สาระสำคัญ
– ยกเลิกการขออนุญาตยื่นอุทธรณ์เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา (มาตรา 223ทวิ)
แต่เดิมนั้น หากมีการยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ผู้อุทธรณ์สามารถขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาเลยก็ได้โดยให้ศาลชั้นต้นเป็นผู้พิจารณาคำร้องขออนุญาต เหตุผลในการแก้ไขในเรื่องนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขการฎีกาให้เป็นระบบอนุญาต
– กำหนดให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขการฎีกาให้เป็นระบบอนุญาต (เพิ่มมาตรา 244/1)
– แก้ไขเพิ่มเติมระบบการฎีกาจากระบบสิทธิเป็นระบบอนุญาต (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 247)
แก้ไขข้อความโดยเปลี่ยนจาก “ระบบสิทธิ” คือสามารถฎีกาปัญหาข้อกฎหมาย และฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้หากเป็นคดีมีทุนทรัพย์เกินสองแสนบาทภายในเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง เป็น “ระบบอนุญาต” คือให้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง
– ตั้งองค์คณะผู้พิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกา (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 248)
ยกเลิกข้อความเรื่องการจำกัดสิทธิในเรื่องการยื่นฎีกาเดิม และแก้ไขใหม่เป็นให้ตั้งองค์คณะผู้พิพากษาที่ประกอบด้วยรองประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกอย่างน้อยสามคน การวินิจฉัยให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก หากคะแนนเสียงเท่ากันให้บังคับตามความเห็นฝ่ายที่อนุญาต
– ศาลฎีกาอาจพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้ หากปัญหานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ได้แก่ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 249)
1) ปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ
2) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายสำคัญที่ขัดกัน หรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา
3) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน
4) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ขัดกับคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่น
5) เพื่อเป็นการพัฒนาการตีความกฎหมาย
6) ปัญหาสำคัญอื่นตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
– ให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจกำหนดกระบวนการในการฎีกาโดยได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตั้งแต่การยื่นฎีกาจนถึงการมีคำพิพากษา (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 250)
– ให้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายที่ได้รับอนุญาตฎีกา แล้วยกเลิกคำพิพากษาเดิม เพื่อให้ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ทำคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามกรอบคำวินิจฉัยของศาลฎีกา (ให้ยกเลิกมาตรา 251)
กรณีนี้เพื่อให้ศาลฎีกาสามารถลดภาระการทำคำพิพากษา โดยวินิจฉัยเฉพาะประเด็นข้อกฎหมายแล้วส่งคืนให้กับศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์เป็นผู้ทำคำพิพากษาตามกรอบแนวทางที่ศาลฎีกาได้วางเอาไว้
ข้อสังเกต
ในปัจจุบันการฎีกาเป็นระบบสิทธิ ทำให้มีคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความล่าช้าและในบางครั้งก็เป็นเล่ห์เหลี่ยมเพื่อการประวิงคดี การแก้ไขระบบการฎีกาให้เป็นระบบอนุญาตนั้นจึงสามารถแก้ปัญหาเรื่องภาระคดีได้อย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่พึงพิจารณาว่าการกำหนดให้การยื่นฎีกาเป็นระบบสิทธินั้น ก็เพื่อคุ้มครองคู่ความทั้งสองฝ่ายให้ได้รับความยุติธรรมโดยมีการตรวจสอบถึงสามชั้นศาลด้วยกัน การเปลี่ยนแปลงเป็นระบบอนุญาตที่ให้อำนาจแก่องค์คณะพิจารณาก็อาจทำให้การตรวจสอบนั้นลดความเข้มข้นลง โดยเฉพาะเหตุให้อนุญาตฎีกาในกรณีที่คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ขัดหรือแย้งต่อแนวคำพิพากษาเดิมของศาลฎีกา ซึ่งตีความในมุมกลับกันได้ว่า หากคำพิพากษานั้นยึดตามแนวคำพิพากษาเดิมก็จะมีโอกาสน้อยที่จะได้ขึ้นสู่ศาลฎีกา ซึ่งแท้จริงแล้วข้อเท็จจริงแห่งคดีอาจจะมีความแตกต่างกันอยู่ก็ได้ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขในครั้งนี้อาจจะต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่ไม่ควรจะย่อหย่อนไปกว่าเดิมด้วย
Click to access CIVIL%20PROCEDURE%20CODE%20AMENDMENT.PDF
ผู้ให้ขู้อมูล
เกรียงศักดิ์ นวลศรี น.บ น.บ.ท วิชาว่าความ และ และผู้เขียนบทความใน ตั๋วทนาย.com