Home ทริบเทคนิค/บทความ วิธีท่องตัวบท ของผู้เตรียมสอบอัยการผู้พิพากษา

วิธีท่องตัวบท ของผู้เตรียมสอบอัยการผู้พิพากษา

23215

 

ถาม ผมกำลังสอบอัยการ ไม่ทราบมีวิธีการท่องตัวบทไหมครับ

ตอบ การท่องตัวบทไม่น่าจะมีใครสอนวิธีท่องกันได้ แต่ก็ยังมีหนังสือเล่มหนึ่งอุตสาห์เขียนขึ้นมาจนได้ ลองอ่านดูครับ

การท่องตัวบทจะให้ผลสัมฤทธิ์นั้น คนที่ประสบความสำเร็จสามารถจำได้ถึงขนาด เมื่อเห็นประเด็นปัญหาแล้วเขียนออกมาได้ทันทีว่า ตัวบทมีว่าอย่างไร โดยไม่ต้องใช้เวลาคิด เพราะข้อสอบ ๑ ข้อ เรามีเวลาเพียง ๒๔ นาที แต่ละข้อมีประเด็นโดยเฉลี่ยประมาณ ๕ ประเด็น หักเวลาที่เราอ่านข้อสอบ ๑ ข้อประมาณ ๓-๕ นาที เราจะมีเวลาเหลือเขียนคำตอบได้ไม่ถึง ๔ นาทีต่อประเด็นเท่านั้น ฉะนั้น การท่องตัวบท จะต้องจดจำหลักการของกฎหมายได้ถึงขนาด “ไม่มีต้องเสียเวลาคิด”
ข้อสอบผู้ช่วยฯ บางปีมีคำถามยาวมาก เรามีเวลาอ่านเพียงรอบเดียวเท่านั้น อ่านเสร็จเพียงเสี้ยววินาที เราต้องรู้ทันทีว่าประเด็นที่ถามคืออะไร มีกี่ประเด็น ประเด็นใหญ่อยู่ไหน ใช้หลักอะไรมาตอบ จะใช้เหตุผลอย่างไร มีฎีกาสนับสนุนหรือไม่ เราต้องอ่านไปต้องคิดไปเท่านั้นถึงจะทัน

การท่องตัวบทที่ถูกต้อง ควรเป็น “การท่องในใจ” เพราะจะทำให้สมาธิเราจินตนาการถึงเหตุและผลของหลักกฎหมายไปด้วย แต่หากเราท่องออกเสียงจะทำให้สมาธิเราจดจ่อกับการฟังเสียงและทำให้ต้องใช้พลังงานมาก เราจะรู้สึกเหนื่อยเร็ว แต่ก็อยู่ที่ความถนัดของแต่ละคนเช่นกันเพราะบางคนชอบเหนื่อย สนุกดีไปอีกแบบ
มาตราไหนต้องท่องให้ทำเครื่องหมายไว้แบบหนึ่ง มาตราไหนที่ต้องอ่านให้ทำเครื่องหมายไว้อีกแบบเพื่อแยกให้ชัดเจน เพราะเมื่อใกล้วันสอบ เราต้องท่องเฉพาะมาตราที่ทำเครื่องหมายว่า “ต้องท่อง” เท่านั้น

ตัวบทที่ควรท่องคือ ตัวบทในมาตราที่เป็นสำนวนกฎหมาย มีถ้อยคำเป็นความหมายอย่างกว้างและตีความได้หลายนัย ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา” ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๙ “นิติกรรม หมายความว่า การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ” เป็นต้น

การท่องตัวบทให้ท่องเฉพาะมาตราที่สำคัญเท่านั้น โดยให้ท่องควบคู่ไปกับการอ่านตัวบท มาตราไหนสำคัญให้เราท่อง แต่มาตราไหนสำคัญน้อยลงมาหรืออาจไม่สำคัญให้เราอ่าน (เพื่อให้รู้หลัก) ซึ่งในการตรวจสอบว่ามาตราไหนสำคัญ มาตราไหนสำคัญน้อยลงมาหรือไม่สำคัญ ลองตรวจสอบง่ายๆ จากข้อสอบเก่าของทั้งในระดับเนติบัณฑิตและผู้ช่วยฯ หากเป็นมาตราที่เคยใช้ออกสอบมาบ้าง แม้เคยออกสอบเพียงครั้งเดียวก็น่าจะท่องไว้ เพราะอาจมีประเด็นอื่นที่ซ่อนอยู่อีกในวรรคอื่นๆ หรือหากมาตราที่ออกสอบบ่อยครั้ง แม้ไม่ทุกปี เราก็ควรท่องไว้

และสุดท้ายคือหากเป็นมาตราที่ออกสอบบ่อยครั้งที่สุดอย่างนี้ “ต้องท่องให้ขึ้นใจ” เอาให้ได้สำนวนภาษา สรุปง่ายๆ อีกครั้งว่า ออกบ้าง – น่าจะท่อง ออกบ่อย-ควรท่อง และออกบ่อยที่สุด-ต้องท่อง

จากหนังสือ “ความลับสู่ความสำเร็จ ผู้พิพากษา” แอดมินเขียนไว้นานแล้ว

เครดิต หลักและคำพิพากษา/กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

Facebook Comments