Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ร่างกฎหมายใหม่ จำเลยให้การปฏิเสธลอย(ไม่ตอบ) ไม่ให้รับฟังหรือรับฟังเป็นผลร้าย

ร่างกฎหมายใหม่ จำเลยให้การปฏิเสธลอย(ไม่ตอบ) ไม่ให้รับฟังหรือรับฟังเป็นผลร้าย

5733

 

ร่างแก้ไข วิ.อาญาฯ (ปฎิเสธลอย)คลิกเพื่ออ่าน.pdf

หากใช้สิทธิไม่ตอบคำถาม ให้สันนิษฐานเป็นผลร้ายไว้ก่อน

                ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฎหมายที่ใช้สำหรับการสืบสวนสอบสวน และดำเนินคดีอาญาผู้กระทำความผิด และยังทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการที่รัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ อัยการและศาล ดำเนินการกับผู้ต้องสงสัยหรือผู้กระทำความผิด เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องสงสัยในคดีอาญาให้มีสิทธิต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

                ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่  ..) พ.ศ. …. (ร่างแก้ไข วิ.อาญาฯ) เป็นหนึ่งใน “ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล 10+3 ฉบับ” ที่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยการผลักดันของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเพิ่มเติม 3 มาตราสำคัญ ที่อาจเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาไปอย่างมากกล่าวคือ
2.มาตราเพิ่มมาตรา 133/1
3.และมาตรา 233/1
เพิ่มมาตรา 133/1 และ 233/1 หากใช้สิทธิไม่ตอบคำถาม ให้สันนิษฐานเป็นผลร้ายไว้ก่อน
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาปัจจุบัน “สิทธิที่จะไม่ให้การ” เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญของผู้ต้องหา ตามมาตรา 134/4 เพื่อคุ้มครองผู้ต้องหาในกรณีที่ยังไม่พร้อมจะให้การเพราะยังต้องการเวลาปรึกษาทนายความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม หรือเพราะยังอยู่ในอาการตกใจจากการถูกจับ เพื่อคุ้มครองไม่ให้ผู้ต้องหาเผลอให้การเป็นผลร้ายกับคดีของตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ ในทางปฏิบัติผู้ต้องหาจำนวนไม่น้อยเลือกใช้สิทธิปฏิเสธและไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับรายละเอียดใดๆ เลยในชั้นสอบสวน หรือที่เรียกว่า “ปฏิเสธลอย” เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวให้พร้อมก่อนและจะไปให้การต่อสู้คดีโดยละเอียดในชั้นศาล
ร่างแก้ไข วิ.อาญา มาตรา 233/1 เปลี่ยนหลักการดังกล่าวในสาระสำคัญ
                “มาตรา 233/1 ในกรณีที่จำเลยเบิกความในชั้นพิจารณา โดยนำเสนอข้อเท็จจริงหรือหลักฐานใดๆ ในประเด็นที่พนักงานสอบสวนได้ซักถามไว้แล้วในชั้นสอบสวน แต่จำเลยใช้สิทธิไม่ต้อบคำถามหรือไม่ให้การในชั้นสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการตามมาตรา 133/1 แล้ว หากพนักงานอัยการได้โต้แย้งคัดค้านแล้ว ให้ศาลไม่รับฟังพยานหลักฐานของจำเลย หรือให้รับฟังพยานหลักฐานเป็นผลร้ายแก่จำเลยว่า พยานหลักฐานของจำเลยไม่น่าเชื่อถือ”
หมายความว่า หากจำเลยใช้สิทธิที่จะไม่ให้การในชั้นสอบสวน หรือไม่ตอบคำถามในประเด็นใดๆ แล้วจำเลยยกข้อเท็จจริงในประเด็นนั้นๆ ขึ้นต่อสู้ในชั้นศาล ร่างกฎหมายนี้ให้อำนาจพนักงานอัยการคัดค้านได้ หากคัดค้านแล้ว พยานหลักฐานที่จำเลยยกขึ้นมาในชั้นศาลนั้นศาลจะต้องไม่รับฟัง หรือรับฟังว่าไม่น่าเชื่อถือ
นอกจากแก้ไขหลักการรับฟังพยานหลักฐานในชั้นศาลแล้ว ร่างแก้ไข วิ.อาญาฯ ฉบับนี้ ยังเพิ่มมาตรา 133/1 เข้ามาเพื่อให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบก่อนการสอบสวนด้วยว่า หากใช้สิทธิไม่ให้การ หรือไม่ตอบคำถามใด การใช้สิทธินั้นอาจเป็นผลร้ายในชั้นศาลได้
                “มาตรา 133/1 ในการถามปากคำบุคคลใด …. ให้แจ้งบุคคลนั้นด้วยว่า หากพนักงานสอบสวนได้ถามปากคำในประเด็นใด บุคคลนั้นหรือผู้ต้องหามีสิทธิที่จะไม่ตอบคำถาม หรือให้การในประเด็นนั้นก็ได้ แต่การไม่ตอบคำถามหรือให้การในประเด็นดังกล่าวนั้น หากภายหลังบุคคลหรือผู้ต้องหานั้น  ถูกฟ้องดำเนินคดีเป็นจำเลยแล้ว  ได้นำประเด็นที่ไม่ได้ตอบหรือให้การไว้นั้นยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นพิจารณา  ให้ศาลมีอำนาจสันนิษฐานเป็นผลร้ายแก่จำเลย และศาลจะไม่รับฟังพยานหลักฐานของจำเลยในชั้นพิจารณานั้นได้  หากพนักงานสอบหรืออัยการได้โต้แย้งคัดค้านไว้”
ข้อสังเกตประการแรก ร่างแก้ไข วิ.อาญาฯ ฉบับนี้ เปลี่ยนแปลงหลักการเรื่องสิทธิที่จะไม่ให้การของผู้ต้องหาในสาระสำคัญ หากร่างกฎหมายนี้ประกาศใช้ ถึงแม้ผู้ต้องหาจะยังมีสิทธิที่จะไม่ให้การ หรือไม่ตอบคำถามในชั้นสอบสวน ตามมาตรา 134/4 อยู่เช่นเดิม แต่ผู้ต้องหาก็แทบไม่มีโอกาสกล่าวถึงประเด็นนั้นๆ ในชั้นศาลอีกต่อไป ดังนั้น ผู้ต้องหาทุกคนจึงเหมือนถูกบังคับให้ต้องตอบคำถามเจ้าหน้าที่ตำรวจในชั้นสอบสวนทุกคำถาม
ร่างแก้ไข วิ.อาญาฯ ฉบับนี้ยังไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น สภาวะทางอารมณ์ของผู้ต้องหาขณะถูกสอบสวน ความพร้อมที่จะจดจำข้อเท็จจริงทั้งหมดให้ได้ในขณะนั้น ความรู้ทางด้านกฎหมาย และความพร้อมจากการปรึกษาทนายความและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อน
ข้อสังเกตประการที่สอง ร่างฉบับนี้ให้อำนาจดุลพินิจอยู่ที่พนักงานอัยการ แต่ไม่ให้ศาลมีดุลพินิจเลย โดยกำหนดให้เป็นอำนาจของอัยการในการโต้แย้งคัดค้าน หากอัยการคัดค้านในกรณีใดร่างฉบับนี้กำหนดว่าศาลต้องไม่รับฟังพยานหลักฐานนั้น โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานในกรณีที่จำเป็นเพื่อความยุติธรรมของแต่ละคดีเลย
หากร่างแก้ไข วิ.อาญาฯ ฉบับนี้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็น่าติดตามต่อไปในอนาคตว่า จะมีการแก้ไขปรับปรุงรายละเอียดต่างๆ ที่ยังคลุมเครือไม่ชัดเจน หรือจะมีการเปิดให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นมากน้อยเพียงใด
เครดิต ilaw.or.th
ผู้ให้ข้อมูล เกรียงศักดิ์ นวลศรี
นบ. นบท. ทนายความ และผู้เขียนบทความใน ตั๋วทนาย.com
Facebook Comments