Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ เคล็ดวิชาว่าด้วยข้อสอบเก่า

เคล็ดวิชาว่าด้วยข้อสอบเก่า

3024

 

ใน ๓ สนาม (เนฯ อัยการฯ ผู้ช่วยฯ) ซึ่งถือว่าสุดยอดสนามสอบกฎหมาย มีวิธีการอ่านเป็นแบบเฉพาะของมัน คุณจะอ่านแบบหนังสือทั่วไปไม่ได้ เพราะข้อสอบของสนามพวกนี้มีลักษณะเป็นปัญหาตุ๊กตา ซึ่งนั่นก็ธรรมดา ที่ไม่ธรรมดาคือ มันเป็นปัญหาตุ๊กตาที่ประกอบด้วยหลักกฎหมายหลายชั้น หลายประเด็น บางประเด็น คิดแทบตายก็ไม่เคยเห็นเพราะไม่มีให้อ่านที่ไหน นอกจากคำพิพากษาศาลฎีกา ในส่วนของอัยการ อาจต้องหาอ่านจากคำชี้ขาดความเห็นแย้งของอัยการสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบสนามไหน หลักการออกข้อสอบอย่างหนึ่งคือ ทุกๆ ประเด็นในแต่ละข้อมักจะมีความเกี่ยวพันกันไปตลอดในแง่ของหลักกฎหมาย เช่น ประเด็นหนึ่งอาจเป็นถอนฟ้องมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป อีกประเด็นหนึ่งอาจเป็นเรื่องฟ้องซ้ำทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป หรือประเด็นหนึ่งมีอำนาจฟ้อง อีกประเด็นหนึ่งไม่มีอำนาจฟ้อง ประเด็นหนึ่งไม่เป็นฟ้องซ้ำ แต่อีกประเด็นหนึ่งอาจเป็นฟ้องซ้อน

จะเห็นได้ว่าแต่ละประเด็นจะมีจุดเชื่อมโยงกันอยู่ ข้อสอบข้อหนึ่งๆ จึงไม่มีทางที่จะเอาเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาผูกโยงได้ ดังที่ท่านอาจารย์ไพโรจน์ วายุภาพ กล่าวไว้ว่า “ข้อสอบ ๑ ข้อจะมีหลายประเด็นและแต่ละประเด็นจะเกี่ยวข้องกันเสมอ ไม่มีทางที่จะนำเรื่องอื่นมาปะปนได้ เพราะมิฉะนั้น จะกลายเป็นข้อสอบ ๒ ข้อรวมอยู่ในข้อเดียวกัน”ฉะนั้น หากคุณอ่านข้อสอบเก่าเป็นประจำ คุณจะเห็นความเชื่อมโยงของแต่ละประเด็นที่กรรมการมักใช้ออกสอบ ซึ่งประเด็นเหล่านั้นจะเป็นประเด็นซ้ำๆ กัน ไม่ว่าจะกี่สิบปีหรือในอนาคตข้างหน้า มันยังคงวนเวียนอยู่กับประเด็นเดิมๆ เพียงแต่เปลี่ยนข้อเท็จจริงกับธงคำตอบเท่านั้น

เมื่ออ่านข้อสอบเก่าเป็นประจำ ความจำก็จะซึมซับประเด็นเหล่านั้นเข้าไปในความจำเรา ต่อไปเมื่ออ่านหนังสือกฎหมายเล่มใดๆ ประเด็นที่เป็นคำถามในใจเราก็จะผุดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

ข้อแนะนำตอนนี้คือ คุณควรกำหนดไว้ในปฏิทินการอ่านโดยเคร่งครัดว่า “วิชาว่าด้วยข้อสอบเก่า” เป็นเสมือนวิชาหนึ่งที่ต้องออกสอบ

เครดิต สู่เส้นทางฝันผู้พิพากษา

 

Facebook Comments