Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ เจาะปมร้อน ‘หนุน-ค้าน’ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์.. ใครได้ประโยชน์….

เจาะปมร้อน ‘หนุน-ค้าน’ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์.. ใครได้ประโยชน์….

3103

การผลักดัน “พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์” ยังคงเป็นประเด็นร้อนในแวดวงสุขภาพ ซึ่งดูเหมือนว่าความขัดแยงจากความเห็นต่าง ต่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ในเร็ววัน แม้ด้านหนึ่งในมุงมองของ “ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา” ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบและผู้ริเริ่มผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  จะยืนยันว่า การมีกฎหมายเฉพาะคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข จะเป็นหลักประกันที่ช่วยให้ประชาชนอุ่นใจมากขึ้น เพราะผลกระทบที่เกิดจากการรักษานั้น รุนแรงถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิต ดังนั้นระบบรองรับความเสียหาย ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างรวดเร็วและเหมาะสม จะสามารถลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยลงได้

ทว่าในมุมมองของผู้คัดค้านอย่าง “แพทยสภา” แม้ด้านหนึ่งจะเข้าใจดีถึงความต้องการของประชาชน ที่อยากให้ประเทศไทย มีระบบรับรองความเสียหายจากการเข้ารับบริการในโรงพยาบาล แต่ในฐานะหน่วยงานที่ควบคุมดูแลแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพทั่วประเทศ ยังคงยืนยันว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ จะเป็นเสมือนเครื่องมือที่แบ่งกั้นความสัมพันธ์ ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นหาก ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถูกประกาศใช้เป็นกฎหมาย จะยิ่งเพิ่มความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วยมากขึ้น เนื่องจากมีเม็ดเงินเป็นตัวรองรับและไม่มีเพดานการจ่ายชดเชย อีกทั้งเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ มองเห็นแพทย์เป็นผู้สร้างความเสียหาย ผิดจากปรัชญาที่แพทย์ต้องการช่วยเหลือผู้ป่วย

ท่ามกลางความเห็นต่างที่แบ่งออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน ระหว่างผู้ที่สนับสนุนและคัดค้าน สำนักข่าว Health Focus : เจาะลึกระบบสุขภาพ จึงได้นำเสนอความเห็นจากทั้งสองฝ่าย ทั้งจากฝั่งที่คัดค้าน นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา และฝั่งสนับสนุน นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.) และอดีตผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา เพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบรายละเอียดและเหตุผลที่แท้จริง เกี่ยวกับระบบคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ว่าประเทศไทยเหมาะที่จะใช้ระบบชดเชยเยียวยาแบบไหน ที่จะทำให้ทั้งผู้ป่วยและแพทย์ได้ประโยชน์ร่วมกัน

“ในความเป็นจริงแพทย์พยาบาลไม่อยากให้ผู้ป่วยของตนเองเป็นอะไร แต่ในบางครั้งความเสียหายหรือผลกระทบที่เกิดขึ้น เกิดจากความพยายามในการช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มที่ภายใต้สถานการณ์บีบคั้นและเต็มไปด้วยข้อจำกัด แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้กลับตีตราไปก่อนว่าแพทย์พยาบาลเป็นผู้ผิดไม่ว่าจะจงใจหรือประมาท นี่จึงเป็นเหตุสำคัญที่แพทย์พยาบาลซึ่งทำงานอยู่ในสนามจริงจึงคัดค้าน พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างถึงที่สุด”

“ระบบคุ้มครองชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากบริการทางการแพทย์ที่มีเงินเป็นตัวตั้ง โดยไม่มีการพิสูจน์ว่าอะไรผิดอะไรถูกไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง เพราะไม่ได้ป้องกันปัญหาดังกล่าวในอนาคต การสักแต่ให้เงินไม่สามารถทำให้ระบบพัฒนาขึ้นได้ ตรงกันข้ามจะยิ่งกระตุ้นให้มีการจับผิดเพื่อร้องเรียนมากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้แพทย์พยาบาลทำงานหนักมากอยู่แล้ว และทุกครั้งที่รักษาผู้ป่วยก็พยายามทำกันอย่างเต็มที่ แต่ด้วยภาระงานที่หนักเกินกำลังคนย่อมต้องมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่ต้องการเกิดขึ้น” นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา บอกถึงเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ โดยยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ จะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและแพทย์เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

ทำไมถึงมองว่า “(ร่าง) พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ?

การแก้ปัญหาต้องหาเหตุ การไม่หาเหตุโดยการบอกว่าจะเอาเงินมาจ่ายเพื่อให้เรื่องจบๆ กันไป มันเป็น “มิจฉาทิฐิ” เหตุแห่งความขัดแย้งในเรื่องระบบบริการสาธารณสุขนั้น เกิดจากความไม่เข้าใจในการทำงานของบุคลากร บวกกับภาระงานที่มากเกินไป ความไม่พร้อมของสถานพยาบาล เพราะถูกจำกัดด้วยงบที่ถูกดึงไปกระจุกอยู่ที่ สปสช. สวรส. สสส. สช. หรือสารพัด ส อย่างที่ถูกพูดถึงกันหลายครั้งแล้ว เงินดังกล่าวถูกจำกัดไว้ด้วยเหตุผลบางอย่างนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหาต่อการปฏิบัติงานของบุคลากรและส่งผลต่อผู้ป่วยโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ การแก้ปัญหาจึงต้องไปเพิ่มเงินให้กับสถานพยาบาลเพื่อสร้างบุคลากร พัฒนาเครื่องมือ หายาดีๆ มาใช้ แต่ทุกวันนี้กลับตรงกันข้าม มีแต่ข่าวรพ.ขาดทุนล้มละลาย เครื่องมือสู้โรงพยาบาลเอกชนไม่ได้ ยาถูกบังคับให้ใช้ในราคาที่ถูกที่สุด เท่าที่จะมีขายในท้องตลาด ผลคือโรคไม่หาย ตายได้ทุกโรค เพราะความไม่พร้อมและไม่กล้ายอมรับความจริงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถมหน่วยงานเหล่านี้กลับไปจับมือกับคนที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์ บรรดานักเคลื่อนไหว สร้างกระแสดรามา ถึงทำเรื่องเช่นนี้ได้ ถึงขนาดจะเข็น พ.ร.บ.เกี่ยวกับเงินโดยเอาบุคลากรที่เสียสละทำงานมาเป็นแพะ ใส่ร้ายว่าไปเที่ยวก่อความเสียหายแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว

การแก้ปัญหาโดยไม่สนใจหาเหตุที่เกิด ตามหลักการของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้ปัญหาดังกล่าวหมดไปจากประเทศไทยจริงหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็ชัดเจนว่าแก้ไม่ได้อย่างแน่นอน ตรงกันข้ามการออกกฎหมายที่โยนให้แพทย์พยาบาลเป็นฝ่ายผิดไว้ก่อน จะทำให้ตัวแพทย์พยาบาลไม่กล้าช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มที่ เพราะยิ่งทำมากยิ่งมีโอกาสถูกจับผิดมาก สุดท้ายตัวผู้ป่วยเองนั้นแหละที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะจะไม่มีใครกล้าเสี่ยงเอาอนาคตตนเองไปผูกกับความโลภที่มีเงินเป็นตัวล่อให้บรรดาญาติหรือผู้ป่วยจ้องหาเหตุจับผิดการทำงาน

ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องควรต้องไปโฟกัสที่ตัวระบบ ปัญหาสำคัญเกิดจากกำลังพลที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ทุกวันนี้แพทย์พยาบาลในระบบต้องทำงานหนักเกินมนุษย์ แทบไม่มีเวลาพักผ่อน สุขภาพย่ำแย่ นี่คือปัญหาที่แท้จริง เพราะตราบใดที่คุณต้องการให้งานออกมามีประสิทธิภาพมีมาตรฐานสูง ก็ต้องเตรียมกำลังคนให้เพียงพอต่อภาระงาน ส่วนตัวจึงมองว่าการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เปรียบเสมือนเป็นการทำนโยบายประชานิยมแบบเดียวกับ “จำนำข้าว” กว่าจะรู้ว่ากฎหมายนี้ทำลายระบบสาธารณสุขเพียงใดก็ก็เสียหายมากแล้ว

“หากเจาะลงไปในเนื้อหาจะพบว่าผู้ผลักดันกฎหมายล้วนแต่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะต้องการให้มีองค์กรอิสระที่มาพร้อมกับเงินก้อนใหญ่ มารองรับพรรคพวกของตนที่แต่งตัวรอไปนั่งเก้าอี้ใหม่ในตึกใหม่ๆ เพียบพร้อมไปด้วยเบี้ยประชุม ค่าสัมมนา ค่าดูงานในและต่างประเทศ ค่าจัด event ที่ไม่รู้ใครได้ประโยชน์กันบ้าง  ยิ่งหาก ร่าง กม.ฉบับนี้ผ่านสภายุคปฏิวัติ คสช. แบบเดียวกับที่ บรรดาองค์กร ส.ทั้งหลายเกิดขึ้นมา ก็ล้วนแต่ครั้งมีปฏิวัติ รสช. ที่ผ่านแบบสามวาระรวด ไม่ครบองค์ประชุม บรรดาผู้ผลักดันคงได้เอาไปอ้างเป็นเครดิตให้กับพรรคพวกตนเองเพื่อไปต่อยอดในตำแหน่งทางการเมืองหรือบริหารในอนาคต ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ทั้งสิ้น”

เหตุใดจึงมองว่าระบบชดเชยเยียวยาปัจจุบัน ดีกว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ?

ระบบการชดเชยเยียวยาโดยที่ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ตามหลักการของร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นเสมือนการตีตราว่าอย่างไรก็ตามแพทย์พยาบาลต้องเป็นคนผิดเสมอ เพราะในเนื้อหากฎหมายเขียนไว้ว่าหากหาคนทำผิดไม่ได้ก็ให้จ่ายเงินไปเลย ตรงนี้จึงถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้รักษาเป็นอย่างมาก ตามกระบวนการจึงควรต้องมีการพิสูจน์ให้ได้ว่า ความเสียหายที่อ้างว่ามีนั้นเป็นความเสียหายจริงหรือไม่ หรือคิดไปเอง หากจริงมักเกิดจากสาเหตุอะไร เพื่อจะได้หาทางป้องกัน และหากผิดจริงก็ควรมีการเยียวยาที่เป็นธรรมต่อผู้ป่วย  ในปัจจุบันนี้มีระบบการเยียวยาในลักษณะเพื่อมนุษยธรรมตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ม.41 อยู่แล้ว แม้จะไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยก็ไม่ได้ใส่ร้ายบุคลากรที่ต้องปฏิบัติงานด้วยสภาพจำกัดนานับประการแบบเดียวกับร่างกฎหมายดังกล่าว

“อย่างน้อยระบบชดเชยในปัจจุบันก็ไม่ได้ทำร้ายระบบสาธารณสุข และบุคลากรเองก็ไม่ถูกใส่ร้าย หรือโทษไปก่อนว่าบรรดาคนที่เสียสละเหล่านี้ เป็นผู้ร้ายใจดำที่เที่ยวไปทำร้ายผู้ป่วยแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว จริงๆ แล้ว หากเปิดใจฟังเสียงคนทำงาน จะพบว่าสิ่งที่เขาเหล่านี้ต้องการคือ รัฐต้องสร้างสภาวะแวดล้อมในการทำงานให้สมบูรณ์แบบ ก่อนจะไปเที่ยวกล่าวหาว่าเขาเหล่านี้ไปทำร้ายผู้ป่วย และหากมีข้อสงสัยว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความไม่ใส่ใจหรือความผิดพลาด ก็ควรผลักดันให้มีการตัดสินอย่างยุติธรรมโดยคนที่มีความรู้จริง หรือหากอ้างว่าแพทยสภาไม่น่าเชื่อถือ ก็จัดตั้ง “ศาลพิเศษสาธารณสุข” เพราะอย่างน้อยบุคลากรก็มั่นใจว่ามีคนที่มีความรู้ในระดับเดียวกันมา เป็นองค์คณะร่วมกับผู้พิพากษาที่เป็นกลาง”

การปรับแก้ ม.41 ตามข้อเสนอของแพทยสภา สามารถทำได้จริงหรือไม่ ?

ในทางปฏิบัติทำได้แน่นอน แต่ที่ผลัดกันออกมาอ้างว่าทำไม่ได้นั้นเป็นเรื่องตลกร้าย กฎหมายนั้นเกิดจากน้ำมือมนุษย์เขียนเป็นตัวหนังสือ หากมีปัญหาก็น้ำมือมนุษย์นี่แหละที่แก้ได้ รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดยังแก้แล้วแก้อีกมาไม่รู้กี่ฉบับแล้ว ประสาอะไรกับการปรับแก้ม. 41 ใครที่บอกว่าแก้ไม่ได้ ยิ่งหากเป็นนักกฎหมายพูดเองแล้วคงต้องถอนใบปริญญาหรือให้กลับไปเรียนใหม่ ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นนักกฎหมาย เพียงแค่ละ “มิจฉาทิฐิ” ก็จะพบทางสว่างเมื่อจิตประภัสสร

แล้วอะไรคือทางออกของปัญหา ที่คิดว่าทั้งตัวแพทย์และผู้ป่วยจะได้ประโยชน์ร่วมกัน ?

ทุกอย่างต้องเริ่มที่หลักการให้ตรงกันว่า “อะไรคือความเสียหาย” แล้วมานั่งคุยกันแบบมีเหตุมีผล ไม่ใช่ไปทึกทักหรือมีอคติหรือมีความโลภบังตา ทั้งนี้ส่วนตัวยืนยันว่าแนวทางที่ดีที่สุด คือการจัดให้มีศาลสำหรับพิจารณาคดีทางการแพทย์โดยเฉพาะ เพราะไม่เพียงที่ตัวผู้วินิจฉัยจะต้องมีความรู้ทางด้านการแพทย์แล้ว ในอีกแง่มุมหนึ่งการฟ้องร้องและการพิจารณาคดีความต่างๆ ก็จะได้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ซึ่งในระยะยาวเชื่อว่าจะสามารถลดการฟ้องร้อง ระหว่างผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการรักษากับแพทย์ผู้ให้บริการลงได้

“ในความเป็นจริงแพทย์พยาบาลไม่อยากให้ผู้ป่วยของตนเองเป็นอะไร แต่ในบางครั้งความเสียหายหรือผลกระทบที่เกิดขึ้น เกิดจากความพยายามในการช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มที่ภายใต้สถานการณ์บีบคั้นและเต็มไปด้วยข้อจำกัด แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้กลับตีตราไปก่อนว่าแพทย์พยาบาลเป็นผู้ผิดไม่ว่าจะจงใจหรือประมาท นี่จึงเป็นเหตุสำคัญที่แพทย์พยาบาลซึ่งทำงานอยู่ในสนามจริงจึงคัดค้าน พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างถึงที่สุด” ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวทิ้งท้าย

“ผมยืนยันว่าทุกมาตราของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ฉบับนี้ ช่วยแพทย์ทุกมาตรา ขณะเดียวกันยังสร้างความสมานฉันท์ระหว่างแพทย์กับคนไข้อีกด้วย ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ที่คัดค้านคิดไตร่ตรอง ใช้เหตุและผลโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เพราะในสถานการณ์จริง เมื่อแพทย์รู้ว่าผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการรักษาของตัวเอง จะไม่เป็นการดีกว่าหรือที่แพทย์ผู้นั้นจะเป็นคนช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเป็นธรรม”

“ผู้ที่คัดค้าน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ยังคงใช้เหตุผลเดิมๆ ส่วนใหญ่เป็นความหวาดระแวงว่า กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับผู้ป่วยจะแย่ลง หรือคาดการณ์ว่าจะมีการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยมากขึ้นกว่าเท่าตัว ทั้งที่ในความเป็นจริงการมีระบบชดเชย ผู้ได้รับผลกระทบจากบริการทางการแพทย์โดยที่ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีกับตัวแพทย์มากขึ้น ที่สำคัญหากได้รับการชดเชยที่เป็นธรรม ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ผู้ป่วยจะไปฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องการเยียวยาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.) และอดีตผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา บอกถึงข้อดีของการมีระบบคุ้มครองผู้เสียหายจากรับบริการสาธารณสุข พร้อมยืนยันว่าการชดเชยเยียวยาอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม จะช่วยลดการฟ้องร้องลงได้อย่างแน่นอน

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการชดเชยที่เป็นธรรม ?

การมีระบบรองรับความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์ ไม่เพียงทำให้ประชาชนอุ่นใจเวลาไปรับบริการสาธารณสุข แต่ในขณะเดียวกันยังเป็นหลักประกันว่า ผู้ป่วยจะได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม โดยที่ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ในกรณีที่ชัดเจนว่าเป็นผลกระทบจากการรักษา ซึ่งในทางปฏิบัติหากแพทย์ผู้ให้บริการรู้ว่าผู้ป่วยที่ตนรักษาได้รับผลกระทบ ก็สามารถดำเนินการเขียนคำร้องไปยังกองทุน เพื่อดำเนินการชดเชยแก่ผู้ป่วยได้ทันภายใน 2 เดือน ตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สามารถลดการฟ้องร้องในชั้นศาลลงได้ เนื่องจากทุกวันนี้ที่คนไข้ต้องหันหน้าพึ่งศาล ก็เพราะต้องการได้รับการชดเชยอย่างทันท่วงที ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นเสมือนตัวกลาง ที่สามารถช่วยให้ทั้งตัวผู้ได้รับผลกระทบและแพทย์ผู้ให้บริการ สามารถหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหา โดยที่ไม่ต้องฟ้องแพ่งซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น

“ในความเป็นจริงไม่มีใครอยากไปฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าชดเชย เพราะแต่ละคดีต้องใช้ระยะเวลายาวนานมากกว่าจะถึงที่สิ้นสุด เนื่องจากคดีส่วนใหญ่ไม่จบในชั้นศาลแพ่ง ซึ่งกรณีนี้จะมีอายุความเพียง 1 ปี ดังนั้นผู้ได้รับผลกระทบจึงต้องฟ้องศาลอาญาต่อเพื่อยืดอายุความ ออกไปอีก 15 ปี แต่หากมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ เข้ามาชดเชยในระยะเวลาที่รวดเร็ว ก็จะช่วยให้คดีความในศาลแพ่งเป็นอันจบไป ส่วนการฟ้องอาญานั้นก็ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่สามารถจำกัดหรือบังคับได้ แต่อย่างไรก็ดี ม.18 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้มีกำหนดไว้ว่า ในชั้นนี้ศาลสามารถพิจารณาลงโทษต่ำกว่าหรือไม่ลงโทษแพทย์เลยก็ได้ ซึ่งตามกฎหมายปกติไม่สามารถละเว้นโทษได้”

การที่แพทย์ต้องเขียนคำร้องไปยังกองทุน ถูกมองว่าแพทย์ยอมรับว่าตัวเองผิดพลาดในการรักษา ?

จริงๆ แล้วไม่เป็นเช่นนั้น ตรงกันข้ามการที่แพทย์ผู้รักษา เป็นผู้เขียนบันทึกส่งไปยังกองทุนนอกจากจะทำให้ได้รับเงินชดเชยเร็วแล้ว ในกระบวนการรักษาก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน เพราะผู้ป่วยหรือญาติไม่ต้องเขียนคำร้องด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการรักษาเยียวยา ซึ่งลักษณะเช่นนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการรักษาในระบบปกติ ที่ทุกเช้าแพทย์จะประชุมกันเพื่อดูว่า ผลการรักษาในวันที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร และจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น ดังนั้น พ.ร.บ.นี้ จึงไม่ได้เป็นการตีตราว่าแพทย์ต้องเป็นคนผิดเสมอไป

“กระบวนการเหล่านี้ไม่ใช่การจับผิดอย่างที่กล่าวอ้าง และพยายามสร้างกระแสให้แพทย์เชื่อตามนั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงขั้นตอนนี้จะช่วยให้ตัวแพทย์เอง รู้ว่าควรหรือไม่ควรทำอะไรบ้างในเคสต่อไป ที่สำคัญตัวแพทย์ผู้รักษาไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยด้วยตัวเอง เพราะกองทุนเป็นผู้จ่ายแทนทั้งหมด ไม่ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น จะเกิดจากความประมาทหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม”

มองอย่างไรที่มีการระบุว่า ผู้สนับสนุน พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะมีผลประโยชน์แอบแฝงจากการตั้งกองทุนใหม่ ?

การตั้งกองทุนใหม่เป็นเรื่องปกติ ซึ่งในทางปฏิบัติจะช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการชดเชยเยียวยามากขึ้น ทั้งนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช) เป็นเลขานุการกองทุน นั่นแปลว่ากองทุนชดเชยผู้เสียหายทางการแพทย์ อยู่ภายใต้ สปสช. ไม่ต้องลงทุนใหม่แม้แต่บาทเดียว ขณะเดียวกันหากดูงบประมาณที่นำมาจัดตั้งกองทุนนั้น ก็เป็นเพียง 1% จากงบเหมาจ่ายรายหัวของทั้ง 3 กองทุน คำนวนแล้วได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1,400 ล้านบาท ซึ่งมากเกินพอ ไม่ทำให้รัฐบาลเจ๊งอย่างแน่นอน ที่ผ่านมาตั้งแต่มี ม.41มาจนถึงปัจจุบัน ต่อปีกองทุนนี้จ่ายชดเชยปีละไม่ถึง 100 ล้านบาท ดังนั้นการที่ออกมาระบุว่าผู้ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ มีผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น เป็นการแถไปเรื่อย

“ถามว่าผมเห็นด้วยกับการใช้เงินไหม ในแง่หนึ่งต้องยอมรับว่าเงินอาจไม่ใช่คำตอบของปัญหา แต่การจ่ายเงินอย่างครอบคลุมและเหมาะสมกับผู้ได้รับผลกระทบ ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ส่วนคำถามที่บอกว่าทำไมสัดส่วนของคณะกรรมการบริหาร มีแพทย์เป็นสมาชิกน้อยกว่าสมาชิกจากส่วนอื่นๆ นั้น ตรงนี้อยากให้มองว่า ในความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบจากแพทย์ หากมีแพทย์เป็นคณะกรรมการหลายคน อาจรู้สึกไม่เชื่อถือเพราะคนส่วนใหญ่มองว่าแพทย์ต้องช่วยกันเองอยู่แล้ว ดังนั้นในเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว บางครั้งก็ไม่จำเป็นที่แพทย์จะต้องวินิจฉัยถูกผิดอีก”

แม้จะยืนยันว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย แต่เหตุใดถึงยังมีการคัดค้านจากแพทย์ ?

ประเด็นสำคัญผมคิดว่าแพทย์ยังเข้าใจผิด คิดว่าจะต้องเป็นผู้ร่วมจ่ายสมทบในกองทุนนี้ด้วย ทั้งที่ตาม พ.ร.บ.แล้วตัวแพทย์ไม่ต้องร่วมจ่าย เพราะตามปกติแม้แพทย์แต่ละคน จะมีการทำประกันวิชาชีพคนละ 10,000 หรือ 20,000 บาททุกปี แต่หากมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น วงเงินประกัน 1-2 ล้านบาท อาจไม่เพียงพอกับค่าเสียหายที่ต้องจ่าย แต่อย่างที่ได้อธิบายไปในข้างต้น เนื่องจากกองทุนนี้หักเงิน 1% จากงบเหมาจ่ายรายหัว กันไว้เพื่อเป็นเงินสำหรับจ่ายชดเชยเยียวยา ตัวแพทย์ผู้ให้บริการจึงไม่ต้องร่วมจ่ายแม้แต่บาทเดียว

ส่วนประเด็นที่ระบุว่ากฎหมายฉบับนี้ตีตราแพทย์ว่าเป็นผู้ทำผิดอยู่วันยังค่ำนั้น ขอยืนยันว่านี่ไม่ใช่การชี้ว่าแพทย์เป็นคนผิด แต่เป็นกระบวนการบรรเทาทุกข์ให้กับผู้เสียหาย เช่นเดียวกับกรณีน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ผ่านมา สุดท้ายแล้วรัฐต้องจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้ประชาชน ตรงนี้ถามว่ามีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นหรือไม่ แต่ทำไมรัฐบาลถึงต้องจ่ายเงินให้ประชาชน กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน สมมติว่าผู้ป่วยฟ้องศาลเรียกร้องค่าชดเชย แต่ศาลตัดสินว่าหมอไม่ผิดทั้งที่เกิดผลกระทบขึ้นแล้ว ถามว่าแล้วเหตุใดกองทุนต้องจ่ายเงินให้กับผู้ป่วย คำตอบก็คือเป็นการบรรเทาทุกข์ โดยไม่เลือกว่าหมอเป็นคนผิดหรือไม่ก็ตาม

“ผมยืนยันว่าทุกมาตราของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ฉบับนี้ ช่วยแพทย์ทุกมาตรา ขณะเดียวกันยังสร้างความสมานฉันท์ระหว่างแพทย์กับคนไข้อีกด้วย ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ที่คัดค้านคิดไตร่ตรอง ใช้เหตุและผลโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เพราะในสถานการณ์จริง เมื่อแพทย์รู้ว่าผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการรักษาของตัวเอง จะไม่เป็นการดีกว่าหรือที่แพทย์ผู้นั้นจะเป็นคนช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเป็นธรรม” นพ.ไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

จาก  http://www.hfocus.org/content/2014/12/8914

Facebook Comments