ฎีกาที่ ๒๐๒๑/๒๕๕๗ เจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ได้บังคับเด็ดขาดว่า ผู้เสียหายจะต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มต้นสืบพยานเสียทีเดียว ฉะนั้น การที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องเข้ามาในขณะที่สืบพยานโจทก์ยังไม่แล้วเสร็จ ย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะรับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้ เมื่อปรากฏว่ายังไม่ได้สืบพยานตัวผู้ร้องซึ่งเป็นพยานโจทก์คนหนึ่ง ศาลชั้นต้นจึงรับคำร้องแล้วสำเนาให้จำเลยให้การแก้คดี ซึ่งจำเลยให้การแก้คดีแล้ว ตลอดจนมีการสืบพยานโจทก์ พยานผู้ร้องและพยานจำเลยจนเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณา เท่ากับศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจรับคำร้องไว้แล้ว และจำเลยไม่ได้ยกข้ออ้างว่าผู้ร้องยื่นคำร้องเกินเวลาดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งต่อไปได้
ข้อสังเกต
ตามมาตรา ๔๔/๑ วรรคสอง กำหนดให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเข้ามาได้ ๒ ช่วงเวลา คือ
ก.หากไม่มีการสืบพยาน (คดีรับสารภาพโดยไม่ต้องสืบพยานประกอบ) ต้องยื่นก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี (หมายถึง ก่อนศาลพิพากษาคดี)
ข. หากมีการสืบพยาน (เช่น คดีปฏิเสธ หรือคดีที่ต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ) ต้องยื่น “ก่อนเริ่มต้นสืบพยาน”
คดีนี้ ผู้เสียหายยื่น “หลังจากเริ่มต้นสืบพยาน” ไปแล้วบางส่วน ซึ่งถือว่าพ้นเวลาตามข้อ ข. แต่ศาลใช้ดุลพินิจรับคำร้อง เหตุผลเพราะ (๑) โจทก์ยังไม่ได้สืบพยานปากผู้เสียหาย (๒) ศาลให้โอกาสจำเลยยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่งไว้แล้ว
นายเกรียงศักดิ์ นวลศรี น.บ น.บ.ท วิชาชีพว่าความ และผู้เขียนบทความใน เว็บตั๋วทนาย.com