Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ กฎหมายใหม่ ความผิดฐานข่มขืนศพ

กฎหมายใหม่ ความผิดฐานข่มขืนศพ

13042

 

“กระทำชำเราศพ”

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ในอดีตศาลฎีกาเคยตัดสินคดีกระทำชำเราผู้ตายมาแล้ว คือ ฎีกาที่ ๗๑๔๔/๒๕๔๕ โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาฆ่าผู้อื่นและข่มขืนกระทำชำเรา ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษฐานฆ่าผู้อื่น แต่ยกฟ้องฐานข่มขืนกระทำชำเรา เพราะข้อเท็จจริงฟังได้ว่าก่อนข่มขืนกระทำชำเรา ผู้ตายถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว (จำเลยเข้าใจว่าผู้ตายแค่สลบ) การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดไป (อัยการนำฎีกานี้ไปออกสอบ ในปี ๒๕๔๗ วิชากฎหมายอาญา ข้อ ๒)

ปัจจุบัน การกระทำดังกล่าวของจำเลยถือว่าเป็นความผิดฐานกระทำชำเราศพ ตามกฎหมายอาญาที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ เรียกข้อหานี้ว่า ความผิดฐานกระทำชำเราศพ

มาตรา ๓๖๖/๑ ผู้ใดกระทำชำเราศพ ต้องระวางโทษ………

การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของศพ หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของศพ
___________________

ความหมายของการกระทำชำเราตามมาตรานี้ ใช้คำเดียวกับมาตรา ๒๗๗ วรรคสอง ทุกประการ เปลี่ยนเพียงคำว่า “ผู้อื่น” เป็น “ศพ” เท่านั้น ฉะนั้น แนวฎีกาเรื่องการกระทำชำเราบุคคล ยังสามารถเทียบเคียงกับการกระทำชำเราศพได้ทั้งหมด เช่น จำเลยใช้อวัยวะเพศถูไถกับอวัยวะเพศของผู้เสียหายทางด้านนอกเพื่อสำเร็จความใคร่ ผิดอนาจาร (เทียบฎีกาที่ ๒๕๓๐/๒๕๕๔) จะเป็นการกระทำชำเราสำเร็จได้ ต้องถึงขั้นอวัยวะเพศได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของศพ หรือล่วงล้ำเข้าไปในทวารหนักของศพ หรือล่วงล้ำเข้าไปในช่องปากของศพ หากใช้สิ่งอื่นใด สิ่งอื่นใดนั้นก็ต้องมีการล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศ หรือทวารหนักของศพเช่นกัน (เทียบฎีกาที่ ๔๑๖๔/๒๕๕๕)

อีกข้อหาหนึ่งเรียกว่า “กระทำอนาจารศพ”

มาตรา ๓๖๖/๒ ผู้ใดกระทำอนาจารแก่ศพ ต้องระวางโทษ……
____________

“กระทำอนาจาร” หมายถึง กระทำต่อเนื้อตัวร่างกายที่ไม่สมควรทางเพศ เช่น การกอดจูบ ลูบคลำ สัมผัสอวัยวะเพศของศพ (เทียบฎีกาที่ ๕๐๑/๒๕๐๓, ๑๓๑๖/๒๕๐๘, ๒๓๓๔/๒๕๒๕) ใช้อวัยวะเพศถูไถกับอวัยวะเพศของศพทางด้านนอกเพื่อสำเร็จความใคร่ ผิดอนาจาร (เทียบฎีกาที่ ๒๕๓๐/๒๕๕๔) “กระทำชำเราศพแล้ว ไม่ผิดอนาจารอีกบทหนึ่ง เช่น จับแขนศพเพื่อกระทำชำเรา ไม่เป็นการอนาจารอีกบทหนึ่ง (เทียบฎีกาที่ ๕๒๗/๒๕๑๘)

ข้อสังเกต

ความผิดเกี่ยวกับศพตั้งแต่มาตรา ๓๖๖/๑ –๓๖๖/๔ อยู่ในลักษณะที่ ๑๓ ซึ่งกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ยอมความได้ ฉะนั้น จึงไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว แต่ถือเป็นความผิดต่อแผ่นดิน รัฐจึงเป็นผู้เสียหาย ฉะนั้น บุคคลใดที่พบเห็นการกระทำ หรือผู้ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสถานที่จัดเก็บศพ ก็สามารถกล่าวโทษ (แจ้งความ) ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีได้ และแม้ไม่มีผู้ใดมากล่าวโทษ พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนได้เอง (ในทางปฏิบัติ พนักงานสอบสวนจะจัดให้มีผู้กล่าวโทษ อาจกล่าวโทษเองหรือให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้หนึ่งผู้ใดกล่าวโทษก็ได้ เพื่อเสนอผู้บังคับบัญชาอนุญาตให้ตั้งสำนวนสอบสวน)

 

เครดิตหลักและคำพิพากษากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

Facebook Comments