Home ทริบเทคนิค/บทความ ข้อแตกต่างระหว่างข้อสอบผู้ช่วยกับข้อสอบอัยการ

ข้อแตกต่างระหว่างข้อสอบผู้ช่วยกับข้อสอบอัยการ

5197

 

มีน้องๆถามว่า ใกล้สอบอัยการแล้ว ควรเตรียมตัวสอบอย่างไร มีคนบอกว่า ข้อสอบอัยการ เน้นหลักกฎหมาย ตอบตามฎีกาอาจจะผิดธง ใช่หรือไม่

ตอนที่พี่เตรียมตัวสอบ  พี่ก็สมัครสอบ ทั้งสองสนาม เพราะเปิดสอบใกล้เคียงกัน และไม่ได้แยกการอ่านหนังสือของทั้งสองสนามนี้หรอกนะ สรุปคือ อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า  ผลสอบ ออกมาคะแนนก็ใกล้เคียง แต่ก็สอบตกทั้งสองสนาม พอการสอบครั้งต่อมา ผลสอบผู้ช่วยฯ ออกมาก่อน พี่เลยไม่ได้ไปสอบอัยการอีก

แต่เมื่อกลับมาดูแนวข้อสอบเก่าที่เคยออกมาแล้ว พี่เห็นว่า ข้อสอบแต่ละสนามออก ตาม ลักษณะงานของตำแหน่งที่เปิดสอบ เช่น ผู้พิพากษา มีหน้าที่ พิจารณา พิพากษาคดี การรับคนมาทำงานในตำแหน่งนี้ ก็ต้องการคนที่มีความสามารถในการวินิจฉัยข้อเท็จจริง และตัดสินคดี แม้ว่ากฎหมายบ้านเราจะเป็นระบบประมวลกฎหมาย และคำพิพากษาศาลฎีกา มีฐานะเป็นเพียงตัวอย่างในการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายเท่านั้น   แต่  บรรพตุลาการ  ครูบาอาจารย์ และนักกฎหมายบ้านเรา ส่วนใหญ่ไปเรียนในประเทศที่ใช้กฎหมายคอมมอนล์ ซึ่ง ยึดคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ตัดสินไว้ก่อน เป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัยคดี  จึงมีแน้วโน้มที่จะ ตัดสินคดีตามบรรทัดฐานที่ศาลฎีกา เคยวางไว้ ดังนั้นจึงมีการ นำคำพิพากษาศาลฎีกา มาออกข้อสอบ ผู้ช่วยฯ  อย่างไรก็ ก็ตามการตอบข้อสอบผู้ช่วย จะต้องตอบหลักกฎหมายก่อน แล้วจึงนำ คำพิพากษาศาลฎีกาที่อธิบายข้อกฎหมายเรื่องนั้น มาอธิบายประกอบ จึงจะได้คะแนนดี

นอกจากนี้ ผู้พิพากษา มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาทั้งคดีแพ่งและคดี อาญา และเนื้อหาของกฎหมายแพ่ง มีมากกว่ากฎหมายอาญา เป็นอย่างมาก ดังนั้น ข้อสอบผู้ช่วย จึงมี แพ่ง หก ข้อ อาญา สี่ ข้อ ดังนั้นการเตรียมตัวสอบผู้ช่วย ก็ต้องแบ่งเวลาให้ถูกตามเนื้อหาของข้อสอบด้วย

ส่วนอัยการนั้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  ทนายของแผ่นดิน  มีอำนาจหน้าที่ ตรวจสำนวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวน สั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้องในคดีอาญา เป็นโจทก์ ในคดี อาญา  ว่าต่าง แก้ต่าง ให้กับหน่วยงานของรัฐ กรณีหน่วยงานของรัฐมีข้อพิพาท ทางแพ่ง ฯลฯ ซึ่งโดยหลักแล้ว อำนาจหน้าที่ของอัยการจะเกี่ยวข้องกับคดีอาญา เช่น พิจารณาเรื่อง อำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน อำนาจการสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ  การไต่สวน ชันสูตรพลิกศพ ตามปวิอาญา ภาค 1 ภาค 2  ซึ่งในส่วนนี้ จะมีคำพิพากษาศาลฎีกาน้อย เพราะ เป็นเรื่องทางปฏิบัติของพนักงานอัยการ และไม่ค่อยมีปัญหาขึ้นสู่ศาลฎีกา ส่วนใหญ่ จะเป็นข้อหารือ ของอัยการสูงสุด ดังนั้น การสอบอัยการ จึงไม่ค่อยมีการนำคำพิพากษาศาลฎีกาไปออก แต่จะเป็นการออกข้อสอบ ตามหลักกฎหมาย ที่เกี่ยวกับกับอำนาจหน้าที่ของ พนักงานอัยการ  หลักกฏหมายอาญา หลักกฎหมายแพ่งเบื้องต้น (นิติกรรม สัญญา หนี้ ละเมิด ) การยื่นอุทธรณ์ฎีกา เป็นต้น (นอกเหนือจากนี้ก็อาจมีนะ แค่ยกตัวอย่าง)

อำนาจหน้าที่ของอัยการส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับคดี อาญาเป็นหลัก ข้อสอบอาญา จึงมี หก ข้อ แพ่ง มีสี่ข้อ การเตรียมตัวสอบ ก็ต้องแบ่งเวลาให้ถูก ตามจำนวนข้อสอบที่มี

แต่ที่เหมือนกันทั้งสองสนามคือ เราต้องมีจิตใจแน่วแน่ อ่านหนังสือสม่ำเสมอ ฝึกเขียนข้อสอบบ่อยๆ  สวดพระคาถาชินบัญชรวันละเก้าจบ โดยไม่มีข้อต่อรองใด ทั้งสิ้น

 

Facebook Comments