Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ แชท เวลาทำงานเลิกจ้างได้หรือไม่

แชท เวลาทำงานเลิกจ้างได้หรือไม่

4448

p19dpet3921o669kjo116ob18cc1

พนักงานบริษัทใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทเล่น Internet พูดคุยเรื่องส่วนตัว และบันทึกข้อความทาง Internet และเล่น Line เป็นประจำทุกวัน วันละเป็นชั่วโมง ผลทางกฎหมายถือว่าเป็นการกระทำอันไม่สมควรและบริษัทเลิกจ้างได้เลยโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ศึกษาวิเคราะหจากคำพิพากษาฎีกาที่ 2564/2557
ป.พ.พ. มาตรา 583 เลิกจ้าง
ป.วิ.พ. มาตรา 142 พิพากษาไม่เกินคำขอ
ข้อเท็จจริง
1. ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่นางสาว ข. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ช. ซึ่งเป็นนายจ้างเป็นจำเลย อ้างว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 ค่าจ้างเดือนละ 30,000 บาทจ่ายทุกวันที่ 30 ของเดือน มีระยะเวลาทดลองงาน 3 เดือน ในระหว่างระยะเวลาทดลองงานจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ให้มีผลทันที เนื่องจากในเวลาทำงานโจทก์ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทจำเลยเล่นอินเตอร์เน็ท พูดคุยในเรื่องส่วนตัวและบันทึกข้อความทางอินเตอร์เน็ทเป็นประจำเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมงก็มี ถือว่าโจทก์ใช้เวลาทำงานของบริษัทจำเลยไปในเรื่องไม่เกี่ยวกับงานทั้งที่อยู่ในระหว่างทดลองงานแทนที่จะทุ่มเททำงานให้บริษัทจำเลยอย่างเต็มที่ โจทก์ทำงานด้านบัญชีจะต้องมีความละเอียดรอบคอบมิฉะนั้นจะทำให้บริษัทจำเลยได้รับความเสียหายได้กรณีเช่นนี้เป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต บริษัทจำเลยชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย และการที่โจทก์ใช้เวลาทำงานของบริษัทจำเลยทำในเรื่องส่วนตัวย่อมจะทำให้บริษัทจำเลยได้รับความเสียหายจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม บริษัทจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์เช่นกัน
2. โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ประการแรกว่า การกระทำของโจทก์ไม่ถึงกับเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 เนื่องจากโจทก์มิได้กระทำความผิดอย่างร้ายแรง และบริษัทจำเลยไม่ได้รับความเสียหายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 ระบุเพียงว่าถ้าลูกจ้างทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วไปโดยถูกต้องและสุจริต นายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า…….. เท่านั้น หาได้ขยายความไปถึงกับว่าเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายและเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงแต่อย่างใดไม่ อย่างไรก็ตามข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังว่าพฤติกรรมของโจทก์ทำให้บริษัทจำเลยเสียหายได้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย ต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
3. โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาประการต่อมาว่า หนังสือเลิกจ้างของบริษัทจำเลยระบุเหตุเลิกจ้างว่า การปฏิบัติงานของโจทก์ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ไม่สามารถปฏิบัติงานตามที่มอบหมายได้ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ใช้เวลาทำงานของบริษัทจำเลยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทจำเลยในเรื่องส่วนตัวเป็นประจำเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมง จึงเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต บริษัทจำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 เป็นคำวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิได้ห้ามมิให้นายจ้างยกเหตุอื่นขึ้นอ้างในภายหลังนอกจากเหตุที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างมาเป็นข้อต่อสู้ในกรณีเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และการที่โจทก์ใช้เวลาทำงานของบริษัทจำเลย ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทจำเลยในเรื่องส่วนตัวเป็นประจำเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมง ย่อมเป็นเหตุให้งานในหน้าที่บกพร่องและล่าช้า ต่ำกว่ามาตรฐานที่บริษัทจำเลยต้องการ และไม่สามารถปฏิบัติงานตามที่มอบหมายได้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต เหตุดังกล่าวก่อให้เกิดผลเชื่อมโยงกันมิใช่เรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายแล้ว
หมายเหตุ
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2557 นี้ ถือว่าเป็นการเลิกจ้างด้วยเหตุที่ไม่เคยมีมาก่อนนั้น จึงถือเป็นบรรทัดฐานนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป
2. มีตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
2.1 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 บัญญัติว่า ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้
2.2 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 บัญญัติว่า นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือนฯ
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
ฯลฯ

ผู้ให้ข้อมูล

นายเกรียงศักดิ์   นวลศรี    น.บ   น.บ.ท  วิชาชีพว่าความ   และผู้เขียนบทความใน ตั๋วทนาย.com

Facebook Comments