Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ บทวิเคราะห์ กฎหมายหอพัก ใครได้ประโยชน์

บทวิเคราะห์ กฎหมายหอพัก ใครได้ประโยชน์

4529

image

ไฟล์แนบ ขนาดไฟล์
พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ.2558.pdf 343.74 KB

18 กุมภาพันธ์ 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ผ่าน ร่างพระราชบัญญัติหอพัก โดยมติเห็นควรประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยกฎหมายนี้กำหนดให้ทุกหอพักต้องมี “ผู้จัดการหอ” คอยดูแลไม่ให้มีการเสพสุรา หรือเล่นการพนัน คอย “แจ้งผู้ปกครอง” หากผู้พักไปพักที่อื่น ท่ามกลางเสียงวิจารณ์มากมาย กฎหมายฉบับนี้ก็ผ่านออกมาโดยขาดการรับรู้หรือมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ประกอบกิจการหอพัก และเด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

กฎหมายนี้ แบ่งหอพักออกเป็นสองประเภท ได้แก่ “หอพักสถานศึกษา” คือ หอพักที่มีผู้ประกอบกิจการเป็นสถานศึกษา และ “หอพักเอกชน” คือ หอพักที่มีผู้ประกอบการเป็นบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่สถานศึกษา ซึ่งยังแบ่งออกเป็น หอพักชาย และ หอพักหญิง

ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี จูงใจผู้ประกอบการให้เข้าสู่ระบบ “หอพัก”

การจดทะเบียนเป็น “หอพัก” ตามพระราชบัญญัตินี้นำมาซึ่งหน้าที่ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการและผู้จัดการหอพัก หากผู้ประกอบการเลือกเปิดห้องเช่าเป็นกิจการประเภทอพาร์ทเม้นต์ หรือชื่อเรียกอื่นก็อาจไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบมากมายเหล่านี้ ดังนั้นพระราชบัญญัตินี้จึงกำหนดให้มีระบบ “ประกาศเกียรติคุณ” หอพัก โดยคณะกรรมการจะมีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกาศเกียรติคุณหอพัก และให้การสนับสนุน ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีแก่หอพักที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้

สิทธิประโยชน์และการสนับสนุนที่หอพักจะได้รับเมื่อหอพักได้รับประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการลดหย่อนภาษีหรือยกเว้นภาษีเงินได้ในกรณีพิเศษ, ลดหย่อนภาษีหรือยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย หรือภาษีอื่นใดในทำนองเดียวกัน, การสนับสนุนด้านการเงินหรือวัสดุอุปกรณ์, การสนับสนุนด้านอื่นๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

หลักเกณฑ์และวิธีการในการประกอบกิจการหอพัก

พระราชบัญญัติหอพักฉบับนี้ กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบกิจกรรมหอพักเอาไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบกันระหว่างผู้ประกอบการกับผู้พัก จึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ไว้ เช่น

1. จะเรียกเก็บเงินค่าเช่าล่วงหน้าได้ไม่เกินอัตราค่าเช่าสามเดือน โดยให้นำเงินค่าเช่าล่วงหน้ามาเป็นค่าเช่าสำหรับสามเดือนสุดท้ายของสัญญาเช่า แต่หากว่าเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดจะขอเงินค่าเช่าล่วงหน้าคืนไม่ได้

2. จะเรียกเก็บเงินประกันได้ไม่เกินอัตราค่าเช่าหนึ่งเดือน และต้องคืนเงินประกันให้แก่ผู้พักในวันที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลง ตามจำนวนที่เหลืออยู่หลังจากหักค่าเสียหายแล้ว

3. ผู้จะขอใบอนุญาตประกอบกิจการหอพัก ต้องมีความพร้อมด้าน สถานที่ตั้ง สิ่งแวดล้อม และสุขลักษณะของหอพัก ห้องนอน ห้องน้ำ และห้องส้วม สถานที่สำหรับรับประทานอาหารหรือต้อนรับผู้เยี่ยมเยียนและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พัก ระบบสาธารณูปโภคและระบบรักษาความปลอดภัย

4. ผู้ประกอบการต้องแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย

การจัดการหอพัก ผู้ประกอบกิจการหอพักมีหน้าที่

(1) ต้องจัดให้ประกันภัยเพื่อคุ้มครองชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้พัก
(2) ต้องจัดให้มีระเบียบประจำหอพักปิดประกาศไว้โดยเปิดเผยและเห็นได้ง่ายซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบไปด้วย การรับผู้พัก อัตราค่าเช่า ค่าเช่าล่วงหน้า เงินประกัน และค่าบริการอื่นๆ เวลาเข้า-ออกหอพัก หลักเกณฑ์การเข้าเยี่ยม การไปพักที่อื่นเป็นการชั่วคราว การปฎิบัติตนเมื่ออยู่ร่วมกัน ชื่อผู้ประกอบกิจการและผู้จัดการ เวลาทำการของหอพัก
(3) ต้องมีป้ายชื่อเป็นอักษรไทย ซึ่งมีคำว่า “หอพัก” นำหน้าและตามด้วยประเภทหอพัก
(4) ต้องมีการตรวจประวัติคนที่จะรับเข้าทำงานว่าไม่มีประวัติอาชญกรรมและไม่เป็นโรคติดต่อหรือน่ารังเกียจตามที่คณะกรรมการกำหนด และคนดูแลหอพักหญิงต้องเป็นผู้หญิง
(5) ผู้ประกอบกิจการ “หอพักสถานศึกษา” ที่รับผู้พักที่อยู่ระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องจัดให้มีอาหารอย่างน้อยวันละสองมื้อ

กฎหมายบังคับ ต้องมี “ผู้จัดการหอพัก” ดูแลผู้พักแทนผู้ปกครอง

ผู้ประกอบกิจการต้องจัดให้มี “ผู้จัดการหอพัก” ซึ่งเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ ควบคุม ดูแลหอพัก ในกรณีที่ผู้จัดการหอพักไม่อยู่หรือปฎิบัติหน้าที่ไม่ได้ให้ผู้ประกอบกิจการทำหน้าที่แทนหรือแต่งตั้งผู้อื่นแทนและแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 15 วันนับตั้งแต่มีการแต่งตั้ง

แต่ “ผู้จัดการหอพักสถานศึกษา” ต้องได้รับการแต่งตั้งโดยสถานศึกษา และผู้จัดการหอพักเอกชนต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ซึ่งถ้าผู้ประกอบกิจการหอพักเอกชนมีคุณสมบัติตามที่กำหนดก็สามารถเป็นผู้จัดการหอพักเองได้

ผู้จัดการหอพัก มีหน้าที่ดังนี้

(1) ต้องจัดทำทะเบียนผู้พักแต่ละรายและส่งให้แก่นายทะเบียนทราบภายใน 7 วัน โดยต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยได้แก่ ชื่อ อายุ และเพศของผู้พัก เลขประจำตัวประชาชน หรือเลขประจำตัวคนต่างด้าว ชื่อสถานศึกษาของผู้พัก ชื่อและที่อยู่ของบิดามารดา หรือผู้ปกครองของผู้พัก วันที่เข้าอยู่ ลายมือชื่อ และต้องเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้อย่างน้อยสองปีให้สามารถตรวจสอบได้
(2) ดูแลไม่ให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้พักเข้าไปในห้องพัก เว้นแต่ได้รับอนุญาตแล้ว
(3) ดูแลไม่ให้มีการเล่นการพนัน เสพสุรา หรือยาเสพติดในหอพัก
(4) ดูแลผู้พักไม่ให้ผู้พักก่อความรำคาญแก่ผู้พักอื่นหรือผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง
(5) ให้ความช่วยเหลือและแจ้งให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองทราบในกรณีที่ผู้พักได้รับอันตรายเพราะเจ็บป่วยหรือเหตุอื่นใด
(6) แจ้งให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองทราบในกรณีที่ผู้พักไปพักที่อื่นโดยไม่แจ้งให้ทราบ
(7) ดูแลไม่ให้มีการกระทำอันควรเชื่อได้ว่ามีการสมคบกันหรือรวมกันกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมาย
(8) แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบในกรณีที่มีพฤติกรรมที่ส่อจะผิดกฎหมาย

ผู้ประกอบกิจการหอพักและผู้จัดการหอพักมีหน้าที่ร่วมกันคือ

(1) ดูแลรักษาสภาพของหอพักให้มีความมั่นคงแข็งแรงและมีระบบป้องกันอัคคีภัยตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
(2) ดูแลรักษาความสะอาดด้านสุขลักษณะและอนามัยของหอพักตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
(3) จัดให้มียาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นไว้ในหอพักเพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้พักที่เจ็บป่วย
(4) จัดให้มีแผนผังแสดงทางหนีไฟในแต่ละชั้นของหอพักและห้องพักทุกห้อง รวมถึงป้ายทางออกฉุกเฉินไว้ในแต่ละชั้นของหอพัก
(5) ดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับผู้พักในกรณีที่เกิดอัคคีภัย อุทกภัยหรือเกิดอันตรายใดๆขึ้นและมีผลกระทบต่อผู้พัก

————————————————————————————————–

ข้อสังเกตและประเด็นทิ้งท้าย

เสี่ยงคณะกรรมการฯ มีผลประโยชน์ทับซ้อน

ตามพระราชบัญญัติหอพักใหม่ ได้ให้อำนาจคณะกรรมการฯ เป็นผู้เสนอความเห็นในการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกาศเกียรติคุณหอพัก ซึ่งหอพักที่ได้รับประกาศเกียรติคุณจะได้รับการลดหย่อนภาษีหรือยกเว้นภาษีเงินได้ในกรณีพิเศษ การลดหย่อนภาษีหรือยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย หรือภาษีอื่นใดในทำนองเดียวกัน และการสนับสนุนด้านการเงินหรือวัสดุอุปกรณ์หรืออื่นๆ

ตามกฎหมายนี้ คณะกรรมการฯ ประกอบไปด้วย รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมฯ, ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมฯ, ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ปลัดกระทรวงศึกษาฯ, เลขาฯ สกอ., เลขาฯ สอศ., ผบ.สตช., อธิบดีกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นฯ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่ง รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นผู้แต่งตั้ง อีก 4 คน และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นเป็นผู้คัดเลือก 1 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา

กฎหมายควรกำหนดด้วยว่าผู้ที่เป็นคณะกรรมการฯ และมีอำนาจหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การประกาศเกียรติคุณหอพักนั้น ต้องไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้ประกอบกิจการหอพักเอง รวมไปถึงไม่เป็นผู้ถือหุ้น หรือมีส่วนได้เสียในกิจการหอพัก และรวมทั้งครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นคณะกรรมการฯ ด้วย

ให้ผู้จัดการหอพักทำทะเบียนข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ทำมีโทษ

ตามพระราชบัญญัติหอพักใหม่ กำหนดให้ ผู้จัดการหอพักทำทะเบียนผู้พักแต่ละรายและส่งให้แก่นายทะเบียน โดยต้องมีข้อมูล เช่น ชื่อ อายุ และเพศของผู้พัก เลขประจำตัวประชาชน หรือเลขประจำตัวคนต่างด้าว ชื่อสถานศึกษาของผู้พัก ชื่อและที่อยู่ของบิดามารดา หรือผู้ปกครองของผู้พัก วันที่เข้าอยู่ ลายมือชื่อ เป็นอย่างน้อย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งยังไม่แน่ชัดว่ามีความจำเป็นอย่างไรในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลนี้

ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังไม่ได้ประกาศใช้ และยังมีข้อถกเถียงกันอยู่มากเรื่องขั้นตอนการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล อย่างน้อยที่สุด กฎหมายนี้ควรกำหนดด้วยว่าการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลและนำส่งต่อให้นายทะเบียน ซึ่งถือว่าเป็นการนำข้อมูลไปใช้แล้วนั้น ควรจะต้องแจ้งเจ้าของข้อมูลหรือขออนุญาตเจ้าของข้อมูล รวมถึงแจ้งวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวม และจะถูกนำไปใช้อย่างไร เพื่อให้มีหลักการคุ้มครองเจ้าของข้อมูลที่ไม่ต่ำกว่าหลักการในร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย

ผู้จัดการหอพัก กับหน้าที่ผู้ปกครองคนใหม่

นอกจากดูแลไม่ให้มีการเล่นการพนัน เสพสุรา หรือยาเสพติดในหอพัก ให้ความช่วยเหลือและแจ้งให้บิดามาราดาหรือผู้ปกครองทราบในกรณีที่ผู้พักได้รับอันตรายเพราะเจ็บป่วย ดูแลไม่ให้มีการกระทำอันควรเชื่อได้ว่ามีการสมคบกันหรือรวมกันกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายยังกำหนดให้ ผู้จัดการหอพักมีหน้าที่แจ้งบิดามารดาหรือผู้ปกครองทราบในกรณีที่ผู้พักไปพักที่อื่นโดยไม่แจ้งให้ทราบก่อนด้วย

ทำเงื่อนไขหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์?

การพยายามออกแบบกฎหมายให้รัดกุมมากขึ้น ในเรื่องหลักเกณฑ์อาจจะพอทำให้พ่อแม่และผู้ปกครองสบายใจว่า ลูกหลานพักอยู่ในสถานที่ที่มีความปลอดภัย และอยู่ในสายตาของผู้จัดการหอพักหรือผู้ประกอบกิจการ ซึ่งในปัจจุบันหอพักสถานศึกษาล้วนมีเงื่อนไขที่เข้มงวดอยู่แล้ว ซึ่งอาจทำให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา จำนวนไม่น้อยตัดสินใจเลือกใช้บริการหอพักเอกชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงสถานศึกษามากกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงกฎกติกาการดูแลที่เข้มงวด

เมื่อกฎหมายใหม่มีแรงจูงใจให้หอพักเอกชนมีระบบการดูแลที่เข้มงวดเช่นเดียวกับหอพักสถานศึกษาโดยมีสิทธิประโยชน์เป็นตัวล่อ อาจจะทำให้ผู้พักมีต้นทุนมากขึ้นในการต้องหาหอพักที่ไม่ล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว หรืออาจจูงใจให้ผู้พักเลือกใช้บริการหอพักของสถานศึกษาเพราะมีกฎกติกาที่ไม่ต่างกัน ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องมาทบทวนว่าใครบ้างที่จะได้ประโยชน์จากการออกพระราชบัญญัติหอพักฉบับนี้ ระหว่างผู้ประกอบกิจการหอพักสถานศึกษา ผู้ประกอบกิจการหอพักเอกชน ผู้ปกครอง หรือผู้พัก
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
จับตากฎหมายจาก สนช.

Facebook Comments