Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ทำให้เสียหาย ทำลายศพ ผิดอะไรบ้าง

ทำให้เสียหาย ทำลายศพ ผิดอะไรบ้าง

8716
“ทำให้เสียหาย ทำลายศพ”

เป็น กฎหมายอีกลักษณะหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาครั้งล่า สุด เราต้องดูเปรียบเทียบกับ ป.อ. มาตรา ๑๙๙ ถึงจะเห็นความแตกต่าง
มาตรา ๓๖๖/๓ ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำลายหรือทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งศพ ส่วนของศพ หรือเถ้าของศพ ต้องระวางโทษ….
มีประเด็นที่น่าสนใจคือ

๑) คำว่า “ศพ” หมายถึง ร่างกายของคนที่สิ้นชีวิตไปแล้ว ได้แก่บุคคลที่เกิดมาแล้วตายลง มิใช่ตายในท้องแล้วคลอดออกมาแบบไม่มีชีวิต ไม่ถือว่าเป็นศพ (จิตติ ติงศภัทิย์) (หรือจะอธิบายโดยใช้ ป.พ.พ. มาตรา ๑๕ ก็ได้) ฉะนั้น หากทำแท้งจนเด็กคลอดออกมาไม่มีชีวิต เมื่อนำเด็กไปฝัง ไม่ผิดมาตรานี้เพราะวัตถุแห่งการกระทำไม่ใช่ศพ

๒) ความผิดฐานนี้ต่างจากความผิดฐานซ่อนเร้นศพตามมาตรา ๑๙๙ ซึ่งมาตราดังกล่าวจะต้องกระทำโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อปิดบังการเกิด การตายหรือเหตุแห่งการตาย เช่น ฆ่าผู้ตายแล้วเผาศพอำพรางคดี ผิดมาตรา ๑๙๙ (ฎีกาที่ ๑๒๐๒/๒๕๒๐) ทำร้ายภรรยาตายแล้วรีบเผาโดยไม่แจ้งบิดามารดาของภริยาทราบ ผิดมาตรา ๑๙๙ (ฎีกาที่ ๖๒๕๕/๒๕๓๔) ยิงผู้ตายแล้วนำศพไปใส่ไว้ในกล่องในห้องเก็บหนังสือในโบสถ์ ถือว่ามีเจตนาปิดบังเหตุแห่งการตาย ผิดมาตรา ๑๙๙ (ฎีกาที่ ๕๘๖/๒๕๒๗)

มี ๒ ฎีกาที่น่าสนใจคือ

ฎีกาที่ ๔๖๘๓/๒๕๔๑ วินิจฉัยว่า ยิงผู้ตายแล้วย้ายศพไปจากที่เกิดเหตุ ๒๐ เมตร โดยอยู่ในที่เปิดเผยถูกพบเห็นได้ง่าย ไม่ผิดมาตรา ๑๙๙


ต่อมามีฎีกาล่าสุดคือ ฎีกาที่ ๑๐๒๗๘/๒๕๕๕ วินิจฉัยว่า จำเลยยิงผู้ตายแล้วเกลี่ยดินกลบคราบเลือดบริเวณใต้ถุนบ้านจำเลย จากนั้นลากศพไปไว้ที่ถนนสาธารณะหน้าบ้านห่างออกไปประมาณ ๓๐ เมตร ผิดฐานซ้อนเร้นศพ

ข้อ ที่แตกต่างกันคือ คดีแรกโจทก์นำสืบลอยๆ ว่า หลังจากยิงแล้วจำเลยเคลื่อนย้ายศพ จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะวินิจฉัยเจตนาพิเศษของจำเลย ส่วนฎีกาหลังโจทก์นำสืบให้เห็นว่า จำเลยยิงแล้วเกลี่ยดินกลบคราบเลือดบริเวณใต้ถุนบ้านจำเลย จึงทำให้ผลของคดีต่างกัน

ข้อ ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นคือ ฎีกาที่ ๑๐๒๗๘/๒๕๕๕ นอกจากจำเลยจะผิด ป.อ. มาตรา ๑๙๙ แล้ว ศาลฎีกายังวินิจฉัยว่า จำเลยผิด ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๐ ทวิ วรรคสอง ด้วย เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๐ ทวิ วรรคสอง บทหนักที่สุด

ส่วน ความผิดตามมาตรา ๓๖๖/๓ ผู้กระทำไม่ต้องมีเจตนาพิเศษ เพียงกระทำโดยไม่มีเหตุสมควรก็เป็นความผิดแล้ว ฉะนั้น จากข้อเท็จจริงในฎีกาที่ ๔๖๘๓/๒๕๔๑ แม้โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษ แต่การย้ายศพหลังฆ่าแล้วก็แสดงถึงเหตุอันไม่สมควรอยู่ดี เป็นความผิดมาตรา ๓๖๖/๓
Facebook Comments