ในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างมาก การบันทึกภาพในโรงหนังทำได้ง่ายและมีค่าใช้จ่ายน้อย ส่งผลให้ผู้กระทำผิดก่อตั้งขบวนการเพื่อลักลอบแอบถ่ายและผลิตขาย ดีวีดีภาพยนตร์อย่างผิดกฎหมาย และก่อให้เกิดผลเสียต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นอย่างยิ่ง
คณะรัฐมนตรี นำโดย กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (กำหนดความผิดเกี่ยวกับการถ่ายวิดีโอในโรงภาพยนตร์) ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา เพราะที่ผ่านมากฎหมายมีช่องโหว่ โดยกำหนดความผิดอันเนื่องมาจากการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นคดีที่สามารถยอมความได้ โดยต้องมีการร้องทุกข์จากเจ้าของสิทธิก่อน จึงจะดำเนินการได้ ซึ่งอาจจะไม่ทันท่วงทีในการจับกุมผู้กระทำผิด โดยเฉพาะมีการอ้างเหตุผลของการกระทำความผิดเพื่อการศึกษาหรือเพื่อใช้ส่วนบุคคล ซึ่งที่ผ่านมาผู้กระทำความผิดจะแบ่งหน้าที่ในการบันทึกภาพยนตร์คนละ 5-10 นาที เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายให้เป็นข้อยกเว้นละเมิดลิขสิทธิ์ ( Fair use ) ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ยังไม่เป็นผลสำเร็จเท่าที่ควร
สาระสำคัญของการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ (กำหนดความผิดเกี่ยวกับการถ่ายวิดีโอในโรงภาพยนตร์) มีดังนี้
1) ให้การบันทึกภาพหรือเสียง หรือทั้งภาพและเสียงจากภาพยนตร์ที่มีลิขสิทธิ์ในโรงภาพยนตร์ตามกฎหมายว่าด้วยกฎหมายภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน โดยไม่ได้รับอนุญาตถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
และไม่สามารถอ้างเหตุว่า กระทำการดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัว หรือญาติสนิท เพื่อให้ได้รับการยกเว้นไม่ได้
เว้นแต่ เจ้าของลิขสิทธิ์จะกำหนดเงื่อนไขในการเอาไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะกำหนดในลักษณะที่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้
2) กรณีที่จะมีการทำซ้ำ หรือ ดัดแปลงได้นั้น ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนพิการที่ไม่สามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์อันเนื่องมาจากความบกพร่องทางสายตา การรับฟัง สติปัญญา หรือการเรียนรู้
ทั้งนี้ต้องไม่ไปเป็นการกระทำเพื่อหากำไร และรูปแบบของการทำซ้ำหรือดัดแปลงนั้นต้องสอดคล้องกับความจำเป็นของคนพิการและองค์กรผู้จัดทำ
ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการนั้นให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีที่รักษาการกฎหมายฉบับนี้ เป็นผู้กำหนดและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
3) ให้ผู้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์จากการบันทึกภาพหรือเสียง หรือทั้งภาพและเสียงจากภาพยนตร์ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขอบคุณข้อมูลจาก ilaw
Facebook Comments