Home ทริบเทคนิค/บทความ ความเห็นที่แตกต่างช่วยสร้างโลก โดยปรมาจารย์ทนายความ

ความเห็นที่แตกต่างช่วยสร้างโลก โดยปรมาจารย์ทนายความ

3412

ความ

ความเห็นที่แตกต่างช่วยสร้างโลก

บทความต่อไปนี้ เคยเป็นส่วนหนึ่งในคำบรรยายของผมในการสัมมนาเรื่องการทำงานเป็นทีม สำหรับทนายความอาสาของสภาทนายความ ซึ่งขณะนั้นผมรับหน้าที่เป็นอุปนายกฝ่ายปฏิบัติการของสภาทนายความ และนำมาใช้ในการสัมมนาพนักงานสภาทนายความเกี่ยวกับการกำหนดวิสัยทัศน์ของสภาทนายความ ตลอดจนนำมาดัดแปลงจัดสัมมนาแกนนำจริยธรรมให้แก่สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งอีกสองครั้ง เผอิญในช่วงนี้มีเรื่องขัดแย้งในกลุ่มสังคมออนไลน์กลุ่มหนึ่งที่ถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ผมจึงได้หยิบยกเรื่องนี้มาเรียบเรียงใหม่

            สำหรับผมแล้ว การที่มีบุคคลมีความเห็นที่แตกต่างกันเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ เกิดขึ้นกับทุกคนและทุกกลุ่ม แม้เราอยู่คนเดียว ก็ยังเคยเกิดความเห็นที่แตกต่างขึ้นได้ เช่น บางครั้งเราต้องการไปเดินซื้อของใช้ในห้างฯ แต่เกิดเปลี่ยนใจไปดูภาพยนต์ ความเห็นที่แตกต่างกันเช่นนี้ไม่ทำให้เกิดข้อพิพาท เพราะเป็นความเห็นที่แตกต่างกันของตนเอง แต่ถ้าเป็นความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างบุคคลตั้งแต่สองคนหรือสองกลุ่มขึ้นไป ถ้าไม่มีเรื่องความเชื่อส่วนตนหรือผลประโยชน์ส่วนตนแอบแฝงอยู่ด้วยแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นข้อพิพาทได้เลย

            ถ้าความเห็นที่แตกต่างกันนั้น เกิดจากความเชื่อส่วนตน และ/หรือ เกิดจากการมีผลประโยชน์ส่วนตนแอบแฝงอยู่ด้วย หากไม่มีวิธีการบริหารจัดการที่เหมาะสม ความเห็นที่แตกต่างกันนั้นอาจกลายเป็นความขัดแย้งที่นำไปสู่ข้อพิพาท ซึ่งอาจต้องใช้กำลังเพื่อยุติข้อพิพาท หรือนำไปสู่การตัดสินชี้ขาดของบุคคลภายนอก ถ้าคู่ขัดแย้งมีความเชื่อหรืออัตตาของตนสูงมาก หรือผลประโยชน์ที่แอบแฝงอยู่ของคู่ขัดแย้งมีอยู่อย่างมหาศาลแล้ว คู่ขัดแย้งอาจต้องใช้สรรพกำลังเข้าห้ำหั่นกันจนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งต้องยอมพ่ายแพ้หรือสูญสลายหายไป เช่นที่เคยเกิดขึ้นในประเทศรวันดาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งชนเผ่าฮูตูที่มีอำนาจรัฐหนุนหลังทำการเข่นฆ่าชนเผ่าตุดซีแบบล้างเผ่าพันธุ์ ทำให้มีคนถูกสังหารหมู่นับล้านคน จนต้องใช้กำลังทหารขององค์การสหประชาชาติเข้าระงับเหตุและนำนายออกุสติน เอ็นกิราบัตวาเร อดีตรัฐมนตรีกระทรวงแผนงานของประเทศรวันดาผู้อยู่เบื้องหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาลงโทษจำคุก ๓๕ ปีตามคำพิพากษาของศาลอาญาระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ อันเป็นการสร้างกติกาสากลเพื่อรักษาสันติสุขในโลก

            ผมขอย้อนไปปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๘ ซึ่งเป็นช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจสองฝ่าย คือ ฝ่ายอักษะ กับฝ่ายพันธมิตร จนต้องใช้กำลังทหารมาตัดสินความขัดแย้งกัน สงครามโลกครั้งนี้ เป็นสงครามที่มีความโหดร้ายมากที่สุดในมนุษยชาติ มีการฆ่าและทำร้ายผู้หญิง เด็ก คนชรา และผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ใช่คู่สงคราม เมื่อสงครามสงบ เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น มีการรวมตัวจัดตั้งองค์การสหประชาชาติเพื่อสร้างสันติภาพ ลดความขัดแย้ง โดยมีการสร้างกลไกต่าง ๆ ที่จะสร้างสันติภาพให้ยั่งยืน มีการประกาศใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นกรอบในการสร้างสันติสุขในหมู่มวลมนุษยชาติ

ผมขอย้อนไปไกลอีกหน่อย ในช่วงปี พ.ศ. ๒๑๐๗ ถึง พ.ศ. ๒๑๘๕ ซึ่งเป็นช่วงที่ “กาลิเลโอ กาลิเลอี” ยังมีชีวิตอยู่ กาลิเลโอ เป็นคนที่มีผลงานวิทยาศาสตร์มากมายโดดเด่นเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ บิดาแห่งดาราศาสตร์สมัยใหม่ และบิดาแห่งฟิสิกส์สมัยใหม่

กาลิเลโอ ลุกขึ้นมาประกาศว่า โลกนี้มีลักษณะกลม และดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล คำประกาศของกาลิเลโอ ขัดต่อการตีความพระคัมภีร์ของศาสนจักรที่เชื่อว่า โลกที่เราอาศัยอยู่นี้มีลักษณะแบน และโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ความเห็นของกาลิเลโอ แตกต่างกับความเห็นของศาสนจักรซึ่งมีความเชื่อถือศรัทธาในศาสนาเป็นที่ตั้ง สมัยนั้นศาสนจักรมีอำนาจมาก ศาสนจักรบังคับให้ กาลิเลโอ ปฏิเสธความเชื่อที่เคยประกาศไว้ แต่ กาลิเลโอ ไม่ยอมละทิ้งความเห็นที่มาจากบทพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ศาลศาสนาจึงมีคำพิพากษากักตัวกาลิเลโอจนกระทั่งถึงแก่ความตาย ความเห็นต่างของ กาลิเลโอ เป็นความเห็นต่างที่สร้างโลก และเป็นความเห็นที่ กาลิเลโอ ยอมตายแต่ไม่ยอมเปลี่ยนความคิดเห็น

เรื่องของ กาลิเลโอ ทำให้ผมนึกถึงสุภาษิตไทย “ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย” แต่ผมขอเพิ่มต่อท้ายสักนิดครับ “.. แต่คนพูดความจริง มักจะตาย”

……. ปีนี้ผมคงแก่ไปเยอะครับ เพราะชอบพูดชอบเขียนรำพึงรำพันแต่เรื่องเก่า ๆ บ่นเป็นหมีกินผึ้งไปเลย….

ไหน ๆ ผมยอมรับว่าแก่แล้ว ก็ขอย้อนความหลังอีกสักครั้ง คราวนี้ ไม่ย้อนไปไกลมากนัก เอาแค่เมื่อ ๒๐ ปีที่ผ่านมาก็พอ….

ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง แกเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ….. ผมไม่บอกว่าเป็นที่ไหนนะครับ…… วันหนึ่ง แกกับคณะลูกน้องหลายคนได้เดินตรวจตราการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม มาถึงสระน้ำขนาดใหญ่ของนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งใช้เป็นบ่อบำบัดน้ำเสียภายในนิคมอุตสาหกรรมด้วย ดินที่ขุดมาก็นำมาใช้ถมที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรม เรียกว่า “ได้กำไรสองต่อ” แกมองเห็นเครื่องสูบน้ำที่ตั้งอยู่ริมสระน้ำ แกก็บอกว่า “เครื่องสูบน้ำตั้งตรงนี้ ไม่สวย น่าจะไปตั้งตรงนั้น” แกชี้มือไปอีกฝากของสระน้ำ ลูกน้องที่ไปด้วยตอบว่า “ครับ” ผมไม่แน่ใจว่าวันนั้นจะมีลูกน้องของแกบอกว่า “ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน” หรือเปล่า แต่ที่แน่ ๆ ลูกน้องของแกย้ายเครื่องสูบน้ำไปตั้งที่แกชี้ไว้

ผลที่เกิดตามมา คือ บริษัทฯต้องสูญเสียเงินเพิ่มขึ้นอีก ๘๐ ล้านบาท ….!!!!!….. อ้าว….. ย้ายเครื่องสูบน้ำเครื่องเดียว ……. ทำไมต้องใช้เงินมากมายขนาดนั้น…. ก็เพราะว่า …… ใต้ดินเครื่องสูบน้ำนั้น มีท่อน้ำที่เชื่อมต่อกับระบบน้ำเสียของโรงงานทุกแห่งในนิคมอุตสาหกรรม เมื่อมีการย้ายเครื่องสูบน้ำไปตั้งที่ใหม่ ทำให้ต้องมีการย้ายท่อน้ำที่เชื่อมต่อกับเครื่องสูบน้ำนี้ ซึ่งมีจำนวนหลายร้อยท่อ ……..

วันนั้น ….. ถ้าลูกน้องของแก….. ไม่ทำตัวเป็น “ลูกขุนพลอยพยัก” ….. ไม่เอาอกเอาใจเจ้านาย….. กล้าท้วงติง….. กล้าแสดงความคิดเห็น….. แม้ความเห็นของตนจะแตกต่างจากความเห็นของเจ้านายก็ตาม…. บริษัทฯคงไม่ต้องสูญเสียเงินมากมายขนาดนี้ ….. อาจนำเงินมาเป็นโบนัสของพนักงานในปีนั้นก็ได้……

…….. นี่แหละ…. ความเห็นที่แตกต่างช่วยสร้างโลก….

เจษฎา อนุจารี
๗ มกราคม ๒๕๕๘

Facebook Comments