Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ เมาแล้วขับไม่ยอมเป่า สันนิษฐานว่าเมา เริ่ม 31 ธ.ค.2557

เมาแล้วขับไม่ยอมเป่า สันนิษฐานว่าเมา เริ่ม 31 ธ.ค.2557

4576

 

 

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา ประเภท ก เล่ม 131 ตอน 89 เรื่อง พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2557 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งมีเนื้อหาแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 ให้มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2557 มีการแก้ไข 2 ประเด็นสำคัญคือ

หนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 142 เกี่ยวกับกำหนดข้อสันนิษฐานในกรณีผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบว่าหย่อนความสามารถในการขับขี่โดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมใหม่จะให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้า หน้าที่สั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถ เมื่อเห็นว่ารถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ และ สอง ในกรณีที่ผู้ขับขี่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าเสี่ยงเมาสุรา หรือขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับหรือขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่

กฎหมายใหม่ระบุอำนาจเจ้าพนักงานจราจรว่า สามารถสั่งให้ผู้ขับขี่ขับรถเข้าช่องทางที่มีกรวยวางตั้งไว้ ให้ไขกระจกเพื่อให้เจ้าหน้าที่ยื่นอุปกรณ์เข้าไปตรวจวัดแอลกอฮอล์เข้าไปในรถได้ หรือเรียกให้ผู้ขับขี่เป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ รวมทั้งสั่งให้ลงจากรถเพื่อดูว่าร่างกายสามารถรักษาสมดุลของการเดินได้หรือ ไม่ หากผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบ ให้เจ้าหน้าที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้นั้นเมาสุรา เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีฐานขับรถขณะเมาสุราได้

สำหรับบทลงโทษหากมีการฝ่าฝืนตามกฎหมายใหม่ กรณีผู้ขับขี่ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานในการทดสอบ เดิมระวางโทษปรับครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท กรณียินยอมให้ทดสอบแต่พบว่าเมาสุราขณะขับรถ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบขับขี่ แต่กฎหมายใหม่ได้ปรับเพิ่มความเข้มงวดในการเอาผิดทางกฎหมาย โดยกรณีไม่ยินยอมให้ทดสอบให้สันนิษฐานว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่าเมาไว้ก่อนจะ มีบทลงโทษคือจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000 -20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยผู้ถูกกล่าวหาไปสืบพยานหักล้างในศาลได้

ด้าน เฟซบุ๊กเพจศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร – บก.02 กองบัญชาการตำรวจนครบาลให้เหตุผลที่ต้องเพิ่มบทลงโทษว่า “เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ขับขี่มักปฏิเสธให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ อีกทั้งการขับรถขณะเมาสุรามีโทษน้อยมาก จึงมักละเลยขับรถโดยประมาท ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมจึงถือเป็นมาตรการป้องปรามและขอความร่วมมือ จากประชาชนเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ทางหนึ่ง”

Click to access 14.PDF

Facebook Comments