Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ จำเลยมอบตัว,พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาถือว่าจำเลยถูกจับแล้ว

จำเลยมอบตัว,พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาถือว่าจำเลยถูกจับแล้ว

7429

images (4)

การที่จำเลยเข้ามอบตัวและพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบ จำเลยให้การปฏิเสธและได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวย่อมถือว่าจำเลยถูกจับแล้ว พนักงานอัยการต้องฟ้องจำเลยภายใน 48  ชั่วโมง หากพ้นกำหนดนั้นแล้วมาฟ้องจำเลยโดยไม่ได้ขอผัดฟ้องจึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1997/2550

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติเพื่อมิให้การดำเนินคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงต้องล่าช้าและทำให้ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวไว้นานเกินสมควรแก่เหตุและความจำเป็น การที่จำเลยเข้ามอบตัวและพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบ จำเลยให้การปฏิเสธและได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวย่อมถือว่าจำเลยถูกจับแล้ว พนักงานสอบสวนต้องส่งตัวจำเลยพร้อมสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้ฟ้องภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยโดยไม่ได้ขอผัดฟ้องและพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ทั้งไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตให้ฟ้องจากอัยการสูงสุดตามมาตรา 9 จึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 31 มีนาคม 2546 เวลาใดไม่ปรากฏชัดถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2546 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยหมิ่นประมาทด้วยการใส่ความนางสาวกาญจนา  ผู้เสียหายต่อพระสิริสารธรรม และผู้อื่นซึ่งเป็นบุคคลที่สาม โดยจำเลยร้องเรียนเป็นหนังสือว่า “ทำงานอยู่ในวัด ทำไมไม่มีคุณธรรม จริยธรรม และมโนธรรม ต้นงิ้วในวัดคงไม่มีหนามถึงไม่กลัวบาป” ซึ่งหมายความว่าผู้เสียหายมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับนายวุฒิศักดิ์  สามีจำเลย อันเป็นการพูดจาใส่ความผู้เสียหายต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เหตุเกิดที่ตำบลในเมืองและตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เกี่ยวพันกันขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2546 จำเลยเข้ามอบตัวและพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าหมิ่นประมาทผู้อื่น จำเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างสอบสวนจำเลยไม่ถูกควบคุมตัว โดยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 วรรคแรก ที่บัญญัติให้พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับพร้อมสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับนั้นเป็นบทบัญญัติเพื่อมิให้การดำเนินคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงต้องล่าช้า และทำให้ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวไว้นานเกินสมควรแก่เหตุและความจำเป็น คดีนี้จำเลยเข้ามอบตัวและพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นให้จำเลยทราบวันที่ 17 มิถุนายน 2546 กรณีย่อมถือว่าจำเลยถูกจับตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว พนักงานสอบสวนต้องส่งตัวจำเลยพร้อมสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อให้ฟ้องภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง ถ้าไม่สามารถฟ้องได้ทันภายในกำหนด พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องขอผัดฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2546 โดยไม่ได้ขอผัดฟ้องและพ้นกำหนดเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าวโดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตให้ฟ้องจากอัยการสูงสุดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 9 จึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน.
( ฐานันท์ วรรณโกวิท – เกษม วีรวงศ์ – พีรพล พิชยวัฒน์ )

หมายเหตุ

คำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้ น่าจะถือเป็นบรรทัดฐานได้เฉพาะแต่เพียงในประเด็นที่ว่าคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงนั้น หากผู้ต้องหาเข้ามอบตัวและพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบแล้ว ก็จะต้องยื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาเข้ามอบตัวและมีการแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ ซึ่งหากเกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลให้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ก็จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลขอ “ผัดฟ้อง” หรือในที่สุดก็อาจต้องฟ้องคดีนั้น โดยได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 และมาตรา 9 การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยเช่นนี้ เพราะเห็นว่า การที่ผู้ต้องหาเข้ามอบตัวและพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบแล้ว “ถือว่า” ผู้ต้องหา “ถูกจับ” ตามความหมายของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 7 วรรคแรก จึงจะต้องฟ้องผู้ต้องหานั้น ให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาเข้ามอบตัวและมีการแจ้งข้อหา การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยเช่นนี้ ก็จะทำให้คดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงซึ่งผู้ต้องหาเข้ามอบตัวและมีการแจ้งข้อหา มีการสอบสวนและฟ้องคดีอย่างรวดเร็วดุจเดียวกับกรณีที่ผู้ต้องหาถูกจับโดยไม่มีหมายจับเพราะกระทำความผิดซึ่งหน้า หรือถูกจับตามหมายจับ มิฉะนั้นแล้ว ก็จะเกิดความลักลั่น กลายเป็นว่ากรณีที่ผู้ต้องหาเข้ามอบตัวและมีการแจ้งข้อหา จะสอบสวนและฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้โดยไม่อยู่ภายใต้กำหนดเวลาตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 7 กำหนดไว้ มีข้อสังเกตว่า มีฎีกาที่ 3952/2549 วินิจฉัยว่า การที่ผู้ต้องหาเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนไม่ถือว่าผู้ต้องหานั้น “ถูกจับ” ตามความหมายของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ตรงข้ามกับคำวินิจฉัยในฎีกาที่ 1997/2550 นี้

อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาฎีกาที่ 1997/2550 นี้คงจะเป็นบรรทัดฐานได้แต่เพียงในประเด็นเรื่องเร่งรัดให้สอบสวนและฟ้องคดีให้ทันภายในกำหนดเท่านั้น คำพิพากษาฎีกานี้คงไม่อาจที่จะถือเป็นบรรทัดฐานได้ว่า ในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังมิได้มีการออกหมายจับ การเข้ามอบตัวและมีการแจ้งข้อหาเป็นการ “จับ” ตาม ป.วิ.อ. เพราะกรณีใดบ้างที่จะเป็นการ “จับ” ต้องเป็นไปตามที่ ป.วิ.อ. ได้บัญญัติไว้เท่านั้น ซึ่งในกรณีที่ผู้ต้องหาเข้ามอบตัว และมีการแจ้งข้อกล่าวหา หากผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและไม่ได้มีการออกหมายจับ ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคห้า ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า พนักงานสอบสวนจะ “จับ” ผู้ต้องหานั้นโดยไม่มีหมายจับได้ก็ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังและได้ “สั่ง” ให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอให้ศาลออกหมายขัง และผู้ต้องหา “ไม่ปฎิบัติตามคำสั่ง” ของพนักงานสอบสวน หากไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว เช่นผู้ต้องหายินยอมไปศาลโดยดี เพื่อขอให้ศาลออกหมายขัง เช่นนี้ พนักงานสอบสวนจะจับผู้ต้องหาโดยไม่มีหมายจับไม่ได้ เมื่อไม่มีอำนาจจับก็จะควบคุมผู้ต้องหา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 87 ไม่ได้ และจะใช้อำนาจในการ “ปล่อยชั่วคราว” ก็ไม่ได้เพราะจะต้องมีการ “จับ” และมีการ “ควบคุม” เสียก่อน

คำพิพากษาฎีกานี้ จึงเป็นบรรทัดฐานเฉพาะในประเด็นเรื่อง “ถูกจับ” ตามความหมายของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ เท่านั้น ซึ่งศาลฎีกาถือว่าการเข้ามอบตัวและมีการแจ้งข้อหา “ย่อมถือว่า” ผู้ต้องหาถูกจับจึงต้องสอบสวนและฟ้องคดีให้ทันภายในกำหนด คำพิพากษาฎีกานี้ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นในเรื่องของการ “จับ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคห้า ซึ่งบัญญัติไว้อย่างชัดเจนถึงขั้นตอนในการจับผู้ต้องหาที่เข้ามอบตัวและมีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้วว่าพนักงานสอบสวนจะจับผู้ต้องหาดังกล่าวได้ ในเงื่อนไขอย่างใดบ้าง
เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499
มาตรา 7 ในการสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณา พิพากษาได้ เมื่อมีการจับตัวผู้ต้องหาแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่ง ตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้ พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวง ให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหา จากที่จับมายังที่ทำการของพนักงานสอบสวน จากที่ทำการของพนักงานสอบสวน และหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาลเข้าในกำหนดเวลา สี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย”
ในกรณีที่เกิดความจำเป็น ไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลให้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าวในวรรคแรก ให้พนักงานสอบสวนหรือผู้ว่าคดีแล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกคราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้อง ไม่เกินสามคราว ในการวินิจฉัยคำร้องเช่นว่านี้ ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหา ด้วยหรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาล ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้าน ประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือผู้ว่าคดีมาชี้แจง เหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานมาเบิกความประกอบก็ได้
เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสามคราวแล้ว หากพนักงานสอบสวน หรือผู้ว่าคดียื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีก โดยอ้างเหตุจำเป็น ศาล จะอนุญาตตามขอนั้นได้ ก็ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนหรือผู้ว่าคดีได้แสดงถึงเหตุ จำเป็นและนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาล ถ้ามีการขอให้ ขังผู้ต้องหาด้วยหรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาลให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อ คัดค้านประการใดหรือไม่ ในกรณีเช่นว่านี้ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้อง ต่อไปได้คราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองคราว
ผู้ต้องหาจะแต่งทนายเพื่อแถลงข้อคัดค้าน และซักถามพยานก็ได้
มาตรา 9 ห้ามมิให้ผู้ว่าคดีฟ้องคดี เมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม มาตรา 7 เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะ ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

ผู้ให้ขู้อมูล

นายเกรียงศักดิ์    นวลศรี     น.บ    น.บ.ท    วิชาว่าความ     และผู้เขียนบทความใน ตั๋วทนาย.com

Facebook Comments