Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ สาระสำคัญ พรบ.อุ้มบุญ

สาระสำคัญ พรบ.อุ้มบุญ

6240

 

ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์.PDF

วัตถุประสงค์ของร่างพ.ร.บ.
เพื่อกำหนดสถานะความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ให้เหมาะสม และควบคุมการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เกี่ยวกับตัวอ่อนและเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์มิให้มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง

สาระสำคัญของกฎหมาย
         1. ให้มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคพ.) เป็นองค์กรหลักซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ส่งเสริมสนับสนุน และควบคุมตรวจสอบการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ อีกทั้งยังมีอำนาจให้ความเห็นชอบการออกประกาศเกี่ยวกับการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของแพทยสภาด้วย (ม.7)
         โดย กคพ. มีปลัดกระทรวงสาธารณะสุข เป็นประธาน และประกอบด้วยบุคคลจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายกแพทยสภา ผู้แทนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกรมอนามัย ผู้แทนคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คน (ม.6)
         2. เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ หมายถึง กรรมวิธีใดๆทางวิทยาศาสตร์ที่นำอสุจิและไข่ออกจากร่างกายมนุษย์ เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่เป็นไปตามธรรมชาติ รวมทั้งการผสมเทียม (ม.3) ตัวอย่างเช่น การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) การทำกิฟท์ (GIFT) การทำอิ๊กซี่ (ICSI) เป็นต้น
         3. การผสมเทียม คืออะไร?
         การผสมเทียม คือ การนำอสุจิเข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของหญิง เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์โดยไม่มีการร่วมประเวณี โดยการผสมเทียมจะต้องกระทำต่อหญิงที่มีสามีโดยชอบด้วยกฎหมาย หมายความว่า กฎหมายอนุญาตให้ดำเนินการผสมเทียมให้แก่สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย (จดทะเบียนสมรส) เท่านั้น ดังนั้นหญิงโสดจึงไม่สามารถมีบุตรโดยอาศัยการผสมเทียมได้ ทั้งนี้อสุจิอาจเป็นของสามีหรือเป็นของผู้บริจาคก็ได้ หากต้องการใช้อสุจิของผู้บริจาคสามีภริยาจะต้องให้ความยินยอมเป็นหนังสือ (ม.19, ม.20)
         4. การอุ้มบุญที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องทำอย่างไร? 
การตั้งครรภ์แทน หรือ การอุ้มบุญ คือ การตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์โดยนำตัวอ่อนที่เกิดจากไข่และอสุจิของสามีภริยา หรือ ตัวอ่อนที่เกิดจากไข่หรืออสุจิของสามีภริยา กับ ไข่หรืออสุจิของผู้อื่น (แต่ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน) เข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของหญิงอื่นเพื่อให้ตั้งครรภ์แทน (ม.22)
         • สามีภริยาที่มีสิทธิดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน : ต้องเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย (จดทะเบียนสมรส) และมีความพร้อมที่จะเป็นบิดามารดาของเด็ก ดังนั้น หญิงโสด ชายโสด ชายหญิงที่อยู่กินฉันสามีภริยา และคู่รักเพศเดียวกันจึงไม่มีสิทธิดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนตามกฎหมายฉบับนี้
         • หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนได้ (แม่อุ้มบุญ) : 1) ต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยา แต่ต้องไม่ใช่บุพการีและผู้สืบสันดาน เว้นแต่ในกรณีที่ไม่มีญาติสืบสายโลหิต กฎหมายเปิดโอกาสให้หญิงอื่นเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทนได้ 2) ต้องเคยมีบุตรมาก่อนแล้ว ถ้ายังมีสามีอยู่จะต้องได้รับความยินยอมจากสามีด้วย 3) ต้องไม่ใช่เจ้าของไข่ เพื่อป้องกันความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมและความรู้สึกผูกพันของผู้รับตั้งครรภ์แทนต่อเด็ก
         • ข้อตกลงการตั้งครรภ์แทน : ก่อนตั้งครรภ์ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องตกลงเป็นหนังสือกับสามีภริยาที่ต้องการมีบุตรว่าให้ทารกให้ครรภ์เป็นบุตรของสามีภริยาคู่นั้น (ม.3)
นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขโดยคำแนะนำของ กพค. มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อตกลงการตั้งครรภ์แทน ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสุขภาพของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนในขณะตั้งครรภ์ คลอด และหลังคลอด (ม.24) โดยการทำข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้เกิดความชัดเจนในสิทธิหน้าที่ระหว่างคู่สามีภริยาและแม่อุ้มบุญ ป้องกันมิให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า (ม.23) หรือเกิดการต่อรองเรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนโดยใช้ทารกในครรภ์เป็นประกัน รวมทั้งเป็นการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของเด็กและแม่อุ้มบุญด้วย ซึ่งสัญญาที่ทำขึ้นโดยขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดย่อมตกเป็นโมฆะในทันที
         5. ห้ามทำธุรกิจอุ้มบุญ 
         ร่างกฎหมายนี้กำหนดห้ามดำเนินการให้ตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า (ม.23) ห้ามกระทำการเป็นนายหน้า คนกลาง โดยเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการตอบแทนในการจัดการหรือชี้ช่องให้มีการรับตั้งครรภ์แทน (ม.26) และห้ามมิให้มีการโฆษณาว่ามีหญิงประสงค์จะรับตั้งครรภ์แทนผู้อื่น หรือมีบุคคลประสงค์จะให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน ไม่ว่าจะกระทำเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือไม่ก็ตาม (ม.27)  ดังนั้นเมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ การรับจ้างอุ้มบุญ การเป็นเอเจนซี่จัดหาหญิงหรือสถานพยาบาล เพื่อทำการอุ้มบุญ จึงเป็นความผิดและมีโทษทางอาญา
         6. ใครเป็นบิดาและมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็ก? 
         ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้หญิงที่ตั้งครรภ์และให้กำเนิดเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็ก เด็กจึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของแม่อุ้มบุญ ส่วนสามีภริยาซึ่งต้องการมีบุตรทำได้เพียงรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม แต่กฎหมายฉบับนี้ได้เปลี่ยนแปลงหลักการข้างต้น โดยกำหนดให้ เด็กที่เกิดจากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนของผู้บริจาค โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ประสงค์จะมีบุตร ไม่ว่าภริยาจะเป็นผู้ตั้งครรภ์เอง หรือเป็นการตั้งครรภ์แทนโดยหญิงอื่น ผลก็คือเด็กที่คลอดจากครรภ์ของแม่อุ้มบุญจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีภริยาซึ่งต้องการมีบุตร
         ความเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเริ่มตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ และแม้ว่าสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นจะตายก่อนเด็กเกิด ก็ยังถือว่าเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีภริยาที่ตายไป ส่วนผู้บริจาคไข่ อสุจิ หรือตัวอ่อน กับเด็กนั้นไม่มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันในฐานะบิดามารดาและบุตรตามกฎหมาย (ม.28)
ข้อสังเกต : ครอบครัวที่มีลูกเองได้ ไม่สามารถ “อุ้มบุญ” ได้ตามกฎหมายนี้ 
เนื่องจากกฎหมายนี้มีความมุ่งหมายให้ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยแก้ปัญหาภาวะการมีบุตรยาก ดังนั้นในกรณีที่คู่สมรสสามารถมีบุตรได้แต่ภริยาไม่ต้องการตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติ หรือคู่สมรสซึ่งต้องการมีบุตรจำนวนมากโดยมีจุดประสงค์ที่มิชอบ หรือกรณีชายหรือหญิงที่ไม่ได้สมรสแต่ต้องการมีบุตร ย่อมไม่อยู่ในขอบเขตของการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ตามกฎหมายฉบับนี้
ข้อเสนอแนะ : รายละเอียดหลายประการยังต้องรอดูในกฎหมายลูก
1. ควรมีกำหนดช่วงอายุของแม่อุ้มบุญให้ชัดเจนและเหมาะสมกับการตั้งครรภ์ เพราะหากหญิงตั้งครรภ์ขณะอายุน้อยหรือมากเกินไปอาจส่งผลต่อสุขภาพของหญิงและเด็กที่เกิดมาได้
2. การร่างข้อตกลงการตั้งครรภ์แทนนั้น ควรวางอยู่บนพื้นฐานของการสร้างความไว้วางใจระหว่างแม่อุ้มบุญและฝ่ายสามีภริยาที่ต้องการมีบุตร และประโยชน์สูงสุดของเด็ก โดยไม่สร้างภาระให้แก่แม่อุ้มบุญเกินความจำเป็น ในเรื่องนี้ยังมีปัญหาให้ต้องขบคิดอีกมาก เช่น หากแม่อุ้มบุญไม่ดูแลครรภ์ให้ดี หรือฝ่ายสามีภริยาไม่ยอมรับเลี้ยงดูเด็กแล้วหนีหายไป จะมีการฟ้องร้องบังคับให้ทำตามสัญญาได้หรือไม่ หรือหากแม่อุ้มบุญกระทำผิดสัญญาหรือประมาทเลินเล่อ จนทำให้เด็กที่เกิดมามีความบกพร่องทางร่างกายหรือแท้งตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แม่อุ้มบุญจะมีความรับผิดหรือไม่ เพียงใด เป็นต้น
3. กฎหมายฉบับนี้มีบทบัญญัติและหลักเกณฑ์หลายส่วนที่ยังขาดความชัดเจนแน่นอน เนื่องจากจะต้องรอให้แพทยสภาและ กคพ. ออกประกาศหรือกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องก่อน ดังนั้นเมื่อใดที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ ก็ควรเร่งให้มีการออกประกาศหรือกฎหมายลูกโดยเร็ว
ขอบคุณข้อมูลจาก ilaw
Facebook Comments