Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ความรู้เกี่ยวกับ ค่าปลงศพ(มีฎีกา)

ความรู้เกี่ยวกับ ค่าปลงศพ(มีฎีกา)

19644

 

ค่าสินไหมทดแทนกรณีทำให้ตาย(กรณีค่าปลงศพ)
-ค่าปลงศพ หมายถึง การจัดการศพตามประเพณีของลัทธิศาสนา เช่น ค่าปลงศพ พอตายแล้วจะต้องมีหีบศพ ห่อศพ ฉีดยาป้องกันศพเน่า แต่งตัวให้ศพ แต่งชุดพิเศษหรือชุดที่ชอบ จ้างช่างตัดผมหรือหวีผมให้ หรือว่ากรณีร่างกายถูกรถชนแหลกเหลวจะต้องเย็บให้เข้าที่ ค่าจ้างหมอเย็บศพก็ถือว่าเป็นค่าปลงศพอย่างหนึ่ง ค่าพิธีการรดน้ำศพ สวดศพ ทำบุญอันจำเป็นตามประเพณี ค่าเช่าเมรุเผาศพ เป็นต้น เหล่านี้ถือว่าเป็นค่าปลงศพ ค่าปลงศพนี้แยกอธิบายได้อีกว่า


๑.ใครมีสิทธิเรียกค่าปลงศพ ู้มีสิทธิเรียกค่าปลงศพคือทายาทผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการศพตามป.พ.พ.มาตรา ๑๖๔๙ ถ้าคนอื่นแม้จะเป็นญาติเมื่อไม่มีอำนาจหน้าที่ตามที่ระบุไว้ก็เรียกค่าปลงศพไม่ได้ ภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศพ แม้จะเป็นผู้จัดการศพก็เรียกค่าปลงศพไม่ได้ (ฎ.๒๑๒ – ๒๑๓/๒๕๒๕) บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วถือว่าเป็นผู้สืบสันดานมีสิทธิรับมรดกก็เรียกค่าปลงศพได้ (๑๒๐๒/๒๕๔๙) สำหรับบิดาที่ไม่ชอบด้ดวยกฎหมายแม้จะรับรองบุตรตามที่บัญญัติไว้ในป.พ.พ.มาตรา ๑๖๒๗ ก็เพียงแต่ให้บุตรมีสิทธิรับมรดกของบิดานอกกฎหมายเท่านั้นเอง ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่บิดานอกกฎหมายในการรับมรดก บิดานอกกฎหมายจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าปลงศพ หรือค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิด (ฎ.๑๒๘๕/๒๕๐๘)


๒.ค่าปลงศพเรียกล่วงหน้าได้ คือ โดยปกติเวลาถูกทำละเมิดถึงตายทายาทมักจัดการศพไปก่อน ก็มีค่าใช้จ่ายเห็นๆมาฟ้องเรียกฐานละเมิดทีหลังภายใน ๑ ปี พอจัดการไปแล้วค่าปลงศพใช้จ่ายไปเท่าไรก็เรียกจากจำเลยผู้ทำละเมิด ซึ่งคำนวณเห็นได้ชัดแจ้ง แต่มีบางครั้งที่ทายาทยังไม่ปลงศพทันที อาจจะจัดการเบื้องต้นไปโดยเก็บศพไว้ก่อน ๓ ปี แล้วค่อยมาทำ จึงฟ้องเรียกค่าปลงศพสำหรับที่จะจัดการในอนาคตได้ กรณีนี้ก็ต้องบรรยายมาว่าจะจัดการศพในอนาคตอย่างไรตามสัทธิประเพณีหรือไม่ ตามสมควรหรือไม่ (ฎ.๑๔๓-๑๔๔/๒๕๒๑)


๓.ในกรณีที่มีผู้ช่วยค่าปลงศพ มาช่วยทำบุญก็ไม่ตัดสิทธิทายาทที่จะฟ้องเรียกค่าปลงศพจากผู้ละเมิด (ฎ.๓๘๒/๒๕๒๙)


๔.การเรียกค่าปลงศพต้องเรียกตามฐานะและตามสมควร จะใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัวไม่ได้ ต้องจัดการตามธรรมเนียมประเพณีด้วย ไม่ใช่ถือโอกาสจัดงานเสียใหญ่โตเกินฐานะ แม้จะจัดไปจริงจัดกันใหญ่โตจริง แต่เกินฐานะศาลก็ไม่ให้ จะให้ตามสมควรตามฐานะเท่านั้น


๕.ถ้าผู้ทำละเมิดช่วยค่าทำศพโดยไม่ยอมรับผิดจะมีลักษณะเป็นการช่วยทำบุญอย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการจ่ายค่าปลงศพที่เรียกว่าเป็นค่าสินไหมทดแทน กรณีนี้จะมีบ่อยเวลาเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ฝ่ายเจ้าของรถยนต์ผู้ทำละเมิดจะไปเจรจากับฝ่ายผู้ตายเจรจาในช่วงแรกก็ยังไม่ยอมรับผิด ฝ่ายผู้ตายก็จะเรียกมาก ฝ่ายนี้ก็ไม่ยอมให้อ้างว่าไม่ได้ประมาท ไม่ผิด แต่เพื่อบรรเทาความรู้สึกของฝ่ายผู้ตาย ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาก็จะมอบเงินให้บางส่วน เช่นช่วยไป ๑๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่ได้รับผิดเป็นการบรรเทาความรู้สึก กรณีอย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกว่าเป็นค่าปลงศพเพราะว่าจ่ายโดยไม่ได้รับผิด สมมุติต่อมาเขาฟ้องเรียกค่าปลงศพ ๑๐๐,๐๐๐ บาท จะไปบอกขอหักที่ช่วยไปแล้ว ๑๐,๐๐๐ บาท อย่างนี้หักไม่ได้เพราะเป็นการช่วยทำบุญไม่ใช่ช่วยจ่ายค่าปลงศพอันเป็นค่าสินไหมทดแทน


๖.ผู้ทำละเมิดมีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนของค่าปลงศพแต่ไม่มีหน้าที่ไปจัดการศพเพราะอำนาจการจัดการศพอยู่ที่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นไปตามป.พ.พ.มาตรา ๑๖๔๙

ขอบคุณข้อมูลจาก ท่านเกรียงศักดิ์ นวลศรี

นบ. นบท. ทนายความ ผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com

Facebook Comments