Home ทริบเทคนิค/บทความ ภาระจำยอมได้มาโดยอายุความได้หรือไม่

ภาระจำยอมได้มาโดยอายุความได้หรือไม่

15834

100-327

การได้ภาระจำยอมโดยอายุความ (ป.พ.พ.มาตรา ๑๔๐๑)
-การได้ภาระจำยอมโดยอายุความ เป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งตามมาตรา ๑๔๐๑ บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิในลักษณะ ๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม หมายถึงอายุความตามมาตรา ๑๓๘๒ นั่นเอง กล่าวคือต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์ ในความสงบและโดยเปิดเผย และด้วยเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในภารยทรัพย์ มีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี ก็ได้ภาระจำยอมโดยอายุความ
-การใช้ทางในลักษณะทางจำเป็นหากต้องการได้ภาระจำยอมโดยอายุความ ต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการใช้ทางพิพาทแก่เจ้าของก่อนจึงจะนับอายุความ (ฎ.๓๘๘๓/๒๕๕๔)
-การครอบครองปรปักษ์ต้องเป็นการครอบครองที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้น ที่ดินมือเปล่าเป็นที่ดินไม่มีกรรมสิทธิ์จึงไม่อาจครอบครองปรปักษ์ได้ แต่ภาระจำยอมไม่ใช่เป็นการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ ดังนั้น จึงอาจได้มาซึ่งภาระจำยอมในที่ดินมือเปล่าของผู้อื่นโดยอายุความได้ โดยต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี เช่นกัน (ฎ.๑๕๖๘/๒๕๐๕)
-กรณีทางพิพาทในที่ดินของบุคคลหนึ่งจะตกเป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความ ก็เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของบุคคลอื่นเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ตัวบ้านซึ่งเจ้าของบ้านอาศัยสิทธิปลูกอยู่บนที่ดินของบุคคลอื่นดังกล่าว เจ้าของบ้านที่มิได้เป็นเจ้าของที่ดินจึงไม่อาจอ้างการได้ภาระจำยอมในที่ดินของผู้อื่นโดยอายุความได้ (ฎ.๒๖๙/๒๕๓๙)
-ตามป.พ.พ.มาตรา ๑๓๘๗ การได้ภาระจำอยมก็เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น (สามยทรัพย์) กฎหมายจึงเพ่งเล็งถึงความสำคัญของตัวอสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่ตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของ ดังนั้น การได้ภาระจำยอมโดยอายุความนั้น จึงขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ภารยทรัพย์ครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่ ส่วนบุคคลอื่นได้ใช้ประโยชน์ด้วยหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับการได้ภาระจำยอมโดยอายุความ (ฎ.๒๕๕/๒๕๔๗) แต่ทั้งนี้ไม่ต้องคำนึงว่าผู้เป็นเจ้าของสามยทรัพย์นั้นจะต้องเป็นผู้ใช้ติดต่อกันจนครบสิบปีด้วยหรือไม่
-การที่เจ้าของที่ดินสามยทรัพย์ใช้ทางพิพาทมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ต่อมาได้แบ่งแยกและโอนให้ผู้อื่นไป ผู้รับโอนได้ใช้ทางพิพาทต่อมา สามารถนำระยะเวลาที่เจ้าของที่ดินคนก่อนใช้ทางภาระจำยอมมารับรวมได้ เมื่อครบ ๑๐ ปีย่อมได้ภาระจำยอมโดยอายุความ (ฎ.๓๒๒๕/๒๕๔๒)
-ตามป.พ.พ.มาตรา ๑๓๘๗ ภาระจำยอมจะเกิดขึ้นได้ต้องมีที่ดิน ๒ แปลง โดยที่ดินแปลงหนึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินอีกแปลงหนึ่ง การใช้ทางเดินในขณะที่ยังเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน จึงไม่อาจก่อให้เกิดภาระจำยอมเหนือที่ดินได้ แต่ถ้ามีการแบ่งแยกและโอนกันต่อมาการได้มาซึ่งทางภาระจำยอมโดยอายุความ ต้องนับตั้งแต่ได้แบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์กันแล้ว (ฎ.๔๐๑๓/๒๕๔๑)
-ข้อตกลงให้ใช้ทางเดินมีลักษณะเป็นการได้มาซึ่งภาระจำยอมโดยนิติกรรมตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง แม้ไม่ได้จดทะเบียนการได้มายังไม่บริบูรณ์ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคแรก เมื่อมีการใช้ทางเดินด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมติดต่อกันเป็นเวลา ๑๐ ปี ก็เป็นการได้ภาระจำยอมโดยอายุความได้ (ฎ.๑๓๖๖๓-๑๓๖๖๔/๒๕๕๓)
-แต่ถ้ามีการฟ้องขอเปิดทางภาระจำยอม แล้วมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอม ข้อพิพาทเรื่องทางภาระจำยอมย่อมระงับไปด้วย ทางพิพาทย่อมไม่ใช่ทางภาระจำยอมอีกต่อไป การใช้ทางเดินเป็นการใช้ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอม ไม่อาจได้ทางภาระจำยอมโดยอายุความได้ (ฎ.๒๔๖/๒๕๕๐)

 ผู้ให้ข้อมูล  เกรียงศักดิ์   นวลศรี   น.บ  น.บ.ท  วิชาชีพว่าความ   และผู้เขียนบทความใน ตั๋วทนาย.com
Facebook Comments