Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ หนังสือมอบอำนาจ ทำอย่างไรให้ถูกกฎหมาย

หนังสือมอบอำนาจ ทำอย่างไรให้ถูกกฎหมาย

91134

image
การมอบอำนาจคือ การที่บุคคลหนึ่งเรียกว่า ตัวการ มอบให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ตัวแทน มีอำนาจทำการแทน หรือการกระทำนั้นมีผลทาง กฎหมายเสมือนว่าตัวการทำด้วยตนเอง การมอบอำนาจเพื่ออะไร หากบุคคลไม่สามารถไปกระทำการใดๆได้ด้วยตนเอง เช่น การจัดการ จะต้องทำอย่างไร -อาจทำหนังสือมอบอำนาจ หรือใบมอบอำนาจเพื่อให้บุคคลอื่นเป็น “ตัวแทน” ไปกระทำการแทนได้โดย หนังสือมอบอำนาจนี้ให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเก็บไว้เก็บหลักฐาน การมอบอำนาจทำอย่างไร -การมอบอำนาจให้ทำกิจการใด ที่กฎหมายกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือการมอบอำนาจให้ทำกิจการนั้น ก็ต้องทำเป็นหนังสือ จะต้องระบุข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจให้ละเอียดและชัดเจนที่สุดว่า… ใครมอบอำนาจให้ใคร ไปกระทำการใดกับใคร อย่างไรบ้าง ให้ระบุเป็นข้อๆ ให้ครอบคลุมทุกขั้นตอน และต้องมีการลงลายมือชื่อให้ครบถ้วน ทั้งผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจ และพยานอีกสองคน มิเช่นนั้นแล้วจะทำให้เป็นการมอบอำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าเป็นการจัดการเกี่ยวกับที่ดินกฎหมายกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือ ฉะนั้นการมอบอำนาจให้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับสิทธิในที่ดินก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย โดยจะใช้แบบพิมพ์ของกรมที่ดินหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ต้องให้มีสาระครบถ้วน ถ้าจะให้ดีเพื่อความสะดวกของท่าน ควรใช้แบบพิมพ์ของกรมที่ดิน พร้อมแนบ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ของผู้มอบ และ ผู้รับมอบอำนาจด้วย ครับ
แนวคำพิพากษาศาลฎีกา 2600/2601/2550 ตามหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับ มีข้อความระบุเหมือนกันว่า บริษัท ก้องสุข โดยนายสวัสดิ์ และนางวรรณี กรรมการผู้มีอำนาจ มอบอำนาจให้นายสมพงษ์ เป็นผู้รับมอบอำนาจไปร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาตามเช็คพิพาทแก่บริษัท ก่อกิจ โดย นายก่อและนายกิจ แสดงว่าบริษัท ก้องสุข มอบอำนาจให้นายสมพงษ์ ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่บริษัท ก่อกิจ ซึ่งมีนายก่อและนายกิจเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน มิใช่มอบอำนาจให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่ นายก่อและนายกิจในฐานะส่วนตัว อีกทั้งสำเนาหนังสือรับรองและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายสวัสดิ์และนางวรรณี ที่แนบท้ายหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวทุกฉบับ ซึ่งมีการรับรองสำเนาถูกต้อง ก็ระบุชัดเจนว่าสำหรับใช้งานมอบอำนาจให้นายสมพงษ์ร้องทุกข์คดีอาญาเช็คแก่บริษัท ก่อกิจ เท่านั้น แม้นายสวัสดิ์ จะเบิกความว่า ตามหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับเป็นการมอบอำนาจให้นายสมพงษ์ ไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี แก่นายก่อและนายกิจก็ตาม แต่คำเบิกความของนายสวัสดิ์ ก็ขัดต่อข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง แม้นายก่อและนายกิจ จะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทดังกล่าวก็ตาม แต่ความเป็นนิติบุคคลของบริษัท ก่อกิจ ก็แยกต่างหากจากความเป็นบุคคลของนายก่อและนายกิจ ประกอบกับความรับผิดในทางอาญาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้กระทำผิดแต่ละบุคคล เมื่อบริษัท ก้องสุข มีหนังสือมอบอำนาจให้นายสมพงษ์ ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน โดยระบุให้ดำเนินคดีแก่บริษัท ก่อกิจ เท่านั้น นายสมพงษ์ จึงไม่มีอำนาจไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่นายก่อและนายกิจ และเป็นการร้องทุกข์ที่ไม่ชอบ เท่ากับบริษัท ก้องสุข ซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนี้ อันเป็นความผิดต่อส่วนตัวแก่นายก่อและนายกิจ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 ฉะนั้น พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องนายก่อและนายกิจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ในเมื่อไม่มีอำนาจฟ้อง คำร้องของบริษัทก้องสุขผู้เสียหายย่อมตกไป และศาลจึงต้องยกฟ้องด้วย

Facebook Comments