Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ อย่างไรเป็นฉ้อโกงประชาชน

อย่างไรเป็นฉ้อโกงประชาชน

53097

 

“ฉ้อโกงประชาชน”

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๓๔๓
ถ้า การกระทำความผิด ตาม มาตรา ๓๔๑ ได้กระทำ ด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จ ต่อประชาชน หรือ ด้วยการปกปิด ความจริง ซึ่ง ควรบอกให้แจ้ง แก่ประชาชน ผู้กระทำ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน ห้าปี หรือ ปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
ถ้า การกระทำความผิด ดังกล่าว ในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะ ดังกล่าวใน มาตรา ๓๔๒ อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำ ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ หกเดือน ถึง เจ็ดปี และ ปรับตั้งแต่ หนึ่งพันบาท ถึง หนึ่งหมื่นสี่พันบาท

อย่างไรเป็นฉ้อโกงประชาชน

๑.หลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดรวมทั้งบุคคลอื่นตามแต่วาระและโอกาสโดยไม่จำกัดบุคคล และหลอกลวงตามสถานที่ต่างๆ เป็นการฉ้อโกงประชาชน คำพิพากษาฏีกา ๑๔๗๗/๒๕๔๙,๑๖๖๓/๒๕๓๕,๑๘๙๔/๒๕๕๐

๒.การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำการใดๆให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไป อันจะเป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคน แต่มีผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยกู้ยืมเงิน ก็เป็นความผิดแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นทุกครั้งเป็นคราวๆไป เพียงแต่จำเลยแสดงข้อความข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่การกระทำนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ดังนั้นการที่ผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมาให้กู้ยืมและจำเลยรับไว้ถือเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคนแล้ว เป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหาย คำพิพากษาฏีกา ๘๗๐/๒๕๔๙

๓.การหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบและประชาชน โดยสภาพเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนซึ่งอาจกระทำต่อบุคคลต่างวาระกันได้ แต่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อผู้เสียหายหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง ไม่ได้พิจารณาจากจำนวนผู้เสียหายหรือประชาชนที่ถูกหลอกลวงแต่ละคนเพียงอย่างเดียว คำพิพากษาฏีกา ๕๗๙/๒๕๔๙

๔.ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามีมากน้อย แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความ เป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญโดยจะพิจารณาจากวิธีการในการหลอกลวง จำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงประกอบ คดีนี้แม้มีผู้เสียหายเพียง ๑๑ คน แต่ตามบันทึกตกลงค่าเสียหายทางแพ่ง มีผู้เสียหายที่ตกลงกับจำเลยถึง ๓๕ คน แสดงว่าจำเลยไม่ได้ติดต่อชักชวนเฉพาะผู้เสียหายทั้ง ๑๑ คนในคดีนี้เท่านั้น พฤติการณ์ที่จำเลยไปพบผู้เสียหายแต่ละคนที่บ้านแจ้งเงื่อนไขการไปทำงานไปทำงานต่างประเทศได้รับเงินเดือน ๘,๐๐๐บาทถึง ๑๑,๐๐๐บาท โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางคนละ ๑๗,๐๐๐ บาท โดยต้องจ่ายเงินให้จำเลย ๕,๐๐๐ บาทก่อน ลักษณะการชักชวนเป็นการชักชวนทั่วไปมิได้เจาะจงชักชวนคนใดเป็นพิเศษ หากผู้ใดปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ก็สามารถสมัครไปทำงานได้ ขึ้นอยู่กับข้อที่ว่าจะจ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขที่แจ้งไปหรือไม่เป็นสำคัญ การหลอกลวงดังกล่าวจึงเป็นการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อแม้ไม่ได้ประกาศหรือแจ้งให้ผู้หลอกลวงแต่ละคนไปชักชวนต่อ แต่ลักษณะการชักชวนอย่างเดียวกันโดยผู้ถูกชักชวนย่อมบอกต่อกันได้ การกระทำจึงเป็นการฉ้อโกงประชาชน คำพิพากษาฏีกา ๖๖๔๕-๖๖๔๖/๒๕๔๘

ข้อสังเกต

๑. การที่จะเป็นความผิอดฐานฉ้อโกงประชาชนหรือไม่นั้น ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามีมากน้อย แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความ เป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญโดยจะพิจารณาจากวิธีการในการหลอกลวง จำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงประกอบ โดยต้องเป็นการหลอกลวงบุคคลต่างๆตามวาระและสถานที่โดยไม่จำกัดบุคคล แม้แสดงต่อผู้เสียหายบางคน แต่ทำให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อตามคำหลอกลวง แล้วได้ไปจากทรัพย์ของผู้ถูกหลอกลวง ก็เป็นการฉ้อโกงประชาชนแล้ว
๒.ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนไม่จำเป็นที่จะต้องกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นทุกครั้ง เพียงแต่หลอกลวงประชาชนเป็นครั้งคราวๆไปก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนได้ เพียงแต่จำเลยต้องแสดงข้อความข้อสำคัญที่หลอกลวงให้ผู้เสียหายโดยทั่วไปหลงเชื่อเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ความผิดสำเร็จอยู่ที่การกระทำนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลอื่นได้เงินไปจากประชาชนถูกหลอกลวง เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
๓.การหลอกลวงผู้เสียหาย แล้วได้เงินจากผู้เสียหายไป เป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหายที่ถุกหลอกลวงจนผู้เสียหายแต่ละรายมามอบเงินให้อันเป็นความผิดฐานกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน การกระทำดังกล่าวหาใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวไม่
๔.จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อผู้เสียหายหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง ไม่ได้พิจารณาจากจำนวนผู้เสียหายหรือประชาชนที่ถูกหลอกลวงแต่ละคนเพียงอย่างเดียว
๕.การพิจารณาจำนวนคนที่ถูกหลอกลวงไม่ได้ดูเพียงจำนวนคนที่มาแจ้งความร้องทุกข์เท่านั้น อาจพิจารณาจากหลักฐานอื่นเช่นหลักฐานที่ผู้เสียหายอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้มาแจ้งความร้องทุกข์เพราะสามารถตกลงกันได้ จึงมีเพียงบันทึกตกลงชดใช้ค่าเสียหาย หลักฐานเหล่านี้จะแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ในการหลอกลวง และจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงนำมาประกอบจำนวนผู้เสียหายที่มาแจ้งความร้องทุกข์ว่ามีจำนวนผู้ถูกหลอกจำนวนเท่าใดและถูกหลอกโดยวิธีใด
๖.ลักษณะการชักชวนที่จะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงนั้นต้องเป็นการชักชวนประชาชนโดยทั่วไปมิได้เจาะจงชักชวนคนใดเป็นพิเศษ หากผู้ใดปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ก็สามารถสมัครไปทำงานได้ ขึ้นอยู่กับข้อที่ว่าจะจ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขที่แจ้งไปหรือไม่เป็นสำคัญ การหลอกลวงดังกล่าวจึงเป็นการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อแม้ไม่ได้ประกาศหรือแจ้งให้ผู้หลอกลวงแต่ละคนไปชักชวนต่อ แต่ลักษณะการชักชวนอย่างเดียวกันโดยผู้ถูกชักชวนย่อมบอกต่อกันได้ การกระทำจึงเป็นการฉ้อโกงประชาชน
๗.การกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ต้องมีการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไป ในการกู้ยืมเงินตนหรือบุคคลใดจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันทางการเงินตามกฏหมายว่าด้วยเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินที่จะพึงจ่ายได้โดยที่ตนเองรู้หรือควรรู้ว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินหรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้ว่ารู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใดๆโดยชอบด้วยกฏหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะจ่ายในอัตรานั้นได้และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป อันเป็นความผิดฐานกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน

เครดิต เกรียงศักดิ์ นวลศรี นบ นทบ ทนายความ

Facebook Comments