Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ บทวิเคราะห์ฎีกาใหม่ ข้อหาพยายามลักทรัพย์

บทวิเคราะห์ฎีกาใหม่ ข้อหาพยายามลักทรัพย์

18890

 

ฎีกาใหม่ล่าสุดเรื่องนี้น่าสนใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องพยายามลักทรัพย์ มีความซับซ้อนของประเด็นปัญหา แต่ไม่ยากที่จะทำความเข้าใจ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

หลักกฎหมาย

มาตรา 335 ผู้ใดลักทรัพย์
(8) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้ บริการสาธารณที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ ในสถานที่นั้น 

คำพิพากษาฎีกา

ฎีกาที่ ๓๑๕๓/๒๕๕๗ จำเลยลักลอบเข้าไปใต้ถุนบ้านผู้เสียหายและขึ้นไปรื้อค้นสิ่งของบนระเบียงชั้นบนของบ้านผู้เสียหาย ขณะไม่มีบุคคลใดอยู่ที่บ้าน ส่อเจตนาไม่สุจริตอยู่ในตัว ลักษณะการรื้อค้นของจำเลยเห็นได้ชัดเจนว่า จำเลยรื้อค้นลิ้นชักพลาสติกที่เชิงบันใดซึ่งมี ๔ ลิ้นชัก โดยเมื่อค้นลิ้นชักอันบนสุดพบกระเป๋าสะพายสีดำและกระเป๋าสตางค์ใบเล็ก จำเลยก็ดึงออกมาจากลิ้นชักแล้วค้นหาสิ่งของในกระเป๋าสะพายและกระเป๋าสตางค์ดังกล่าว ต่อจากนั้นจำเลยเดินขึ้นบันใดไปบนระเบียงชั้นบนของบ้านและค้นหาสิ่งของที่กองเครื่องมือของใช้ที่วางอยู่บนระเบียงเป็นเวลานาน แล้วกลับลงมารื้อค้นสิ่งของที่ลิ้นชักพลาสติกชั้นอื่นทุกลิ้นชัก เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาค้นหาเงินและของมีค่าอื่นในจุดที่จำเลยคาดว่าผู้เสียหายหรือบุคคลในครอบครัวผู้เสียหายน่าจะเก็บซุกซ่อนไว้ แต่จากภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวไม่ปรากฏภาพให้เห็นว่าจำเลยพบธนบัตร ๑,๐๐๐ บาท จำนวน ๒๐ ฉบับ ในกระเป๋าสะพายสีดำที่ผู้เสียหายอ้างว่านำธนบัตรมาเก็บไว้แต่อย่างใด จึงไม่พอฟังว่าจำเลยเอาธนบัตร ๒๐,๐๐๐ บาทของผู้เสียหายไป แต่พฤติการณ์ในการตรวจค้นสิ่งของดังกล่าวฟังได้ว่ามีเจตนาค้นหาและประสงค์จะลักเงินของผู้เสียหายไปนั่นเอง ถือว่าจำเลยลงมือกระทำผิดและกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ เป็นพยายามลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา ๓๓๕ (๘) วรรคแรก ประกอบมาตรา ๘๑
______________

บทวิเคราะห์ คำพิพากษาฎีกา

ข้อที่น่าสนใจคือ เพราะเหตุใดศาลฎีกาปรับเป็นพยายามตามมาตรา ๘๑

หลักกฎหมาย  ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 80 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายาม กระทำความผิด
ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองใน สามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา 81 ผู้ใดกระทำการโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็น ความผิด แต่การกระทำนั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะ เหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำหรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ ให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทำความผิด แต่ให้ลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่ง ของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
ถ้าการกระทำดังกล่าวในวรรคแรกได้กระทำไปโดยความเชื่ออย่างงมงาย ศาลจะไม่ลงโทษก็ได้

ข้อแตกต่างของพยายามตามมาตรา ๘๐ กับมาตรา ๘๑ คือ หากการไม่บรรลุผลเป็นเรื่องบังเอิญ ถือว่าเป็นพยายามตามมาตรา ๘๐ เช่น จำเลยจุดไปเผาพื้นปูนซีเมนต์บ้าน แต่ไม่ติดไฟ เป็นเรื่องบังเอิญ (เพราะอาจจุดติดไฟก็ได้) เป็นพยายามตามมาตรา ๘๐ ไม่ใช่มาตรา ๘๑ (ฎีกาที่ ๒๗๕๗/๒๕๕๒) ยิงปืนใส่ผู้เสียหาย แต่กระสุนปืนไม่ลั่นเนื่องจากดินปืนมีความชื้น (หากไม่ชื้น กระสุนปืนอาจลั่นก็ได้) เป็นพยายามตามมาตรา ๘๐ (ฎีกาที่ ๒๘๙๔/๒๕๕๕)

แต่หากไม่บรรลุได้อย่างแน่แท้ คือ ทำอย่างไรก็ไม่บรรลุผล ถือเป็นพยายามตามาตรา ๘๑ เช่น ใช้ปืนที่ไม่ได้บรรจุกระสุนยิงผู้เสียหาย (ยิงอย่างไรก็ไม่มีทางตาย) เป็นพยายามตามมาตรา ๘๑ (ฎีกาที่ ๑๘๓๗/๒๕๓๑) ยิงตอไม้โดยเข้าใจว่าเป็นผู้เสียหาย (ยิงอย่างไรก็ไม่มีทางที่ผู้เสียหายจะได้รับอันตราย) เป็นพยายามตามมาตรา ๘๑ (จิตติ ติงศภัทิย์)

ก่อนหน้านี้มีฎีกา ๒ ฉบับ คือ ฎีกาที่ ๑๘๕๗/๒๕๓๐ วินิจฉัยว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านผู้เสียหายซึ่งเป็นร้านค้าขายของด้วย แล้วเข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ในห้องนอนของผู้เสียหายซึ่งเก็บเงินสดสร้อยคอทองคำและแหวนทองคำ แม้จำเลยไม่แตะต้องตัวทรัพย์ ก็เป็นพยายามตามมาตรา ๘๐ คดีนี้ ศาลฎีกาปรับมาตรา ๘๐ เนื่องจากโจทก์บรรยายฟ้องว่า มีเงินสดและสร้อยคอทองคำแหวนทองคำอยู่ในภายห้องนอน แสดงว่า หากจำเลยไม่ถูกพบเห็นก่อน จำเลยสามารถลักสิ่งของมีค่าดังกล่าวได้ ฉะนั้น การไม่บรรลุผลของจำเลยจึงเป็นเรื่องบังเอิญ (เพราะหากไม่บังเอิญถูกจับก็สามารถลักเอาของมีค่าอื่นๆ ได้)

ฎีกาที่ ๒๓๘๕/๒๕๓๔ จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายเพื่อจะลักทรัพย์แต่ผู้เสียหายตื่นขึ้นมาพบจำเลยเสียก่อน เป็นพยายามตามมาตรา ๘๐ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องเพียงกว้างๆ ว่าจำเลยเข้าไปในบ้านเพื่อลักทรัพย์ของผู้เสียหาย ฉะนั้น การที่จำเลยถูกจับก่อน ก็ถือว่าการกระทำของจำเลยไม่บรรลุผลเพราะเป็นเรื่องบังเอิญเช่นกัน (เพราะหากไม่ถูกจับก่อนก็สามารถลักสิ่งของมีค่าอย่างอื่นๆ ได้)

ดังนั้นในส่วน

ส่วนฎีกาล่าสุดฉบับนี้ โจทก์บรรยายฟ้องเจาะจงว่า จำเลยเข้าไปลักเงินสด ๒๐,๐๐๐ บาท ในบ้านผู้เสียหาย (ไม่ได้บรรยายว่าจะเข้าไปลักทรัพย์ของมีค่าอย่างอื่น ต่างจากฎีกาที่ ๑๘๕๗/๒๕๓๐ ที่โจทก์บรรยายว่าเข้าไปในบ้านเพื่อลักของมีของมีค่าอย่างอื่นด้วย ส่วนฎีกาที่ ๒๓๘๕/๒๕๓๔ โจทก์บรรยายฟ้องกว้างๆ ว่าเข้าไปลักทรัพย์)

คดีนี้ศาลฎีกาพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยว่า (สังเกตตรงนี้ ศาลฎีกาใช้คำนี้) “เห็นได้ชัดเจนว่า….จำเลยต้องการเข้าไปลักเงินของผู้เสียหายเท่านั้น” แสดงว่าเงินสดเป็นวัตถุที่จำเลยมุ่งหมายกระทำต่อ ฉะนั้น เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า มีเงินสดจำนวนดังกล่าวอยู่ในบ้านจริง จึงเป็นเรื่องไม่บรรลุผลได้อย่างแน่แท้ (เพราะรื้อค้นอย่างไรก็ไม่มีทางได้เงินสดจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ไป) การกระทำของจำเลยจึงเป็นพยายามตามมาตรา ๘๑

ปล.ฎีกานี้มีหมายเหตุของท่านอาจารย์เกีรยติขจร

 

เครดิต หลักและคำพิพากษากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

Facebook Comments