Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ คุ้มครองชั่วคราวโดยห้ามฉายหนัง???

คุ้มครองชั่วคราวโดยห้ามฉายหนัง???

3642

คุ้มครองชั่วคราวโดยการห้ามฉายหนัง?
image
ได้อ่านข่าวเสี่ยเจียงขอคุ้มครองชั่วคราว “ห้ามฉาย” หนัง fast & furious ภาพที่ จาพนม แสดงร่วมแล้ว ถึงไม่ได้อ่านคำพิพากษาเต็มแต่รายงานข่าวทุกสำนักบอกว่าเป็นการ “ละเมิดสัญญา” ทำให้ผมมีข้อสังเกตุทางกฎหมายมาประมวลดังนี้

๑. การคุ้มครองชั่วคราว ปกติเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายต่อไปจากการกระทำละเมิดต่อเนื่องของจำเลย หรือเพราะการทำผิดสัญญา ตาม ม. ๒๕๔ ว.(๒) หรือ “มีคำสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์อาจ ได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลย” ปัญหาในกรณีนี้ คือ การ “ผิดสัญญา” ไม่ใช่เงื่อนไขตายตัวที่จะนำไปสู่การสั่งห้ามชั่วคราว แต่จะต้องมีการกระทำที่เป็นการให้โจทก์เสียหายอย่างต่อเนื่องด้วย (ตาม ม.๒๕๕ (๒)(ข)) ตามกรณีที่ จา พนม ไปเข้าซีนถ่ายทำภาพยนตร์ โดยการละเมิดสัญญาผูกมัดทำไว้ต่อบริษัทเสี่ยเจียง ถึงแม้จะเป็นการผิดสัญญา แต่มีข้อเท็จจริงอย่างไรที่โจทก์อ้างว่าเสียหายต่อเนื่อง เพราะกรณีนี้ไม่ได้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์

๒. ในต่างประเทศ คำสั่งห้ามชั่วคราว (preliminary injunction) นั้น ศาลจะต้องพิจารณาเงื่อนไขหลายประการ และประการสุดท้ายคือ ต้องชั่งน้ำหนักความเสียหายของคำสั่งห้ามฯ ที่จะเกิดขึ้นต่อจำเลย ไม่ให้โจทก์เอากฎหมาย หรืออาศัยมือศาลมากลั่นแกล้งจำเลยได้ ซึ่งในกรณีของ “สื่อ” หรือการฉายหนัง/ละคร/วางจำน่ายเกม ฯลฯ เรื่องเวลาการออกจำหน่ายเผยแพร่เป็นเรื่องสำคัญมาก ช่วงนี้ใกล้ปิดเทอม เป็นฤดูที่หนังจะเก็บรายได้ ได้มากๆ การสั่งห้ามชั่วคราวในลักษณะนี้ อาจจะสร้างความเสียหายให้กับจำเลยมากเกินกว่าเหตุ ในหลักการข้อนี้ใน ป.วิ แพ่ง ของไทยก็ไม่กำหนดไว้ชัดเจน ว่าศาลจะต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักเพื่อคุ้มครองจำเลย แต่ผมไม่แน่ใจว่ามีแนวคำพิพากษาฎีกา วางหลักไว้ต่างหากหรือไม่? เพราะเป็นเรื่องสำคัญ

๓. คำสั่งห้ามชั่วคราว เป็นมาตรการที่เด็ดขาด มักใช้ในการณีมีการละเมิดต่อเนื้อตัว ร่างกาย ชื่อเสียง (เช่นหมิ่นประมาท) และทรัพย์สิน ในกรณีหนังฉายโดยผิดลิขสิทธิ หรือจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ เรามักจะพบเจอคำสั่งห้ามในลักษณะนี้บ่อย ซึ่งไม่ใช่การละเมิดในกรณีที่จบสิ้นไปแล้ว

…. แต่คดีนี้ศาลสั่งราวกับว่า เสี่ยเจียง มีสิทธิในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งในตัว “โทนี่ จา” ในกฎหมายไทยเราไม่มีสิทธิประเภทนี้เป็นอันขาด แต่ในต่างประเทศอาจมีได้ เพราะนักกีฬา หรือนักแสดงที่มีชื่อเสียง ในอเมริกาจะมีสิทธิทางคอมม่อน ลอว์ ที่เรียกว่า “Right of Publicity” อยู่ ซึ่งได้แก่การเอาความเหมือนคล้ายของนักแสดง หรือนักกีฬา ไปใช้เชิงพาณิชย์ ซึ่งสิทธินี้เป็นสิทธิจากชื่อเสียงของบุคคลก็จริง แต่อาจซื้อขายโอนกันได้ อย่างเช่น ความเหมือนคล้ายของนักกีฬาเกมฟุตบอล FIFA นั้นเป็น right of publicity อย่างหนึ่ง ซึ่งในเวอร์ชั่นล่าสุด FIFA 15 มีการคุ้มครองความเหมือนคล้ายของนักเตะใน premier league เป็นพิเศษ เฉพาะเวอร์ชั่นเครื่องเกมคอนโซล แต่ถ้าใครเล่น FIFA 15 เวอร์ชั่นเกมมือถืออย่าง PS VITA จะเห็นว่านักกีฬาหลายคน “หัวโล้น” เนื่องจากทางบริษัทไม่มีสิทธิใช้ความเหมือนคล้ายของนักกีฬาบางคนในเวอร์ชั่นดังกล่าว

คดีนี้ศาลสั่งห้ามราวกับว่า เสี่ยเจียง เป็นเจ้าของ “ลิขสิทธิ์” อะไรบางอย่างในตัว โทนี่ จา ซึ่งผมไม่รู้ว่าเขาไปร่างฟ้องทำนองนั้นให้ศาลสับสนหรือไม่ แต่ตามกฎหมายไทยแล้วเป็นไปไมได้

ขอบคุณผู้ให้ข้อมูล อ.เมธยา ศิริจิตร.

บทความนี้เป็นบทความที่เขียนในfacebook อ.เมธยา ศิริจิตร นะครับ. ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ดีจึงนำมาแชร์ครับ.

Facebook Comments