Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ หากผมมีเวลา ๑ ปีครึ่ง จะเตรียมตัวสอบผู้พิพากษาอย่างไร (ภาคจบ)

หากผมมีเวลา ๑ ปีครึ่ง จะเตรียมตัวสอบผู้พิพากษาอย่างไร (ภาคจบ)

3279

 

“หากผมมีเวลา ๑ ปีครึ่ง ผมจะเตรียมตัวยังไง” (ตอนจบ)
จากที่มีการเผยแพร่ หากผมมีเวลา ๑ ปีครึ่งภาคแรก ไปวันนี้จะมาเสนอภาคจบ

ลิงค์ภาคแรก  Link1 

[poll id=”3″]

ช่วงแรกๆ ในการเตรียมตัว ให้จองคำพิพากษาฎีกาทั้งของเนติบัณฑิตและของศาลยุติธรรมไว้แต่เนิ่นๆ ครับ ทั้งสองแห่งหรือแห่งเดียวก็ได้แล้วแต่สะดวก แม้บางเล่มเริ่มทยอยส่งมาแล้ว แต่ยังไม่ต้องอ่านตอนนี้ (ก็ได้) เดี๋ยวผมจะพูดตอนท้ายๆ
หลังจากอ่านข้อสอบเก่าจบแล้ว ๔ เดือนนับจากนี้ไป คุณจะต้องอ่านคำบรรยายเนฯ ชุดล่าสุดอีกครั้ง ทั้ง ๓๒ เล่ม แน่นอนว่า การที่คุณอ่านได้เร็วขนาดนี้ นั้นหมายความว่า ต้องเป็นคำบรรยายของเราเท่านั้น ที่ผ่านการขีดฆ่า การกาดอกจันทร์มาจนหมดแล้ว หากใครเรียนเนฯ โดยไม่ยึดคำบรรยายเนฯ เมื่อจบมาแล้ว จะหนักมากในแง่ที่ต้องหาคำบรรยายใหม่ๆ มาอ่าน ฉะนั้น ข้อแนะนำตอนนี้คือ ให้รับคำบรรยายเนฯ ไว้ จบแล้วอย่าขายทิ้งเด็ดขาด
๔ เดือนนี้ อย่าหันเหมุ่งออกนอกทางเด็ดขาด ตั้งเป้าหมายระยะสั้นไว้ว่า จะต้องอ่าน ๑ เล่ม ต่อกี่วัน ซึ่งหากนับระยะเวลาจริงๆ แล้ว ๔ เดือนมี ๑๒๐ วัน เท่ากับคุณต้องอ่าน ๑ เล่มให้จบภายใน ๓ วันครึ่ง แน่นอนว่าหากมิใช่คำบรรยายเก่าของคุณ มันยากที่จะทำได้

 

ระหว่างอ่านคำบรรยายเนฯ ไป มีประเด็นใดสงสัยเก็บไว้ในใจก่อน หรืออาจจะค้นคว้าเพิ่มเติมก็ได้ตามแต่โอกาสเอื้ออำนวย เพียงแต่ต้องระวังเวลาที่สูญไป สำหรับผม หากมีประเด็นใดสงสัย ผมจะจดไว้ในสมุดอีกเล่ม ตั้งเครื่องหมายคำถามไว้ตัวใหญ่ๆ เผื่อไว้วันข้างหน้า เมื่อเราอ่านฎีกาหรือตำราไปเรื่อยๆ อ่านอย่างหลากหลายที่สุด คำถามที่รอคำตอบมันจะผุดขึ้นมาเอง เพียงแต่ขั้นตอนนี้ เราต้องการทำตามเป้าหมายก่อนคือ อ่านคำบรรยายเนฯ ให้จบภายในเวลากำหนด
อ่านคำบรรยายเนฯ จบแล้ว นับจากนี้เป็นเวลาของการตามล่าหาหนังสือตำรากฎหมายต่างๆ เพื่อเจาะลึกลงไปอีก อย่าลืมว่า ในคำบรรยายเนฯ เขาทำขึ้นมาเพื่อนักศึกษาเนฯ ไม่ใช่ทำขึ้นมาเพื่อเตรียมสอบผู้ช่วยฯ มีหลักกฎหมายในทางปฏิบัติอีกจำนวนมากที่ต้องหาอ่านจากตำราอื่นๆ ข้อแนะนำที่ง่ายที่สุดคือ ให้หาตำราของอาจารย์ท่านที่สอนเนฯ เป็นหลัก โดยเน้นไปอาจารย์ที่เป็นผู้พิพากษา (แต่ก็ยกเว้นของอาจารย์เกียรติขจรซึ่งต้องหาซื้อมาไว้ในความครอบครองให้ได้ทุกเล่มที่ท่านเขียน) ไม่ใช่อาจารย์อาชีพอื่นๆ เขียนไม่ดี แต่เป็นเพราะแนวหนังสืออาจไม่สอดคล้องกับการเตรียมตัวสอบผู้ช่วยฯ และอาจทำให้คุณสับสบระหว่างความเห็นทางกฎหมายกับแนวฎีกา ถึงตอนนี้คุณอาจมีตำราเพิ่มขึ้นอีกประมาณ ๒๐ เล่ม (นอกเหนือจากคำบรรยาย) ๒๐ เล่มนี้คุณควรอ่านไม่เกิน ๕ เดือน ถึงตอนนี้ไม่ต้องเสียเวลาอ่านมากแล้ว เพราะประเด็นหลักๆ คุณอ่านเก็บหมดแล้วในคำบรรยาย
ตอนนี้เวลาเราหายไปแล้ว ๑๐ เดือนอย่างรวดเร็ว

๒ เดือนนับจากนี้ ให้อ่านฎีกาแบบย่อยาวย้อนหลังอย่างน้อย ๑๐ ปี รวม ๑๒๐ เล่ม ให้เลือกว่าจะอ่านของเนฯ หรือของสำนักงานศาลฯ ก็ได้ และให้ถือเป็นหลักแค่อย่างเดียว ส่วนอีกสำนักหนึ่งให้อ่านเสริมเท่าที่มีเวลาเหลือ ๒ เดือน เท่ากับ ๖๐ วัน ตั้งเป้าหมายไว้อย่างน้อยวันละ ๒ เล่ม โดยให้เลือกอ่านเฉพาะฎีกาที่ยังไม่เคยออกสอบ (ฎีกาไหนออกแล้วคุณย่อมรู้จากการอ่านข้อสอบเก่าในช่วง ๑ เดือนแรก)
วัตถุประสงค์ของการอ่านฎีกาแบบย่อยาวเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่า ฎีกาย่อสั้นๆ จำนวนมหาศาลที่เราอ่านไปก่อนหน้านี้ เราเข้าใจถูกต้องหรือไม่
ตอนนี้เหลือเวลาแค่ ๖ เดือน
๓ เดือนนับจากนี้ ขั้นตอนสำคัญที่สุด เพราะจากนี้ไปจะเป็นการอ่านแบบเก็บตกทั้งหมด แนะนำให้คุณอ่านจูริสอย่างเดียว คงไม่มีหนังสือใดๆ สามารถรวบยอดๆ ของหลักกฎหมายได้เท่ากับจูริสแล้ว ให้ใช้เวลาอ่านประมาณ ๓- ๔ เดือน แม้จูริสจะมีชุดวิชาหลายเล่ม แต่เราใช้เวลาอ่านไม่มากเพราะ ฎีกาทั้งหมดผ่านสายตาคุณมาหมดแล้ว แต่ต้องอ่านจูริสอีกครั้งเพื่อเรียบเรียงระบบความจำของเราอีกครั้งและอาจมีบางประเด็นที่เล็ดรอดสายตาจากตำราและคำบรรยายอื่นๆ เป็นการปิดช่องโหว่ทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นได้
เหลือเวลาอีก ๓ เดือน
๑ เดือนแรกของเดือนที่เหลือ ให้นำฎีกาใหม่ล่าสุดที่คุณจองไว้และเก็บไว้ตั้งแต่ตอนแรกมาอ่านครับ เพราะจากสถิติแล้ว คำพิพากษาฎีกาใหม่ๆ โดยเฉพาะฎีกาในปีที่ออกสอบหรือย้อนหลังปีเดียว มักเป็นฎีกาที่ถูกนำไปแต่งข้อสอบ คุณต้องอ่านฎีกาใหม่ๆ เหล่านี้ให้ละเอียด อ่านแบบย่อยาว ย่อสั้นให้เข้าใจ
๑ เดือนถัดไป ให้คุณนำคำบรรยายเนฯ ตำราทั้งหมด รวมทั้งจุริส กลับมาอ่านทบทวนอีกครั้ง เน้นย้ำว่า เป็นการอ่านแค่ทบทวนเฉพาะจุดสำคัญๆ ที่คุณเคยเน้นไว้เท่านั้น ไม่ใช่อ่านอย่างละเอียด
ตอนนี้เราเหลือเวลาเพียงแค่ ๑ เดือน จะเห็นว่าผมไม่ได้พูดถึงการท่องตัวบท การฝึกเขียนเลยเพราะว่า การท่องตัวบทเป็นเสมือนกิจกรรมประจำวันที่คุณต้องทุกวันตลอดเวลาเตรียมตัวตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย ส่วนการฝึกเขียนต้องตั้งเป้าหมายไว้อย่างน้อยต้องทำอาทิตย์ละ ๑-๒ ข้อเสมอ โดยต้องทำมาตั้งแต่วันที่คุณเตรียมสอบเนฯ ด้วยซ้ำ
๑ เดือนสุดท้าย ผมคิดว่าคุณรู้ว่าต้องทำอย่างไร แต่อยากจะเน้นย้ำว่า มันเป็นเวลาสำคัญที่สุด ฉะนั้น งานสำคัญใดๆ ที่มีกำหนดเวลาส่ง คุณต้องทำให้เสร็จก่อนเสร็จวันสุดท้าย เวลาพักผ่อนที่ยังเหลือ คุณจะต้องลาล่วงหน้าไว้พอสมควรเพื่อเพื่อป้องกันข้ออ้างว่าคุณแจ้งล่วงหน้ากระชั้นชิด ลาพักผ่อนหมดแล้ว ใช้สิทธิลากิจไปเท่าที่ลาได้ ไม่ต้องกังวลว่าคุณจะเสียวันทำงานตอนคำนวณบำนาญ เพราะคุณตั้งใจไม่อยู่ในตำแหน่งเดิมจนถึงเกษียณใช่ไหมครับ เพื่อนในที่ทำงานที่เรารักษาความสัมพันธ์ไว้อย่างเนิ่นนาน ถึงคราวอาจต้องขอความช่วยเหลือ (ฝากงาน) ในช่วงที่คุณลาเตรียมตัว บอกหัวหน้าเสียแต่เนิ่นๆ ว่าคุณอาจปิดโทรศัพท์ชั่วคราว เสร็จแล้วเริ่ม

วันแรกของวันที่เหลือ
๑๐ วันแรก แนะนำให้ใช้เวลาอย่างมีค่าอย่างน้อย ๑๘ ชั่วโมงต่อวัน นำสุดยอดฎีกาทั้งหมดที่คุณทำเครื่องหมายไว้มาอ่านอีกครั้ง ไม่ว่าจะอยู่ในคำบรรยาย ในตำรา ในจูริส ในหนังสือฎีกา
๑๐ วันต่อมา ให้อ่านตัวบททั้งหมดประมาณ ๔๐๐๐ มาตรา เพื่อทำความเข้าใจอีกครั้ง (เน้นว่าอ่าน ไม่ใช่ท่อง) และอ่านทุกสิ่งที่คุณเคยเขียนย่อไว้ข้างตัวบท
๑๐ วันสุดท้าย ให้คุณท่องตัวบทอย่างเดียว (อาจจะสลับกับฎีกาเล่มล่าสุดที่เพิ่งออกมาก็ได้เพื่อป้องกันการตกข่าว)
วันสุดท้าย นอนให้เต็มอิ่ม ตื่นสายๆ นั่งสมาธินานกว่าปกติ จากนั้นนำตัวบทมาอ่านทบทวน สลับกับการท่อง ทุกอย่างให้ทำอย่างผ่อนคลาย ทำอย่างช้าๆ มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำ งดติดต่อโลกภายนอกเด็ดขาด
______
ปล.ทั้งหมดนี้เป็นเพียงไกด์ไลน์กว้างๆ เท่านั้นครับ นำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมสำหรับตัวเองครับ อาจไม่ต้องเหมือนเปะๆ ก็ได้ แต่อย่างน้อยเราจะได้เห็นรูปแบบการเตรียมตัวการสอบผู้ช่วยฯ
หากคุณทำตามที่แนะนำหมดแล้ว ยังพลาดอีก ขอให้เชื่อว่า คุณไม่มีปัญหาเรื่องความรู้ความสามารถใดๆ ทั้งสิ้น แต่คุณมีปัญหาเรื่องสมาธิอย่างเดียว เพราะคุณมีความรู้แต่คุณไม่สามารถนำความรู้นั้นออกมาจากลิ้นชักความจำได้ หากรู้ว่าตัวเองมักจะมีปัญหาเรื่องสมาธิ ขอแนะนำว่า รีบเตรียมตัวฝึกสมาธิตั้งแต่วันนี้ครับ

เครดิต สู่เส้นทางฝันผู้พิพากษา

Facebook Comments