Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ วิธีให้การ เมื่อถูกฟ้องคดีอาญา พร้อมเทคนิควิธีลดโทษ

วิธีให้การ เมื่อถูกฟ้องคดีอาญา พร้อมเทคนิควิธีลดโทษ

17566

 

 

ทราบไหมว่า ในคดีอาญา จำเลยมีสิทธิให้การแบบไหนบ้าง หากคุณต้องไปในนัดแรกที่ยังไม่สามารถพบหรือปรึกษาทนายความได้มีคำแนะนำในการให้การดังนี้ด้วยกัน 4 วิธี

๑) ให้การปฏิเสธ
ในกรณีนี้ จำเลยอาจแถลงต่อศาลให้การปฏิเสธตรงไปตรงมาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องแถลงเหตุผลของการปฏิเสธ หรือหากจำเลยจะไม่ยอมให้การใดๆ ก็ได้ ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธเช่นกัน (ฎีกาที่ ๒๘๒๓-๒๘๒๔/๒๕๑๖)

๒) ให้การรับสารภาพ
ในกรณีนี้ จำเลยต้องรับสารภาพโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เช่น รับสารภาพตามฟ้องทุกประการ รับสารภาพตลอดข้อหา หากรับสารภาพโดยมีเงื่อนไข เช่น รับสารภาพเพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากแก่คดี ไม่ถือว่าให้การรับสารภาพ (ฎีกาที่ ๑๓๑๘/๒๕๒๓)

จำเลยบางคนอายที่จะรับสารภาพต่อหน้าญาติพี่น้อง ลูกเมียตัวเอง ไปรับว่า “ขอรับก็ได้” อย่างนี้ไม่ได้ ถ้ารับต้องรับสารภาพ “จะรับสารภาพก็ได้” ศาลถือว่า ไม่เต็มใจรับสารภาพ จะกลายเป็นปฏิเสธไป (กรณีเช่นนี้ ในทางปฏิบัติศาลจะสอบถามเพื่อให้จำเลยยืนยันอีกครั้งว่า จะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ หากจำเลยยืนยันข้อความเหมือนเดิมอีกครั้ง (ทำนองมีเงื่อนไข) ศาลจะบันทึกว่า “จำเลยให้การรับสารภาพโดยมีเงื่อนไข ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ”)

เทคนิควิธีลดโทษ

หากรับสารภาพก่อนสืบพยาน ปกติศาลจะลดโทษให้กึ่งหนึ่ง หากรับหลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว ศาลอาจอาจลดให้ ๑ ใน ๓ หรือลดให้ ๑ ใน ๔ แต่หากรับหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จ แบบนี้ศาลไม่ลดให้ เพราะเท่ากับขอดูหน้าไพ่โจทก์หมดแล้ว (พอรู้ว่าสู้ไม่ได้จึงรับสารภาพ)

๓) ให้การภาคเสธ
หมายถึง จำเลยรับข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ แต่ต่อสู้ในข้อกฎหมาย เช่น จำเลยกระทำไปเพื่อป้องกันตัว ซึ่งในทางกฎหมายแล้ว การที่จำเลยให้การว่าเป็นการป้องกันตัว ถือเท่ากับจำเลยให้การปฏิเสธ เป็นหน้าที่โจทก์ที่จะต้องสืบพยานว่าจำเลยกระทำผิดจริง (ฎีกาที่ ๑๕๕๐/๒๔๙๕)

๔) ให้การตัดฟ้องโจทก์
หมายถึง ให้การตัดฟ้องว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์, โจทก์บรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิด (ฎีกาที่ ๑๐๓๓/๒๕๒๗) โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าจำเลยเบียดบังทรัพย์อย่างไร ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม (ฎีกาที่ ๑๐๕๗/๒๕๑๔)

 

เครดิต เพจ หลักและคำพิพากษากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

Facebook Comments