Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ร่างกฎหมายใหม่ ให้ตำรวจมีอำนาจดักฟัง

ร่างกฎหมายใหม่ ให้ตำรวจมีอำนาจดักฟัง

3355

 

ร่างแก้ไข วิ.อาญาฯ (ดักฟัง)คลิกเพื่ออ่าน.pdf

 

                ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฎหมายที่ใช้สำหรับการสืบสวนสอบสวน และดำเนินคดีอาญาผู้กระทำความผิด และยังทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการที่รัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ อัยการและศาล ดำเนินการกับผู้ต้องสงสัยหรือผู้กระทำความผิด เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องสงสัยในคดีอาญาให้มีสิทธิต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

                ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่  ..) พ.ศ. …. (ร่างแก้ไข วิ.อาญาฯ) เป็นหนึ่งใน “ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล 10+3 ฉบับ” ที่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยการผลักดันของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเพิ่มเติม 3 มาตราสำคัญ ที่อาจเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาไปอย่างมาก
กล่าวคือ
มาตรา 131/2 เกี่ยวกับให้อำนาจตำรวจดักฟัง
มาตราเพิ่มมาตรา 133/1
และมาตรา 233/1
เพิ่มมาตรา 131/2 ให้อำนาจตำรวจดักฟัง
                ตามกฎหมายปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วไปไม่ว่าจะมียศใหญ่โตแค่ไหน ก็ไม่มีอำนาจดักฟังโทรศัพท์ หรือดักข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชน ยกเว้นเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งมีอำนาจในการขอข้อมูลการใช้งานคอมพิวเตอร์ของผู้ต้องสงสัย หรือเป็นเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ซึ่งมีอำนาจดักฟังโทรศัพท์และดักข้อมูลการสื่อสารต่างๆ ได้
               ร่างแก้ไข วิ.อาญาฯ เพิ่ม มาตรา 131/2 ให้อำนาจดักข้อมูลเพื่อป้องกันปราบปรามการกระทำความผิด การรวบรวมหลักฐานในคดีอาญาทั่วไป และการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย โดยกำหนดว่า
                “มาตรา 131/2 ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งการสืบสวนคดีความมั่นคงของรัฐ ความผิดที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม หรือที่ยุ่งยากซับซ้อน  พนักงานสอบสวนโดยอนุมัติของผู้บังคับการ ซึ่งเป็นหัวหน้าของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบอาจยื่นคำร้องขอต่ออธิบดีผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล เพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตในการเข้าถึงและได้มาซึ่งข้อมูลอิเล็คทรอนิคส์หรือข้อมูลข่าวสารใดๆ เช่น การตรวจสอบหรือการดักรับข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลการติดต่อสื่อสาร หรือข้อมูลทางการเงิน ของบุคคลที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้นได้ …”
                ร่างแก้ไข วิ.อาญาฯ ฉบับนี้ กำหนดว่า ในการจะดักข้อมูลการสื่อสารของประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องขออนุมัติจากผู้บังคับการ และยื่นคำร้องขอต่อผู้พิพากษาซึ่งดำรงตำแหน่งสูงสุดในเขตท้องที่นั้นๆ พร้อมระบุเหตุผลความจำเป็น และวิธีการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนด้วย คำสั่งอนุญาตของศาลก็จะอนุญาต เป็นคราวๆ คราวละไม่เกิน 15 วัน ไม่เกินสี่คราว ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรศาลอาจขยายระยะเวลาให้ได้ แต่รวมแล้วต้องไม่เกินเก้าสิบวัน
ข้อสังเกตประการแรก ร่างมาตรานี้ ยังไม่ให้ความชัดเจนว่าความผิดอาญาฐานใดบ้างที่เข้าข่ายการถูกดักรับข้อมูล ร่างมาตราเพียงกำหนดว่าความผิดที่อาจเข้าข่ายถูกดักรับข้อมูลได้ คือ (1) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ (2) ความผิดที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม (3) ความผิดที่มีลักษณะยุ่งยากซับซ้อน
ทั้งที่การเขียนกฎหมาย โดยระบุฐานความผิดที่จะให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจดักข้อมูลให้ชัดเจนนั้นไม่ใช่เรื่องยาก สามารถระบุเป็นรายมาตราในประมวลกฎหมายอาญา หรือพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง หรือระบุเป็นหมวดความผิดให้เห็นชัดเจนก็ได้ การที่ร่างกฎหมายยังเปิดกว้างไว้เช่นนี้ย่อมเสี่ยงต่อการถูกตีความเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจเกินขอบเขตได้
ข้อสังเกตประการที่สอง ร่างมาตรานี้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานในการดักรับข้อมูลที่ค่อนข้างกว้าง ยังขาดระเบียบวิธีการจัดการและมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยของข้อมูลที่ได้มาอย่างเป็นรูปธรรม ประเด็นข้อถกเถียงสำคัญ คือ มาตรการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่สามซึ่งมิได้มีส่วนร่วมในความผิด แต่มีส่วนร่วมในการถูกดักฟังด้วย
ข้อสังเกตประการที่สาม การดักรับข้อมูลการสื่อสารของประชาชนอาจจะเกิดขึ้นแม้ในกรณีที่เพียงมีเหตุสงสัย โดยยังไม่จำเป็นต้องมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริงๆ เพราะเงื่อนไขหนึ่งที่ศาลจะสั่งอนุญาตให้ดักรับข้อมูลได้ คือ จะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลอันเป็นประโยชน์ในการ “ป้องกัน” ก่อนที่จะมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น การดักรับข้อมูลจึงไม่ใช่อำนาจที่ทำได้เฉพาะเพื่อการตามหาตัวผู้ต้องสงสัยหลังเกิดการกระทำความผิดขึ้นแล้วเท่านั้น
ข้อสังเกตประการที่สี่ การให้ศาลเป็นองค์กรถ่วงดุลเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะจากงานวิจัยผลกระทบจากการบังคับใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พบว่า ในทางปฏิบัติเมื่อเจ้าหน้าที่ขออนุญาตศาลเพื่อปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ ศาลทำงานในลักษณะคล้าย “ตรายาง” คือ มีคำสั่งอนุญาตตามที่ขอมาทั้งหมด บางครั้งมีคำขอปิดกั้นเว็บไซต์จำนวนหลายพันยูอาร์แอล ศาลก็สั่งอนุญาตภายในวันเดียวกัน จึงชวนให้ตั้งคำถามถึงกลไกการถ่วงดุลโดยใช้ศาลเพียงองค์กรเดียว ว่าเพียงพอที่จะตรวจสอบเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้วหรือไม่
ร่างแก้ไข วิ.อาญาฯ มาตรานี้ ยังต้องทำการบ้านอีกหลายชิ้นเพื่อหาจุดสมดุล ระหว่างการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชนและการควบคุมอาชญากรรมเพื่อความมั่นคงของรัฐ
หากร่างแก้ไข วิ.อาญาฯ ฉบับนี้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็น่าติดตามต่อไปในอนาคตว่า จะมีการแก้ไขปรับปรุงรายละเอียดต่างๆ ที่ยังคลุมเครือไม่ชัดเจน หรือจะมีการเปิดให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นมากน้อยเพียงใด
เครดิต ilaw.or.th
ผู้ให้ข้อมูล เกรียงศักดิ์ นวลศรี
นบ. นบท. ทนายความ และผู้เขียนบทความใน ตั๋วทนาย.com
Facebook Comments