Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ แก้ วิ.แพ่ง การดำเนินคดีแบบกลุ่ม พร้อมบทวิเคราะห์

แก้ วิ.แพ่ง การดำเนินคดีแบบกลุ่ม พร้อมบทวิเคราะห์

3548
ไฟล์แนบ ขนาดไฟล์
ร่างแก้ไขวิ.แพ่งฯ เรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม.pdf 36.23 KB
จิรดา จงจักรพันธ์
นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
ตามที่มีข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ในกรณีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก หรือ ร่างแก้ไข วิ.แพ่ง อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ข้อเสนอนี้จะมีส่วนสำคัญช่วยอำนวยความยุติธรรมในคดีที่กระทบกับคนจำนวนมาก หรือเป็นคดีสาธารณะที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ดังนั้นจึงเป็นข้อเสนอที่สังคมควรรู้จักและเข้าใจ ก่อนกฎหมายจะผ่านการพิจารณาและบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้นี้

การดำเนินคดีแบบกลุ่ม คืออะไร?
การดำเนินคดีแบบกลุ่ม คือการดำเนินคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก โดยผู้เสียหายเหล่านั้นต้องได้รับความเสียหายจากการกระทำที่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกัน ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มโจทก์จะเป็นผู้ดำเนินการแทน ผู้เสียหายคนอื่นๆ ไม่ต้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีและไม่ต้องมอบอำนาจให้โจทก์ดำเนินคดีแทน การดำเนินคดีแบบกลุ่มจึงมีประโยชน์มากเนื่องจากเป็นวิธีที่คุ้มครองผู้เสียหายได้หลายคนจากการดำเนินคดีเพียงครั้งเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เสียหายที่ไม่สามารถฟ้องคดีเองได้เพราะมีทุนทรัพย์ไม่เพียงพอ หรือผู้ที่ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยจนไม่คุ้มค่ากับการฟ้องคดีเอง
ยกตัวอย่างเช่น ในหมู่บ้าน ก.ประชากรหลายครัวเรือนประกอบอาชีพเลี้ยงปลากระชัง วันหนึ่งแม่น้ำเน่าเสียเพราะโรงงานปล่อยน้ำเสียออกมาทำให้ปลาที่เลี้ยงไว้ตายหมด นาย ข. ชาวบ้านผู้เลี้ยงปลากระชังคนหนึ่งได้รับความเสียหายจึงฟ้องโรงงานเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายโดยขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม หากนาย ข. ชนะคดี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังทั้งหมดจะได้รับค่าชดเชยจากโรงงานด้วยแม้มิได้ยื่นฟ้องโรงงานเองก็ตาม ขณะที่การดำเนินคดีแพ่งปกตินั้น คำพิพากษาจะผูกพันเฉพาะคู่ความ ผู้เลี้ยงปลากระชังทุกคนต้องฟ้องร้องโรงงานเป็นคดีของตัวเองจึงจะได้รับค่าชดเชยความเสียหาย
คดีที่อาจร้องขอให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ ได้แก่ คดีละเมิด คดีผิดสัญญา และคดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายแรงงาน กฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายการแข่งขันทางการค้า เป็นต้น โดยศาลจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มหรือไม่
ตัวละครที่สำคัญในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม
1. โจทก์ ต้องมีความสามารถทำแทนคนอื่นได้
โจทก์เป็นผู้เสียหายคนหนึ่งที่มีข้อเรียกร้องและข้อต่อสู้เป็นอย่างเดียวกับสมาชิกกลุ่ม โดยเป็นผู้เริ่มดำเนินคดีแบบกลุ่มโดยการยื่นคำร้องขอต่อศาล โจทก์เป็นคู่ความและเป็นผู้แทนของกลุ่มผู้เสียหายตลอดการพิจารณาและพิพากษา กล่าวคือ โจทก์จะต้องทำหน้าที่แทนสมาชิกกลุ่มทั้งหมดซึ่งอาจมีจำนวนมากโดยที่ไม่เคยพบปะกันมาก่อน และการทำหน้าที่ของโจทก์จะส่งผลกระทบต่อสมาชิกกลุ่มคนอื่นๆ โจทก์จึงเป็นตัวละครที่มีความสำคัญมาก จึงมีความจำเป็นที่ศาลจะต้องควบคุมตรวจสอบผู้ที่เป็นผู้แทนกลุ่มโดยเคร่งครัด ร่างแก้ไข วิ.แพ่งฯ นี้กำหนดว่าโจทก์ต้องมีความสามารถในการคุ้มครองผลประโยชน์ของกลุ่มได้อย่างเท่าเทียมและเหมาะสม
หากโจทก์มิได้เป็นผู้เสียหายที่มีข้อเรียกร้องและข้อต่อสู้เป็นอย่างเดียวกับสมาชิกกลุ่ม ไม่สามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม เสียชีวิต ตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ทิ้งฟ้อง ขาดนัดพิจารณา ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบ หรือเมื่อโจทก์ร้องขอต่อศาลว่าไม่ประสงค์จะเป็นโจทก์ต่อไป สมาชิกกลุ่มคนใดคนหนึ่งที่มีความสามารถและคุณสมบัติครบสามารถยื่นคำร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ได้ ส่วนโจทก์ก็เหลือฐานะเป็นเพียงสมาชิกกลุ่มคนหนึ่งต่อไป
2. กลุ่มบุคคล แม้ความเสียหายต่างกันก็ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้
กลุ่มบุคคล หมายถึง บุคคลที่มีสิทธิอย่างเดียวกัน เนื่องจากข้อเท็จจริงและกฎหมายอย่างเดียวกัน และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มเหมือนกัน แม้ว่าลักษณะของความเสียหายจะแตกต่างกันก็ตาม เช่น นาย ก.เป็นเจ้าของและเป็นคนขับรถโดยสารประจำทาง มีนาย ข. และนาย ค. โดยสารมาในรถ นาย ง. ขับรถโดยประมาทชนรถโดยสารประจำทาง ทำให้รถโดยสารอันเป็นทรัพย์ของนาย ก. เสียหาย ทำให้นาย ข. มีรอยฟกช้ำ บาดเจ็บเล็กน้อย และนาย ค. บาดเจ็บสาหัสต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน กรณีเช่นนี้สิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายจากนาย ง. ของนาย ก. นาย ข. และนาย ค. เกิดจากข้อเท็จจริงอันเดียวกัน คือการที่นาย ง. ขับรถโดยประมาทชนรถโดยสารประจำทาง และหลักกฎหมายเดียวกันคือละเมิด มีลักษณะเฉพาะกลุ่มที่สามารถจำกัดได้ว่าใครเข้าข่ายเป็นสมาชิกกลุ่มบ้าง แม้ลักษณะและระดับความเสียหายของนาย ก. นาย ข. และนาย ค. จะแตกต่างกัน ทั้งสามก็เป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน
ซึ่งเมื่อมีการพิจารณาคดีแบบกลุ่มแล้ว หากศาลเห็นว่าสมาชิกในกลุ่มได้รับความเสียหายต่างกัน ศาลก็สามารถแบ่งสมาชิกในกลุ่มออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้ เพื่อความสะดวกในการพิสูจน์เรื่องจำนวนค่าเสียหาย
3. ศาล ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงแบบเชิงรุก
ศาลเป็นผู้ใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าควรอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มตามคำขอของโจทก์หรือไม่ และเนื่องจากโดยปกติ คดีที่ได้รับการพิจารณาแบบกลุ่มเป็นคดีใหญ่ มีความสำคัญและเกี่ยวพันกับคนเป็นจำนวนมาก ศาลที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาจึงเป็นศาลระดับศาลจังหวัด
ในระบบวิธีพิจารณาปกติ ศาลจะดำเนินกระบวนการพิจารณาด้วยระบบกล่าวหา คือ โจทก์และจำเลยนำเสนอพยานหลักฐานของตนต่อศาล ศาลมีหน้าที่ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและตัดสินไปตามที่ปรากฏ แต่ในการพิจารณาคดีแบบกลุ่มนั้น ศาลจะมีบทบาทในเชิงรุกโดยใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณา กล่าวคือ ศาลมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้เอง ไม่ผูกพันอยู่เฉพาะแต่พยานหลักฐานที่คู่ความนำเสนอเท่านั้น
4. ทนายความฝ่ายโจทก์ ต้องรับผิดชอบสูงจึงมีสิทธิได้รับเงินรางวัล
หลังจากที่ศาลอนุญาตให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว ทนายความของโจทก์จะทำหน้าที่เป็นทนายความของกลุ่มด้วย ซึ่งบทบาทของทนายความฝ่ายโจทก์นี้ก็มีความสำคัญไม่แพ้ตัวโจทก์ เพราะทนายความจะเป็นผู้รวบรวมผู้ที่ได้รับความเสียหาย รวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งจ่ายเงินทดรองในการดำเนินคดีทั้งหมดไปก่อน เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแสวงหาพยานหลักฐานและค่าใช้จ่ายในการติดต่อประสานงานสมาชิกกลุ่ม เป็นต้น
ร่างแก้ไขวิ.แพ่งฯ กำหนดความสามารถของทนายความฝ่ายโจทก์ไว้ว่า ต้องสามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม และต้องไม่มีผลประโยชน์ขัดหรือแย้งกับสมาชิกกลุ่ม หากปรากฏว่าทนายความไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม หรือเมื่อทนายความถอนตัว สมาชิกกลุ่มสามารถร้องขอต่อศาลให้มีการเปลี่ยนตัวทนายความฝ่ายโจทก์ได้
ทนายความของกลุ่มจึงมีภาระหน้าที่สูงกว่าทนายความคดีทั่วไป เนื่องจากต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ให้คนเป็นจำนวนมากและต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงในการออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปก่อน ดังนั้น เพื่อเป็นค่าตอบแทนและแรงจูงใจ ร่างแก้ไข วิ.แพ่งฯ จึงกำหนดให้ทนายความกลุ่มมีสิทธิได้รับเงินรางวัลทนายความ
ศาลจะเป็นผู้กำหนดเงินรางวัลทนายความให้เมื่อการดำเนินคดีสิ้นสุดแล้ว โดยพิจารณาจากความยากง่ายของคดี และระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินคดี แต่ไม่เกินจำนวนร้อยละ 30 ของจำนวนค่าเสียหายที่สมาชิกกลุ่มมีสิทธิได้รับ โดยจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินรางวัลให้ทนายความ
ขั้นตอนก่อนการพิจารณาคดี
การดำเนินคดีแบบกลุ่มเริ่มจากโจทก์เสนอคำฟ้องต่อศาลและแนบคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มไปกับคำฟ้องนั้นด้วย ศาลจะอนุญาตให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่มหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับข้อพิจารณาดังต่อไปนี้
1. คำฟ้องของโจทก์ทำเป็นหนังสือ และแสดงชัดแจ้งถึงสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ในกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้ชำระหนี้เป็นเงิน คำขอบังคับของกลุ่มต้องระบุหลักการและวิธีการคำนวณเพื่อชำระเงินให้สมาชิกในกลุ่มด้วย
2. โจทก์ได้แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะที่เหมือนกันของกลุ่มบุคคลที่ชัดเจนเพียงพอเพื่อให้รู้ได้ว่าเป็นกลุ่มใด
3. สมาชิกกลุ่มมีจำนวนมาก หากดำเนินคดีอย่างคดีแพ่งสามัญทั่วไปจะทำให้เกิดความยุ่งยากและไม่สะดวก
4. การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่า
5. โจทก์แสดงให้ศาลเห็นได้ว่าโจทก์เป็นสมาชิกกลุ่มที่มีส่วนได้เสีย และโจทก์รวมทั้งทนายความของโจทก์สามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มบุคคลได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม
เมื่อศาลอนุญาตให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว ศาลจะส่งคำบอกกล่าวไปให้สมาชิกกลุ่มเท่าที่ทราบและประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันรวมทั้งทางสื่อมวลชนอื่น เมื่อศาลออกประกาศไปแล้ว บุคคลที่มีลักษณะตรงกับลักษณะของกลุ่มก็จะเป็นสมาชิกกลุ่มโดยอัตโนมัติ หากบุคคลดังกล่าวไม่ต้องการเข้าร่วมกลุ่มก็สามารถออกจากกลุ่มได้โดยการแจ้งความประสงค์เป็นหนังสือต่อศาลภายในเวลาที่กำหนด หากแจ้งความประสงค์ล่าช้า จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อนจึงจะออกจากกลุ่มได้
บุคคลที่ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มแล้วจะขอกลับเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มอีกไม่ได้ และจะร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมไม่ได้ แต่ไม่ถูกตัดสิทธิที่จะยื่นฟ้องจำเลยด้วยตนเองเป็นคดีแพ่งสามัญ
สมาชิกเมื่อเข้าร่วมกลุ่มแล้วก็จะไม่มีสิทธิยื่นฟ้องจำเลยในคดีเดียวกับที่โจทก์ยื่นฟ้องอีกต่อไป แต่มีสิทธิในการเข้าฟังการพิจารณาคดี มีสิทธิตรวจสอบการทำหน้าที่ของโจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์ มีสิทธิขอตรวจเอกสารและมีสิทธิตรวจและโต้แย้งการขอรับชำระหนี้เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว
หลังจากที่ศาลอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม หากโจทก์ประสงค์จะประนีประนอมยอมความกับจำเลย หรือระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ โจทก์จะต้องบอกกล่าวสมาชิกในกลุ่มเสียก่อน เพื่อให้สมาชิกที่ไม่ประสงค์จะผูกพันตามผลของการประนีประนอมหรือการชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการออกจากกลุ่มได้
ขั้นตอนระหว่างการพิจารณาคดี
การพิจารณาคดีจะเริ่มต้นจากวันนัดพร้อม โดยศาลจะสั่งให้คู่ความทุกฝ่ายมาศาลเพื่อไกล่เกลี่ยหรือนำวิธีอนุญาโตตุลาการมาใช้เพื่อให้คดีเสร็จสิ้นไป แต่หากคู่ความไม่ประสงค์จะไกล่เกลี่ยหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย คู่ความต้องนำต้นฉบับพยานหลักฐานทั้งหมดมาแสดงต่อศาล หากใครไม่นำพยานหลักฐานมาเสนอต่อศาลภายในวันนัดพร้อม ก็จะไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานมาสืบในภายหลัง
ศาลจะกำหนดประเด็นข้อพิพาท ลำดับการนำสืบ ระยะเวลาทั้งหมดในการดำเนินคดี กำหนดวัน เวลา และวิธีการขั้นตอนในการดำเนินคดีแบบกลุ่มที่จำเป็น รวมทั้งกำหนดวันสืบพยาน ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 10 วัน นับแต่วันนัดพร้อม
การดำเนินกระบวนพิจารณาในลำดับต่อๆ ไปนั้นก็เป็นเช่นเดียวกับการดำเนินคดีแพ่งสามัญ มีข้อแตกต่างบางประการ ดังนี้
1. ใช้วิธีการส่งบันทึกคำเบิกความล่วงหน้าได้
คู่ความที่ประสงค์จะนำพยานเข้าสืบสามารถส่งคำเบิกความพยานเป็นเอกสารมายังศาลได้ โดยไม่ต้องมีการซักถามพยานต่อหน้าศาลอีก คู่ความฝ่ายตรงข้ามเพียงแต่ทำการถามค้านและถามติงเท่านั้น
2. กรณีจำเลยขาดนัดพิจารณา
แม้จำเลยไม่ยื่นคำให้การ หรือจำเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานวันแรก ซึ่งถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลจะพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีไปทันทีไม่ได้ ศาลก็จะต้องสืบพยานฝ่ายโจทก์เสมอ
3. การถอนฟ้องต้องแจ้งในสมาชิกคนอื่นทราบก่อน
หากเป็นการถอนฟ้องก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โจทก์ก็อาจถอนฟ้องได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาตศาล แต่ถ้าประสงค์จะถอนฟ้องหลังจากที่ศาลอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว หากศาลจะอนุญาตจะต้องแจ้งให้สมาชิกในกลุ่มทราบเพื่อให้มีโอกาสคัดค้านด้วย
หากศาลเห็นเองหรือคู่ความแถลงว่าการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะไม่เป็นประโยชน์ หรือไม่สามารถคุ้มครองสมาชิกได้ ศาลก็จะมีคำสั่งให้ยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่ม หากโจทก์หรือสมาชิกกลุ่มไม่สามารถหาทนายความมาแทนเมื่อทนายความเดิมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ หรือไม่มีสมาชิกกลุ่มร้องขอเข้าแทนที่โจทก์เมื่อโจทก์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ หรือโจทก์ไม่นำเงินค่าประกาศและส่งคำบอกกล่าวมาวางศาล ศาลก็จะมีคำสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่มเช่นกัน
ภายหลังการพิจารณาคดี
เมื่อศาลดำเนินการพิจารณาคดีแบบกลุ่มไปจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลก็จะมีคำพิพากษาซึ่งมีผลผูกพันทั้งโจทก์ จำเลย และบุคคลที่เป็นสมาชิกกลุ่มทั้งหมดด้วย
คำพิพากษาของศาลก็เหมือนคำพิพากษาในคดีทั่วไป แต่มีรายละเอียดเพิ่มเติมคือ
1. ลักษณะโดยชัดเจนของกลุ่มบุคคลหรือกลุ่มย่อยเนื่องจากบุคคลเหล่านี้ถูกผูกพันตามคำพิพากษา
2. หากศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน ศาลต้องระบุจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ รวมทั้งหลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวณการชำระเงินให้สมาชิกกลุ่ม
3. จำนวนเงินรางวัลของทนายความ
และหากศาลเห็นสมควร ศาลอาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการปฏิบัติตามคำพิพากษาไว้ในคำพิพากษา หรือคำสั่งในภายหลังก็ได้
การบังคับคดี
เฉพาะโจทก์หรือทนายความฝ่ายโจทก์เท่านั้นที่มีอำนาจบังคับคดี ส่วนสมาชิกกลุ่มมีสิทธิยื่นขอรับชำระหนี้เท่านั้น
เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ศาลจะแจ้งคำพิพากษาให้สมาชิกในกลุ่มทราบ โดยประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายรวมทั้งทางสื่อมวลชนอื่น ซึ่งในการประกาศนี้ศาลจะกำหนดวันให้สมาชิกกลุ่มยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีด้วย คำขอรับชำระหนี้ของสมาชิกในกลุ่มที่ไม่มีผู้โต้แย้ง เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะมีคำสั่งอนุญาตให้รับชำระหนี้ได้
การอุทธรณ์
เฉพาะโจทก์และจำเลยเท่านั้นที่มีสิทธิอุทธรณ์ โดยสามารถอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่มีการอ่านคำพิพากษา สำหรับสมาชิกในกลุ่มไม่มีสิทธิอุทธรณ์ เว้นแต่เป็นการอุทธรณ์ในเรื่องการโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
ข้อดีข้อเสียของการดำเนินกระบวนพิจารณาแบบกลุ่ม
การดำเนินกระบวนพิจารณาแบบกลุ่มมีข้อดีคือ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้มีทุนทรัพย์ไม่เพียงพอที่จะดำเนินการฟ้องคดีเอง เพราะเป็นการดำเนินการเพียงครั้งเดียวสำหรับผู้เสียหายทุกคน อีกทั้งยังทำให้การดำเนินคดีในปัญหาเดียวกันมีผลเป็นอย่างเดียวกัน และทำให้การอำนวยความยุติธรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการปรามผู้ที่คิดกระทำผิดกฎหมายได้เป็นอย่างดี เพราะหากถูกตัดสินว่าผิดจริงแล้วจะต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก
แต่อย่างไรก็ดี การดำเนินคดีแบบกลุ่มก็อาจมีข้อเสียเช่นกัน กล่าวคือ โจทก์อาจใช้การดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นข้อต่อรองในการบังคับให้จำเลยชำระหนี้โดยไม่มีเจตนาที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ของสมาชิกกลุ่มคนอื่นๆ การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มเป็นไปโดยอัตโนมัติ หากผู้เสียหายไม่ทราบประกาศและไม่ได้แจ้งความประสงค์ออกจากกลุ่ม ก็จะถูกถือว่าเป็นสมาชิกกลุ่มโดยปริยายซึ่งทำให้เสียสิทธิในการยื่นฟ้องจำเลยและดำเนินคดีด้วยตัวเอง นอกจากนี้ผู้เป็นสมาชิกกลุ่มยังแทบไม่มีบทบาทในการดำเนินกระบวนพิจารณาเลยด้วย
Facebook Comments