ตัวอย่างข้อสอบผู้พิพากษาพร้อมข้อเสนอแนะและการให้คะแนน
โดย อ.สมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์ (ผู้พิพากษา)
คำถาม
นายจิมลักทรัพย์นายแดงนักศึกษาไทย ที่ประเทศสิงคโปร์ ต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์นายแดงมาเยี่ยมครอบครัวที่จังหวัดภูเก็ต ส่วนนายจิมมาเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต และกำลังจะขึ้นเครื่องบินจากจังหวัดภูเก็ตกลับประเทศสิงคโปร์ นายแดงซึ่งกำลังจะเดินทางไปประเทศสิงคโปร์ เพื่อศึกษาต่อเป็นเวลานาน เห็นนายจิมแล้วจำได้ว่าเป็นคนร้ายที่ลักทรัพย์ตน จึงแจ้งตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ตรวจตราอยู่ในสนามบินภูเก็ตพร้อมเล่าเหตุการณ์วันที่ถูกลักทรัพย์ให้ดาบตำรวจดำฟัง ดาบตำรวจดำเกรงว่านายจิมจะออกนอกประเทศไปเสียก่อน จึงเข้าจับกุมนายจิมโดยไม่มีหมาย แต่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิตามกฎหมาย แล้วส่งพนักงานสอบสวน สภ. เมืองภูเก็ต ดำเนินการทันที พันตำรวจโทเขียวพนักงานสอบสวน สภ.เมืองภูเก็ต สอบคำให้การนายแดงไว้ทันทีเนื่องจากนายแดงต้องเดินทางไปต่างประเทศ
ให้วินิจฉัยว่า
1. การจับกุมของดาบตำรวจดำชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
2. การที่พันตำรวจโทเขียวสอบคำให้การนายแดงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
3. พันตำรวจโทเขียวจำดำเนินคดีต่อไปอย่างไร
1. การที่นายแดงพบนายจิมกำลังจะขึ้นเครื่องบินจากจังหวัดภูเก็ตกลับประเทศสิงคโปร์ นายแดงจึงแจ้งต่อดาบตำรวจดำว่านายจิมลักทรัพย์ของตนที่ประเทศสิงคโปร์ พร้อมเล่าเหตุการณ์วันที่ถูกลักทรัพย์ให้ดาบตำรวจดำฟัง ถือว่าเป็นกรณีที่มีพยานหลักฐานตามสมควรว่านายจิมน่าจะได้กระทำความผิดอาญาฐานลักทรัพย์ผู้อื่นและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี อันเป็นกรณีที่มีเหตุจะออกหมายจับนายจิมได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 166 (2)
(ที่ถูกมาตรา 66 (2) และควรจะใช้คำว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แทนคำว่า ป.วิ.อ. และครั้งต่อไปไม่ต้องใส่ชื่อกฎหมายใส่แต่เลขมาตราได้เลย) (ถ้าใสหลักไว้ก่อนข้อยกเว้นว่า “แม้ตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งศาลนั้นไม่ได้” จะทำให้คำตอบสมบูรณ์ขึ้น) แต่เมื่อในขณะนั้นนายจิมกำลังจะขึ้นเครื่องบินออกไปจากประเทศไทย จึงเป็นกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับนายจิมได้ ดาบตำรวจดำจึงมีอำนาจจับกุมนายจิมโดยไม่ต้องมีหมายจับได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ดังนั้น การจับกุมของดาบตำรวจดำจึงชอบด้วยกฎหมาย (ให้ 2.5 คะแนนจาก 3 คะแนน)
2. นายจิมลักทรัพย์นายแดงที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ต่อคนไทยซึ่งเป็นการกระทำที่นายจิมต้องรับโทษในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 20 วรรคแรก (คำว่าวรรคแรก จะใช้เฉพาะตามประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น กฎหมายอื่นจะใช้คำว่า วรรคหนึ่ง ลองไปดูประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 เรียกว่า วรรคแรก ส่วนกฎหมายอื่นกฎหมายจะเรียกวรรคหนึ่ง แต่ไม่ได้ตัดคะแนนตรงจุดนี้นะ) กำหนดให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาราชการแทน หรือพนักงานสอบสวนที่ได้รับมอบหมาย เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ (ขาดส่วนที่สำคัญที่สุดที่แก้ไขใหม่คือ มอบหมายให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนก็ได้ ซึ่งผู้ตอบไม่ได้ตอบว่า มอบหมายให้พนักงานอัยการได้) เมื่อดาบตำรวจดำจับกุมนายจิมนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองภูเก็ตทันทีแล้ว การที่พันตำรวจโทเขียวพนักงานสอบสวน สภ.เมืองภูเก็ต สอบถามคำให้การของนายแดงในฐานะผู้เสียหมายไว้ทันทีเพราะนายแดงต้องเดินทางไปต่างประเทศ เป็นการดำเนินการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ของพันตำรวจโทเขียวพนักงานสอบสวนซึ่งนายจิมผู้ต้องหาถูกจับอยู่ในเขตอำนาจมีอำนาจกระทำไปก่อนได้ตามความจำเป็นในระหว่างรอคำสั่งมอบหมายจากอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาราชการแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 วรรคสอง (1) (ที่ถูกมาตรา 20 วรรคห้า (1) และไม่ต้องใส่ชื่อกฎหมายแล้ว กฎหมายที่ใช้ผมถือว่าต้องใช้กฎหมายใหม่แล้ว เพราะคำถามก็ระบุไว้แล้วว่ากฎหมายใหม่ ถ้านักศึกษารู้แล้ว ก็ให้คะแนนใหม่เองได้ ถึงวันสอบเนติหรือสอบอัยการ กฎหมายน่าจะประกาศแล้ว ถ้ายังไม่ประกาศก็คงต้องตอบตามกฎหมายเดิม) ดังนั้น การที่พันตำรวจโทเขียวสอบถามคำให้การของนายแดงจึงชอบด้วยกฎหมาย(ประเด็นนี้ผมให้ 1.5 จาก 3 คะแนน ถ้าผู้ตอบรู้กฎหมายใหม่แล้วและตอบตามกฎหมายใหม่จะได้ 3 คะแนน อย่าเพิ่งเถียงว่ากฎหมายยังไม่ประกาศ)
3. ในกรณีนี้ พันตำรวจโท (เขียว) จะต้องดำเนินการแจ้งให้อัยการสูงสุดทราบเพื่อพิจารณาหมายให้ดำเนินการสอบสวนและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีต่อไปตาม ป.วิ.อ.มาตรา 20 วรรคแรก (ชื่อกฎหมายและวรรค ควรแก้ตามข้อแนะนำข้างต้น) และในระหว่างรอคำสั่งจากอัยการสูงสุดนั้น ก็มีอำนาจดำเนินการสอบสวนคดีนี้ตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสวนได้ต่อไปเท่าที่จำเป็นตาม ป.วิ.อ.มาตรา 20 วรรคสอง
(ส่วนนี้ผมว่าไม่ต้องตอบก็น่าจะได้ เพราะจะทำให้ปัญหาอื่นตามมาให้คิดต่อ ถ้าตอบว่า รีบส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดก็น่าจะจบได้ เพราะถ้าเกิดสอบปากคำแล้ว พันตำรวจโทเขียวอยากได้ข้อมูลบางประการเพิ่มเติม จึงทำการสอบสวนต่อโดยยังไม่ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด แล้วเกิน 48 ชั่วโมง พันตำรวจโทเขียวจะมีอำนาจยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาล เพราะเป็นกรณีจำเป็นด้วยหรือไม่ ลองคิดต่อดู แต่ผมว่า เมื่อสอบคำให้การผู้เสียหายเสร็จรีบส่งสำนวนก็ดีที่สุด แต่ถ้ามีเหตุจริง ๆ คงต้องลองยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลดู ซึ่งความเห็นผมว่าถ้ามีเหตุจำเป็นให้ส่งสำนวนไม่ได้ ก็น่าจะฝากขังได้) (ประเด็นนี้ให้ 3 คะแนน จาก 4 คะแนน รวมได้ 7 จาก 10 คะแนน แต่ถ้าเป็นข้อสอบอัยการ แล้วตอบตามคำตอบนี้อาจจะได้คะแนนน้อยลงอีก เพราะตอบขาดเรื่องอำนาจพนักงานอัยการ ที่สนามสอบอัยการถือว่าสำคัญมาก)
ขอบคุณข้อมูลจาก เกรียงศักดิ์ นวลศรี
นบ. นบท. ทนายความ และผู้เขียนบทความในเว็บไซต์ตั๋วทนาย.com