“แค่ไหนคือสอบสวน”
๑.สอบสวนถูกต้องแล้ว แม้สอบสวนมากหรือน้อยไม่สำคัญ แม้สอบสวนผู้ต้องหาปากเดียวก็ถือว่าได้สอบสวนแล้ว คำพิพากษาฏีกา ๕๑๖/๒๔๘
๒. คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ แม้ไม่สอบเจ้าทรัพย์ สอบแต่พยานอื่นก็ถือได้ว่าสอบสวนแล้ว คำพิพากษาฏีกา ๗๖๙/๒๔๘๔
๓.การที่พยานโจทก์บางปากยังไม่ได้ให้การในชั้นสอบสวน แต่ได้สอบจำเลยและพยานอื่น เรียกไม่ได้ว่าไม่มีการสอบสวน คำพิพากษาฏีกา ๑๙๐๗/๒๔๙๔
๔.การทำแผนที่เกิดเหตุเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวน แต่หากกระทำโดยไม่ชอบเพราะไม่ตรงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ต้องหาไม่ลงชื่อในบันทึกแผ่นที่เกิดเหตุ ซึ่งตามระเบียบปฏิบัติ พนักงานสอบสวนต้องทำแผนที่เกิดเหตุที่ผู้ต้องหาเห็นว่าถูกต้องอีกฉบับหนึ่ง แล้วให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อไว้แต่พนักงานสอบสวนไม่ทำ ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป คำพิพากษาฏีกา ๔๕๔๖/๒๕๓๖
๕.การที่ตำรวจจัดหาธนบัตรให้สายลับเพื่อทำการล่อซื้อยาเสพติด เป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีอำนาจสืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพื่อทราบลายละเอียดแห่งความผิด ไม่ถือเป็นการแสวงหาหลักฐานโดยไม่ชอบ การที่พนักงานสอบสวนปกปิดชื่อและตัวสายลับ ไม่สอบสายลับเป็นพยาน เป็นอำนาจหน้าที่พนักงานสอบสวนที่จะสืบพยานหลักฐานมาประกอบการดำเนินคดี และเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนที่จะสอบสวนบุคคลใดเป็นพยานก็ได้ การที่พนักงานสอบสวนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องสอบปากคำสายลับไว้เป็นหลักฐาน ไม่ถือว่าสอบสวนไม่ชอบ คำพิพากษาฏีกา ๖๓๙๗/๒๕๔๑
ข้อสังเกต ๑. การสอบสวนเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายซึ่งพนักงานสอบสวนได้กระทำไป เกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อทราบข้อเท็จจริง หรือพิสูจน์ความผิด และเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑(๑๑) ดังนั้นหากมีการสอบสวนถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ก็ถือว่าถูกต้องใช้ได้ ไม่มีกฏหมายบัญยัติว่าต้องสอบสวนมากน้อยเพียงใด ดังนั้นแม้สอบผู้ต้องหาเพียงปากเดียว หรือสอบผู้เสียหายปากเดียว(กรณีผู้ต้องหาหลบหนีไม่สามารถสอบปากคำผู้ต้องหาได้ หรือเป็นกรณีไม่ทราบว่าผู้กระทำความผิดเป็นใคร เช่น บ้านถูกงัดแต่ไม่ทราบว่าคนร้ายเป็นใคร ก็ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาสอบปากคำได้ก็สอบปากคำผู้เสียหายเพียงปากเดียว) หรือสอบแต่พยานหลักฐานอื่น โดยไม่ได้สอบผู้เสียหายก็ไม่ทำให้การสอบสวนที่ทำการสอบสวนโดยชอบด้วยกฏหมายเสียไปไม่
๒.สอบสวนปากคำผู้ต้องหาแล้วผู้ต้องหาไม่ยอมลงชื่อในบันทึกคำให้การ ไม่ยอมลงชื่อในแผ่นที่เกิดเหตุ ไม่ยอมลงชื่อบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป เพราะการสอบสวนจะเสียไปเพราะบุคคลที่ไม่มีอำนาจในการสอบสวนมาทำการสอบสวน หรือในความผิดต่อส่วนตัวไม่มีการร้องทุกข์ แล้วพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน หรือในความผิดต่อส่วนตัวผู้เสียหายร้องทุกข์เกิน ๓ เดือนนับแต่ความผิดเกิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้วพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนในคดีดังกล่าวซึ่งพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจในการสอบสวน หรือการสอบสวนคดีในคดีบางประเภท เช่น ความผิดเกี่ยวกับเพศ ที่ผู้เสียหายหรือพยานอายุไม่เกิน ๑๘ ปี การสอบสวนไม่ได้แยกสัดส่วนผู้เสียหายหรือพยานแยกห้องออกจากพนักงานสอบสวน หรือการสอบสวนในคดีดังกล่าวไม่ทำการสอบสวนโดยสหวิชาชีพร่วมในการสอบสวนโดยไม่มีพนักงานอัยการ ไม่มีนักสังคมสงเคราะห์ ไม่มีนักจิตวิทยา หรือไม่มีบุคคลที่เด็กร้องขอให้อยู่ด้วยในขณะสอบสวน หรือการถามพยานหรือผู้เสียหายที่เป็นเด็กไม่ได้ถามผ่านล่ามที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์หรือนักจิตวิทยา ไม่มีการบันทึกภาพถ่ายและเสียงในขณะสอบสวน (วีดีโอ) เป็นต้น
๓. ไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติให้พนักงานสอบสวนต้องทำแผ่นที่เกิดเหตุ หรือบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ หรือภาพถ่ายที่ผู้เสียหายชี้ตัวผู้ต้องหา เป็นเพียงธรรมเนียมปฏิบัติที่พนักงานสอบสวนดำเนินการกันมา ไม่ว่าจะทำตามธรรมเนียมที่กระทำกันมา หรือเป็นไปตามระเบียบสนง.ตำรวจแห่งชาติหรือไม่อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ต้องกระทำแม้พนักงานสอบสวนไม่กระทำก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกรณีที่ผู้ต้องหาไม่ยอมลงชื่อในแผ่นที่เกิดเหตุและขอให้พนักงานสอบสวนทำแผ่นที่เกิดเหตุอีกฉบับหนึ่งตามที่ผู้ต้องหาเห็นว่าถูกต้อง หากพนักงานสอบสวนไม่กระทำตาม ก็ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไปไม่ หรือกรณีที่ผู้ต้องหาร้องขอให้พนักงานสอบสวนสอบพยานฝ่ายของตนแต่พนักงานสอบสวนไม่ยอมสอบปากคำพยานฝ่ายผู้ต้องหา หรือพนักงานสอบสวนไม่ยอมแนบเอกสารหรือภาพถ่ายที่ผู้ต้องหาขอให้พนักงานสอบสวนรวบรวมไว้ในสำนวน แต่พนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการให้ ดังนี้ก็ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป เพราะไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติให้พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการตามที่ผู้ต้องหาร้องขอแต่อย่างใดไม่
๔.การที่พนักงานสอบสวนไม่ทำการสอบปากคำสายลับที่ทำการล่อซื้อยาเสพติด ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไปเพราะไม่มีบทบัญญัติในกฏหมายใดให้พนักงานสอบสวนต้องสอบพยานดังกล่าว เพียงแต่การไม่สอบพยานดังกล่าวจะทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากน้อยอย่างไรเป็นอีกเรื่อง ข้ออ้างของพนักงานสอบสวนที่อ้างว่าไม่สามารถสอบสายลับได้เพราะเกรงว่าจะได้รับอันตรายนั้นรับฟังได้หรือไม่อย่างไร เพราะพยานทุกปากที่มาให้การในชั้นสอบสวน ในชั้นพนักงานอัยการหรือมาเบิกความในศาลล้วนเกิดอันตรายได้ทั้งนั้นอยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯจะมีบทบาทหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยให้พยานได้มากน้อยอย่างไร มีคดีเป็นจำนวนมากที่ศาลยกฟ้องเพราะไม่ได้นำสายลับที่เป็นประจักษ์พยานมาเบิกความ ซึ่งเมื่อพนักงานอัยการสั่งสอบสวนเพิ่มเติม พนักงานสอบสวนก็ไม่ยอมสอบให้อ้างว่าเกรงจะเป็นอันตรายแก่สายลับ หรือหากเปิดเผยไปจะไม่สามารรถใช้สายลับนี้ในการทำงานคดีอื่นได้ ซึ่งปกติสายลับก็มักเป็นคนที่กระทำผิดด้วยโดยอาจได้รับข้อเสนอที่จะไม่ถูกดำเนินคดีหากทำหน้าที่เป็นสายลับ โดยในคดียาเสพติด คนขายยาเสพติดไม่ขายให้คนทั่วไป คนที่จะซื้อได้คือคนที่เคยซื้อหรือคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การที่กันบุคคลเหล่านี้มาเป็นสายลับที่ล่อซื้อเพื่อตอบแทนในการที่จะไม่ถูกดำเนินคดี หรือถูกดำเนินคดีในข้อหาเบา เป็นการให้คำมั่น จูงใจด้วยประการอื่น คำให้การของสายลับจึงเสียไปตาม ป.ว.อ. มาตรา ๒๒๖ จนต้องมีการเพิ่มเติม ป.ว.อ. มาตรา ๒๒๖/๑ ให้พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจากาการกระทำโดยไม่ชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามไม่ให้ศาลรับฟังพยานเหล่านั้น เว้นแต่ จะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิ์เสรีภาพพื้นฐานของประชาชน โดยคำนึงถึงคุณค่าในเชิงพิสูจน์ ความสำคัญ ความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐาน และพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งคดี ลักษณะความเสียหายที่เกิดโดยการกระทำโดยไม่ชอบ หรือผู้ที่กระทำการโดยมิชอบอันเป็นเหตุให้ได้พยานหลักฐานนั้นมาได้รับการลงโทษหรือไม่อย่างไร
๕.ไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาห้ามไม่ให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำผู้กระทำผิดมาเป็นพยานฝ่ายผู้กล่าวหา เช่น กันมือปืนเป็นพยานเพื่อดำเนินคดีกับคนจ้างใช้วานให้ไปฆ่า ดังนี้ไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้สอบผู้ร่วมกระทำผิดเป็นพยานฝ่ายผู้กล่าวหา แต่น้ำหนักน่าเชื่อถือได้ขนาดไหนอย่างไรเป็นอีกเรื่อง การมาให้การเพื่อตอบแทนหรือแลกเปลี่ยนการไม่ถูกดำเนินคดีเป็นการสอบสวนพยานที่ให้คำมั่น สัญญาต้องห้ามตาม ป.ว.อ. มาตรา ๒๒๖ เว้นแต่กรณีจะเข้าข้อยกเว้น ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๒๒๖/๑ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นในข้อสังเกตข้อ ๔. แม้จะสอบปากคำผู้ร่วมกระทำผิดมาเป็นพยานผู้กล่าวหาด้วยก็ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป แต่ปัญหาทางปฏิบัติคือ เมื่อกันมือปืนเป็นพยาน ไม่ดำเนินคดีกับมือปืน แต่พอมาเบิกความในศาลมือปืนกลับคำว่า ไม่เคยให้การเช่นนั้นในชั้นสอบสวน ลายมือชื่อในช่องพยานไม่ใช่ลายมือชื่อของตน หรือเป็นลายมือชื่อของตนแต่ถูกผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนซ้อมและบังคับให้ลงลายมือชื่อ หากเป็นดังนี้ เมื่อพยานไม่ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนใช้จ้างวานให้ยิงผู้ตาย ศาลลงโทษจำเลยไม่ได้ ซึ่งผลก็คือลงโทษผู้ใช้จ้างวานไม่ได้ เพราะมือปืนให้การกลับคำว่าจำเลยไม่ใช่คนใช้จ้างวานให้ยิงผู้ตาย คำให้การในชั้นสอบสวนไม่ใช่ลายมือชื่อตน ตนไม่เคยให้การดังกล่าว หรือเคยให้การดังกล่าวเพราะถูกซ้อมหรือถูกบังคับข่มขู่ และไม่สามารถลงโทษมือปืนได้เพราะพนักงานสอบสวนกันมือปืนไว้เป็นพยานไม่มีการแจ้งข้อหาและดำเนินคดีกับพยาน จึงไม่สามารถดำเนินคดีทั้งมือปืนและคนใช้จ้างวานได้ ซึ่งปัญหาต่อมาที่เกิดคือพนักงานอัยการต้องอุทธรณ์ฏีกาคำพิพากษาซึ่งผลก็คือศาลสูงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลล่างเพราะประจักษ์พยานไม่ยืนยันการกระทำความผิด และพนักงานอัยการต้องดำเนินคดีกับมือปืนว่า ให้การในชั้นสอบสวนเป็นเท็จ(ความผิดฐานแจ้งความเท็จ) หรือดำเนินคดีในข้อหาว่า เบิกความในศาลเป็นเท็จ ซึ่งเมื่อพยานกลับคำในชั้นศาลพนักงานอัยการจะส่งคำให้การของมือปืนในชั้นสอบสวนแล้วถามว่า ที่เคยให้การในชั้นสอบสวนกับที่เบิกความในศาลอันไหนเป็นจริงเป็นเท็จ เพื่อจะได้ดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จหรือเบิกความเท็จเพียงฐานเดียว แต่ผู้พิพากษาบางคนบอกว่า อัยการพยานก็เบิกความในศาลแล้วโดยผ่านการสาบานตัว จะมาถามพยานอีกทำไมว่าที่ให้การในชั้นสอบสวนเป็นจริงหรือเท็จอีกทำไม ผลที่เกิดคือ อัยการกับศาลทะเลาะกันอีกเพราะศาลไม่ยอมบันทึกตามที่พนักงานอัยการร้องขอ พนักงานอัยการก็ไม่ยอมลงชื่อในบันทึกคำเบิกความพยาน และยื่นคำร้องโต้แย้งคัดค้านการที่ศาลไม่ยอมบันทึกว่าพยานเบิกความเท็จหรือให้การในชั้นสอบสวนเท็จพร้อมอุทธรณ์ฏีกาคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาล เมื่อช้างสารชนกันหญ้าแพรกก็แหลกลาน เพราะในการทำคดีอื่นก็กระทบกระทั้งกันอีกเป็นทอดๆหากคุยกันไม่รู้เรื่องก็เป็นการกระทบกันทั้งระบบไม่ใช่เฉพาะเพียงคู่กรณีเท่านั้น ปัญหาเรื่องอัยการถามแล้วศาลไม่ยอมบันทึกทำให้อัยการกับศาลหลายต่อหลายคู่มีปัญหากัน
ผู้ให้ข้อมูล
นายเกรียงศักดิ์ นวลศรี น.บ น.บ.ท วิชาชีพว่าความ และผู้เขียนบทความใน เว็บตั๋วทนาย.com