Home ทริบเทคนิค/บทความ “ไม่ส่งมอบทะเบียนและแผ่นป้ายทะเบียนรถที่เช่าซื้อ” สามารถบอกเลิกสัญญาได้หรือไม่

“ไม่ส่งมอบทะเบียนและแผ่นป้ายทะเบียนรถที่เช่าซื้อ” สามารถบอกเลิกสัญญาได้หรือไม่

7178

 

นายใจ เช่าซื้อรถยนต์ โดยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อได้ ๑๒ งวด แต่ผู้ให้เช่าซื้อไม่ส่งมอบสำเนาทะเบียนรถที่เช่าซื้อพร้อมแผ่นป้ายทะเบียน ได้ทวงถามให้ผู้ให้เช่าซื้อส่งมอบสำเนาทะเบียนรถที่เช่าซื้อพร้อมแผ่นป้ายทะเบียน แต่ผู้ให้เช่าซื้อไม่ยอมส่งมอบให้    นายใจจึงไม่ชำระค่าเช่าซื้อค่างวดต่อไป  พร้อมบอกเลิกสัญญา พร้อมให้คืนเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ส่งมอบไปแล้ว    แต่ผู้ให้เช่าซื้อไม่ยอมคืนเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระไปแล้วโดยอ้างว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญา จึงต้องถูกยึดทรัพย์  นายใจจึงได้ฟ้องผู้ให้เช่าซื้อ โดยขอให้ศาลบังคับให้ผู้ให้เช่าซื้อชำระเงิน ๒๒๗,๗๑๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย ผู้ให้เช่าซื้อต่อสู้คดีว่า ผู้เช่าซื้อเป็นคนผิดสัญญา เหตุที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถส่งมอบสำเนาทะเบียนรถและป้ายทะเบียนรถยนต์ได้นั้น เพราะบริษัทผู้จัดจำหน่ายยังไม่โอนทะเบียนให้แก่บริษัทผู้ให้เช่าซื้อ   ศาลฏีกาวินิจฉัยว่า การที่ผู้ให้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องส่งมอบสำเนาทะเบียนและแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ให้ผู้เช่าซื้อ เพราะเป็นสิ่งที่เป็นสาระสำคัญในการใช้รถ การที่บริษัทส่งมอบรถให้ผู้เช่าซื้อโดยไม่มีสภาพเหมาะสมจะใช้งานได้ตามประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาเช่าซื้อ บริษัทต้องรับผิดชอบต่อผู้เช่าซื้อตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๗๒,๕๔๙  ผู้ให้เช่าซื้อจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ จะอ้างเหตุบริษัทผู้ขายรถยนต์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่โอนทะเบียนรถยนต์ให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้ เมื่อผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญา ผู้เช่าซื้อมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญา และไม่ชำระค่าเช่าซื้อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๖๙   เมื่อผู้ให้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะไม่สามารถจัดการแก้ไขให้รถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตามประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา ผู้เช่าซื้อมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๘๗ เมื่อผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนผู้ให้เช่าซื้อก่อน เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๗๓ นั้นเป็นบทบัญญัติให้สิทธิ์ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาในกรณีที่ไม่มีการผิดสัญญา ดังนั้น เมื่อมีการเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิม  ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๙๑ ผู้เช่าซื้อต้องคืนรถให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ     และต้องใช้เงินตามค่าแห่งการใช้สรอยรถยนต์ให้ผู้ให้เช่าซื้อ    ส่วนผู้ให้เช่าซื้อต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อแก่ผู้เช่าซื้อ พิพากษาให้ผู้ให้เช่าซื้อชำระเงิน ๑๘๔,๔๑๐.๓๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๑ จนกว่าจะชำระเสร็จให้ผู้เช่าซื้อ  เทียบเคียงคำพิพากษาฏีกา ๔๙๗๔/๒๕๔๕
ข้อสังเกต ๑. สาระสำคัญของการเช่าซื้อรถ คือ ได้ทะเบียนรถยนต์หรือสำเนาทะเบียนรถพร้อมป้ายทะเบียนรถยนต์ เพราะทะเบียนรถและแผ่นป้ายทะเบียนรถเป็นสิ่งที่ควบคุมการมีและการใช้รถ และบอกให้รู้ว่าผู้ครอบครองและเป็นเจ้าของรถคันดังกล่าวคือใคร เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบเมื่อรถหายหรือมีการนำรถไปใช้ในการกระทำความผิด แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์จะบอกให้ทราบว่า ใครเป็นเจ้าของ ใครเป็นผู้ครอบครอง และที่อยู่ของเจ้าของและผู้ครอบครองคือใคร และใช้ในการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี ดังนั้น การมีทะเบียนรถยนต์หรือแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์จึงเป็นสาระสำคัญของการมีและใช้รถยนต์
๒.ดังนั้นการเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งก็คือการเอารถออกให้เช่า โดยมีคำมั่นว่าจะขายหรือให้กรรมทรัพย์ทรัพย์ที่ให้เช่าตกแก่ผู้เช่าซื้อ ย่อมถือเอาทะเบียนรถและแผ่นป้ายทะเบียนเป็นสาระสำคัญในการเช่าซื้อ ดังนั้น การที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถส่งมอบทะเบียนรถและแผ่นป้ายทะเบียนรถให้แก่ผู้เช่าซื้อได้ จึงเป็นการทำผิดข้อสาระสำคัญในการเช่าซื้อรถยนต์ เพราะผู้เช่าซื้อต้องการได้กรรมสิทธิ์ในรถที่เช่าซื้อเมื่อตนได้ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน ส่วนผู้ให้เช่าซื้อก็ต้องการเงินค่าเช่าซื้อและมีหน้าที่ต้องโอนรถที่เช่าซื้อให้ผู้เช่าซื้อเมื่อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน การที่บริษัทผู้ให้เช่าซื้อไม่ส่งมอบทะเบียนรถและแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ ถือว่าผู้ให้เช่าซื้อส่งมอบรถให้ผู้เช่าซื้อโดยไม่มีสภาพเหมาะสมจะใช้งานได้ตามประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาเช่าซื้อ โดยเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ หรือโดยความมุ่งหมายแห่งสัญญา บริษัทต้องรับผิดชอบต่อผู้เช่าซื้อตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๗๒,๕๔๙, ซึ่งในบทบัญญัติเรื่องการเช่าซื้อก็คือการเช่าซึ่งมีคำมั่นจะขายหรือให้กรรมสิทธิ์ตกแก่ผู้เช่า ดังนั้นจึงต้องนำบทบัญญัติในเรื่องการเช่ามาอนุโลมใช้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ซึ่งบทบัญญัติในเรื่องการเช่าให้อนุโลมบทบัญญัติในเรื่องซื่อขายมาอนุโลมใช้อีกที
๓.เมื่อผู้ให้เช่าซื้อไม่อาจส่งมอบทะเบียนรถหรือสำเนาทะเบียนรถพร้อมแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ให้ผู้เช่าซื้อได้ จึงเป็นการผิดสัญญาเช่าซื้อ โดยจะอ้างเหตุว่าบริษัทผู้ขายรถยนต์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่สามารถโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่บริษัทผู้เช่าซื้อไม่ได้ การที่บริษัทผู้ขายรถยนต์ไม่สามารถโอนทะเบียนรถให้แก่บริษัทผู้ให้เช่าซื้อได้นั้นก็เป็นเรื่องที่บริษัทผู้ให้เช่าซื้อต้องไปว่ากล่าวกันเอง ไม่เกี่ยวกับผู้เช่าซื้อ และจะถือว่าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยที่บริษัทผู้ให้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดต่อผู้เช่าซื้อตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๑๙ ไม่ได้ จึงต้องถือว่าบริษัทผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญาเช่าซื้อ เพราะสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อบริษัทผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถชำระหนี้ด้วยการส่งมอบสำเนาทะเบียนรถและแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ ผู้เช่าซื้อก็ชอบที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ด้วยการจ่ายเงินค่าเช่าซื้อได้ เมื่อผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญาไม่สามารถโอนทะเบียนรถและแผ่นป้ายทะเบียนรถให้แก่ผู้เช่าซื้อได้ ผู้เช่าซื้อได้บอกกล่าวให้ผู้ให้เช่าซื้อดำเนินการชำระหนี้ด้วยการส่งมอบสำเนาทะเบียนรถและแผ่นป้ายทะเบียนรถภายในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อผู้ให้เช่าซื้อไม่ชำระหนี้ในการส่งมอบสำเนาทะเบียนรถและแผ่นป้ายทะเบียนรถ ผู้ให้เช่าซื้อย่อมตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้เช่าซื้อสามารถเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๘๗ โดยไม่จำเป็นต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๗๓ และมาตรา ๔ ซึ่งเป็นบทบัญญัติในการเลิกสัญญากรณีที่ไม่มีการผิดสัญญา แต่กรณีนี้เป็นการเลิกสัญญาในกรณีที่มีการผิดสัญญาจึงไม่นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับ
๔.เมื่อมีการเลิกสัญญาแล้วคู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม เหมือนไม่มีการทำสัญญาต่อกันไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๙๑ ซึ่งเงินอันจะต้องใช้คืน สามารถคิดดอกเบี้ย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๙๑ วรรค สอง เมื่อเป็นหนี้เงินที่จะต้องมีการเสียดอกเบี้ย แต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ตามกฎหมายหรือนิติกรรม จึงต้องคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗ เมื่อมีการเลิกสัญญา คู่กรณีต้องกลับคืนสู่สถานะเดิม ผู้เช่าซื้อจึงต้องคืนรถที่เช่าซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อและต้องใช้เงินตามค่าแห่งการใช้สรอยรถยนต์ให้ผู้ให้เช่าซื้อ ส่วนผู้ให้เช่าซื้อต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อแก่ผู้เช่าซื้อ
๕.การที่ผู้เช่าซื้อจะให้คืนเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดไม่ถูกต้อง เพราะการเช่าซื้อคือสัญญาเอาทรัพย์ออกให้เช่า โดยให้คำมั่นว่าจะขายหรือให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นสิทธิ์แก่ผู้เช่าโดยมีเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ชำระเงินเท่านั้นเท่านี้คราว ดังนั้น แม้ผู้ให้เช่าซื้อจะไม่ยอมส่งมอบสำเนาทะเบียนรถที่เช่าซื้อพร้อมป้ายทะเบียนอันถือว่าเป็นการผิดสัญญาก็ตาม แต่การที่ผู้เช่าซื้อได้ใช้สรอยรถคันดังกล่าว ถือว่าได้ประโยชน์จากทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อแล้ว ดังนั้นจึงไม่อาจขอเรียกเงินค่าเช่าซื้อคืนเสียทั้งหมด คงได้คืนตามส่วนแห่งการใช้สรอยรถที่เช่าซื้อ มิใช่ได้คืนเต็มจำนวนเงินค่างวดทรัพย์ที่เช่าซื้อที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมด ซึ่งเงินค่าเช่าซื้อที่ได้รับคืนจะเป็นจำนวนเท่าใดอยู่ที่ศาลจะกำหนดโดยดูตามพฤติการณ์ ตลอดทั้งการใช้สรอยทรัพย์ที่เช่าซื้อ ระยะเวลาที่ใช้สรอยทรัพย์ที่เช่าซื้อ และสภาพความเป็นอยู่ของรถที่เช่าซื้อในขณะที่ต้องคืน ส่วนผู้ให้เช่าซื้อก็ได้รับรถที่เช่าซื้อคืนไป

 

นายเกรียงศักดิ์  นวลศรี    น.บ   น.บ.ท    วิชาชีพว่าความ    และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com

Facebook Comments