Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ สรุปความคิดเห็นต่อร่างภาษีที่ดินฯ

สรุปความคิดเห็นต่อร่างภาษีที่ดินฯ

3236

16741818272_55e7c6bb7d_o

หลายฝ่ายเห็นตรงกัน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลักการดี แต่ห่วงกระทบคนชั้นกลาง-ล่าง จ่ายไม่ไหว ชี้ไม่ช่วยลดเหลื่อมล้ำ แนะเก็บเฉพาะคนมีที่ดินเกิน 50 ไร่ ในอัตราก้าวหน้า

จักรชัย โฉมทองดี คณะทำงานรณรงค์กฎหมาย 4 ฉบับ กล่าวถึงการลดเพดานอัตราภาษีที่ดินฯ ลงครึ่งหนึ่งว่า

“เรื่องนี้ต้องแยกแยะ ตอบแบบรวมๆ ไม่ได้ ถ้าลดภาษีให้ที่อยู่อาศัย และที่เพื่อการเกษตร ตนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะทำให้คนทั่วไปไม่ต้องเสียภาษีเยอะ แต่ถ้าเป็นที่รกร้างว่างเปล่าขนาดใหญ่ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะทำให้คนมีที่ดินเยอะไม่เกิดแรงจูงใจที่จะคายที่ดินออกมา ประกอบกับราคาที่ดินเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 5% ซึ่งสูงกว่าอัตราภาษีที่ต้องจ่าย 2% ดังนั้น คนมีที่ดินจำนวนมากก็ยังสามารถเก็งกำไรคุ้มอยู่ การเก็บภาษีที่ดินฯ จึงไม่มีผลต่อการกระจายการถือครองที่ดิน เพียงแต่เป็นการนำรายได้เข้ารัฐ การลดภาษีลงครึ่งหนึ่งเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากการเอาใจคนถือครองที่ดินจำนวนมาก”

จักรชัยกล่าวอีกว่า

“โดยรวมแล้วมองว่ามีกฎหมายนี้ดีกว่าไม่มี แต่ประโยชน์หายไปเยอะมาก ควรเก็บจากเจ้าของที่ดินรายใหญ่ในอัตราก้าวหน้า เช่น คนที่มีที่ดินเกิน 50 ไร่ ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณเกือบ 2 แสนคน ถ้าทำได้ จะเก็บได้เยอะมาก โดยไม่จำเป็นต้องมาเก็บทุกคนในประเทศ”

ด้าน สกล ลีโนทัย ผู้เชี่ยวชาญการเงินการคลังท้องถิ่น สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) บอกกับไอลอว์ว่า

“กฎหมายนี้ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ แต่อาจเพิ่มรายได้เข้ารัฐ ซึ่งถ้าหากลดอัตราภาษีลงครึ่งหนึ่งแบบนี้ คงเพิ่มรายได้ไม่มาก คนที่กระทบมากที่สุดคือคนชั้นกลางที่บ้านราคา 2 ล้านบาทขึ้นไป เขาอาจขายบ้านแล้วเปลี่ยนไปเช่าแทน การใช้กฎหมายนี้ยังไงก็มีผลกระทบ เพียงแต่จะทำอย่างไรให้มีผลกระทบน้อยที่สุด”

“หลักการของกฎหมายดี แต่ไทยปล่อยเรื่องนี้มานานมากแล้ว ภาษีบำรุงท้องที่เก็บมาตั้งแต่ ปี 2480 อยู่ๆ จะยกเลิก แล้วมาเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน โดยราคาปานกลางของที่ดินก็เพิ่มขึ้น 100 เท่า การเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือคนก็อาจรับไม่ไหว มันควรวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ ถ้าเก็บภาษีที่ดินจริงๆ ก็ควรให้ทุกคนสามารถเสียได้ในราคาที่เหมาะสม การให้เสียคนละ 7-8 พันต่อปี จะเสียไหวไหม เพราะที่ดินก็ราคาขึ้นมาสูงมาก เมื่อก่อนราคาหลักแสน บางหลัง 3-4 ล้าน แต่ตอนนี้เป็น 7-8 ล้านแล้ว” ผู้เชี่ยวชาญการเงินการคลังท้องถิ่นกล่าว

ขณะที่ ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า

“การเก็บภาษีที่ดินฯ จะทำให้ท้องถิ่นมีเงินมาพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนทั้งการศึกษา สาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งโดยหลักการผู้ที่ได้ประโยชน์จากบริการของรัฐต้องร่วมจ่ายภาษีด้วย ในต่างประเทศก็มีการเก็บภาษีที่ดินฯ แต่คนไทยคุ้นเคยกับการได้อะไรจากรัฐฟรี เราไม่มีการการเก็บภาษีประเภทนี้มานานมากแล้ว พอมีตรงนี้ก็ตกใจ ซึ่งจริงๆ อัตราการจัดเก็บไม่เยอะ เช่น ที่อยู่อาศัยเพดานอัตราภาษีอยู่ที่ 0.5% แต่เก็บจริงประมาณ 0.1% เท่านั้น”

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์บอกอีกว่า

“อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย รัฐต้องลดหย่อนให้ประชาชนจ่ายภาษีอย่างสมเหตุสมผล เพื่อภาระภาษีจะได้น้อยลง ส่วนคนที่มีรายได้น้อยจริงๆ อาจยกเว้นภาษีไปเลยหรือจ่ายสัดส่วนน้อยกว่าคนที่มีรายได้มาก การจะปฏิเสธ ไม่จ่ายเลย 100% คงไม่ถูกหลัก”

ทั้งนี้การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอาจปรับลดเพดานอัตราภาษี โดยที่ดินเพื่อการเกษตรเสียภาษี 0.25% ที่อยู่อาศัย 0.5% ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ 2% ที่รกร้างว่างเปล่า ขั้นต้นเก็บ 0.5% และจะเพิ่ม 1 เท่าทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 2%

และมีการคือการบรรเทาภาระภาษี โดย 2 ปีแรกหลังการผ่านร่างกฎหมายภาษีที่ดินฯ จะยังไม่มีการเก็บภาษี ปีที่ 3 จะเก็บ 50% ปีที่ 4 เก็บ 75% และปีที่ 5 เก็บ 100%

นอกจากนี้ อาจลดหย่อนให้บ้านและที่ดินราคาประเมินไม่เกิน 1 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่

ขอบคุณ www.ilaw.or.th

Facebook Comments