“ดูหมิ่นเหยียดหยามศพ”
เป็นกฎหมายใหม่ล่าสุดอีกมาตราหนึ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะนักกฎหมายซึ่งต้องระวังอย่างหนักเวลาคอมเม้นต์อะไรเกี่ยวกับคนตาย
มาตรา ๓๖๖/๔ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศพ ต้องระวางโทษจำคุก…….
______________
มีข้อสังเกตน่าสนใจคือ
๑) ถ้อยคำที่ว่า “กระทำด้วยประการใดๆ” กินความรวมถึงคำพูดในลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยาม ซึ่งน่าจะเทียบได้กับความผิดตามมาตรา ๓๙๓ ศาลฎีกาให้ความหมายของคำว่า “ดูหมิ่น” หมายถึง การด่า ดูถูกเหยียดหยาม หรือสบประมาทให้อับอาย (ฎีกาที่ ๔๓๒๗/๒๕๔๐) เช่น ด่าว่าเป็นตำรวจหมาๆ ตายเสียได้ก็ดี (เทียบฎีกาที่ ๒๒๔๖/๒๕๑๕)
ปัญหาว่า การดูหมิ่นเหยียดหยามศพต้องกระทำต่อหน้าศพหรือไม่ หากเทียบเคียงกับความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งศาลฎีกาเคยวินิจว่า การดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ไม่จำต้องกระทำซึ่งหน้าเหมือนเช่นการดูหมิ่นซึ่งหน้าตามมาตรา ๓๙๓ แม้ทำลับหลังก็เป็นความผิด (ฎีกาที่ ๗๕๘/๒๔๙๘ วินิจฉัยว่า ทนายความที่ถูกศาลปรับ ด่าผู้พิพากษาลับหลังว่า ผู้พิพากษานี้ปรับกูหมื่นห้าได้ กูจะต้องแตะมึง ผิดดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา ๑๓๖)
ฉะนั้น หากใช้ตรรกะเดียวกันกับฎีกาที่ ๗๕๘/๒๔๙๘ การดูหมิ่นเหยียดหยามศพ เมื่อไม่มีองค์ประกอบคำว่าซึ่งหน้าเหมือนเช่นมาตรา ๓๙๓ การดูหมิ่นเหยียดหยามศพลับหลังก็เป็นความผิดได้
ตัวอย่าง
เช่น โพสต์ข้อความในข่าวกรณีตำรวจเสียชีวิตว่า “ตำรวจหมาๆ ตายเสียได้ก็ดี” อาจเป็นความผิดฐานนี้
หรือถ่ายรูปศพประจานออกสื่อสาธารณะ หรือแชร์ภาพศพแล้วเขียนข้อความดูหมิ่น ก็อาจผิดฐานนี้ได้
๒) การกระทำใดๆ ยังรวมถึงการกระทำทางกายภาพอื่นๆ เช่น เช่น เจตนาวางศพในลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยาม ฆ่าแล้วถุยน้ำลายใส่ศพ หรือใช้เท้าเหยียบศีรษะศพ หรือกรณีฆ่าตัดคอนำศีรษะใส่ถุงแล้วเขียนข้อความเยอะเย้ยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็น่าจะเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศพเช่นกัน ฯลฯ
เครดิต เพจ หลักและคำพิพากษากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา