Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ เคล็ดวิชาตอบข้อสอบแพ่ง จากผู้พิพากษา

เคล็ดวิชาตอบข้อสอบแพ่ง จากผู้พิพากษา

6614

 

. หลักการตอบข้อสอบแพ่ง ก็คือเขียนในลักษณะเดียวกับธงคำตอบข้อสอบเก่า   อย่าไปคิดว่าธงคำตอบเขียนสั้นเกินไปจะทำให้คะแนนไม่ดี  ธงคำตอบเป็นการเขียนที่สละสลวย สั้น กระชับ ได้ใจความ ถ้าเขียนได้อย่างธงคำตอบก็คะแนนเต็ม  การเขียนตอบข้อสอบที่ดี ไม่จำเป็นต้องเขียนเยอะ แต่ต้องตอบคำถามให้ตรงประเด็น ใช้ภาษากฎหมาย มีเหตุผลสนับสนุนจึงจะได้คะแนนดี

. หลักการเขียนตอบข้อสอบแพ่ง  ก็เหมือนหลักการเขียนทั่วไป คือ มีการขึ้นต้นด้วยประเด็นหลัก มีเหตุผล รายละเอียดมาสนับสนุนประเด็นหลักที่เราขึ้นต้นไว้ และสรุปจบด้วยการตอบคำถามตามประเด็น เทคนิค คือ “ต้นตื่นเต้น กลางกลมกลืน จบจับใจ” แปลความได้ว่า หนึ่งย่อหน้า ต้องมีหนึ่งประเด็นหลักที่ชัดเจนให้คนอ่านเห็นภาพชัดๆ   ตามด้วยเหตุผลต่างๆที่สนับสนุนประเด็นหลักข้างต้น เพื่อให้คำพูดเรามีน้ำหนัก และสรุปจบเพื่อย้ำให้คนอ่านรู้ว่า สรุปแล้ว เรามีความเห็นไปทางไหน

 

ตัวอย่าง 

คำถามข้อ ๑ นายแดงซื้อแจกันโบราณจากนายเหลือง จำนวน ๑ คู่ ราคา ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท นายแดงได้ชำระราคาสินค้าครบถ้วนแล้วนายเหลืองตกลงส่งแจกันดังกล่าวไปให้นายแดง  ณ สถานที่แสดงงานนิทรรศวัตถุโบราณที่นายแดงกำหนด  ก่อนจัดส่งแจกันดังกล่าวให้นายแดง  นายเหลืองได้ว่าจ้างบริษัทเขียวโลจิสติกส์  ขนย้ายแจกันดังกล่าวพร้อมสินค้าอย่างอื่นโดยนำไปเก็บไว้ที่โกดังเก็บสินค้าของนายเหลือง ซึ่งมีข้อตกลงในสัญญาว่าจ้างขนย้ายว่า “ หากสินค้าที่ขนย้ายเกิดความชำรุด บุบสลายเสียหาย สูญหายหรือเสื่อโทรมจะโดยเหตุใด บริษัทเขียวโลจิสติกส์ จำกัด ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายแต่อย่างใด” ปรากฏว่าในระหว่างทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและยึกรถบรรทุกที่ขนย้ายแจกันและสินค้าดังกล่าวที่มีผ้าใบคลุมอยู่ แต่ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่กับตรวจสอบรถบรรทุกและสินค้าที่บรรทุกมาดังกล่าว พนักงานขับรถหลบหนีไป ร้อยตำรวจเอกขาวซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนจึงได้นำรถบรรทุกคันดังกล่าวไปจอดไว้ริมถนนห่างจากสถานีตำรวจประมาณ ๒๕ เมตร เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าไปจอดในรั้วของสถานีตำรวจได้ และยึดรถบรรทุกดังกล่าวไว้เป็นของกลาง โดยเก็บกุญแจรถบรรทุกไว้ที่สถานีตำรวจและเอาโซ่และกุญแจไปล็อกไว้ระหว่างพวงมาลัยกับคลัตซ์เป็นการป้องกันไว้โดยมิได้ผิดระเบียบราชการ ต่อมารถบรรทุก แจกันและสินค้าบนรถสูญหายไป เมื่อนายแดงทราบเรื่องจึงทวงถามนายเหลือง นายเหลืองเห็นว่าเหตุมิได้เกิดจากความผิดของบริษัทเขียวโลจิสติกส์ จำกัด และยังมีข้อตกลงยกเว้นความรับผิดของบริษัทเขียว โลจิสติกส์ อีกด้วย นายเหลืองจึงยอมคืนเงินค่าแจกันคือแก่นายแดง

ให้วินิจฉัยว่า นายแดง นายเหลือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ร้อยตำรวจเอกขาวสังกัด และบริษัทเขียว โลจิสติกส์จำกัด จะมีความรับผิดในค่าแจกันที่สูญหายไปต่อกันหรือไม่อย่างไร

คำถามนี้มีการนำฎีกา ๓ เรื่อง มาผูกกัน คือ

(ตัวอักษรที่เน้นข้อความเป็นตัวอย่างในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมาย)

คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๙๑/๒๕๓๙ แม้กรรมสิทธิ์ในสินค้าที่โจทก์ที่ ๒ ขายได้ตกแก่ผู้ซื้อในขณะทำสัญญาซื้อขายกันแล้ว แต่โจทก์ที่ ๒ ก็ยังมีหน้าที่ต้องส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อ ณ ภูมิลำเนาของผู้ซื้อ เมื่อสินค้าเกิดความเสียหายขึ้น จากอุบัติเหติที่จำเลยที่ ๑ ได้ก่อขึ้นโดยละเมิดในการการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ก่อนส่งสินค้าไปยังภูมิลำเนาผู้ซื้อ ย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ ๒ ที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ซื้อ เมื่อโจทก์ที่ ๒ ชำระราคาสินค่าแก่ทายาทของผู้ซื้อไป จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยทั้งสามได้

 

คำพิพากษาที่ 7975/2549 การที่จำเลยที่3 (นายร้อยเวร) นำรถบรรทุกไปจอดไว้ข้างถนนห่างจากสถานีตำรวจประมาณ  25 – 50  เมตร ซึ่งเป็นบริเวณที่กำหนดไว้เป็นสถานที่จอด เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าไปจอดในรั้วของ สน.ได้ เป็นเพียงการนำรถบรรทุกไปจอดไว้เท่านั้น มิใช่เป็นการดูแลทรัพย์สิน แม้จะได้เก็บกุญแจรถไว้ แล้วเอาโซ่และกุญแจล็อกระหว่างพวงมาลับกับคลัตช์และได้ตรวจดูบ่อยๆ  แต่การจอดรถบรรทุกไว้ข้างถนนโดยมิได้จัดให้มีผู้ดูแลรักษาตามสมควร ย่อมเปิดโอกาสให้คนร้ายลักรถบรรทุกและข้าวสารไปโดยง่าย จำเลยที่ 3 (นายร้อยเวร) จึงมิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลรถบรรทุกและข้าวสาร เหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลทรัพย์สินของตนเอง   เป็นเหตุให้รถบรรทุกและข้าวสารสูญหายไป  ถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๑๘/๒๕๔๕   สัญญาจ้างขนย้ายเครื่องใช้สำนักงานที่กำหนดว่าโจทก์ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากความบกพร่องของพนักงานถือว่าเป็นความตกลงยกเว้นความรับผิดของโจทก์ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเพื่อยกเว้นมิให้โจทก์ต้องรับผิดเพื่อความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๓ โจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย

เมื่ออ่านคำถามแล้วอาจสรุปข้อกฎหมายที่จะนำมาตอบได้สั้นๆดังนี้

๑.       มูลหนี้อันเกิดจากการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ซึ่งกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่ซื้อขายโอนเป็นของเจ้าหหนี้ นั้นแล้ว แต่ลูกหนี้ยังมีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ หากเจ้าหนี้ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับทรัพย์ที่ซื้อขาย และลูกหนี้ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่เจ้าหนี้ ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ฟ้องบุคคลที่ทำละเมิดนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๖ ประกอบมาตรา ๒๒๗

๒.     การกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย เป็นการกระทำละเมิด ผู้กระทำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๒๐

๓.     ข้อตกลงล่วงหน้ายกเว้นมิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลิ่นเล่ออย่างร้ายแรง ตกเป็นโมฆะ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๓๗๓

หมายเหตุ  การวางหลักกฎหมายข้างต้นไว้ก่อนวินิจฉัยข้อเท็จจริงจะช่วยให้เราวินิจฉัยข้อสอบได้ง่ายขึ้น เป็นการตรวจสอบหลักกฎหมายก่อนวินิจฉัย กรณีตอบผิด อาจมีคะแนนอยู่บ้าง

การวินิจฉัยข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมาย

1.  ตามคำถามนี้ ข้อสอบถามว่า “ให้วินิจฉัยว่านายแดง นายเหลือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ร้อยตำรวจเอกขาวสังกัด และบริษัทเขียว โลจิสติกส์  จะมีความรับผิดต่อกันหรือไม่อย่างไร” ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ไม่ได้ถามความรับผิดของร้อยตำรวจเอกขาว  ในประเด็นเกี่ยวกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และร้อยตำรวจเอก จึงควรอยู่ในอยู่หน้าเดียวกัน และเอาสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเป็นประเด็นหลัก แล้วนำความรับผิดของนายขาว มาเป็นเหตุผลสนับสนุน เช่น ขึ้นต้นว่า  “  กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นั้น เนื่องจาก นายขาว…..

2. การตอบเรียงลำดับตามคำถามก็สำคัญนะ จะช่วยให้เราไม่หลุดประเด็นใดประเด็นหนึ่งไปโดยง่าย เพราะ ถ้าสังเกตจะเห็นว่า เค้าถามเรียงลำดับตามภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ การซื้อขาย สินค้า ระหว่าง นายแดงกับนายเหลือง เกิดขึ้นก่อน จากนั้นมีการว่าจ้างกันขนส่ง ถูกตำรวจจับและรถบรรทุก สูญหาย เวลาอ่านคำถาม ถ้าเราคิดเป็นภาพ  (ใช้สมองข้างขวาที่เป็นอารมณ์และความรู้สึก สร้างภาพ ขึ้น ตามข้อเท็จจริงตามคำถาม)    และตอบเรียงลำดับเหตุการณ์ไปตามภาพ จะทำให้เรามีความเข้าใจ  และสามารถตอบคำถามได้ดี

 

ประเด็นที่ ๑ มีข้อเท็จจริงที่ต้องนำมาสรุปคือ นายแดงซื้อแจกันโบราณจากนายเหลือง จำนวน ๑ คู่ ราคา ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท นายแดงได้ชำระราคาสินค้าครบถ้วนแล้วนายเหลืองตกลงส่งแจกันดังกล่าวไปให้นายแดง  ณ สถานที่แสดงงานนิทรรศวัตถุโบราณที่นายแดงกำหนด  ก่อนจัดส่งแจกันดังกล่าวให้นายแดง  “……..”……..เมื่อนายแดงทราบเรื่องจึงทวงถามนายเหลือง นายเหลืองเห็นว่าเหตุมิได้เกิดจากความผิดของบริษัทเขียวโลจิสติกส์ จำกัด และยังมีข้อตกลงยกเว้นความรับผิดของบริษัทเขียว โลจิสติกส์ อีกด้วย นายเหลืองจึงยอมคืนเงินค่าแจกันคือแก่นายแดง”

ในประเด็นนี้เราจะวินิจฉัยว่า การที่กรรมสิทธิ์ในแจกันที่ซื้อขายโอน ไปยังนายแดงผู้ซื้อแล้ว นายเหลืองผู้ขาย ต้องรับผิดคืนค่าแจกันแก่นายแดงหรือไม่ และสามารถรับช่วงสิทธินายแดงไปฟ้องบุคคลภายนอกผู้ทำละเมิดได้หรือไม่ ก็สรุปข้อเท็จจริงเท่าที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า  “กรณีนายและนายเหลือง แม้กรรมสิทธิ์แจกันโบราณซึ่งเป็นทรีพย์เฉพาะสิ่งได้ตกเป็นของนายแดงในขณะทำสัญญาซื้อขายกันแล้ว และทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษนายเหลืองลูกหนี้มิได้ แล้วตามด้วยการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายว่า อันถือว่าการสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่นายแดงผู้เป็นเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๐ วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่นายเหลืองยังมีภาระผูกพันที่จะต้องส่งสินค้าแจกันที่นายแดงซื้อมาจากนายเหลืองไปยังสถานที่แสดงนิทรรศการวัตถุโบราณประจำปีตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อสินค้าไปไม่ถึงเพราะเกิดความเสียหายก่อน จึงเป็นหน้าที่ของนายเหลืองผู้ขายสินค้าที่ต้องรับผิดต่อนายแดงผู้ชื้อสินค้า จากนั้นจึงสรุปตอบคำถามว่า เมื่อนายเหลืองชำระค่าแจกันคืนแก่นายแดงไปแล้ว นายเหลืองจึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิ ของนายแดงตามมาตรา ๒๒๗ มาฟ้องเรียกค่าเสียหายตามราคาแจกันนั้นได้

ประเด็นที่ ๒ ข้อเท็จจริงตามคำถามที่ต้องนำมาสรุปคือ “ปรากฏว่าในระหว่างทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและยึกรถบรรทุกที่ขนย้ายแจกันและสินค้าดังกล่าวที่มีผ้าใบคลุมอยู่ แต่ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่กับตรวจสอบรถบรรทุกและสินค้าที่บรรทุกมาดังกล่าว พนักงานขับรถหลบหนีไป ร้อยตำรวจเอกขาวซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนจึงได้นำรถบรรทุกคันดังกล่าวไปจอดไว้ริมถนนห่างจากสถานีตำรวจประมาณ ๒๕ เมตร เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าไปจอดในรั้วของสถานีตำรวจได้ และยึดรถบรรทุกดังกล่าวไว้เป็นของกลาง โดยเก็บกุญแจรถบรรทุกไว้ที่สถานีตำรวจและเอาโซ่และกุญแจไปล็อกไว้ระหว่างพวงมาลัยกับคลัตซ์เป็นการป้องกันไว้โดยมิได้ผิดระเบียบราชการ ต่อมารถบรรทุก แจกันและสินค้าบนรถสูญหายไป”

ในประเด็นนี้เราจะวินิจฉัยว่าการกระทำของร้อยตำรวจเอกขาวเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ เราก็สรุปข้อเท็จจริงว่า กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากร้อยตำรวจเอกขาวเป็นพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ดูแลรักษารถบรรทุกและสินค้าของกลาง ไว้ในระหว่างสอบสวน

จากนั้นตามด้วยวินิจฉัยข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายว่า  ต้องใช้ความระมัดระวังดูแลรถบรรทุกสินค้าและสินค้าของกลางเหมือนเช่นวิญญูชนพึงรักษาทรัพย์สินของตนเอง เฉพาะอย่างยิ่งแจกันและสินค้าอื่นซึ่งมีมูลค่าสูงบรรทุกอยู่บนรถ จะต้องใช้ความระมัดระวังยิ่งขึ้นมิให้สูญหายหรือได้รับความเสียหาย การนำรถบรรทุกจอดไว้ข้างถนนใกล้สถานีตำรวจโดยใช้โซ่และกุญแจล็อกพวงมาลัยกับครัดซ์ไว้ เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าจอดในรั้วของสถานีตำรวจได้ แม้จะไม่ผิดระเบียบราชการแต่ก็มิใช่เป็นการดูแลรักษาทรัพย์สินตามสมควร ทั้งการจอดรถบรรทุกไว้ข้างถนนโดยมิได้จัดให้มีผู้ดูแลรักษาตามสมควร ย่อมเปิดโอกาสให้คนร้ายลักรถบรรทุกและของไปได้โดยง่าย ถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อและเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา ๔๒๐    แล้วสรุปตอบคำถามว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นต้นสังกัดของร้อยตำรวจเอกขาว จึงต้องรับผิดต่อนายเหลืองซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิของนายแดงเจ้าทรัพย์ ฎีกา ๗๙๗๕/๒๕๔๙

ประเด็นที่ ๓ มีข้อเท็จจริงที่ต้องนำมาสรุปดังนี้ “นายเหลืองได้ว่าจ้างบริษัทเขียวโลจิสติกส์  ขนย้ายแจกันดังกล่าวพร้อมสินค้าอย่างอื่นโดยนำไปเก็บไว้ที่โกดังเก็บสินค้าของนายเหลือง ซึ่งมีข้อตกลงในสัญญาว่าจ้างขนย้ายว่า “ หากสินค้าที่ขนย้ายเกิดความชำรุด บุบสลายเสียหาย สูญหายหรือเสื่อโทรมจะโดยเหตุใด บริษัทเขียวโลจิสติกส์ จำกัด ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายแต่อย่างใด”

ประเด็นนี้ต้องวินิจฉัยว่าข้อตกลงยกเว้นความรับผิดของบริษัทเขียวตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๓๗๓ หรือไม่ เราก็สรุปข้อเท็จจริงว่า “กรณีบริษัทเขียว โลจิสติกส์ จำกัด ข้อตกลงระหว่างนายเหลืองกับบริษัทเขียวโลจิสติกส์ จำกัด มีเพียงว่าหากสินค้าเกิดความชำรุด บุบสลาย เสียหาย สูญหายหรือเสื่อมโทรมไม่ว่าโดยเหตุใดๆ บริษัทเขียว โลจิสติกส์ จำกัด ไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด  จากนั้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายว่า ไม่มีข้อตกลงยกเว้นมิให้บริษัทเขียว โลจิสติก จำกัด รับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลิ่นเล่ออย่างร้ายแรงของบริษัทเขียวโลจิสติกส์จำกัดด้วย อันจะมีผลเป็นความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าที่เป็นโมฆะตาม มาตรา ๓๗๓   และสรุปตอบคำถามว่า บริษัทเขียวโลจิสติกส์จำกัดจึงไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด

นี่คือธงคำตอบ 

ธงคำตอบ กรณีนายและนายเหลือง แม้กรรมสิทธิ์แจกันโบราณซึ่งเป็นทรีพย์เฉพาะสิ่งได้ตกเป็นของนายแดงในขณะทำสัญญาซื้อขายกันแล้ว และทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษนายเหลืองลูกหนี้มิได้ อันถือว่าการสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่นายแดงผู้เป็นเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๐ วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่นายเหลืองยังมีภาระผูกพันที่จะต้องส่งสินค้าแจกันที่นายแดงซื้อมาจากนายเหลืองไปยังสถานที่แสดงนิทรรศการวัตถุโบราณประจำปีตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อสินค้าไปไม่ถึงเพราะเกิดความเสียหายก่อน จึงเป็นหน้าที่ของนายเหลืองผู้ขายสินค้าที่ต้องรับผิดต่อนายแดงผู้ชื้อสินค้า เมื่อนายเหลือชำระค่าแจกันคืนแก่นายแดงไปแล้ว นายเหลืองจึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิ ของนายแดงตามมาตรา ๒๒๗ มาฟ้องเรียกค่าเสียหายตามราคาแจกันนั้นได้

กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากร้อยตำรวจเอกขาวเป็นพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ดูแลรักษารถบรรทุกและสินค้าของกลาง ไว้ในระหว่างสอบสวน โดยต้องใช้ความระมัดระวังดูแลรถบรรทุกสินค้าและสินค้าของกลางเหมือนเช่นวิญญูชนพึงรักษาทรัพย์สินของตนเอง เฉพาะอย่างยิ่งแจกันและสินค้าอื่นซึ่งมีมูลค่าสูงบรรทุกอยู่บนรถ จะต้องใช้ความระมัดระวังยิ่งขึ้นมิให้สูญหายหรือได้รับความเสียหาย การนำรถบรรทุกจอดไว้ข้างถนนใกล้สถานีตำรวจโดยใช้โซ่และกุญแจล็อกพวงมาลัยกับครัดซ์ไว้ เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าจอดในรั้วของสถานีตำรวจได้ แม้จะไม่ผิดระเบียบราชการแต่ก็มิใช่เป็นการดูแลรักษาทรัพย์สินตามสมควร ทั้งการจอดรถบรรทุกไว้ข้างถนนโดยมิได้จัดให้มีผู้ดูแลรักษาตามสมควร ย่อมเปิดโอกาสให้คนร้ายลักรถบรรทุกและของไปได้โดยง่าย ถือได้ว่าเป็นความประมาทเลิ่นเล่อและเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา ๔๒๐  สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นต้นสังกัดของร้อยตำรวจเอกขาว จึงต้องรับผิดต่อนายเหลืองซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิของนายแดงเจ้าทรัพย์

กรณีบริษัทเขียว โลจิสติกส์ จำกัด ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าจะเป็นโมฆะตาม มาตรา ๓๗๓ ต้องเป็นข้อยกเว้นมิให้ลูกหน้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือเพื่อความประมาทอย่างร้ายแรงของตน แต่ข้อตกลงระหว่างนายเหลืองกับบริษัทเขียวโลจิสติกส์ จำกัด มีเพียงว่าหากสินค้าเกิดความชำรุด บุบสลาย เสียหาย สูญหายหรือเสื่อมโทรมไม่ว่าโดยเหตุใดๆ บริษัทเขียว โลจิสติกส์ จำกัด ไม่ต้องรับผิดแต่อยย่างใด ไม่มีข้อตกลงยกเว้นมิให้บริษัทเขียว โลจิสติก จำกัด รับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลิ่นเล่ออย่างร้ายแรงของบริษัทเขียวโลจิสติกส์จำกัด ด้วย บริษัทเขียวโลจิสติกส์จำกัดจึงไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด

ที่มา ข้อสอบพร้อมธงคำตอบ การสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา วันเสาร์ที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๓ วิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอาญา ข้อ ๑

 เครดิต https://www.facebook.com/notes/ธรรมมะกับกฎหมาย/

Facebook Comments