วนที่เป็นข้อมูลใหม่ ลงในสมุดเล่มเดิมที่สรุปใจความสำคัญของหนังสือเล่มแรกไว้ การทบทวนเราก็กลับมาทบทวนในสมุดที่สรุปใจความไว้ แต่กลับมาอ่านอีกทีอาจจะไม่รู้เรื่องเพราะอ่านลายมือตัวเองไม่ออก แต่อย่างน้อยเราก็ได้ฝึกสมองส่วนเอาต์พุตไง หรือจะโพสต์ลง เฟสบุคให้เพื่อนอ่านก็ได้นะ จะเป็นตัวบังคับให้เราพยายามเขียนให้ดูดีที่สุด แต่ไม่ต้องหวังให้ใครมาอ่านหรอก งานวิชาการมันน่าเบื่อ (ใครไม่อ่านก็อย่าได้แคร์ ก็เราจะโพสต์เพื่อฝึกตัวเอง) อีกอย่างเป็นการเปลี่ยนวิกฤติในการติดเฟสบุค เป็นโอกาสในการฝึกเขียนกฎหมาย:) (การที่เราอ่านหนังสือ จดลงสมุด พิมพ์แล้วโพสต์ลงเฟสบุค อ่านข้อความที่โพสต์อีกทีเพื่อตรวจทาน เท่ากับเราได้ทบทวนเรื่องนี้ถึงสี่รอบเลยนะ)

                  ถ้าเราอ่านหนังสือด้วยวิธีนี้ไปเรื่อยๆ เราจะอ่านหนังสือได้มากกว่าเดิมหลายเท่า เพราะในหนังสือแต่ละเล่มเราก็จะเน้นอ่านเฉพาะที่เป็นข้อมูลใหม่และเป็นประเด็นที่น่าสนใจเท่านั้น ส่วนเรื่องที่เรารู้อยู่แล้วก็อ่านผ่านๆ นอกจากนี้ เรายังสามารถนำโน้ตย่อที่เราสรุปใจความไว้ มาทบทวน ด้วยการคุยกับตัวเอง พูดออกมาดังๆ (อยู่คนเดียวนะไม่งั้นเค้าหาว่าบ้า ถ้าอยู่หลายคนก็คิดในใจ) อธิบายข้อกฎหมายแต่ละหัวข้อ จากโน้ตย่อของเรา (สมมุติว่าเรากำลังสอนกฎหมายอยู่) หากติดขัดตรงไหนค่อยไปเปิดตำราอีกที (โน้ตไว้ด้วยว่าจดมาจากตำราเล่มไหนจะได้หาเจอ) จะสรุปของสรุปอีกทีก็ได้ เพราะสรุปครั้งแรกอาจจะยาว เพราะแรกๆ อะไรก็น่าสนใจไปหมด ในช่วงใกล้สอบ ก็เอาสรุปล่าสุด มาท่อง ทำให้เรามองเห็นภาพรวมกฎหมายทั้งหมด มีความมั่นใจ ในการเข้าสอบมากขึ้น

สิ่งสำคัญไม่ใช่การจำได้ทุกเรื่องแต่เป็นความสามารถในการใช้ประโยชน์จากความรู้ที่จำได้มากกว่า

IMG_5809-0.JPG

 

เครดิต https://www.facebook.com/pages/ธรรมมะกับกฎหมาย

Facebook Comments